จ่อออกกฎ22ข้อเปิดผับ-บาร์


เพิ่มเพื่อน    


     ไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 3 คน กลับจากอินเดีย ไร้ติดเชื้อในประเทศ 28 วันติดต่อกัน “หมอทวีศิลป์” ชี้ไว้วางใจมากขึ้น แต่ยังต้องเข้มมาตรการป้องโควิด กก.เฉพาะกิจชง ศบค.ชุดใหญ่ ผ่อนปรน 2 กลุ่มใหญ่เข้าประเทศ พร้อมออกกฎ 22 ข้อรองรับเปิดผับ-บาร์ "วิษณุ" ยกข้อจำกัด พ.ร.บ.โรคติดต่อ ห่วงระบาดหนักไม่ทันการณ์
     ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน เวลา 11.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย มีผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย พบในสถานกักตัวของรัฐทั้งหมด เป็นเพศหญิง อายุ 11 ปี, 21 ปี และ 34 ปี เดินทางกลับจากอินเดียมาถึงไทยวันที่ 18 มิ.ย. เข้าพักในสถานกักตัวของรัฐที่ จ.ชลบุรี ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 3,151 ราย หายป่วยสะสม 3,022 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 71 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดคงที่ 58 ราย วันนี้ถือเป็นวันที่ 28 ที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อภายในประเทศ ทำให้เราอุ่นใจและสบายใจขึ้น แต่ยังวางใจไม่ได้ ยังต้องมีการดูแลแบบนี้ เพราะสถานการณ์ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สูงอยู่
     สำหรับในวันที่ 22 มิ.ย. จะมีคนไทยเดินทางกลับ 5 เที่ยวบิน จำนวน 429 ราย และวันที่ 23 มิ.ย. 4 เที่ยวบิน จำนวน 476 ราย ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก 9,046,067 ราย เสียชีวิต 470,703 ราย
    ส่วนกรณีที่สื่อเมียนมารายงานพบแรงงานติดโควิด-19 จำนวน 23 ราย หลังกลับจากประเทศไทยนั้น ขณะนี้ทั้งสองประเทศอยู่ระหว่างประสานข้อมูลกันอยู่ ซึ่งข้อมูลจากฝั่งไทยนั้น ทราบว่า 19 รายเป็นคนไข้เดิมที่เราได้กักตัวครบ 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. ส่วนอีก 4 รายยังขาดข้อมูล เรากำลังประสานหาข้อมูลอยู่ ซึ่งไทยกับเมียนมากำลังทำงานกันอยู่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ก็ประสานกันอยู่
     นอกจากนี้ กรณีมีชายที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ จ.สงขลา ได้ขอความช่วยเหลือและระบุว่าป่วยเป็นโควิด-19 นั้น จากการประสานในพื้นที่พบว่าผู้ป่วยมีอาการทางจิต  และเป็นไปได้ว่าขาดการรักษา เนื่องจากมีใบนัดแพทย์ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. รวมถึงมีประวัติใช้สารเสพติด ขณะนี้อยู่ระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ อยู่ในการดูแลของแพทย์ และล่าสุดตรวจสารคัดหลั่งในโพรงจมูกแล้วไม่พบเชื้อโควิด-19
     นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึงกรณีมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจระหว่างกักตัวอยู่ในสถานกักตัวของรัฐว่า ถือเป็นบทเรียนที่เราต้องเรียนรู้ จำนวนกว่า 4 หมื่นรายที่เข้ามาอยู่ในสถานกักตัวของรัฐ เราทำงานกันอย่างหนัก โดยนายกรัฐมนตรีห่วงใยและมอบ ศบค.ชุดเล็กให้มีมาตรการคุมเข้ม จัดประวัติ เมื่อพบว่ามีอาการป่วยจะไม่ให้เข้ามาอยู่ในสถานกักตัวของรัฐที่เป็นโรงแรม แต่จะให้อยู่สถานกักตัวที่อยู่ในโรงพยาบาลแทน
     "การไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 28 วัน ซึ่งถือเป็นสองเท่าของระยะฟักเชื้อ ก็เป็นที่น่าไว้วางใจมากขึ้น แต่ถามว่าจะทำให้เราผ่อนคลายทุกเรื่องเป็นปกติได้หรือไม่นั้น ตรงนี้ยังไม่สามารถกลับไปได้ แม้สถานการณ์ภายในประเทศเราจะดี แต่การนำเข้าของเชื้อแม้เพียง 1 คนก็จะเกิดผลต่อการติดเชื้อในระดับที่รุนแรงได้" โฆษก ศบค.ระบุ
     อย่างไรก็ตาม การไม่พบการติดเชื้อในประเทศ 28 วันติดต่อกัน คณะกรรมการกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คุยกันว่า เราแบ่งกลุ่มเป็น 2 กลุ่ม ที่จะทำการผ่อนคลาย คือ 1.กลุ่มเป้าหมายที่ตอบรับการกักตัวก่อนเข้าประเทศ แบ่งเป็น 4 กลุ่มย่อย ได้แก่ นักธุรกิจ นักลงทุน ที่ลงทะเบียนไว้ 700 คน, กลุ่มแรงงานมีฝีมือ ผู้เชี่ยวชาญ ที่จะเข้ามาทำงานด้านธุรกิจ ประมาณ 22,000 คน, กลุ่มคนต่างด้าวที่มีครอบครัวเป็นคนไทยกว่า 2,000 คน, นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่ต้องการเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลกว่า 30,000 คน โดย 4 กลุ่มนี้จะมีการเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ว่าสามารถทำได้เลย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนธุรกิจ
    2.การจับคู่การเดินทางระหว่างประเทศที่มีความปลอดภัยจากโควิด-19 สูง (ทราเวลบับเบิล) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขอผ่อนผันไม่อยู่ในสถานกักตัวของรัฐ แบ่งเป็นนักธุรกิจ นักลงทุน เพราะเข้ามาเจรจาธุรกิจในระยะสั้นๆ 3-5 วัน, แขกของรัฐบาลหรือส่วนราชการ ที่เชิญมาประชุมหรือมาเป็นวิทยากร เข้ามาเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยมาในระยะสั้น การกักตัวจึงไม่เหมาะสม ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวตามโครงการทราเวลบับเบิลต้องคิดกันเยอะ ต้องมีมาตรการมากเพื่อรองรับ เพราะมีจำนวนมากที่ต้องการเข้ามา เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นสามประเทศหลักที่นิยมมาประเทศไทย และสามประเทศนี้ก็พยายามควบคุมดูแล มีความเป็นไปได้สูงที่เราจะดูแลพวกเขา โดยคณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะนำเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่เพื่อพิจารณา           
ออกกฎ 22 ข้อเปิดผับ-บาร์
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.ชุดเล็ก ได้เตรียมมาตรการ 22 ข้อ เสนอ ศบค.ชุดใหญ่ สำหรับการเปิดสถานบริการผับ บาร์ ได้แก่ 1.ควบคุมจำนวนผู้เข้าใช้บริการให้เหมาะสมต่อพื้นที่มิให้แออัด และมีการเว้นระยะห่างทางสังคม​ 2.ต้องมีการตรวจคัดกรองอุณหภูมิพนักงานและผู้ใช้บริการทุกคน​ 3.จัดให้มีบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือบริเวณทางเข้า และตามจุดต่างๆตามความเหมาะสม​ 4.งดการเข้าใช้บริการเป็นกลุ่มเกิน 5 คนขึ้นไป​ 5.จัดระบบเข้าคิวบริเวณทางเข้าให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลโดยมีผู้ควบคุม
    6.จัดให้มีระยะห่างระหว่างโต๊ะแต่ละโต๊ะไม่น้อยกว่า 2 เมตร หรือทำฉากกั้นระหว่างโต๊ะ 7.กำหนดจุดวางเก้าอี้สำหรับแต่ละโต๊ะ ให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างที่นั่งอย่างน้อย 1 เมตร โดยควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายเก้าอี้​ 8.จัดให้มีการระบายอากาศที่ดี 9.อนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น งดการส่งเสียงร้องเพลงและเต้นรำ​ 10.ใช้เมนูกระดาษแบบครั้งเดียวทิ้งแทนการใช้เมนูเล่ม 11.การสั่งเครื่องดื่มให้สั่งเป็นรายแก้ว โดยให้พนักงานเป็นผู้เสิร์ฟ แทนการสั่งเป็นเหยือกหรือเป็นขวด เพื่อเลี่ยงการสัมผัสขวด ถังน้ำแข็ง และแก้วของผู้อื่น รวมถึงป้องกันการสลับแก้วกัน ​12.พนักงานต้องใส่หน้ากากอนามัยและ face shield ตลอดเวลา​
    13.จัดให้มีฉากกั้นระหว่างเวทีหรือพื้นที่การแสดง กับพื้นที่ในส่วนของผู้ใช้บริการ หรือจัดระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร 14.พูดแสดงบนเวทีต้องสวม face shield ตลอดเวลา​ 15.จัดให้มีผู้ควบคุมไม่ให้เกิดการชุมนุม รวมกลุ่ม ตะโกน หรือใช้เสียงดัง และไม่ให้มีการเดินไปเดินมา 16.จัดให้มีอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มสำหรับแต่ละบุคคล โดยมีช้อนกลางและที่วางช้อนกลางส่วนตัวสำหรับผู้ใช้บริการแบบหมู่คณะ 17.ต้องทำความสะอาดสุขาทุก 30-60 นาที
     18.ทำความสะอาดพื้นที่บริการ โต๊ะ เก้าอี้ ราวจับ ลูกบิดประตู เคาน์เตอร์ จุดสัมผัสและอุปกรณ์อื่นๆ ด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้อ พร้อมกับจัดให้มีการระบายอากาศในพื้นที่ให้มีความเหมาะสม อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง​ 19.ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการเล่น การแข่งขัน หรือทำให้เกิดการรวมกลุ่มการเชียร์กัน 20.งดการใช้เครื่องเล่นหรืออุปกรณ์การเล่นเกมต่างๆ เช่น โต๊ะพูล เป้าลูกดอก ตู้เกม เป็นต้น 21.จัดพื้นที่สำหรับการสูบบุหรี่โดยเฉพาะและให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเหมาะสม และ 22.งดให้พนักงานบริการหรือตัวแทนประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มนั่งรวมกับผู้ใช้บริการ
    ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ อยากให้สังคมคิดถึงพนักงาน ลูกจ้าง นักดนตรี ที่เดือดร้อน ไม่ได้คิดถึงเจ้าของ หรือผู้ประกอบการ หรือคนมาเที่ยว เป็นหลัก เพราะพนักงานเดือดร้อนมาก อีกทั้งเงินเยียวยา สิ้น มิ.ย.ก็จบแล้ว แต่บางคนไม่ได้รับเงินเยียวยา
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีหากไม่ขยายการบังคับใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) จะทำให้กิจการ/กิจกรรมที่เหลือได้รับการปลดล็อกทั้งหมดโดยอัตโนมัติเลยหรือไม่ ว่าใช่ เว้นแต่จะนำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาใช้ ซึ่งตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อในมาตรา 34 และ 35 ก็ล็อกได้เป็นร้าน หรือจุดที่มีปัญหาและเป็นวันๆ แต่ไม่เหมือนการล็อกที่ผ่านมาที่มีการปิดผับ บาร์ สนามบินทุกแห่ง ซึ่งเกิดจากอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังนั้นอาจจะไม่ทันการณ์ เพราะโรคติดต่อมากับคน และเราไม่รู้ว่าคนไปไหนมาบ้าง
ข้อจำกัด พรบ.โรคติดต่อ
    "คำว่าล็อกไม่มีในกฎหมาย เราพูดเอง ซึ่งมันแปลว่าปิด เราพูดคำว่าปิดบ้าน ปิดเมือง ปิดประเทศ อันนั้นเรียกล็อกดาวน์จริงๆ ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ถ้ายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะล็อกดาวน์แบบนี้ไม่ได้ แต่จะล็อกดาวน์เป็นร้านหรือห้างสรรพสินค้าได้ โดยปิดเป็นจุดๆ เป็นวันๆ ไป พอแก้ไขปรับปรุงแล้วก็เปิดให้เขา ดังนั้น ขึ้นอยู่กับว่าถ้ามันไม่ระบาดอะไรมาก และยังคงไม่มีการติดเชื้อในประเทศเหมือนทุกวันนี้ มันก็ทันการณ์ แต่ถ้าตูมเดียวมามันไม่ทันการณ์ที่จะไปไล่ปิดทีละร้าน เหมือนกรณีสนามมวย ที่จะต้องไปไล่เรียกมาทีละคนว่าไปร้านไหนมาบ้าง ฉะนั้น ขอให้หมอ ฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายความปลอดภัยเขาไปคิดชั่งน้ำหนัก เขาไม่มั่ว ไม่เดา แต่จะเอาสถิติทั้งหมดมาดูล่วงหน้า” นายวิษณุกล่าว และว่า คาดว่าคงจะมีการหารือถึงการต่ออายุหรือยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันที่ 25 หรือ 26 มิ.ย.นี้
    ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสาโรจน์ กาลศิริศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวถึง New normal ในวัดว่า หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้คลี่คลายลง และรัฐบาลได้มีการผ่อนปรนต่างๆ มหาเถรสมาคมจึงมีคำสั่งส่งไปตามเจ้าคณะจังหวัด และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ให้ทุกวัดจัดกิจกรรมทางวัดได้ แต่ต้องมีมาตรการป้องกันตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศไว้ เพราะฉะนั้นวันพระใหญ่ที่จะมาถึงทั้งวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา โดยทางวัดจะต้องทำความสะอาดจัดจุดคัดกรอง มีจุดวัดไข้ จุดลงทะเบียน เจลล้างมือ รวมทั้งสวมหน้ากากในการปฏิบัติกิจ ส่วนพุทธศานิกชนที่จะมาที่วัด ทำบุญฟังเทศ ฟังธรรม ก็ต้องมีการเว้นระยะห่าง หรือวัดใดมีจำนวนคนมากๆ อาจจะจัดให้เป็นรอบ ส่วนการเวียนเทียนจะต้องเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย
      ที่ จ.ขอนแก่น นายอภิชาต จงสกุล รองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานในพิธีส่งมอบห้องคัดกรองและห้องตรวจเชื้อผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้แก่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากนั้นนายอภิชาตได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลสิรินธร ต.โนนสมบูรณ์ อ.บ้านแฮด เป็นประธานในพิธีส่งมอบห้องคลีนรูมพระราชทาน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับรักษาพยาบาลผู้ป่วยแบบความดันลบ แก่โรงพยาบาลสิรินธร เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19  นอกจากนี้ยังได้พระราชทานชุด PPE และสเปรย์เพิ่มประสิทธิภาพหน้ากากผ้า และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น.
     


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"