แย่งโหน88ปีปชต. ภาคปชช.ทวงคืนมรดกคณะราษฎร/ทหารชูวีรกรรมบวรเดช


เพิ่มเพื่อน    


    ครบ 88 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง "บิ๊กแดง" สั่งจัดพิธีรำลึก 2 ทหารปกป้องสถาบัน เชิดชูวีรกรรม "บวรเดช-ศรีสิทธิสงคราม" มุ่งหวังให้ประเทศเป็น ปชต.อย่างแท้จริง ซัด "คณะราษฎร" เป็นเผด็จการ ด้านกลุ่มฟื้นฟู ปชต.จัดกิจกรรมย้อนประวัติศาสตร์ อ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 "ครช." บุกสภาทวงมรดกคณะราษฎร ยื่นหนังสือแกนนำฝ่ายค้าน-กมธ.แก้ไข รธน. ทวงสัญญา รธน.ประชาชน  "เพื่อไทย" ตั้งวงชำแหละ รธน.เฮงซวยสืบทอดอำนาจ ถ้าไม่แก้ไขลุงตู่เข้ามาอีก รองโฆษก ตร.ปัดจัดฉากจับอาวุธสงคราม เผยหากจับไม่ได้อาจเข้าถึงกรุงเทพฯ ผบ.ทบ.สั่งเช็กเลขทะเบียนอาวุธที่หายไป  เชื่อมโยงเหตุชุมนุมทางการเมืองหรือไม่
    เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันครบรอบ 88 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนจัดกิจกรรมอย่างคึกคัก 
    โดยพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้มอบหมายให้พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ. ผู้แทนกองทัพบก เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายแด่พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และบำเพ็ญกุศลอุทิศแด่พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของนายทหารที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิธีรำลึก โดยนิมนต์ พระเทพปัญญามุณี เจ้าอาวาสวัดอาวุธวิกสิตาราม มาทำพิธีสงฆ์ ใช้เวลาเพียง 15 นาที ท่ามกลางสายฝนที่ตกอย่างหนักเมื่อเริ่มทำพิธี 
    ขณะที่กองประชาสัมพันธ์กองทัพบกได้เผยแพร่ข้อมูลประกอบวาระงานดังกล่าว มีเนื้อหาว่า "นายทหารทั้งสองนายยังเป็นนายทหารประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ.2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่าคณะราษฎร ถือเป็นการรัฐประหารเพื่อล้มราชบัลลังก์ ครั้น พ.ศ.2476 ได้เกิดการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช โดยมีพระยาศรีสิทธิสงครามเป็นแม่ทัพ มีชื่อเป็นที่รู้จักกันว่า 'กบฏบวรเดช' เนื่องจากพระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปกครองของพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่มีลักษณะเป็นเผด็จการ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลของพระยาพหลฯ ดำเนินตามแนวทางที่เสนอ คือให้รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ และให้รัฐบาลมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยให้อำนาจฝ่ายรัฐสภาในการตรวจสอบมากขึ้น และจำกัดอำนาจของรัฐบาลมิให้คณะราษฎรกลายเป็นคณะเผด็จการ แต่ในที่สุดการก่อกบฏไม่เป็นผล ฝ่ายรัฐบาลปราบปรามคณะกบฏลงได้ 
    วีรกรรมที่กล้าหาญและเสียสละของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และพระยาศรีสิทธิสงคราม ควรแก่การยกย่องในฐานะที่ทรงปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความจงรักภักดี และทรงมุ่งหวังให้ประเทศชาติดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง"
    เช้าวันเดียวกัน พล.ต.ท.สุรพล อยู่นุช ผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประสานงานทำเนียบรัฐบาล พร้อมด้วย พ.ต.อ.วัชรวีร์ ธรรมเสมา ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 3 เดินตรวจบริเวณรอบทำเนียบฯ เพื่อเฝ้าระวังกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะมาแสดงสัญลักษณ์วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.
    โดย พล.ต.ท.สุรพลให้สัมภาษณ์ว่า จากสถานการณ์ด้านการข่าวเราได้รับรายงานตั้งแต่วันก่อนว่า จะมีกลุ่มคนหรือบุคคลที่พยายามจะสร้างสถานการณ์ โดยจะใช้วิธีการเดิมคือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น การยิงเลเซอร์ตามสถานที่สำคัญต่างๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมได้สั่งการลงมา โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและฝ่ายความมั่นคงก็ได้เฝ้าติดตาม โดยเมื่อวันที่  23 มิ.ย.เราได้มีมาตรการดูแลพื้นที่รอบทำเนียบฯ เพื่อเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง ผบ.ทบ.ก็สั่งการไปยังทุกหน่วยทั่วประเทศ ให้เฝ้าระวังและติดตามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่จะกระทำการในเชิงสัญลักษณ์และเกี่ยวข้องกับความมั่นคง หากพบการกระทำผิดสามารถดำเนินการจับกุมได้
ทวงคืนมรดกคณะราษฎร
    ส่วนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน เมื่อเวลาประมาณ 05.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือ Democracy Restoration Group (DRG) ได้จัดกิจกรรม "ลบยังไง ก็ไม่ลืม" ซึ่งเป็นกิจกรรมย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงเวลาประวัติศาสตร์ ในโอกาสครบรอบ 88 ปีวันอภิวัฒน์สยาม  จากนั้นเวลาประมาณ 05.23 น.เริ่มต้นฉายภาพเคลื่อนไหวจำลองเหตุการณ์การอ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 โดยนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ต่อหน้าทหารบก ทหารเรือ และราษฎร 
    นายอานนท์ นำภา ผู้นำการจัดกิจกรรม กล่าวว่า กิจกรรมวันนี้เป็นการย้ำเตือนให้เห็นถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ซึ่งมีทั้งแง่บวกและแง่ลบ เป็นคุณและเป็นโทษกับบางคนบางฝ่าย ยืนยันว่าไม่ได้มี เจตนาหรือความเกี่ยวข้องใดๆ กับการหมิ่นสถาบัน และเห็นว่าเป็นหน้าที่ของทุกคน รวมถึงผู้มีอำนาจและชนชั้นนำที่จะต้องช่วยกันประคับประคองประชาธิปไตยที่อาจพบปัญหา อาจพบข้อบกพร่องอยู่บ้าง ให้เดินหน้าต่อไปได้ 
    และเมื่อเวลา 10.30 น. ที่บริเวณด้านหน้าอาคารัฐสภา เกียกกาย คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) นำโดยนายอนุสรณ์ อุณโณ ประธาน ครช. พร้อมด้วยมวลชน ประมาณ 200 คนเดินทางมาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ในหัวข้อ "24 มิถุนา ทวงคืนมรดกคณะราษฎร  ทวงสัญญารัฐธรรมนูญประชาชน"
    เริ่มต้นด้วยการเปิดคำแถลงการณ์ของคณะราษฎรเมื่อปี 2475 มาเผยแพร่ และนำอุปกรณ์จำลอง  อาทิ หมุดคณะราษฎรจำลอง พานรัฐธรรมนูญจำลองมาแสดง มีการแจกสติกเกอร์ แจกธงสีเขียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์รณรงค์แก้รัฐธรรมนูญปี 2540 จนสำเร็จ และชูสามนิ้ว พร้อมทั้งยื่นหนังสือต่อรัฐสภาเพื่อทวงถามความคืบหน้าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา และขอให้ประกาศให้วันที่ 24 มิ.ย.ทุกปีเป็นวันชาติและวันกำเนิดประชาธิปไตยของไทย 
    โดยมีตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ประกอบด้วยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ, นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล, นายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า, นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส.แพร่  พรรคเพื่อไทย, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เป็นตัวแทนรับหนังสือ
    นายอนุสรณ์กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ครช.ได้ยื่นข้อเสนอว่าด้วยหลักเกณฑ์และเเนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในวาระ 24 มิถุนา หรือวาระ 88 ปี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถือเป็นโอกาสสำคัญของประชาชนที่จะร่วมกันเรียกร้องให้มีการปักหมุดประชาธิปไตย  สร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนกลับไปสู่รากฐานเดิม คือประชาชนทุกคนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ 
ฝ่ายค้านรับลูกดันแก้ไข รธน.
    ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวว่า ตนเป็นประธานรัฐสภาเมื่อปี 2540 และได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็อยากให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 ไปเป็นต้นแบบ ทั้งนี้ 88 ปีที่ผ่านมาเรายังไม่มีประชาธิปไตยที่เป็นอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง ทุกวันนี้อำนาจยังเป็นของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นหลังจากนี้เป็นหน้าที่ของทุกคนต้องต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญต่อไป
    ขณะที่นายชำนาญกล่าวว่า ขณะนี้ กมธ.กำลังทำงานอย่างต่อเนื่องโดยแบ่งออกเป็น 2 ชุด ได้แก่ 1.ชุดศึกษาเนื้อหา 2.ชุดรับฟังความคิดเห็น โดยวันนี้จะมีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดที่มาจากข้อเสนอที่ผู้แทนจากหลากหลายองค์กรยื่นเข้ามา เราจะฟังทุกส่วน จะช้าหรือเร็วสุดท้ายก็ต้องมีการแก้ไขอย่างแน่นอน
    ขณะเดียวกันกลุ่มเลือกข้างประชาธิปไตย นำโดยนายภัทรพล ธนเดชพรเลิศ ยื่นหนังสือต่อ นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภา ผ่านไปยังนายชวน หลีกภัย ประธานสภา เพื่อเรียกร้องให้ยุบสภาและใช้รัฐธรรมนูญปี 40 ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป 
    ส่วนที่ต่างจังหวัดมีการจัดกิจกรรมเช่นกัน โดยเมื่อเวลา 06.30 น. ที่บริเวณภายในอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ศรีจันทร์ เขตเทศบาลนครขอนแก่น มีกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในชื่อกลุ่มขอนแก่นพอกันที จำนวนกว่า 10 คน นำไม้กวาดและน้ำยาทำความสะอาดมาทำความสะอาดโดยรอบบริเวณลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รวมทั้งการนำป้ายผ้าที่มีข้อความว่า "24 มิถุนายน อภิวัฒน์สยาม เก็บกวาดประชาธิปไตย" และ "ขออภัยในความไม่สะดวกมั้ย ซ้อมเป็นประชาธิปไตย" มาทำการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ รำลึก 88 ปีวันประชาธิปไตย 
    ที่พรรคเพื่อไทย มีการจัดเสวนา "ทิศทางรัฐธรรมนูญไทย" โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า วันนี้เป็นวันครบ 88 ปี ที่เรามีการเริ่มต้นในการเป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าจะมีปฏิวัติรัฐประหารและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่รู้กี่สิบฉบับ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมักจะร่างในสิ่งที่เข้าข้างตัวเอง รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับสวมเสื้อคลุมประชาธิปไตย ภายในสอดไส้เผด็จการ  รวมถึงเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำลายพรรคการเมือง การที่จะทำให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน จะต้องมี  ส.ส.ร.ที่เลือกตั้งจากประชาชนเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นของประชาชนโดยตรง ไม่เช่นนั้นเราจะอยู่ในมือเผด็จการไปโดยตลอด ไม่ว่าจะเลือกตั้งกี่ครั้งก็จะได้นายกรัฐมนตรีคนเดิม
    คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้พิสูจน์แล้วว่าสิทธิประชาชน การเข้าถึงทรัพยากรของประเทศชาติ ความเหลื่อมล้ำมีมากเหลือเกินจากผลพวงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ลิดรอนสิทธิของประชาชน พรรคมีหน้าที่ยืนแถวหน้าที่จะดำเนินการแก้ไข นอกจากนี้เราจะเปิดช่องทางออนไลน์ให้ประชาชนมาร่วมดีไซน์รัฐธรรมนูญฉบับหน้า ให้สิทธิประชาชนร่วมเขียนด้วยกัน ไม่ใช่ใช้คนไม่กี่คนเขียน
ไม่แก้ รธน. 'ลุงตู่' กลับมาอีก
    นายโภคิน พลกุล รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้สิทธิแต่ไม่ให้โอกาสประชาชน ดังนั้นจำเป็นต้องแก้ให้เป็นประชาธิปไตย เราเสนอให้มี ส.ส.ร. 200  คน ให้ประชาชนเลือกเข้ามาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ หากปล่อยไว้ไม่แก้ก็จะได้ลุงตู่เข้ามาบริหารประเทศอีก    นายวัฒนา เมืองสุข คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เฮงซวย  เพราะขาดการมีส่วนร่วมตั้งแต่แรก ในประเทศขนาดไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดถึง 30 วัน ยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  ซึ่งเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ ถ้ายังเป็นเผด็จการคงไม่มีใครกล้ามาลงทุน รัฐธรรมนูญออกแบบมาเพื่อสร้างให้มีการสืบทอดอำนาจ ต้องแก้รัฐธรรมนูญ เราต้องการผู้นำที่มีความสามารถ เก่งเป็นพิเศษ ไม่ใช่โง่เป็นพิเศษ บอกให้คนเคารพกฎหมาย แต่ตัวเองกลับฉีกกฎหมาย รัฐธรรมนูญ 2534 แม้จะแก้ไม่ได้เลย ก็ยังแก้ได้ ถ้าประชาชนไม่ยอม อะไรก็ขวางไม่อยู่ ต่อให้รถถัง เรือดำน้ำ ก็ขวางไม่อยู่ 
    นายรยุศด์ บุญทัน ผู้ก่อตั้งพรรคสามัคคีไทย กล่าวถึงวันครบรอบการปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน  พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎรว่า อยากร่วมกับคนไทยทุกคนรำลึกถึงวันสำคัญนี้ เพื่อไม่ให้ถูกลบเลือนไปตามกาลเวลา รวมถึงอีกหนึ่งบุคคลที่ทรงคุณค่าน่าจดจำ เป็นอีกหนึ่งในคณะราษฎร ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญและยิ่งใหญ่ครั้งนี้ นั่นคือ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษ อยากเห็นการต่อสู้ทางการเมืองจากนี้ไปเป็นการต่อสู้กันในเชิงหลักการและในเชิงความคิด ภายใต้กฎหมายที่เป็นธรรม ใช้ผลงานพิสูจน์  ไม่ใช้วิธีการหรือเครื่องมือที่สกปรกเข้าสู่อำนาจ
    น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า ในโอกาสรำลึก 88 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทำไมไม่มีการจัดงานรำลึกวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงให้ยิ่งใหญ่เหมือนกับนานาชาติ สำหรับวันที่มีความสำคัญต่อระบบการปกครองของประเทศ อีกทั้งวันนี้ไม่ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการด้วยประเด็นที่น่าประหลาดใจเพิ่มขึ้น คือเมื่อมีประชาชนจะจัดกิจกรรมรำลึกถึงวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง กลับมีข่าวจากโฆษกกระทรวงกลาโหมว่า กิจกรรมที่จัดขออย่าให้ก้าวล่วงกฎหมาย 
    น.ส.นภาพร เพ็ชร์จินดา รองเลขาธิการพรรคเสรีรวมไทย เห็นว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ต้องการผลักดันแนวคิดเรื่องรวมไทยสร้างชาติ ด้วยการกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติจริง ก็ควรต้องเริ่มด้วยการคิดใหม่ทำใหม่ โดยเฉพาะต้องยอมรับความจริงว่าที่การเมืองมีปัญหาประชาธิปไตยอ่อนแอ เป็นเพราะกติกาในรัฐธรรมนูญปี 60 ที่เครือข่าย พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้ร่างขึ้นมาเอง เพียงเพราะหวังใช้การเลือกตั้งเป็นบันไดสืบทอดอำนาจ หากต้องการเป็นรัฐบาลนิวนอร์มอลหรือต้องการรวมไทยสร้างชาติจริง ก็ต้องยอมรับความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาทั้งปวง 
    ที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า มาให้กำลังใจนายปิยรัฐ จงเทพ (โตโต้) นักกิจกรรมและอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขต 1 จ.กาฬสินธุ์ จากกรณีที่นายปิยรัฐซึ่งได้เข้าร่วมกิจกรรมรำลึกครบรอบ 88 ปีการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 เมื่อย่ำรุ่งวันนี้ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบติดตามตัวและพยายามเข้าควบคุมตัวโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาแต่ไม่สำเร็จ ก่อนที่จะมาทราบทีหลังว่าเจ้าหน้าที่ต้องการตัวไปดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จากการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งนายปิยรัฐได้เดินทางมาเข้ามอบตัวที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามเมื่อเที่ยงวันนี้
เช็กอาวุธสงครามโยงการเมือง
    ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร.เปิดเผยถึงกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยจัดกิจกรรมครบรอบ 88 ปีอภิวัฒน์สยามว่า ได้รับรายงานว่ามีการจัดกิจกรรมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ส่วนจะมีการขออนุญาตหรือไม่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายและพนักงานสอบสวนจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานพิจารณาเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ในด้านการข่าว พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร.กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด 
    ผู้สื่อข่าวถามถึงการพบอาวุธสงครามจำนวนมากที่ อ.แม่สอด จ.ตาก มีความเชื่อมโยงกับการจัดกิจกรรมครบรอบ 88 ปี 2475 หรือไม่ พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า ผู้ต้องหาให้การเป็นประโยชน์ มีความคิดอุดมการณ์ทางการเมือง แต่จะนำไปใช้กับใคร กลุ่มไหน ต้องสืบสวนขยายผลต่อ และถ้าจับไม่ได้ก็มีโอกาสที่จะเข้าถึงกรุงเทพฯ เพราะการตรวจยึดได้ที่แนวชายแดนจับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ 2 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบถึงแหล่งที่มาของอาวุธสงคราม แต่เท่าที่ตรวจสอบทั้ง 2 คนไม่มีประวัติเกี่ยวกับการค้าอาวุธ แต่มีแนวคิดทางการเมือง แต่จะฝั่งไหนฝ่ายไหนขอเป็นแนวทางการสอบสวน เคารพในความคิด  แต่ถ้าแนวคิดนำไปปฏิบัติแล้วผิดกฎหมายก็ดำเนินคดีไปตามปกติ 
    เมื่อถามว่าเมื่อมีการจัดกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวทางการเมือง เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมักจะมีการจับอาวุธสงครามได้บ่อยครั้ง เป็นการจัดฉากหรือเพื่อต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ พ.ต.อ.กฤษณะตอบว่า เขาจะทำไปเพื่ออะไร มันไม่ได้เกิดประโยชน์ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกมาเพื่อบังคับให้ประชาชนอยู่ในกฎ ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส คงไม่มีใครอยากไปทำอะไรเพื่อที่จะเป็นเครื่องมือหรือเงื่อนไขการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีการจับกุมนี้เพราะมีการข่าวมาก่อนแล้ว ทำไมถึงมาจับช่วงนี้ตอบไม่ได้ เรามีหน้าที่จับก็ต้องจับ 
    พล.ท.ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวถึงกรณีที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 346 ร่วมกับทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 (ฉก.ร.4) ยึดอาวุธปืนสงคราม เช่น เอ็ม 16, เอ็ม 79, อาร์ก้า,  ปืนกล และวัตถุระเบิดอีกจำนวนหนึ่งได้ที่บ้านหลังหนึ่งใน อ.แม่สอด จ.ตาก พร้อมควบคุมตัวชายไทย 2  คน ว่า ฉก.ร.4 เป็นหน่วยปฏิบัติในการเข้าไปจับกุม ข้อมูลที่มีเป็นเพียงข้อมูลในเบื้องต้น ต้องรอเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนขยายผล ซึ่งได้ส่งตัวทั้ง 2 คนไปที่ส่วนกลางแล้วเพื่อให้ตำรวจสืบสวนหาข้อมูลเชิงลึกต่อไป โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธต่างๆ ที่ยึดได้ว่าจะเกี่ยวข้องกับการนำไปก่อความไม่สงบ หรือไม่ เพราะอาวุธบางประเภท เช่น เอ็ม 79 ในอดีตก็เคยมีประวัติในการนำไปใช้ในการก่อเหตุในช่วงที่ผ่านมาหลายเหตุการณ์ มีการหาซื้อไม่ยากนัก ยังมีประเด็นในเรื่องของการนำอาวุธเพื่อไปแลกยาเสพติดหรือไม่ แต่ทั้งหมดต้องรอผลการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะผู้ต้องหาเป็นคนไทย ไม่ใช่ต่างด้าว 
    ด้านแหล่งข่าวจากฝ่ายความมั่นคงเปิดเผยว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. สั่งการให้ทหารตรวจสอบกรณีนี้เป็นการเร่งด่วนอีกทาง และสั่งการให้ขยายผลดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็กำลังดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดและสอบปากคำผู้ที่คาดว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่  เพื่อให้ได้ความชัดเจนว่าอาวุธสงครามจำนวนมากนั้นมาจากไหน เป็นของทหารที่สูญหายไปหรือไม่  โดยเฉพาะช่วงที่มีการชุมนุมที่ผ่านมา โดยต้องตรวจสอบเลขทะเบียนที่ติดอยู่กับอาวุธและกระสุนปืนทั้งหมด ส่วนที่มองว่าเกี่ยวข้องกับการเมืองนั้นก็อาจเป็นไปได้ เพราะช่วงเวลาตรงกับช่วงวันสัญลักษณ์พอดี แต่หากวิเคราะห์ลึกๆ แล้วถ้าเกี่ยวข้องกับการเมืองจริงๆ อาวุธสงครามมักจะจับกุมได้ในจังหวัดปริมณฑลใกล้ๆ กทม.มากกว่าจังหวัดที่อยู่ตามชายแดน แต่ทั้งนี้ทางฝ่ายทหารจะมีการเพิ่มความเข้มงวดบริเวณชายแดนต่อไป
    ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า​ ขณะนี้กำลังสอบสวนอยู่ ส่วนจะโยงการเมืองหรือไม่เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสอบสวนอยู่ ส่วนจะขยายผลเชื่อมโยงไปยังพื้นที่อื่นหรือไม่ ก็ต้องรอผลการสืบสวนว่าเป็นของใครมาจากที่ใด ต้องดำเนินการให้ได้โดยเร็ว  รวมถึงสอบสวนว่าเป็นเรื่องของการค้าขายอาวุธตามแนวชายแดนหรือไม่ด้วย ซึ่งจะต้องขยายผล เพราะหากเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายก็ต้องจับกุม
    เมื่อถามว่า​ความเคลื่อนไหวทางการเมืองตอนนี้ มีอะไรน่าเป็นห่วงจนต้องสร้างสถานการณ์บ้างหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าไม่มีอะไรน่าห่วง ส่วนที่มีการทำกิจกรรมทางการเมืองในวันนี้ 24 มิ.ย. ก็อย่าทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ส่วนจะมีการขยายผลหลังจากนี้หรือไม่ เราก็ต้องดู ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องการเมือง เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินใช้เพื่อดูสถานการณ์โควิดเท่านั้น อย่าเอามาเกี่ยวข้องกัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"