กนง.คงดอกเบี้ย หั่นจีดีพีลบ8.1% ส่งออกพค.ตํ่าสุด


เพิ่มเพื่อน    


    กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% หั่นจีดีพีปีนี้ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ติดลบ 8.1% เหตุพิษโควิดเล่นงาน ศก.สาหัสกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง พาณิชย์เผยส่งออก พ.ค.63 ทำได้มูลค่า 16,278.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดิ่งสุดในรอบ 4 ปี
    เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% เนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวติดลบมากกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้ และรัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก รวมทั้งจะมีผลกระทบที่มีความไม่แน่นอนสูงต่อโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ รูปแบบการทำธุรกิจ วิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน
    นอกจากนี้ กนง.ยังได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะขยายตัวติดลบ 8.1% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวติดลบ 5.3% พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัวติดลบ 10.3% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ติดลบ 8.8% และคาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทยเพียง 8 ล้านคนเท่านั้น ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 15 ล้านคน ส่วนการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าติดลบ 3.6% จากคาดการณ์เดิมที่ติดลบ 1.5% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนติดลบถึง  13.8% จากคาดการณ์เดิมที่ติดลบ 4.3% โดยมีเพียงการลงทุนภาครัฐเท่านั้นที่คาดว่าจะขยายตัวเป็นบวกที่ระดับ 5.8% เท่าคาดการณ์เดิม ส่วนเศรษฐกิจไทยปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวเป็นบวกที่ 5% จากเดิมที่คาดว่าไว้ 3%
    "ในช่วงครึ่งหลังของปีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวในประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้ แต่มีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ กนง.เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี รวมทั้งมาตรการการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน กนง.จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้" นายทิตนันทิ์ระบุ
    อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์อีก ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะกลับมารุนแรงอีกหรือไม่ ซึ่งเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ติดลบลึกที่สุดในไตรมาส 2/2563 เพราะผลกระทบโควิด-19 กระทบทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกรุนแรงกว่าที่คาด ทำให้ในช่วงดังกล่าวเศรษฐกิจติดลบมาก และช่วงครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวแบบติดลบน้อยลงเรื่อยๆ ก่อนจะกลับมาเป็นบวกในปีหน้า ส่วนจะฟื้นตัวอย่างไรขึ้นอยู่กับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในการประชุม กนง.ได้มีการหารือว่าโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ ทั้งรูปแบบการทำธุรกิจ วิถีชีวิตการประกอบอาชีพของประชาชน จึงจำเป็นที่รัฐบาลต้องมีการทำมาตรการในด้านของอุปทาน ให้มีการปรับตัวเพื่อเข้าสู่โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไป
    นายทิตนันทิ์กล่าวด้วยว่า ในส่วนของเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจัยมาจากค่าเงินสหรัฐฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมหลักและภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะมีผลกระทบกับผู้ส่งออก ดังนั้นจึงให้ทีมงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประเมินมาตรการจำเป็นเพิ่มเติมในระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าจะเกินดุลมาก แต่ไม่มากเหมือนเดิมจนกว่าภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นปกติ 
     นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจ ธปท. กล่าวว่า การปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ล่าสุดที่ติดลบ 8.1% ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะเมื่อเทียบกับวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 เศรษฐกิจไทยขยายตัวติดลบ 7.6%
    วันเดียวกัน น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน พ.ค.63 มีมูลค่า 16,278.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 22.50% โดยมูลค่าลดลงมากที่สุดในรอบ 4 ปี นับจาก เม.ย.59 ที่การส่งออกมีมูลค่า 15,609.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  และอัตราขยายตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 130 เดือน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 13,583.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 34.41% เกินดุล 2,694.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ภาพรวมการส่งออก 5 เดือนของปี  2563 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 97,898.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 3.71% นำเข้ามูลค่า 88,808.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 11.64% โดยเกินดุลการค้า 9,090.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
    ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะมีการกระจายไปทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย ทำให้การผลิตและการบริโภคหดตัว ซึ่งต่างจากตอนน้ำท่วมที่กระทบด้านการผลิตเป็นหลัก ทำให้ฟื้นตัวได้เร็ว และยังได้รับผลกระทบจากการขนส่งที่ยังไม่เพียงพอและค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ทำให้ผู้นำเข้าชะลอการสั่งซื้อแม้จะมีความต้องการสูง ขณะที่ราคาน้ำมันแม้จะปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็ยังไม่มาก กระทบต่อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และเงินบาทเริ่มแข็งค่า มีผลกระทบต่อการแข่งขันของสินค้าไทย
    ด้านสินค้าส่งออก สินค้าอุตสาหกรรมลดลง 27% เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบลดลง  62.6% สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันลดลง 33.2% อัญมณีและเครื่องประดับลดลง 68.6 คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบลดลง 21.3% ผลิตภัณฑ์ยางลดลง 22.2% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบลดลง 39.5% แต่ทองคำเพิ่มสูงถึง 735.1% อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไอโอดเพิ่ม 29.1% เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเพิ่ม 5% ส่วนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่ม 2.5% เช่น ผัก ผลไม้สดแช่แข็งกระป๋องและแปรรูปเพิ่ม 83.5% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพิ่ม  8% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปเพิ่ม 5.6% อาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่ม 17% ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งเพิ่ม 13%  แต่ยางพาราลด 42% น้ำตาลทรายลด 25.4% ข้าวลด 4%
    "แม้กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมจะลดลง แต่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรที่ตอบโจทย์ความต้องการในช่วงล็อกดาวน์ของโลกยังคงขยายตัวได้ดี และทำให้สัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 22.7%  จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 17.1% ของการส่งออกทั้งหมด ทำให้สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตอาหาร และยังทำให้รายได้กระจายลงสู่เกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว
    ผอ.สนค.กล่าวด้วยว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยแม้จะติดลบมาก แต่ก็ทำได้ดีกว่าหลายประเทศ และน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว โดยคาดว่าความต้องการสินค้าของประเทศต่างๆ จะเพิ่มขึ้นในเดือนต่อๆ ไป  แต่การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้าๆ เพราะยังไม่แน่ใจว่าจะมีการกลับมาระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 หรือไม่ และยังมีปัญหาการขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศที่ยังไม่คล่องตัว โดยหากการส่งออกจากนี้ไป ทำได้เฉลี่ยเดือนละ 1.7-1.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกทั้งปีจะติดลบ 5% แต่ถ้าทำได้มากกว่าการติดลบก็จะน้อยลง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"