ไร้โควิด-19ในไทยต่อเนื่อง33วัน


เพิ่มเพื่อน    

 ศบค.เผยไร้โควิด-19 ในไทยมาต่อเนื่อง 33 วันแล้ว ย้ำ 1 ก.ค.เปิดโรงเรียนวิถีชีวิตใหม่ ขณะที่กลาโหมเผยมีคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศเข้าสู่สถานที่กักกันตัวของรัฐแล้วจำนวน 26,886 คน ในสถานกักกันตัวที่กำหนด 43 แห่ง พบผู้ติดเชื้อ 147 ราย กรุงเทพโพลสำรวจประชาชนพึงพอใจการบริหารจัดการโควิดของรัฐบาล ขณะเดียวกันกังวลการระบาดรอบ 2

       เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศว่า ไม่พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ โดยภายในประเทศไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 33 วัน
        สำหรับผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,162 ราย มีผู้ป่วยรักษาหายเพิ่มอีก 13 ราย ทำให้จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วรวม 3,053 ราย และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 51 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย
         จากข้อมูลผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและเข้ากักตัวเพื่อเฝ้าระวังอาการในสถานที่รัฐจัดให้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ถึงปัจจุบัน มีจำนวน 47,289 ราย ในจำนวนนี้พบผู้ติดเชื้อจำนวน 225 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.48
        ส่วนสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก มียอดผู้ติดเชื้อรวม 9,904,963 ราย อาการรุนแรง 57,643 ราย รักษาหายแล้ว 5,357,840 ราย เสียชีวิต 496,866 ราย อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด  1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 2,552,956 ราย 2.บราซิล จำนวน 1,280,054 ราย 3. รัสเซีย จำนวน 620,794 ราย 4.อินเดีย จำนวน 509,446 ราย 5.สหราชอาณาจักร จำนวน 309,360 ราย ขณะที่ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 95 จำนวน 3,162 ราย
        ศบค.ระบุว่า ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โรงเรียนจะเปิดเรียนแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ทุกโรงเรียนต้องดำเนินการป้องกันการแพร่เชื้อในสถานศึกษาตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการกำหนด
    โดยการคัดกรองวัดไข้ก่อนเข้าโรงเรียน ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่ออยู่ในโรงเรียน จัดจุดล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลอย่างเพียงพอ เว้นระยะห่างในห้องเรียน เน้นจัดการเรียนการสอนเพื่อลดความแออัด มีการสลับกลุ่มแบ่งนักเรียน ลดการทำกิจกรรมกลุ่ม หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลุ่มควรเป็นกลุ่มเล็ก เน้นการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสต่างๆ ที่ใช้ร่วมกัน อาทิ สนามเด็กเล่น ลูกบิดประตู ห้องน้ำ
     สิ่งสำคัญคือผู้ปกครองต้องให้ความร่วมมือในการเตรียมอุปกรณ์ป้องกันตัวเองให้บุตรหลาน เช่น หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า แอลกอฮอล์เจลล้างมือ หลังเลิกเรียนควรรีบกลับบ้านอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที หากเด็กป่วย มีไข้ ไอ จาม ต้องให้เด็กหยุดเรียนรักษาตัวอยู่ที่บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
        สำหรับประชาชนขอให้ดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ กินร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาความอบอุ่นของร่างกาย และสวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง
    พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม (กห.)เปิดเผยว่า พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กห. และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัด กห. ได้ประชุมร่วมกับ กอ.รมน. นขต.กห. และเหล่าทัพ เพื่อติดตามการบริหารจัดการมาตรการกักตัวควบคุมโรคของรัฐและการช่วยเหลือประชาชนระหว่างการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ณ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กห. ในศาลาว่าการกลาโหม
    สรุปสถานภาพคนไทยที่เดินทางผ่านสายการบินกลับจากต่างประเทศ ตั้งแต่ 4 ก.พ.ถึงปัจจุบัน และเข้าสู่สถานที่กักกันตัวของรัฐ (State Quarantine) จำนวน 26,886 คน ในสถานกักกันตัวที่กำหนด 43 แห่ง พบผู้ติดเชื้อและส่งเข้ารักษาระหว่างกักตัว 147 ราย ส่งกลับภูมิลำเนาแล้ว 20,027 คน ยังอยู่ระหว่างพักกักตัว 7,371 คน โดยระหว่าง 26-28 มิ.ย.63 มีคนไทยเดินทางจากต่างประเทศเข้ามาอีกจำนวน 1,428 คน ใน 10 เที่ยวบิน จากอังกฤษ อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย บาห์เรน แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และสิงคโปร์
    สำหรับสถานภาพของคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศรอบบ้าน ผ่านช่องทางผ่านแดนทางบก และเข้าสู่สถานที่กักกันตัวที่กำหนดในพื้นที่จังหวัด (Local Quarantine) ตั้งแต่ 10 เม.ย.63 ถึงปัจจุบัน รวม 34,518 คน ใน 647 สถานที่ทั่วประเทศ โดยยังอยู่ระหว่างพักกักตัว 3,585 คน
    ขณะที่ กห.โดยทุกเหล่าทัพ ยังคงจัดกำลังทหาร เจ้าหน้าที่แพทย์ทหาร และสถานที่สนับสนุนทำงานร่วมกับส่วนราชการต่างๆ อย่างต่อเนื่องกันมา ทั้งการเตรียมพร้อมโรงพยาบาลสนามรองรับกับภาวะวิกฤติ ภารกิจคัดกรองการผ่านเข้า-ออกในทุกด่านชายแดนทางบก ทางน้ำ และท่าอากาศยานนานาชาติ ส่งต่อไปถึงการบริหารจัดการสถานที่กักกันตัวควบคุมโรคของรัฐ (State Quarantine) และภารกิจการกำกับดูแลความเรียบร้อยปลอดภัยของประชาชนตามมาตรการผ่อนคลายระยะต่างๆ ที่รัฐกำหนด
    รวมทั้งยังคงภารกิจการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องกันมา ทั้งการบริจาคโลหิตเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติการขาดแคลนโลหิตแล้วกว่า 3 ล้านมิลลิลิตร การผลิตหน้ากากอนามัยผ้ามอบให้ชุมชนกว่า 2.3 ล้านชิ้น การจัดตู้ปันสุขกว่า 360 ตู้รอบหน่วยทหาร ร่วมกับการมอบข้าวสารอาหารแห้งและเครื่องอุปโภคจำเป็นควบคู่กับการจัดรถครัวสนามประกอบอาหาร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนยามยังไม่สามารถใช้ชีวิตปกติ
    กรุงเทพโพล โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ประเมินความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการ COVID-19” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,214 คน
    พบว่า    ในภาพรวมประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการ COVID-19 ในด้านต่างๆ เฉลี่ย 3.79 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน ซึ่งแปลผลได้ว่ามีความพึงพอใจมาก โดยด้านที่ได้คะแนนมากที่สุดคือ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ 4.23 คะแนน (ความพึงพอใจมากที่สุด) รองลงมาคือ การบริหารจัดการ ควบคุม แก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ได้ 4.08 คะแนน (ความพึงพอใจมาก) การบริหารจัดการจัดการเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาให้กับประชาชนและการต่อต้านและป้องกันข่าวลวง (fake news) ได้ 3.43 คะแนนเท่ากัน (ความพึงพอใจมาก)
    เมื่อถามว่า กังวลต่อการกลับมาแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในรอบ 2 มากน้อยเพียงใด พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.5 มีความกังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 49.5 กังวลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
    ทั้งนี้ เมื่อถามต่อว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีส่วนต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 มากน้อยเพียงใด พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 76.7 มีส่วนต่อการควบคุมค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 23.3 มีส่วนต่อการควบคุมค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
    สำหรับข้อคำถาม “จากนโยบายที่นายกฯ แถลงการณ์วันที่ 17 มิ.ย.2563 ท่านคิดว่าการขับเคลื่อนประเทศด้านใดที่จะช่วยกำหนดอนาคตประเทศ ภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19” ส่วนใหญ่ร้อยละ 66.3 เห็นว่าเป็นด้านความเป็นอยู่ของประชาชน รักษาระยะห่าง ใช้ชีวิต New Normal รองลงมาร้อยละ 42.8 เห็นว่าเป็นด้านเศรษฐกิจ การค้าต่างประเทศ และร้อยละ 32.5 เห็นว่าเป็นด้านการสาธารณสุข พัฒนาการรักษา วัคซีนป้องกัน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"