กลเกม...ที่ อสมท


เพิ่มเพื่อน    

 

         เอากันให้ชัด สอบกันให้จริงจัง อย่าหยุดแค่ "ผลประโยชน์" ลงตัวก็แล้วกัน สำหรับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) อันมีประเด็นการเยียวยาคลื่น 2600 จาก กสทช. เป็นโจทย์ปัญหา และตั้งธงให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ นายเขมทัตต์ พลเดช  เป็นจำเลย

            นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล อสมท ผู้ลงนามตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว โดยอ้างหนังสือร้องเรียนของสหภาพแรงงาน อสมท เป็นสารตั้งต้น คงต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง หากผลการกระทำในครั้งนี้ออกมากลายเป็น..โอละพ่อ!! เพราะก่อนหน้านี้ประธานบอร์ดอสมท พล.ต.ท.จตุพล ปานรักษา ได้มีหนังสือยืนยันแล้วว่า  กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องภายในของ อสมท ที่ข้าราชการการเมืองไม่อาจก้าวล่วงได้ตามกฎหมาย และระเบียบต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นบริษัทมหาชน

                ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของ อสมท ที่ไม่จำเป็นต้องสร้างประเด็นเดือดร้อนไปถึงสำนักนายกรัฐมนตรี หากสังเกตเนื้อหาของข้อมูลจะแบ่งเป็น 3 เนื้อหาหลัก

            1) ชุดข้อมูลของสหภาพแรงงาน ที่มุ่งโจมตีฝ่ายบริหารโดยหลักคิดว่า ไม่ควรแบ่งเงินเยียวยาให้เอกชน โดยไม่ฟังเหตุผลหรือ ฟังคำอธิบายข้อเท็จจริง กระบวนการคิดเยียวยา และข้อกฎหมาย อีกทั้งไม่สนใจว่าองค์กรจะได้เงินเยียวยาเท่าไร แต่สนใจว่าคู่สัญญาต้องไม่ได้เงินเยียวยา

                2) ชุดข้อมูลของฝ่ายการเมือง ที่ตั้งธงว่ามีความไม่ชอบมาพากล โดยไม่ศึกษาหารายละเอียด ตลอดจนความเป็นมาของคู่สัญญา จนกระทั่งถึงวันที่ กสทช.มีมติในการเยียวยา

                3) ผู้บริหาร อสมท เท่าที่เห็นมีกรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนเดียวที่ออกมาชี้แจงเป็นหลักการ และยังมีคนกลาง คือ ประธานอนุกรรมการเยียวยา ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานอัยการสูงสุด มาชี้แจงข้อกฎหมาย และกระบวนการเยียวยา แต่ดูเหมือนทุกฝ่ายเล่นสาดโคลนไปที่ผอ.อสมท และไม่ฟังประเด็นทางกฎหมายจากประธานอนุกรรมการเยียวยา ที่เป็นผู้บริหารภาครัฐ ที่เป็นกลางเลย

                ทิศทางของข่าวสารแบบนี้ เกมที่เดินกันในกรณีนี้ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจอีกครั้งว่า นี่เพราะ อสมท เป็นแดนสนธยา ..ใช่ไหม?!? จึงไม่มีใครคิดวิเคราะห์ อำนาจและประกาศทางกฎหมายของ กสทช. ไม่มีใครพินิจไปถึงที่มาของหนังสือ อสมท ที่ไปถึง กสทช. ไม่มีใครสนใจเรื่องเงินของ อสมท ที่ได้มา แต่ไปสนใจว่าไม่ควรแบ่งให้เอกชน

                ประเด็นของเรื่องนี้คงต้องถามมูลเหตุของการเปิดประเด็นว่า ใครอยู่เบื้องหลังกันแน่ เพราะเท่าที่สายข่าวแจ้งมา บอร์ด อสมท เริ่มมีเรื่องขัดแย้งกันตั้งแต่ พ.ค.2562 ที่บอร์ดว่างลง 4 คน และมีการนำเสนอผ่าน สคร.ไปแล้ว แต่ไปติดที่รัฐมนตรีเจ้าสังกัด ทำให้กว่าจะมาทำงานได้ก็ปาไปเดือนธันวาคม 2562 โดยมีบอร์ดเดิมทำงานกัน 7 คน จากทั้งหมด 13 คน และจัดสรรกรรมการเฉพาะเรื่องกันอย่างสนุก ตั้งต้นเป็นกรรมการสรรหา, กรรมการตรวจสอบ และชุดอื่นๆ เป็นการล็อกกระบวนการทำงานแบบเนียนๆ โดยมีคนในเป็นกลไกในการช่วยสนับสนุน

                เรื่องที่หลายคนขยายประเด็นจากหนังสือทักท้วงเรื่องคลื่น 2600 ของกรรมการบางคน ก็ต้องไปพิจารณาที่มาของการลาออกและทักท้วง ว่ามาจากไหน เพราะเท่าที่ทราบจากพรรคพวกในตลาดหลักทรัพย์ และกระทรวงคลัง คือ กรรมการลาออก 3 คนนั้น คนแรกลาออกเพราะมีภารกิจเพิ่ม และลาออกก่อนที่มีการประชุม กสทช. และประชุมบอร์ด อสมท คนที่สองหมดวาระในเดือน เม.ย.2563 แต่เนื่องจากเลื่อนการประชุมผู้ถือหุ้นออกไป ก.ค.2563 เมื่อไม่เห็นด้วยกับกรรมการบอร์ดคนอื่นๆ จึงโหนกระแสคลื่น 2600

                คนสุดท้ายทีเด็ดที่สุด เพราะจากการตรวจสอบพบว่า ขาดคุณสมบัติ อันเนื่องมาจากนั่งเก้าอี้บอร์ดมาเกิน 2 วาระ ซึ่งควรจะสิ้นสุดตั้งแต่ สคร.ชี้มูลในเดือน พฤษภาคม 2563 แต่มาลาออกในเดือนมิถุนายน 2563  และทิ้งทุ่นว่าที่ลาออกเพราะไม่พึงพอใจเรื่องคลื่น 2600

            ประชากรในแดนสนธยา หากรู้ความจริงแล้วยังโดดลงไปเล่นเกมล่อหลอก ถล่มบ้านตัวเอง อีกไม่นานไม่ช้า ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างกระทรวงการคลังอาจจะยื่นมือเข้าไปขอให้ฟื้นฟูกิจการ โละปัญหาทั้งยวงก็ได้ ..ใครจะไปรู้!!.

"ปิยสาร์"


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"