ชำแหละงบถล่มบิ๊กตู่ ปั้นโวหารตั้งสารพัดฉายานายกฯแจงจำเป็นใช้ฟื้นศก.


เพิ่มเพื่อน    

  เปิดฉากถกงบฯ ปี 64 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท นายกฯ แจง 6 ยุทธศาสตร์วางโครงการไว้ในอนาคต รับ ศก.ไทยปีนี้ลบ 6 แต่เชื่อปีหน้าโต 4-5 เปอร์เซ็นต์ “ผู้นำฝ่ายค้าน” ติงไร้แผนรองรับวิกฤติ ร้ายยิ่งกว่าต้มยำกุ้ง อัดแจกเงินแค่หาคะแนนนิยม  "อนุดิษฐ์" ให้ฉายา "บิดาแห่งความเหลื่อมล้ำ ผู้นำแห่งการก่อหนี้" เสี่ยงล้มละลาย หลายโครงการส่อทุจริต "ก้าวไกล" จวก "ยุคมหาประยุทธภัย" ใช้งบมากที่สุด แต่ ศก.ไม่โต ฉะกองทัพ "งบ ลวง พราง" จี้ชะลอโครงการซื้ออาวุธ-ลดหนี้ผูกพันเอามาฟื้น ศก. ส.ส.พท.ตั้งฉายา "นายกเรือดำน้ำจีน" ด้าน “บิ๊กช้าง-บิ๊กตู่” ยันจำเป็นจัดซื้อยุทโธปกรณ์เตรียมความพร้อม

    ที่รัฐสภา เวลา 10.00 น. วันที่ 1 กรกฎาคม มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงินไม่เกิน 3.3 ล้านล้านบาท ในวันแรก ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม  
    โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นำเสนอร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 64 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 คาดว่าจะปรับตัวลดลงในช่วงร้อยละ ติดลบ 6 ถึงติดลบ 5 โดยมีสาเหตุหลักมาจากสงครามทางการค้าและจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการดำเนินมาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางของประเทศต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจโลก ปริมาณการค้าโลก และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวลดลงรุนแรง ซึ่งส่งผลให้แรงขับเคลื่อนทั้งจากอุปสงค์ต่างประเทศและในประเทศปรับตัวลดลง แนวโน้มการลดลงของระดับความรุนแรงของการระบาดภายในประเทศคาดว่าจะทำให้ภาครัฐสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ ได้ถึงระดับใกล้เคียงภาวะปกติภายในไตรมาสที่สอง และจะทำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ สามารถผ่อนคลายมาตรการจนถึงระดับใกล้เคียงกับภาวะปกติได้ภายในไตรมาสที่สาม ในขณะที่มาตรการควบคุมด้านการท่องเที่ยวคาดว่าจะมีการผ่อนคลายภายในไตรมาสที่สี่ ภายใต้แนวโน้มดังกล่าวคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีปรับตัวลดลงในอัตราที่ช้าลง
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เศรษกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 4.0-5.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเทียบกับปี 2563 อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้หากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีความยืดเยื้อและมาตรการควบคุมของประเทศต่างๆ ขยายระยะเวลาออกไป หรือปัญหาในภาคการผลิตลุกลามไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินการคลังในต่างประเทศ รวมทั้งในกรณีที่มาตรการกีดกันทางการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น ในขณะเดียวกัน มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ในกรณีที่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สามารถยุติลงได้อย่างสิ้นเชิงภายในไตรมาสแรกของปี 2564
    นายกฯ กล่าวอีกว่า สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จำนวน 3.3 ล้านบาท เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุลโดยกำหนดรายได้สุทธิจำนวน 2.6 ล้านล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 6.2 แสนล้านบาท สำหรับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีจำนวน 7 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60  ฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 5.1 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
    นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรอบโครงสร้างยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณฯ มีรายละเอียดการดำเนินงานที่สำคัญสรุปได้ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 4.1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.6 ของวงเงินงบประมาณ, ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.2,   ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์  5.7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 17.5, ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 7.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.1, ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 1.1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.6, ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ  5.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.9
วิกฤติกว่าต้มยำกุ้งเสี่ยงหายนะ
    จากนั้นเวลา 11.00 น. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน  อภิปรายว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการบริหารประเทศที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาวะของประเทศ เวลานี้ประเทศอยู่ในภาวะโควิด-19 แต่นายกฯ ไม่ได้ระบุถึงวิธีการแก้ไขอย่างใด การทำงบประมาณครั้งนี้ต้องพิเศษกว่าทุกครั้ง คือต้องรองรับวิกฤติเศรษฐกิจ
    "แม้ไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดน้อย แต่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจจะสูงเป็นสิ่งที่น่ากังวล ซึ่งมาตรการของรัฐบาลใช้ต้นทุนสูงเกินความจำเป็น และอาจเสียหายเกิน 2 ล้านล้าน เป็นวิกฤติที่ลงลึกกว่าต้มยำกุ้งด้วยซ้ำ การฟื้นตัวขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ การรักษาการจ้างงาน การรักษาธุรกิจไม่ให้ล้ม และป้องกันไม่ให้ลามไปถึงระบบการเงินของประเทศ แต่เวลานี้ธุรกิจค่อยๆ ล้มและเกิดการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก ปัญหาจะลามไปถึงสถาบันการเงิน โดยเฉพาะหนี้เสียที่ธนาคารปล่อยกู้เงินไปนั้นจะเกิดขึ้นสูงและรวดเร็วมาก"
    นายสมพงษ์กล่าวอีกว่า งบประมาณปี 2564 จัดสรรแบบเก่า เน้นการก่อสร้างและการอบรมสัมมนา เสมือนทำไปวันๆ เหมือนทุกปีตามที่ส่วนราชการเสนอมา รัฐบาลไม่ได้มองไปที่ภาพใหญ่ว่าประเทศไทยจะก้าวไปทิศทางไหน จะรับรองธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่อย่างไร เราจะเอาประเทศของเราไปอยู่ส่วนไหนของห่วงโซ่อุปทานใหม่ของโลก นโยบายการแจกเงินนั้นเป็นเพียงการหาคะแนนความนิยม หากดำเนินการไม่ถูกต้อง จะเป็นอันตรายต่อประเทศมาก หากรัฐบาลชี้แจงไม่ได้ ก็คงจะสนับสนุนงบประมาณนี้ให้ผ่านไปไม่ได้
    ต่อมา น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณมาหลายครั้ง  แต่ไม่มีครั้งไหนที่น่าห่วงใยและกังวลมากเท่าครั้งนี้ เนื่องจากโครงสร้างของงบประมาณที่รายจ่ายไว้เป็นจำนวนไม่เกิน 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งรวมแล้วเป็นเงินจำนวน 2.625 ล้านล้านบาท ในขณะที่รายได้ที่มาจากการจัดเก็บภาษีประมาณไว้ 2.677 ล้านบาท หากการจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าประมาณการ ไม่มีเงินเหลือที่จะพัฒนาปรับปรุงหรือลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้ ยกเว้นจะต้องไปกู้มาเพิ่ม ซึ่งเชื่อว่าไม่สามารถเก็บได้ตามเป้า ขณะที่รายจ่ายประจำสูงขึ้นเรื่อยๆ ปีนี้ขึ้นเป็น 2.526 ล้านล้านบาท เฉลี่ยโตขึ้น 2.22 เท่า ในขณะที่รายจ่ายลงทุนปี 6.74 แสนล้านบาท หรือโตขึ้นแค่ 1.8 เท่า เพราะรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจสร้างรัฐราชการ จึงทำให้มีรายจ่ายประจำสูงขึ้นเรื่อยๆ กองทัพไทยมีหน่วยงานที่ซ้ำซ้อน การที่มีกำลังพลมากเกินความจำเป็นจึงภาระกับงบประมาณของประเทศ และยังเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลจะต้องทำคือการลดจำนวนข้าราชการลง แต่ตรงกันข้าม กลับให้วันเวลาทวีคูณกับทหารตำรวจตำแหน่งนายพลทั่วประเทศ หรือการให้สองขั้นกับพวกที่มาช่วยงาน คสช. งบประมาณเกือบแสนล้านบาท
    น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวต่อว่า ไทยกำลังจะเสียฐานภาษีสำคัญ ก่อนหน้านี้ประเทศได้มีกฎหมายและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อจูงใจให้มีการลงทุนในประเทศ มูลค่าการส่งออกโดยเฉพาะรถยนต์ รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าอีก รวมเป็นร้อยละ 15 ของจีดีพีของประเทศ แต่เมื่อสองเดือนที่ผ่านมา หลายบริษัทกำลังจะปิดตัวในไทย และย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน หากยังไม่เตรียมฐานการผลิตภาษีใหม่มาแทน ปีหน้าจะกลายเป็นหายนะอีกเช่นกัน ฐานะทางการคลังของรัฐบาลมีความเปราะบางและสุ่มเสี่ยงต่อการล้มละลาย รัฐบาลกู้เองโดยตรงและหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันทั้งสิ้น 6.98 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.8 ของจีดีพี หากรวมหนี้ที่กู้มาชดเชยการขาดดุลงบประมาณรวม 2.791 ล้านล้านบาท จะต้องใช้เวลาชำระคืนถึง 64 ปี ยังไม่นับรวมหนี้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1.1 ล้านล้านบาท หรือหนี้ที่จะต้องกู้ในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเกือบ 100 ปีจึงจะชำระหมด
    "วันนี้นายกฯ จึงกลายเป็นผู้นำของไทยที่กลายเป็นบิดาแห่งความเหลื่อมล้ำ ผู้นำแห่งการก่อหนี้ หากอนาคตหนี้เต็มเพดานและรัฐบาลก่อหนี้ไม่ได้อีก จะเป็นปัญหากับการพัฒนาประเทศ ตอนนี้ประชาชนไม่มีรายได้แต่หนี้สูง โจทย์คือรัฐบาลจะเพิ่มกำลังซื้อในประเทศได้อย่างไร การเยียวยาที่จะจบในเดือนนี้ก็ยิ่งจะทำให้สถานการณ์แย่ลงอีก ตัวเลขคนตกงานจะพุ่งนี้เป็น 7-10 ล้านคน รัฐบาลได้เตรียมอะไรไว้แล้วบ้างนอกจากการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แถมยังมีข้อมูลหลายส่วนที่ส่อไปในทางทุจริต ฮั้วประมูล ล็อกสเปก รัฐบาลกลายเป็นพ่อค้าหาบเร่ขายงบประมาณให้กลุ่มทุน” น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว
วางโครงการเพื่ออนาคต
    จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงว่า การจัดงบประมาณเป็นการวางโครงการไว้ในอนาคต เพราะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ถนน ยังไม่เพียงพอ และเตรียมสำหรับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในอนาคต ตนพูดแล้วก็ทำ ไม่เหมือนหลายรัฐบาลที่ผ่านมาที่ไม่เคยทำแบบนี้ได้ เห็นว่าทุกคนมีผลกระทบ อาจจะมีการลดค่าแรงไปบ้าง แต่ข้อสำคัญคือภาคเอกชนจ้างงานต่อ ส่วนการจัดเก็บงบประมาณไม่พอเพียง เนื่องจากบางปีมีการประมูลของ กสทช. หรือบางปีประชาชนเดือดร้อน ก็จะเก็บไม่ได้เท่าที่ตั้งไว้ แต่ตอนนี้กำลังใช้ระบบออนไลน์มาตรวจสอบการจัดเก็บภาษีเพื่อชัดเจนมากขึ้น ช่วงนี้เป็นช่วงของการพื้นฟูและการส่งต่อ แต่ต้องใช้เวลา การแจกเงินก็ไม่ใช่แจกเพื่อการเมือง คือหว่านให้ทุกคน แต่ต้องเลือกกลุ่มให้ถึงคนที่เดือดร้อนจริงๆ
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า สำหรับการใช้หนี้สาธารณะหลายประเทศมีหนี้จำนวนมาก แต่มีหน่วยงานสำหรับการใช้หนี้อยู่แล้ว ส่วนการย้ายฐานการผลิต ตนไปตรวจสอบเป็นเพียงฐานการผลิตชิ้นเล็กๆ น้อยๆ ส่วนของไทยจะเพิ่มการผลิตสินค้าใหม่ๆ ขึ้นมาก ซึ่งตนสอบถามมานานแล้ว ทหารไทยกับทหารต่างประเทศมีภารกิจต่างกัน ทหารไทยต้องดูแลประเทศ ดูแลชายแดน อยากให้ดูกฎหมายทุกตัว ไม่ใช่ดูแค่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วถ้าไม่ทำอย่างนั้นมาแล้ววันนี้จะมานั่งประชุมสบายๆ แบบนี้ได้ไหม ส่วนฉายาที่ฝ่ายค้านให้ นายกรัฐมนตรีหัวเราะแล้วตอบกลับว่า "ไม่อยากไปให้ฉายาท่านกลับเหมือนกัน"
    หลังจากนั้น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ปี 2564 นอกจากจะเป็นปีที่ประชาชนทุกข์แสนสาหัสแล้วยังต้องถูกจารึกในประวัติศาสตร์ด้วยว่าเป็นปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้งบประมาณแผ่นดินครบ 20 ล้านล้านบาท ตั้งแต่บริหารประเทศยึดอำนาจมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ท่านเป็นนายกฯ ที่ใช้งบบริหารแผ่นดินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่น่าแปลกใจที่เงิน 20 ล้านล้านบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้น้อยมาก โตเพียง 3 ล้านล้านบาทเท่านั้น จาก 13 ล้านล้านบาทในปี 2557 ที่ท่านยึดอำนาจมาเป็น 16 ล้านล้านบาทในปี 2562 การแก้ปัญหาที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจไทยดื้อยาขนาดหนัก นี่คือมหาประยุทธภัย ที่ยิ่งเพิ่มงบประมาณ ความเชื่อมั่นยิ่งลดลงสวนทางกัน แม้ว่าจะถมงบประมาณลงไปเศรษฐกิจก็ไม่กระเตื้อง ถ้าจะเดินกันแบบเดิมๆ งบประมาณแบบเดิมๆ จะคาดหวังว่าจะได้รับผลลัพธ์แบบใหม่ๆ ก็คงไปไม่ได้
    นายพิธากล่าวว่า เดือน มิ.ย.เป็นเดือนสุดท้ายที่ผู้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาท โดยที่รัฐบาลยังไม่ได้ประกาศมาตรการรองรับใดๆ เดือน ก.ค.ก็จะเป็นเดือนสุดท้ายที่พี่น้องเกษตรกรกว่า 7 ล้านครัวเรือน รับเงิน 5,000 บาท ส่วนกลุ่มคนเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ กว่า 6.7 ล้านคน จะได้รับเงินเยียวยา 1,000 บาทเป็นเดือนสุดท้ายเช่นเดียวกัน ปัญหาของกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ใช้ชีวิตกันอย่างไม่มีหลักประกันและได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองในช่วงที่ผ่านมา ขอแสดงความเสียใจกับพี่น้องด้วย ที่งบประมาณของกระทรวงแรงงานถูกลดลง 3,000 ล้านบาท และไม่มีแผนโครงการที่จะช่วยนำพี่น้องเข้าสู่ระบบ สำหรับพี่น้องที่กำลังจะตกงานและต้องหางานใหม่กว่า 8 ล้านคนทั่วประเทศ ประเทศเผชิญมหาวิกฤติรุมเร้า แต่รัฐบาลยังคงจัดกระเป๋าไปตามปกติ จึงไม่สามารถเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 64 ในวาระ 1 ได้
ก้าวไกลถล่ม กห."งบ ลวง พราง"
    จากนั้นในช่วงบ่าย ส.ส.ที่อภิปรายน่าสนใจคือ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศกำลังเจอกับภัยคุกคามทางโรคระบาด ไม่ใช่ภัยคุกคามทางทหาร รัฐบาลจำเป็นต้องปรับความคิดเรื่องความมั่นคงจากทางทหารเป็นความมั่นคงในชีวิตของพี่น้องประชาชน การจัดทำงบประมาณต้องปรับงบกองทัพลง และเพื่อให้มีงบประมาณรองรับปัญหาเศรษฐกิจ สาธารณสุข และเยียวยาประชาชนมากขึ้น และเมื่อมาดูงบประมาณกระทรวงกลาโหม ขอเรียกว่า 'งบ ลวง พราง' ซึ่งมีข้อสังเกต 3 ข้อ คือ 1.ลวงว่าลด แต่ไม่ได้ลด จากงบประมาณของกระทรวง 2.23 แสนล้านบาท เหมือนกับสัดส่วนของปีก่อนๆ แต่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2557 แม้ว่าปีนี้จะดูเหมือนว่าลดลงไป 8,200 ล้านบาท เมื่อไปดูที่การโอนงบประมาณจากปี 2563 จำนวน 17,700 ล้านบาท เหลืองบประมาณของกระทรวงกลาโหมเดิมเหลือ 2.13 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับงบประมาณปี 2564 ก็จะเห็นว่าได้เพิ่มขึ้นจากงบประมาณที่ใช้ไปเมื่อปีที่แล้วหลักหมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันงบเรือดำน้ำ ซื้อเครื่องบินของกองทัพอากาศก็ยังมีอยู่ 2.การตัดงบอำพราง กระทรวงกลาโหมก่อหนี้ผูกพันข้ามปีถึง 173,144 ล้าน หรือ 77.46% ของงบฯ ขณะที่ทั้งรัฐบาลมีหนี้ผูกพัน 1,199,000 ล้าน หรือเพียง 36.33% ซึ่งน้อยกว่าเท่าตัว หมายความว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็ต้องใช้หนี้ส่วนนี้
3.เงินนอกงบประมาณที่ไม่ได้ รายงานจากรายได้ที่เป็นธุรกิจของกองทัพ เช่น ปั๊มน้ำมัน, สนามม้า, สนามมวย ฯลฯ ทั้งที่เคยบอกว่าจะปฏิรูปกองทัพ แต่ไม่น้ำเงินจำนวนนี้ขึ้นมาบนโต๊ะ ทำธุรกิจโดยไม่เปิดเผย หรือว่าเป็นธุรกิจผิดกฎหมาย มีการจัดสรรแบ่งปันกัน เหมือนกันในการชั้นกรรมาธิการเมื่อปี 2563 ตนเคยถามนายกรัฐมนตรีในกระทู้ถามสดเมื่อเดือนธันวาคม รมช.กลาโหมก็ตอบเพียงว่าอยู่ในกระบวนการรวบรวมข้อมูล แต่วันนี้ผ่านมา 202 วันแล้วก็ยังไม่ได้คำตอบ
    "จาก 3 ข้อสังเกตในเบื้องต้น นำมาสู่ 3 ข้อเสนอ คือ 1.ตัดลดงบประมาณ 11,840 ล้านบาท จากการชะลอ 6 โครงการผูกพันใหม่ 22 โครงการ ซื้ออาวุธใหม่ และ 2 โครงการซ่อมบำรุงอากาศยาน 2.ลดหนี้ผูกพันให้เหลือไม่เกิน 30% ของงบประมาณประจำปี 3.เปิดเผยผลการดำเนินงานธุรกิจทุกอย่างของกองทัพ เพื่อให้รายได้กลับมาสมทบคลัง เพื่อไปใช้จ่ายในด้านที่จำเป็น แล้วค่อยทำโครงการขอมาหากมีโครงการที่จำเป็นเหมือนกระทรวงอื่นๆ" นายพิจารณ์กล่าว
    หลังจากนั้น พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รชม.กลาโหม ชี้แจงถึงงบกระทรวงกลาโหมว่า บทบาทหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมเป็น หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงทางด้านกองทัพ มีภารกิจหลัก 2 ประการ คือการเตรียมกำลังกองทัพ และการใช้กำลังกองทัพสำหรับการเตรียมกองทัพต้องทำให้พร้อมในยามปกติทั้งในกำลังพลศึกษาและกำลังพล ความพร้อมด้านยุทโธปกรณ์ที่จะต้องเพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจ ประเทศไทยอยู่ในประเทศที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหาในความไม่ชัดเจนทั้งทางบกและทางทะเล จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดเตรียมกำลังส่วนหนึ่งเพื่อปกป้องผลประโยชน์สำคัญของชาติมีความจำเป็นที่กองทัพต้องเตรียมกำลังในลักษณะที่จะต้องพร้อมและคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่สามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ถ้าเราไม่มีกำลังที่พร้อม เราก็ไม่สามารถที่จะควบคุมสถานการณ์และอาจเพลี่ยงพล้ำในการดำเนินการได้
งบกองทัพเพื่อเตรียมความพร้อม
     "การดำเนินการทั้งหมดเข้าใจดีในข้อจำกัดด้านงบประมาณ ในการจัดเตรียมกำลังนั้น กองทัพได้จัดลำดับตามความจำเป็นเร่งด่วนเรื่องจัดซื้อยุทโธปกรณ์มีความจำเป็น เพราะเวลาผลิตจนถึงเวลาส่งมอบใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี อุปกรณ์บางอย่างใช้เวลา 5-6 ปี เพราะต้องเรียนรู้การใช้อุปกรณ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย  สำหรับการปฏิรูปกระทรวงกลาโหมนั้น กระทรวงกลาโหมมีแผน ปรับโครงสร้างองค์กร กองทัพมีแผนปรับระบบบริหารกองทัพมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันกระทรวงพยายามปรับระบบกําลังพล โดยจะรับกำลังพลสำรองเข้ามาทำงานในยามปกติ ส่วนนี้จะทำให้งบประมาณด้านกำลังพลลดลงแทน" พล.อ.ชัยชาญ กล่าว
    ต่อมาเวลา 16.15 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวชี้แจงว่า งบประมาณผูกพันข้ามปีเกี่ยวกับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ที่สะสมกันมา เพราะที่ผ่านมาการจัดซื้อต้องใช้ระยะเวลาในการผลิต และทำสำเร็จวางขายไว้หน้าร้าน การผ่อนชำระ และมีราคาแพง ซึ่งวันนี้เราจำเป็นต้องมีการปรับปรุงยุทโธปกรณ์ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้รับการ  สนับสนุนยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ และวันนี้มีของเก่าร้อยละ 70-80 ส่วนที่จัดหาใหม่เพื่อ ป้องกันการซ่อมบำรุง เพื่อนำยุทโธปกรณ์เหล่านี้ไปป้องกันอธิปไตยตามชายแดนซึ่งจะเกิดขึ้น หรือไม่เกิดก็ได้ แต่เราต้องมีการเตรียมความพร้อม และที่สำคัญวันนี้เทคโนโลยีก้าวไกล อะไรที่ไม่ทันสมัยอาจจะมีปัญหา ส่วนการบรรจุข้าราชการทหารจัดหาเพียงหนึ่งในสาม ถือว่าตรงตามหลักการ เนื่องจากเราคำนึงถึงเรื่องงบประมาณ และได้จัดเตรียมกำลังคนหลายหมื่นคนไว้ในแต่ละวัน ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาแนวชายแดนได้ ไม่ว่าจะภัยคุกคามใหม่ๆ ใดๆ ก็ตาม
    “ในฐานะ รมว.กลาโหม จะพยายามทำให้ดีที่สุด โดยขอความเข้าใจ เพราะถ้าเราไม่มียุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยและป้องกันตนเอง ในขณะที่อาวุธต่างๆ มีความร้ายแรงขึ้นก็อาจจะทำให้เกิดความสูญเสียแก่ลูกหลานได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    ด้านนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนไม่สบายใจที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เสนอให้ยุบสภาเพื่อแก้เศรษฐกิจจากปัญหาโควิด เพราะการเลือกตั้งกว่าจะเข้ามาได้ ทุกคนก็ทราบว่าต้องไปยืนยกมือไหว้ไม่รู้เท่าไหร่ เฮียกวงไม่เคยเลือกตั้ง จะไปยุนายกฯ ได้อย่างไร พล.อ.  ประยุทธ์อยากอยู่นานๆ เพราะเข้มแข็งอยู่ พวกตนจะนั่งดูอย่าไปยุตามเฮียกวง เพราะเฮียกวงจะไปก่อนก็ปล่อยแกไป ส.ส.ทำงานได้ไม่เกิน 2 ปี จะไปยุบเสียแล้ว นายสมคิดจะน้อยใจอะไรก็เป็นเรื่องของแก แต่จะมายุให้นายกฯ ยุบสภา ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยตกงาน แต่พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล ตกงานกันหมด ประธานสภาฯ ก็ตกงาน
    ช่วงค่ำ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า งบฯ ปี 64 ไม่ตอบสนองเศรษฐกิจของประเทศ เพราะจีดีพีที่เกิดจากการลงทุนการบริโภค การส่งออก ไม่เกิด เหลือเพียงเครื่องมือเดียวคือการใช้จ่ายของภาครัฐ แต่แทนที่งบส่วนนี้จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยเหลือประชาชน แต่กลับซื้อเรือดำน้ำ ไม่ช่วยเหลือเศรษฐกิจ ให้เอกชนช่วยเหลือตัวเอง และไม่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ ตรงข้ามกับประเทศสิงคโปร์ ช่วยเหลือเอกชนอย่างเต็มที่ แต่นายกฯ ของสิงคโปร์ก็ยังรับผิดชอบด้วยการลาออก แต่ทำไมนายกฯ ไทยไม่แสดงความรับผิดชอบ งบการซื้อเรือดำน้ำยังสามารถตัดได้ แต่ไม่ตัด เพราะอ้างว่าเป็นโครงการที่ผูกพันตามสัญญากว่า 4 หมื่นล้าน คาดว่างบประมาณ 2.2 หมื่นล้านของเรือดำน้ำน่าจะซ่อนอยู่ในนี้ จึงถามว่าจะเอาไปรบกับใคร เพราะว่ารบกับโควิดยังไม่ชนะเลย ดังนั้นจึงถามนายกรัฐมนตรีว่าจะซื้อเรือดำน้ำไปทำอะไร    
     "ในการประชุม ครม.ที่จะถึง ถ้ายังมีการต่อสัญญาโครงการ รถไฟฟ้าสีเขียว ผมจะยื่นฟ้อง ป.ป.ช.เอาผิด ครม. ขอตั้งฉายานายกฯ ประยุทธ์ ว่าเป็นนายกเรือดำน้ำจีน ไม่ใช่นายกของคนไทย" นายยุทธพงศ์กล่าว
    ด้าน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ชี้แจงอีกว่า ความมั่นคงทางทะเลเป็นเรื่องที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ ไทยและสหรัฐอเมริกาเป็นผู้กำหนดแนวทาง ความมั่นคงทางทะเล การขนส่งกว่า 95% เป็นการขนส่งทางทะเล อำนาจดุลในทะเล ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างมีเรือดำน้ำประจำการไปแล้ว 4 ประเทศ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย การรักษาเส้นทางการเดินเรือถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของกองทัพเรือ ซึ่งการจัดหานี้กว่าจะเข้าประจำการได้ในปี 2566-2569 และจะตามหลังประเทศเพื่อนบ้านไป 8-10 ปี และถ้าเทียบกับพื้นที่ทางทะเล การปฏิบัติการเรือดำน้ำ 3 ลำ ถือเป็นอัตราที่ต่ำที่สุด การดำเนินการนี้เป็นแบบจีทูจีที่โปร่งใส เรือดำน้ำถือเป็นความมั่นคงทางทะเลของประเทศอย่างแท้จริง การดำเนินการสามารถตรวจสอบได้.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"