เครือข่ายสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศร่วมสนับสนุน 'ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน  พ.ศ...' เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง-ลดความเหลื่อล้ำในสังคม


เพิ่มเพื่อน    

(กองทุนสวัสดิการฯ ตำาบลทับมา จ.ระยอง มอบสิ่งของเยี่ยมผู้สูงอายุ)     (‘แก้ว สังข์ชู’ (ที่ 4 จากซ้าย) และคณะผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายยื่นร่าง พ.ร.บ.ต่อเลขาธิการรัฐสภาเมื่อเดือนธันวาคม 2562)

 

     เครือข่ายสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศร่วมสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน  พ.ศ... โดยการเข้าชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน  เพื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณา  มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการดำเนินกิจการของกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ เพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมให้มีความมั่นคงในชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม  !!

เส้นทาง 15 ปีของสวัสดิการภาคประชาชน

     แต่ไหนแต่ไรมาแล้วที่ประชาชนคนธรรมดา  ชาวไร่  ชาวนา  เกษตรกร  ไม่มีสวัสดิการสังคมรองรับเหมือนกับข้าราชการ  พนักงานรัฐวิสาหกิจ  หรือพนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป  พวกเขาจึงรวมตัวช่วยเหลือกันเองในรูปแบบต่างๆ เช่น  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  สัจจะสะสมทรัพย์  กลุ่มเครดิตยูเนี่ยน  ธนาคารหมู่บ้าน  ธนาคารชุมชน  กองทุนปุ๋ย  กลุ่มอาชีพ  ฯลฯ  โดยบริหารและจัดการกันเอง

ผู้ที่เป็นสมาชิกจะต้องฝากเงินเข้ากลุ่มหรือถือหุ้น  แล้วนำเงินนั้นมาให้สมาชิกกู้ยืมไปใช้ในยามจำเป็น  หรือใช้เป็นทุนในการประกอบอาชีพ  โดยเสียดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย  ผลกำไรหรือดอกเบี้ยที่ได้รับก็จะนำกลับมาปันผลหรือช่วยเหลือสมาชิกในด้านต่างๆ  เช่น  ช่วยเหลือยามเจ็บป่วย  ให้ทุนการศึกษาบุตรหลาน  ช่วยคนพิการ  คนยากไร้ในชุมชน   ฯลฯ

     จากกลุ่มการเงินและกลุ่มอาชีพต่างๆ  ที่จัดสวัสดิการช่วยเหลือกันเองของคนในชุมชน  ในปี 2548  ชุมชนต่างๆ จึงเริ่มมีการจัดตั้ง ‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’ ขึ้นมาอย่างเป็นระบบ  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  ร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบล/เทศบาล  นำร่องในพื้นที่ 99 ตำบลทั่วประเทศ

     แก้ว  สังข์ชู   ประธานอนุกรรมการเครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับชาติ  ซึ่งมีบทบาทในการส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง  บอกว่า  หลักการสำคัญของกองทุนสวัสดิการชุมชน  คือ “ให้อย่างมีคุณค่า  รับอย่างมีศักดิ์ศรี”  โดยให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท  หรือเดือนละ 30 บาท  หรือปีละ 365 บาท (ตามความสะดวกและเหมาะสม)  หลังจากนั้นสมาชิกจึงจะมีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนตามระเบียบที่กำหนดเอาไว้   เช่น  ช่วยเหลือในยามคลอดบุตร (500-1,000 บาท) เจ็บป่วย (100 บาท ปีหนึ่งไม่เกิน 10 คืน) เสียชีวิต (3,000-10,000 บาท)  ทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน  ช่วยเหลือผู้สูงอายุ  ผู้ด้อยโอกาส  ฯลฯ 

     นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการที่ไม่ใช่ตัวเงิน  เช่น   การดูแลสิ่งแวดล้อม   อนุรักษ์ป่าชุมชน  สร้างแหล่งอาหารตามธรรมชาติ   ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์  ส่งเสริมสุขภาพอนามัย  ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  จัดอบรมให้ความรู้ต่างๆ   โดยกองทุนฯ ร่วมสมทบเงินเพื่อส่งเสริมกิจกรรม  หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

     “กองทุนสวัสดิการชุมชนถ้าพูดในหลักของธรรมะ  คือเป็น กองบุญ ที่สมาชิกทุกคนร่วมกันบริจาค  หรือสมทบเงินเข้ามาเพื่อเป็นกองบุญ  โดยรวมตัวกันคนละบาท   เพื่อเป็นเงินเอาไว้ดูแลสมาชิกเมื่อเวลาทุกข์ยากลำบาก  หรือคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนก็ยังช่วยเหลือ   และไม่ใช่เป็นเงินออมหรือเงินฝาก   แต่เป็นเงินที่ทุกคนทำบุญร่วมกัน  และการทำบุญครั้งนี้เป็นการทำบุญเพื่อคุณภาพชีวิตของพวกเขาเอง   มีหลักการบริหารโดยคนในชุมชนเป็นหลัก”  ประธานอนุกรรมการเครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับชาติขยายความ

     จากกองทุนสวัสดิการชุมชนที่เริ่มก่อตั้งในปี 2548  ปัจจุบัน (กรกฎาคม 2563) มีอายุย่างเข้า 15 ปี  โดยมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบล/เทศบาลทั่วประเทศ  จำนวน  6,027 กองทุน  มีสมาชิกรวม 5,807,860 คน  มีเงินกอง ทุนรวมกันกว่า 16,000 ล้านบาท  (ร้อยละ 66 เป็นเงินที่มาจากการสมทบของสมาชิก  ส่วนที่เหลือเป็นเงินสมทบจากรัฐบาล  องค์กรปกครองท้องช่วยถิ่น  เงินบริจาค  ฯลฯ)  ช่วยเหลือสมาชิกไปแล้วกว่า 2 ล้านคน  รวมเป็นเงินกว่า 2,100 ล้านบาท

‘กองบุญ’ ที่ช่วยเหลือสมาชิกตั้งแต่เกิดจนตาย

     กองทุนสวัสดิการชุมชนก็เหมือนกับ ‘กองบุญ’ ที่ ‘แก้ว  สังข์ชู’  กล่าวเอาไว้  เพราะสมาชิกทุกคนเอาเงินมากองรวมกันไว้  เพียงแค่วันละ 1 บาท  หากมีสมาชิก 100 คน จะเป็นเงินวันละ 100 บาท  เดือนละ 3,000 บาท  ปีละ 36,000 บาท  ฯลฯ  นานวันเข้าก็เป็นเงินแสน  เงินล้าน  เมื่อรัฐบาลสมทบเงินเข้ากองทุนในอัตรา 1 ต่อ 1  รวมทั้งองค์กรปกครองท้องถิ่น  และภาคเอกชน  ห้างร้าน  ร่วมสมทบเงินเข้ากองบุญก็ยิ่งทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนต่างๆ  เติบโต  ช่วยเหลือสมาชิกได้อย่างทั่วถึง 

     ดังเช่น  กองทุนคุณธรรมสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองแก’ อ.ท่าตูม  จ.สุรินทร์  จัดตั้งขึ้นมาได้ในเดือนพฤษภาคม 2550  มีสมาชิกเริ่มต้น 192 คน  มาจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 19 หมู่บ้าน (หมู่บ้านละ 10 คน) มีเงินกองทุนเริ่มแรกไม่กี่พันบาท  ผ่านไป  13 ปี  (มิถุนายน 2563) กองทุนมีเงินสะสมกว่า 21 ล้านบาท...!!

     พัชรี  บุญมี  ประธานกองทุนฯ  เล่าว่า  กองทุนฯ จะให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนฯ เป็นรายเดือนหรือรายปีตามสะดวก  คือ  เดือนละ 30-31 บาท (ตามจำนวนวันในแต่ละเดือน)  รายปีๆ ละ 365 บาท  นำเงินกองทุนมาช่วยเหลือสวัสดิการให้สมาชิก 15 ด้าน  เช่น  คลอดบุตร 500 บาท  แม่นอนโรงพยาบาลคืนละ 300 บาท  เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาลคืนละ 100 บาท  ปีหนึ่งไม่เกิน 10 คืน  เสียชีวิตช่วยตั้งแต่ 2,500-15,000 บาท  (เป็นสมาชิกตั้งแต่ 6 เดือน -11 ปี)  ทุนการศึกษาเด็ก  งานศพ-งานบวชปลอดเหล้า  ฯลฯ  เบิกจ่ายสวัสดิการทุกวันที่ 5 ของเดือน

     จากจำนวนสมาชิกเริ่มแรก 192 คนในปี 2550  ด้วยการทำงานของคณะกรรมการทั้ง 19 หมู่บ้าน  ซึ่งส่วนใหญ่เป็น อสม.ที่เข้าถึงและใกล้ชิดกับชาวบ้านอยู่แล้ว  เพราะ อสม.จะให้การดูแลสุขภาพเบื้องต้นแก่ชาวบ้าน  ประกอบกับคณะกรรมการมีความซื่อสัตย์  ทำงานด้วยความเสียสละ  จึงทำให้ชาวบ้านในตำบลให้ความเชื่อถือ  สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกอย่างต่อเนื่อง  โดยในปี 2551 สมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 845 คน  ปี 2552 เพิ่มเป็น 1,312 คน  ปี 2553 เพิ่มเป็น  3,663 คน  และเพิ่มขึ้นทุกปีๆ  จนถึงปัจจุบัน  มีสมาชิกจำนวน 5,195 คน  คิดเป็นร้อยละ 71.73 ของประชากรทั้งตำบล

     “กองทุนฯ ของเรามีระบบการบริหารจัดการที่ดี  มีความโปร่งใส  มีคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ รวมทั้งหมด 34  คน  มาจากกรรมการในระดับหมู่บ้านและตำบล  กรรมการจะไม่ถือเงินสดไว้ในมือ  เพื่อป้องกันปัญหา  นอกจากนี้เรายังมีระบบตรวจสอบที่ดี  มีการตรวจสอบภายในอย่างสม่ำเสมอ  และเชิญหน่วยงานในท้องถิ่น  เช่น  เทศบาลมาเป็นกรรมการร่วมตรวจสอบ   โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลร่วมวางระบบเอกสาร  ระบบบัญชี  มีบัญชีรายรับ-จ่ายต่างๆ   สมาชิกสามารถตรวจสอบข้อมูลการเงินได้  ทำให้กองทุนฯ ได้รับความเชื่อถือทั้งจากสมาชิกและหน่วยงานภายนอก” ประธานกองทุนฯ กล่าว

(ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เครือข่ายกองทุนสวัสดิการฯ ทั่วประเทศร่วมกันทำหน้ากากผ้าแจกจ่ายประชาชนกว่า 1 ล้านชิ้น)

     ปัจจุบันกองทุนคุณธรรมสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองแก  มีเงินสะสมทั้งหมด 21  ล้านบาทเศษ  (เป็นเงินสมทบจากสมาชิก 14 ล้านบาทเศษ  รัฐบาลสมทบผ่าน พอช. 4.2 ล้านบาทเศษ  เทศบาล 2.4 ล้านบาทเศษ  ฯลฯ ) ช่วยเหลือสมาชิกไปแล้ว  5,523  คน  รวมเป็นเงิน  8  ล้านบาทเศษ  ยอดเงินคงเหลือปัจจุบัน  12  ล้านบาทเศษ

     จากผลงานการบริหารกองทุนฯ ดังกล่าว  กองทุนคุณธรรมสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองแก’  จึงเป็น 1 ใน 8 กองทุนที่ได้รับรางวัล ‘ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ’ ประจำปี 2563  (ด้านการบริหารจัดการกองทุนที่ดีและมีธรรมาภิบาล) ตามแนวคิดสวัสดิการสังคม ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ของ ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์

ร่วมขับเคลื่อน ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน  พ.ศ...                                                                                                                  

     แม้ว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนจะเริ่มจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2548   โดยปัจจุบันกองทุนสวัสดิการชุมชนรุ่นแรกๆ ที่ก่อตั้งมีอายุย่างเข้า 15 ปี  และมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบลและเทศบาลแล้วกว่า 6,000 กองทุนทั่วประเทศ 

     แต่อย่างไรก็ตาม  กองทุนสวัสดิการชุมชนต่างๆ ยังไม่มีกฎหมายรองรับ  ยังไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล  รวมทั้งยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง  บางกองทุนมีความเข้มแข็ง  เติบโตขึ้นเรื่อยๆ  แต่หลายกองทุนยังขาดความเข้มแข็ง  การบริหารจัดการยังไม่เป็นระบบ  ฯลฯ  ดังนั้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา  แกนนำเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศจึงได้เริ่มขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้มี  กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน  ขึ้นมา

     แก้ว  สังข์ชู   ในฐานะประธานผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย  กล่าวว่า  จากเหตุผลดังกล่าว  คณะอนุกรรมการเครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับชาติจึงได้ประชุมปรึกษาหารือร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง  เช่นวิทยาลัยพัฒนศาสตร์  ป๋วย อึ๊งภากรณ์      มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยมีนักวิชาการด้านกฎหมายจากสถาบันพระปกเกล้าช่วยร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา  คือ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน  พ.ศ...’  และมีการปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ. โดยการรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ  รวมทั้งชี้แจงและสร้างความเข้าใจกับพรรคการเมืองต่างๆ  เพื่อให้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย

     “ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้  มีวัตถุประสงค์หลัก  2 ประการ  คือ วัตถุประสงค์แรก  เราจะยกระดับกองทุนขึ้นเป็นนิติบุคคล  เพื่อให้ทำนิติกรรมและสัญญาต่างๆ ได้  และเมื่อภาคเอกชนหรือบริษัทห้างร้านต่างๆ  บริจาคหรือสมทบเงินช่วยเหลือกองทุนก็สามารถนำหลักฐานไปลดหย่อนภาษีได้  วัตถุประสงค์ที่สอง  คือ  เพื่อรองรับความเสี่ยง  เพราะตอนนี้กองทุนสวัสดิการฯ เติบโตทั้งคน  ทั้งเงิน  บางกองทุนมีเงิน 5  ล้านบางกองทุนมี  10 ล้านบาท  มีสมาชิก 3-4 พันคน  ถ้ามีกฎหมายรองรับขึ้นมา  กฎหมายฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมระบบสวัสดิการ   และไม่ใช่เป็นกฎหมายบังคับ   แต่จะส่งเสริมให้มีคนและองค์กรต่างๆ  เข้ามาร่วมกันยกระดับ  เข้ามาด้วยความสมัครใจ   กฎหมายเป็นแค่ เครื่องมือ เท่านั้น  เพื่อส่งเสริมให้กองทุนสวัสดิการชุมชนยกระดับขึ้นไปเป็นหลักใหญ่ของการพัฒนาคนในชุมชนท้องถิ่น”  ประธานผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายอธิบาย

     ขณะที่ ปาลิน  ธำรงรัตนศิลป์  ผู้ประสานงานการเสนอร่าง พ.ร.บ.  กล่าวเสริมว่า  ที่ผ่านมากองทุนสวัสดิการชุมชนยังไม่มีกฎหมายรองรับ  หน่วยงานต่างๆ  รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังไม่ได้เข้ามาให้การสนับสนุน  นอกจากนี้เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่  กองทุนสวัสดิการชุมชนก็อาจจะไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง   

     “ดังนั้นเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนสร้างสวัสดิการให้กับประชาชนในชุมชน  ลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาคุณภาพชีวิต   เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ สามารถเข้ามาสนับสนุนกิจการของกองทุนฯ   เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมที่เกื้อกูลกัน   และความมั่นคงของกองทุนสวัสดิการในเชิงเศรษฐกิจ  สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม   เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศและภาคีเครือข่ายจึงได้ร่วมกันขับเคลื่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้”  ผู้ประสานงานฯ กล่าว

(คณะผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายยื่นร่าง พ.ร.บ.ต่อเลขาธิการรัฐสภาเมื่อเดือนธันวาคม 2562)

     ส่วนขั้นตอนการเสนอร่าง พ.ร.บ.นั้น  ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา  เครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนได้เสนอเรื่องเป็นหนังสือต่อประธานรัฐสภาแล้ว  หลังจากนั้นสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ตรวจสอบหลักฐานและเอกสารต่างๆ เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง  ฯลฯ  และล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา  สำนักงานเลขาธิการสภาฯ มีหนังสือแจ้งมายังผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายเพื่อให้ดำเนินการรวบรวมรายชื่อให้ครบ 10,000 คน

     ขณะที่เครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนจะจัดอบรมแกนนำเครือข่ายทั่วประเทศประมาณ  300 คนในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้  เพื่อกลับไปรณรงค์  ชี้แจง  และสร้างความเข้าใจให้สมาชิกกองทุนฯ ทุกจังหวัดที่มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า  12,000-15,000  คน  ให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้  หลังจากนั้นจะรวบรวมรายชื่อ  พร้อมทั้งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เสนอต่อประธานรัฐสภา  เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน  และเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป...!!           

 

เปิด ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน  พ.ศ...               หลักการ ให้มีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน

เหตุผลโดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๔๓ (๔) กำหนดให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิจัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชนรวมทั้งมีสิทธิที่จะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐในการดำเนินการดังกล่าวด้วย  ขณะที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘  จนถึงปัจจุบัน   ชุมชนทั่วประเทศได้มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบลขึ้น   เพื่อดำเนิน การจัดสวัสดิการที่หลากหลายให้แก่สมาชิกโดยความสมัครใจ  เป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงและการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของชุมชน  ซึ่งเป็นรากฐานของชุมชนเข้มแข็ง  ภายใต้หลักการ “ให้อย่างมีคุณค่า  รับอย่างมีศักดิ์ศรี”  

     ดังนั้นเพื่อให้การรับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าวเกิดผลในทางปฏิบัติ  และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนและองค์กรชุมชนมีส่วนร่วมและมีบทบาทในการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมให้มีความมั่นคงในชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม  จึงควรมีกฎหมายส่งเสริมสนับสนุนและรองรับสถานภาพทางกฎหมายและการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนในการจัดระบบสวัสดิการของชุมชน  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

     ทั้งนี้ (ร่าง) พ.ร.บ.ฉบับนี้มีทั้งหมด ๕ หมวด  ๔๓  มาตรา   มีสาระสำคัญ  เช่น

     มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้ “ระบบสวัสดิการของชุมชน” หมายความว่า  รูปแบบหรือวิถีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชนที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในเรื่องสวัสดิการของชุมชนเพื่อให้เกิดความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของประชาชนในชุมชน  บนหลักการพึ่งตนเอง  การให้อย่างมีคุณค่า  รับอย่างมีศักดิ์ศรี  และความร่วมมือกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง

     “ชุมชน” หมายความว่า  กลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันในเขตพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหนึ่ง  โดยมีผลประโยชน์และวัตถุประสงค์ร่วมกัน  เพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุน  หรือทำกิจกรรมอันชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรมอันดีร่วมกัน  หรือดำเนินการอื่นอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก  มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและมีระบบบริหารจัดการและการแสดงเจตนาแทนกลุ่มได้

“กองทุนสวัสดิการชุมชน” หมายความว่า  กองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับท้องถิ่น  หรือกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับเขตของกรุงเทพมหานคร

     มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง  ระเบียบ  และประกาศ  เพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

     มาตรา ๑๒ ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชนแห่งชาติ  เรียกโดยย่อว่า “กสสช.” ประกอบด้วย (๑) นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน   (๒) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาจากการเลือกของ (๕) และ (๖) เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง  (๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง  (๔) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น   อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน  อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง  ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน   (๕) ผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชน จำนวนหกคนเป็นกรรมการ  ฯลฯ

     มาตรา ๑๙ คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ  ดังต่อไปนี้  (๑) พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนแม่บทการส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชนตามมาตรา ๒๑ (๑)  (๒) เสนอแนะและให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายการจัดระบบสวัสดิการของชุมชน  (๓ ) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีให้มีหรือแก้ไขกฎหมาย  ระเบียบ  ข้อบังคับ  หรือมติคณะรัฐมนตรีให้เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมสวัสดิการของชุมชน  (๔) เสนอแนะมาตรการด้านการเงิน  การคลัง  การภาษีอากร  หรือด้านอื่น  เพื่อส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน ต่อคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี

(๕) ประสานนโยบายและแผน  สร้างความร่วมมือกับส่วนราชการ  หน่วยงานของรัฐ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน  (๖) กำหนดมาตรการส่งเสริม  สนับสนุนการจัดตั้งและพัฒนาความเข้มแข็งของกองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของระบบสวัสดิการของชุมชน  (๗) วางระเบียบว่าด้วยการจัดสรรงบประมาณสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนในกรณีที่รัฐบาลมีนโยบาย  ฯลฯ

     มาตรา ๒๒ ให้มีคณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบสวัสดิการของชุมชนระดับจังหวัด  เรียกโดยย่อว่า “คสสจ.” ประกอบด้วย  (๑) ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ  (๒) ผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชนในพื้นที่จังหวัดที่คัดเลือกกันเองจำนวนหนึ่งคนเป็นรองประธานกรรมการ  (๓) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่  พัฒนาการชุมชนจังหวัด  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด  เกษตรจังหวัด  ผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ฯลฯ

     มาตรา ๒๙ ให้ คสสจ. มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้  (๑) จัดทำแผนส่งเสริมการพัฒนาระบบสวัสดิการของชุมชน  แนวทางการส่งเสริมระบบสวัสดิการของในพื้นที่จังหวัดต่อคณะกรรมการและยุทธศาสตร์จังหวัด (๒) ส่งเสริม สนับสนุนการจัดตั้ง  การพัฒนา  การแก้ปัญหาและติดตามการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนในจังหวัด  (๓) ประสานให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนในจังหวัด (๔) พิจารณารับรองสถานภาพ และสั่งยุบเลิกกองทุนสวัสดิการชุมชนตามหลักเกณฑ์ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กำหนด  (๕) พิจารณาจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับกองทุนสวัสดิการชุมชน  ฯลฯ

 

ฟ้าหลังฝนที่บ้านมั่นคงตากสิน  จ.ตาก

(บ้านมั่นคงสหกรณ์ตากสิน  จำกัด  ช่วงแรกที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ)

     ความฝันที่จะมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลังของคนยากคนจนดูเหมือนจะเป็นความจริงได้ยากนัก  เพราะลำพังการหากินไปวันๆ  เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของคนในครอบครัวก็แทบจะไม่มีเงินเหลือเก็บ  หลายครอบครัวจึงต้องเช่าบ้านคนอื่นอยู่  บ้างก็ปลูกสร้างในที่ดินเช่า  หรือที่ข้นแค้นก็ต้องบุกรุกที่ดินรกร้าง  ปลูกสร้างบ้านด้วยเศษวัสดุต่างๆ ที่พอจะหาได้เพื่อกันแดด  กันฝน  แต่เมื่อมีหน่วยงานรัฐเข้ามาสานฝัน   พวกเขาจึงมีความหวังขึ้นมา...

     เช่นเดียวกับพี่น้องบ้านมั่นคงตากสิน  อำเภอเมือง  จังหวัดตาก  ที่รวมตัวกันแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  จากเดิมที่พวกเขาไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง  ต้องเช่าบ้านอยู่อาศัยมานานหลายสิบปี  หรือปลูกสร้างบ้านในที่ดินบุกรุก  หลายครอบครัวต้องย้ายบ้านเป็นว่าเล่นเพราะถูกเจ้าของที่ดินขับไล่   แต่ในวันนี้พวกเขามีบ้านอยู่อาศัยที่มั่นคง  ไม่ต้องระเหเร่ร่อนไปไหน  แต่กว่าจะมีวันนี้ได้พวกเขาต้องต่อสู้กับอุปสรรคและปัญหานานา  หลายคนท้อถอยต้องถอนตัวออกไป

รวมพลังคนจน  คนอยากมีบ้าน

     บริเวณอำเภอเมือง  จังหวัดตาก  มีชุมชนแออัดตั้งอยู่นับ 10 แห่ง  ชาวบ้านส่วนใหญ่มีรายได้น้อย  มีอาชีพรับจ้างทั่วไป  ค้าขายเล็กๆ น้อย  เก็บขยะ  ฯลฯ  ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง  จึงต้องเช่าบ้านคนอื่นอยู่  หรือเช่าที่ดินปลูกสร้างบ้าน  และมีจำนวนไม่น้อยที่บุกรุกที่ดินรกร้างว่างเปล่าของรัฐและเอกชนปลูกสร้างบ้าน 

     ราวปี 2540  แกนนำชุมชนรายหนึ่งที่เห็นความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนในเขตอำเภอเมือง  จึงได้รวบรวมชาวบ้านที่มีความเดือดร้อนจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  โดยให้ผู้ที่สนใจสมัครเข้ามาเป็นสมาชิก  และต้องออมเงินเข้ากลุ่มอย่างน้อยเดือนละ 100-500 บาท  ใครมีมากก็ออมมาก  เพื่อเป็นกองทุนในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  โดยมีเงื่อนไขว่า  ใครที่ออมครบ 15,000   บาทก็จะได้สร้างบ้านก่อน  มีชาวบ้านที่เดือดร้อนต้องการที่อยู่อาศัยสมัครเข้าเป็นสมาชิกประมาณ  250 ราย (ครอบครัว)

     ประมาณปี 2543  แกนนำและชาวชุมชนบางส่วนได้เข้ามาขอคำแนะนำการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ที่กรุงเทพฯ  โดยทาง พอช. แนะนำให้กลุ่มออมทรัพย์ที่ชาวบ้านจัดตั้งขึ้นมาจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน  เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล  สามารถทำนิติกรรมสัญญา  เช่น  เช่าหรือซื้อที่ดิน  หรือรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐได้ 

     หลังจากนั้นแกนนำและชาวบ้านจึงกลับไปปรึกษาหารือกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัดตากเพื่อเตรียมการจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน  แต่กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างก็ย่างเข้าสู่ปี 2549  และสามารถจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ได้ในปี 2550 ใช้ชื่อว่า ‘สหกรณ์เคหสถานตากสิน  จำกัด’  ในระหว่างนั้นชาวบ้านก็ยังออมเงินเข้ากลุ่มอยู่เรื่อยๆ  แต่ก็มีหลายครอบครัวถอนตัวออกไปเพราะไม่มั่นใจว่าจะได้สร้างบ้านหรือไม่ 

     ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ พอช.ได้เข้ามาทำงานร่วมกับแกนนำและชาวบ้าน  มีการจัดประชุม  พากันไปดูที่ดินแปลงต่างๆ  ทั้งของรัฐและเอกชน  จนได้ข้อสรุปว่า  ที่ดินเอกชนมีราคาแพง  ชาวบ้านมีรายได้น้อย  ควรจะเช่าที่ดินราชพัสดุของกรมธนารักษ์  เดิมเป็นสนามบินร้าง  เนื้อที่ 35 ไร่เศษ  ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำรึม  อ.เมือง  จ.ตาก  (ราคาตารางวาละ 75 สตางค์) เพื่อจัดทำโครงการบ้านมั่นคง  ระยะเวลาเช่า (ช่วงแรก) 30 ปี  ประกอบกับในขณะนั้น  พอช.และกรมธนารักษ์มีข้อตกลงร่วมกันที่จะสนับสนุนให้ชุมชนที่มีความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยทั่วประเทศรวมกลุ่มกันเช่าที่ดินเพื่อจัดทำโครงการบ้านมั่นคงขึ้นมา

มรสุมพัดกระหน่ำ  แต่ชุมชนยังยืนแกร่ง

     เมื่อได้ที่ดินแล้ว  จึงมีการรวบรวมชาวบ้านที่เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบ้านเช่าและบุกรุกที่ดินจากชุมชนหนองหลวงและตำบลน้ำรึม  รวมทั้งหมด 315 ครอบครัวมาจัดทำโครงการบ้านมั่นคง  โดย พอช.จะสนับสนุนสินเชื่อและงบอุดหนุนการสร้างบ้านและสาธารณูปโภค  มีสถาปนิกจาก พอช.มาช่วยออกแบบบ้านให้ตรงกับความต้องการและความสามารถในการผ่อนของชาวบ้านแต่ละครอบครัว   เช่น  บ้านเดี่ยวชั้นเดียวขนาด 6x6 ตารางเมตร  บ้านเดี่ยวใต้ถุนสูง ขนาด 6x8 ตารางเมตร  บ้านแถวสองชั้น  ขนาด 4x12 ตารางเมตร  ฯลฯ  ราคาตั้งแต่ 125,000-185,000 บาท  สมาชิกผ่อนชำระเดือนละ (รวมเงินออมและค่าหุ้น) 1,157 บาทขึ้นไป

     ในปี 2552 จึงเริ่มจัดทำโครงการบ้านมั่นคง  โดยจะก่อสร้างบ้านทั้งหมด 3 เฟส  รวม 315 หลัง  ใช้งบประมาณทั้งหมด  56 ล้านบาทเศษ  ในจำนวนนี้เป็นเงินออมจากชาวบ้านที่เป็นสมาชิกประมาณ  5.6 ล้านบาท  สินเชื่อจาก พอช.ประมาณ 44 ล้านบาท  เงินอุดหนุน 5.6 ล้านบาท  เฟสแรกจะสร้างจำนวน 86 หลัง 

     เริ่มก่อสร้างบ้านในช่วงปลายปี  2552  และกำหนดจะแล้วเสร็จทั้งโครงการภายในเดือนมีนาคม 2554  แต่สร้างบ้านเสร็จไปเพียง 80 หลัง  เกิดปัญหาด้านการบริหารเงินของประธานสหกรณ์ฯ  มีการนำเงินไปใช้ผิดประเภท  ผู้รับเหมางานก่อสร้างจึงทิ้งงาน  ทำให้ชาวบ้านที่ต่างตั้งความหวังจะมีบ้านเป็นของตัวเองกว่า 200 ครอบครัวต้องฝันค้าง  มีการรวมตัวกันไปร้องเรียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตาก  เพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหาในช่วงต้นปี 2554  รวมทั้งมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับประธานสหกรณ์ฯ ด้วย

     โชคชัย  รอดฉ่ำ  ประธานสหกรณ์ฯ คนปัจจุบัน  เล่าว่า  จากปัญหาดังกล่าวจึงมีการเปลี่ยนประธานสหกรณ์และคณะกรรมการหลายครั้ง  คณะกรรมการหลายคนท้อใจต้องลาออกไป  บางคนต้องหลั่งน้ำตาร้องไห้  เพราะเครียดจากปัญหาต่างๆ ที่โถมเข้ามา  ต้องถูกชาวบ้านด่า  และต้องแบกรับความหวังของชาวบ้าน   แต่ด้วยความตั้งใจไม่ย้อท้อของคณะกรรม การและชาวบ้านบางส่วน  จึงเริ่มมีกระบวนการฟื้นฟูสหกรณ์ตั้งแต่ปี 2555  โดยคณะกรรมการชุดใหม่ได้จัดประชุมชี้แจง  สร้างความเข้าใจ  และสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวบ้าน   เพราะชาวบ้านที่ยังสร้างบ้านไม่เสร็จกว่า 200 ครอบครัว  ไม่ยอมส่งเงินเข้าสหกรณ์  ทั้งเงินออม  เงินหุ้น  สหกรณ์จึงแทบจะไม่มีเงินในการบริหารงาน  เหมือนมรสุมลูกใหญ่ที่ซัดกระหน่ำจนบ้านเรือนแทบจะพัง

     “คณะกรรมการต้องเข้าไปคุยกับชาวบ้าน  ถามว่าพวกเรายังอยากจะได้บ้านไหม  ชาวบ้านก็ตอบว่าอยากได้  ถ้าอยากได้  พวกเราจะต้องร่วมกันต่อสู้  ช่วยกันฟื้นฟูสหกรณ์ขึ้นมาใหม่  และต้องช่วยกันส่งเงินเข้าสหกรณ์ทุกเดือน  เพื่อให้สหกรณ์เดินหน้า  และสร้างบ้านต่อไปได้”  โชคชัยเล่า

     ขณะเดียวกัน  คณะกรรมการชุดใหม่ทำงานด้วยความซื่อสัตย์  โปร่งใส  ให้ชาวบ้านตรวจสอบหรือดูเอกสารการเงินได้ว่ามีรายรับ  รายจ่ายอย่างไร  ถูกต้องหรือไม่  นอกจากนี้ยังมีสำนักงานสหกรณ์จังหวัดตากมาช่วยให้คำแนะนำในเรื่องการจัดทำเอกสารการเงิน  บัญชีต่างๆ  รวมทั้งสำนักสินเชื่อ พอช.เข้ามาให้คำปรึกษาและสนับสนุนการฟื้นฟูสหกรณ์ฯ  เพื่อให้สหกรณ์เดินหน้าสร้างบ้านต่อไปได้

     “เราใช้เวลากว่า 3   ปี  จากปี 2555 จนถึงปี 2558  จึงฟื้นฟูสหกรณ์ขึ้นมาได้  นอกจากนี้เรายังสร้างความรัก  ความสามัคคี  สร้างขวัญกำลังใจให้แก่ชาวบ้าน  ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่  ด้วยการจัดกิจกรรมงานบุญ  งานประเพณีต่างๆ  เช่น  งานบุญกลางบ้าน  แห่เทียน 9 วัด  รวมทั้งงานวันเด็ก  หรือใครเสียชีวิต  คณะกรรมการก็จะไปช่วย  ตอนแรกก็ควักเงินส่วนตัว  แต่ตอนหลังชาวบ้านเชื่อมั่น  เข้าใจก็ร่วมสมทบเงินทำบุญ”  โชคชัยเล่าถึงมรสุมที่พัดผ่าน

‘ฟ้าหลังฝน’ ที่บ้านมั่นคงตากสิน

     หากจะว่าไปแล้ว  ความหวังที่อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเองของพี่น้องบ้านมั่นคงตากสิน  ในตอนแรกคงจะเหมือนกับพายุหรือมรสุมร้ายที่โหมกระหน่ำซัดใส่จนความหวังของพวกเขาแทบพังทลายลงไป  แต่เมื่อพวกเขาได้ร่วมใจกันต่อสู้  ยืนหยัด  ต้านทาน   ฝ่าพายุฝนจนผ่านพ้นไป  ฟ้าหลังฝนจึงย่อมสดใสสวยงาม 

     ในปี 2561 บ้านในฝันของชาวตากสินก็แล้วเสร็จ  รวมทั้งหมด 329 หลัง  (เพิ่มจากเดิม 14 หลัง)  ทำให้พวกเขามีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  ไม่ต้องเช่าบ้านหรือบุกรุกที่ดินคนอื่นเหมือนที่ผ่านมา  เด็กๆ ก็มีที่วิ่งเล่น  นอกจากนี้สหกรณ์ฯ ยังมีเงินออมและเงินหุ้นจากสมาชิกกว่า 2 ล้านบาท  และสามารถให้สมาชิกที่เดือดร้อนกู้ยืมไปหมุนเวียนประกอบอาชีพหรือใช้จ่ายยามจำเป็นได้สูงสุด 50,000 บาท  โดยเสียดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อเดือน

(‘ลุงล้วน’  สมาชิกบ้านมั่นคงผู้พิการแต่ใจยังแกร่ง)

     ขณะที่ ‘ล้วน  พุกนันทา’  อายุ 57 ปี  สมาชิกสหกรณ์เคหสถานตากสินฯ  รุ่นแรกๆ  อาศัยอยู่กับลูกหลาน  10 คนเป็นบ้านชั้นเดียวขนาด 6X8 ตารางเมตร  เล่าว่า  ตนเองมีอาชีพรับจ้างทั่วไป   และเป็นคนงานของรีสอร์ทแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ชุมชน  เมื่อประมาณ 6 ปีก่อน  ขณะทำงานได้พลัดตกลงไปในบ่อบำบัดน้ำเสียของรีสอร์ท  จนถูกใบพัดของเครื่องตีน้ำตีกระดูกขาจนหัก  ต้องตัดขาทิ้ง 1   ข้างและใส่ขาเทียม  และอีก 1 ข้างได้รับบาดเจ็บ  แต่ก็ยังพอทำงานรับจ้างได้  บางช่วงไม่มีงานก็ต้องค้างชำระค่าผ่อนบ้าน  ผ่อนประมาณเดือนละ 1,500 บาท  หากสหกรณ์มีงานหรือมีประชุมก็จะเข้าร่วมไม่ขาด

     “ตอนขาขาดก็รู้สึกใจหาย  แต่ไม่ท้อแท้  ยังมีกำลังใจ  เพราะยังมีครอบครัว  มีลูกหลานที่ต้องดูแลกันอยู่  ตอนนี้ก็อยากจะผ่อนบ้านให้หมดไวๆ จะได้ไม่มีภาระ  แต่ก็ดีใจที่มีบ้านเป็นของตัวเอง  ไม่ต้องเช่า  หรือบุกรุกที่ดินคนอื่น  ตอนนี้กำลังต่อเติมบ้านอีก 1 ห้อง  เพื่อลูกหลานจะได้อยู่กันสบาย  ไม่แออัด” ลุงล้วนกล่าวทิ้งท้าย

     นี่คือเสี้ยวชีวิตส่วนหนึ่งของลุงล้วนที่พิการเพียงกาย  แต่ใจยังแข็งแกร่ง  พร้อมที่จะต่อสู้กับชีวิตต่อไป  เช่นเดียวกับสมาชิกบ้านมั่นคงตากสินที่ร่วมกันฝ่ามรสุม  จนมีบ้านใหม่ในวันนี้ !!

  

ชาวชุมชนริมแม่น้ำมูล จ.อุบลราชธานี ต่อเรือ-แพ  27 ลำเตรียมรับภัยน้ำท่วม

โดย ธิปไตย  ฉายบุญครอง 

(พิธีไหว้แม่ย่านางเรือและทดลองเดินเรือที่ต่อขึ้นมาของชาวชุมชนริมแม่น้ำมูล)

     ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในจังหวัดอุบลราชธานี  โดยเฉพาะพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำมูลซึ่งเป็นแหล่งรองรับน้ำจากแม่น้ำสายหลักในภาคอีสาน  คือ  แม่น้ำชี (มีต้นกำเนิดที่ชัยภูมิ)  และแม่น้ำมูลตอนบน (มีต้นกำเนิดที่นครราชสีมา)  ไหลมาบรรจบกันที่แม่น้ำมูล (ตอนล่าง) ที่บริเวณ อ.วารินชำราบ  และ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี  ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียม  

     หากปีใดมีพายุหรือมีปริมาณน้ำฝนมาก  แม่น้ำมูลที่ จ.อุบลราชธานีก็จะรองรับน้ำในปริมาณมากด้วย  ประกอบกับการพัฒนาพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำมูล  มีสิ่งก่อสร้าง  มีการตัดถนน  ฯลฯ  กีดขวางทางเดินของน้ำ  จึงทำให้พื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำมูลเกิดปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง

     โดยในช่วงปลายเดือนสิงหาคม-กันยายน 2562 ที่ผ่านมา  พายุโซนร้อน 2 ลูกที่พัดกระหน่ำภาคอีสานทำให้มวลน้ำจากจังหวัดต่างๆ ไหลลงสู่แม่น้ำมูลหนักกว่าที่ผ่านมา  ทำให้มีบ้านเรือน ทรัพย์สิน  ไร่นา  และสัตว์เลี้ยงของประชาชนในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำมูลได้รับความเสียหายหนักใน  4 อำเภอ  คือ  อำเภอเมือง  วารินชำราบ  สว่างวีระวงศ์  และดอนมดแดง  ได้รับความเสียหายกว่า 4,000 ครอบครัว  มีผู้เดือดร้อนกว่า 10,000 คน    

     อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในปี 2549  ชุมชนแออัดในเขตอำเภอเมืองและวารินชำราบจำนวน 19  ชุมชนได้รวมตัวกันเป็น ‘เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดอุบลราชธานี’ (คปสม.) เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดิน  ที่อยู่อาศัย  การพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ  รวมทั้งปัญหาภัยพิบัติจากน้ำท่วม  ทำให้เครือข่ายฯ ตระหนักถึงปัญหาภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยๆ  ในพื้นที่ริมฝั่งลำน้ำมูล  จึงมีการเตรียมพร้อมต่างๆ  เช่น  จัดอบรมอาสาสมัครช่วยภัยน้ำท่วมในชุมชน  การสร้างที่พักชั่วคราว  สร้างโรงครัว  รวมทั้งต่อเรือเพื่อใช้อพยพในยามน้ำท่วม  จำนวน 4 ลำ  และได้นำมาใช้ในช่วงน้ำท่วมปี 2562 ที่ผ่านมา

ต่อเรือ-แพ 27 ลำเตรียมรับภัยน้ำท่วม

     จำนงค์  จิตนิรัตน์  ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดอุบลราชธานี (คปสม.) กล่าวว่า  การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ จ.อุบลราชธานีที่ผ่านมา   หน่วยงานต่างๆ  เน้นการเยียวยาช่วยเหลือชาวบ้านภายหลังน้ำลด  แต่ไม่ได้ให้ชาวบ้านเรียนรู้วิธีการป้องกันและรับมือ  ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนมูลนิธิชุมชนไทเข้ามาสนับสนุนให้ คปสม.นำภูมิปัญญาการต่อเรือของชุมชนท้องถิ่นมาสร้างเรือไว้รับมือเหตุการณ์น้ำท่วมที่ชุมชนคูสว่างและชุมชนหาดสวนสุข  อ.วารินชำราบ รวม  4 ลำ  เมื่อเกิดน้ำท่วมในปี 2562  จึงนำเรือมาใช้อพยพผู้คนและทรัพย์สิน  ทำให้ช่วยลดความเสียหายลงได้มาก  แต่การช่วยเหลือทำได้ในวงจำกัด  เนื่องจากมีเรือจำนวนน้อย

     “จึงคิดว่าหากชุมชนริมแม่น้ำที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมต่อเรือไว้ใช้ขนข้าวของเครื่องใช้   หรือมีแพใช้เก็บรักษาทรัพย์สิน 10 ครอบครัวต่อเรือ 1 ลำในทุกชุมชน   จะช่วยลดผลกระทบได้เมื่อเข้าสู่ฤดูน้ำหลาก   ซึ่งภายหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2562  คปสม.จึงประสานขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ  เพื่อให้ชุมชนริมสองฝั่งแม่น้ำมูลได้ต่อเรือเอาไว้ใช้ในยามน้ำท่วม  เพราะที่มีอยู่ 4 ลำยังไม่เพียงพอ”  จำนงค์กล่าว

     โดยมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ในการต่อเรือและแพตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา  เช่น  จังหวัดอุบลราชธานี  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.  รวมทั้งเงินบริจาคจากประชาชน  ภาคเอกชน   รวมเป็นเงินประมาณ  900,000 บาท 

     หลังจากนั้นจึงมีการฝึกอบรมการต่อเรือ  มีวิทยากรมาช่วยสอน  และนำภูมิปัญญาเรื่องการต่อเรือของชาวบ้านที่สืบทอดต่อกันมาใช้เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพลำน้ำของแต่ละท้องที่  เช่น   ในพื้นที่ที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยวจะต้องต่อหัวเรือให้สูงขึ้น  เพื่อให้เรือสู้กับกระแสน้ำเชี่ยว   และหากพื้นที่ไหนที่ลำน้ำไม่ไหลเชี่ยวมากให้ลดส่วนหัวของเรือลง  เพื่อลดแรงปะทะของน้ำ   ทำให้เรือแล่นได้เร็วขึ้นและรับปริมาณน้ำหนักบรรทุกสิ่งของได้มากขึ้นด้วย 

     จนถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา  ชาวชุมชนต่างๆ ริมแม่น้ำมูลได้ช่วยกันต่อแพเสร็จแล้ว 1 ลำ  เป็นแพโครงสร้างเหล็ก  ขนาดกว้างยาวประมาณ  6 X 6 เมตร  ใช้ถังพลาสติคขนาด 200 ลิตรช่วยพยุงแพ  สามารถบรรทุกคนได้ครั้งละ 40 คน  และเรือติดเครื่องยนต์อีก 26 ลำ (ในจำนวนนี้ 6 ลำ  เครือข่ายภัยพิบัติจากภาคใต้ช่วยกันสร้าง)  ขนาดกว้างยาวประมาณ  1.40 X 6 เมตร  โครงสร้างเป็นเหล็ก  หล่อด้วยเรซิ่น  บรรทุกคนได้ประมาณ 10 -15 คน

     อย่างไรก็ตาม  จำนงค์บอกว่า  เรือและแพที่ต่อใหม่  รวมทั้งที่มีอยู่เดิมประมาณ 30 ลำคงจะไม่เพียงพอต่อการอพยพชาวบ้านได้ทันท่วงที  เพราะมีชุมชนที่ตั้งอยู่ริมน้ำมูลและเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยประมาณ  40 ชุมชน  หากจะให้เพียงพอจะต้องใช้เรืออีกประมาณ 300 ลำ  ซึ่งจะต้องหาช่องทางมาสนับสนุนชุมชนต่อไป

ภูมิปัญญาจากชุมชน

     สุรชัย ศรีวัฒนานนท์ ช่างชุมชนเครือข่ายภัยพิบัติอุบลราชธานี  บอกว่า เดิมทีเดียวพวกเราเป็นช่างชุมชนอาสาในโครงการบ้านมั่นคงของ พอช.  มีความรู้พื้นฐานด้านงานช่างมาบ้างแล้ว  หลังน้ำท่วมปี 2562 จึงไปฝึกต่อเรือที่ชุมชนหาดสวนสุข ซึ่งมีช่างต่อเรือในชุมชน  เรียนรู้และปฏิบัติจริงไปพร้อมๆ กัน  ใช้ทีมงาน 3-4 คนต่อเรือ 1 ลำ  ใช้เวลานานประมาณ 15 วันจึงแล้วเสร็จ  เพราะตัวเรือทำจากเรซิน  ต้องรอให้น้ำยาในแต่ละชั้นแห้งก่อน

     “ส่วนการออกแบบและขนาดของเรือก็ขึ้นอยู่กับแต่ละชุมชนว่าจะทำในรูปแบบใด  เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานและภูมิปัญญาของแต่ละชุมชน  โดยให้แต่ละชุมชนต่อเรือเอง  ชุมชนละ 1 ลำ  รองรับน้ำหนักได้ประมาณ 500-600 กิโลฯ   ใช้งบประมาณลำละ 50,000  บาท   และโดยปกติเรือทั่วไปจะไม่มีทุ่น  แต่เรือของเครือข่ายฯ ที่ชาวบ้านช่วยกันทำจะใส่ทุ่นบริเวณหัวและท้ายเรือเพื่อป้องกันเรือจมน้ำ  แม้ว่าเรือจะรั่วหรือเกิดอุบัติเหตุ   เรือก็จะไม่จมน้ำ  ยังสามารถลอยน้ำได้  ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของชุมชน  และเป็นเรือลำแรกที่พวกเราสร้างขึ้นมา  เป็นประสบการณ์ใหม่  ลำต่อไปจะพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”  ช่างต่อเรือชุมชนรายนี้บอก

     ทั้งนี้เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา  เครือข่ายภัยพิบัติอุบลราชธานีร่วมกับพี่น้องชาวชุมชนจัดพิธีเชิญแม่ย่านางลงสู่แม่น้ำมูล  โดยนำเรือ  26 ลำ และแพ 1 ลำ  มาทำพิธีที่ท่าน้ำชุมชนหาดสวนยา  อ.วารินชำราบ  เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ชาวชุมชน

     ‘การไหว้แม่ย่านางเรือ’ เป็นความเชื่อของชาวชุมชนริมแม่น้ำมูลว่า  เรือทุกลำมีแม่ย่านางเรือประทับอยู่  เมื่อชาวบ้านจะออกเรือทุกครั้งจะทำการเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือ  เพื่อเป็นการแสดงความเคารพสักการะ  ขอพรให้แม่ย่านางคุ้มครองให้รอดพ้นจากภัยต่างๆ  และมีโชคลาภในการทำมาหากิน  โดยเจ้าของเรือจะผูกด้ายขาว ด้ายแดง  และผ้าแดงไว้ที่หัวเรือ

เสนอ  10 แนวทางเตรียมรับมือภัยน้ำท่วม

     ศราวุธ เผ่าภูรี ผู้ประสานงานเครือข่ายภัยพิบัติอุบลราชธานี  กล่าวว่า  เรือและแพที่มีอยู่ในขณะนี้จะกระจายไปยังชุมชนต่างๆ  ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูล  ในเขตอำเภอเมือง  วารินชำราบ  สว่างวีระวงศ์  และดอนมดแดง  หากเกิดน้ำท่วมจะได้นำเรือออกมาใช้ได้ทันที  นอกจากนี้ยังเตรียมเรือ 2  ลำให้เป็นเรือกู้ภัย  ใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วย  หรือกรณีฉุกเฉินสามารถไปช่วยเหลือพื้นที่นำท่วมอื่นๆ ได้อีก 

     “เรือแต่ละลำจะมีอาสาสมัครประจำเรือ  5 คน  ดูแลความพร้อมเพื่อให้ใช้งานได้ตลอดเวลา   มีการฝึกซ้อมการขับเรือ  เพื่อให้เกิดความชำนาญ  มีกองทุนเรือในแต่ละชุมชนเพื่อเป็นค่าน้ำมันและดูแลรักษาเรือ  รวมทั้งมีการฝึกซ้อมแผนอพยพชาวบ้านด้วย”  ศราวุธบอก 

     ศราวุธกล่าวด้วยว่า  จากประสบการณ์น้ำท่วมซ้ำซาก  ชาวชุมชนและเครือข่ายฯ  จึงมีการระดมความคิดเห็น  และมีข้อเสนอแนวทางเพื่อลดความเสียหายจากภัยน้ำท่วมอย่างยั่งยืน  ดังนี้  1.ให้เร่งรัด เร่งด่วน  การจ่ายค่าชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วมเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยตามสิทธิ์ที่ชาวบ้านควรได้รับ  2.ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  สนับสนุนวัสดุ  อุปกรณ์ให้ชุมชน  เช่น  การต่อเรือ  สร้างแพลอยน้ำ  หอเตือนภัย เพื่อลดความสูญเสียจากภัยพิบัติ

     3.ให้รัฐบาลปรับปรุงกฎหมาย  และมีนโยบายส่งเสริมให้ชุมชนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ  เช่น  การจัดตั้งครัวกลาง  โดยให้ผู้ประสบภัยได้ดูแลกันเองได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม พร้อมสนับสนุนงบประมาณไปสู่ชุมชนและท้องถิ่นในการบริหารจัดการภัยพิบัติ

     4.จัดให้มีศูนย์ภัยพิบัติชุมชน   ประกอบด้วย  การฝึกให้มีอาสาสมัครภัยพิบัติชุมชน  มีข้อมูลเสี่ยงภัย  มีอุปกรณ์ เครื่องมือในการลดความเสี่ยง  5.จัดศูนย์อพยพให้มีมาตรฐาน  มีที่พัก  ห้องน้ำ  โรงครัว และอยู่ใกล้ชุมชนเดิม  6.ปรับปรุง  จัดการระบบเตือนภัยและระบบข้อมูลให้มีเอกภาพ  มีข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว  และเข้าถึงชุมชนได้หลายช่องทาง  7.มีการจัดทำแผนชุมชนทุกมิติ  ไม่ใช่เพียงแผนภัยพิบัติเท่านั้น

     8.จัดให้มีการสื่อสาร  เชื่อมโยง  ขยายเครือข่าย  เพื่อการเตือนภัยในระดับชุมชนและระดับเครือข่าย  9.นำการจัดการองค์ความรู้มาใช้ในการเตือนภัย  10.เพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชนในการทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับจังหวัดและระดับประเทศ  ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

     ขณะที่  จำนงค์  จิตนิรัตน์  ผู้ประสานงาน คปสม. กล่าวทิ้งท้ายว่า  เรือและแพที่ต่อใหม่  รวมทั้งที่มีอยู่เดิมประมาณ 30 ลำคงจะไม่เพียงพอต่อการอพยพชาวบ้านได้ทันท่วงที  เพราะมีชุมชนที่ตั้งอยู่ริมน้ำมูลและเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยประมาณ  40 ชุมชน  หากจะให้เพียงพอ (10 ครอบครัวต่อเรือ 1 ลำ) จะต้องใช้เรืออีกประมาณ 300 ลำ  ซึ่งจะต้องหาช่องทางมาสนับสนุนชุมชนต่อไป

     ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างการนำประสบการณ์และบทเรียนจากปัญหาน้ำท่วมมาใช้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ  รวมทั้งข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาวของเครือข่ายภัยพิบัติอุบลราชธานี  โดยชุมชนเป็นแกนหลัก  และมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุน  เพื่อจัดการภัยพิบัติได้อย่างยั่งยืน..!!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"