เตรียมแรงงานไทย สู่ยุค Digital Worker


เพิ่มเพื่อน    

 ภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจไทย หลัง Post COVID-19

            การปรับคณะรัฐมนตรี ประยุทธ์ 2/2 ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ท่ามกลางกระแสข่าวว่าอาจมีขึ้นในช่วงสิงหาคม-กันยายนปีนี้ ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวภายในพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่รับผิดชอบกระทรวงแรงงาน ก็ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่พรรคในวันอาทิตย์ที่ 5 ก.ค.นี้ เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค รปช.ชุดใหม่ หลัง หม่อมเต่า-ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค รปช.-หัวหน้าพรรค รปช.เมื่อ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้ลาออกจากตำแหน่ง รมว.แรงงาน โดยพรรคได้มีมติพรรคเสนอชื่อ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ แกนนำพรรคเป็น รมว.แรงงานคนใหม่ ในโควตาพรรค รปช.หากมีการปรับ ครม.เกิดขึ้น

                ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ แกนนำพรรคและรักษาการกรรมการบริหารพรรค รปช. -นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์การเมืองชื่อดัง ที่เป็นแคนดิเดต รมว.แรงงานคนใหม่ ตามที่พรรคเสนอชื่อต่อนายกรัฐมนตรี ย้ำถึงความสำคัญของการรับมือกับปัญหาแรงงานในประเทศไทยหลังจากนี้ ที่มีตัวเลขจากหลายหน่วยงานบอกว่าเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง เพราะจะมีการเลิกจ้าง มีคนตกงานหลายล้านคนในช่วงโพสต์โควิด-19 ตลอดจนยังได้พูดถึงทิศทางการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้สอดรับกับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะระบบ Supply Chain หรือห่วงโซ่อุปทานที่กำลังเปลี่ยนแปลงหลัง  Post COVID-19 จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาฝีมือทักษะแรงงานไทยให้ทันกับยุคสมัย Digital Worker

            ดร.เอนก-แกนนำพรรค รปช. เปิดเผยว่า พรรครวมพลังประชาชาติไทยได้ส่งชื่อตนให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งเรื่องตอนนี้ก็อยู่ในมือของท่านนายกรัฐมนตรีแล้ว ที่จะมาทำงานแทน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน เพราะพรรค รปช.ได้ทำงานที่กระทรวงแรงงานและก็มีผลงานไม่น้อย แม้ตอนหลังจะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์เล็กๆ น้อยๆ เช่นการจ่ายเงินช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิดช้า แต่ในที่สุดก็มีการจ่ายได้ทั้งหมด แต่ว่าสิ่งที่เราได้ทำมาและจะทำต่อไปมันมีเยอะมาก

            ...เรามีความคิดต่อกระทรวงแรงงานว่าเป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญ เพราะหน่วยของเราคือแรงงาน คือครอบครัว คือรายได้ที่เกิดจากการทำงาน แต่ว่ากระทรวงเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างกระทรวงพาณิชย์  กระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยของเขาก็คือ ร้านค้า บริษัท ธุรกิจ โรงงาน โดยหน่วยเศรษฐกิจก็ต้องมีมนุษย์เงินเดือน มี freelancer คนทำงานอิสระที่ทำงานระดับสูงแต่ทำงานแบบ work from home

            ...โดยเมื่อดูจากตัวเลขผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานในระบบมีร่วมสิบกว่าล้านคน โดยหากรวมถึงแรงงานที่ไม่มีนายจ้างด้วยก็ร่วมๆ 16 ล้านคน แต่สามารถขยายได้ถึง 40 ล้านคน ก็เป็นเป้าหมายของเราที่ต้องการให้คนอีกร่วม 24 ล้านคนเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อจะได้เข้าไปส่งเสริม สนับสนุน ฝึกฝนทักษะเขา ให้เป็นอาวุธที่ทรงพลังในทางเศรษฐกิจได้ เพราะในโลกที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น ผู้ใช้แรงงานของเราต้องเป็น  digital worker ได้ในด้านที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีชั้นสูง แรงงานของเราต้องมีความรู้ความสามารถ จนทำให้คำว่า "แรงงาน" กับ "นักวิชาชีพ" แทบจะไม่ต่างกัน เป็นอะไรที่ท้าทายมาก

            ...การว่างงานตอนนี้เป็นอะไรที่ผิดปกติ คือตั้งแต่มีประเทศมาไม่เคยเกิด คือจากปกติกระทรวงแรงงานจะต้องช่วยให้คนได้งานใหม่ ปีหนึ่งๆ ก็เป็นหลักหมื่น เพราะประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการว่างงาน แต่ว่ามาถึงตอนนี้แล้วปัญหาการว่างงานมันรออยู่ข้างหน้าแล้ว กระทรวงแรงงานจึงต้องปรับตัวเองให้สามารถหางานให้คนได้ปีละเป็นแสนๆ หรือเป็นล้าน จึงเป็นงานที่ต้องการสติปัญญา ความทุ่มเท ความเข้าใจในปัญหาแรงงานมาก ซึ่งเรามีความเชื่อว่าเรามี เรามีประสบการณ์จากที่เราได้ทำงานมาหนึ่งปี โดยเราได้เชื่อมกับธุรกิจทันสมัย ธุรกิจที่อยู่ในแนวหน้าของประเทศ ของโลกเยอะ ที่จะทำอย่างไรให้ถือโอกาสอันนี้สร้างแรงงานขึ้นมา เป็นแรงงานที่เหมาะกับยุคสมัยใหม่เพิ่มขึ้นอีกเยอะ โดยการฝึกฝีมือแรงงานต้องทำโดยใช้ภาคเอกชนมาช่วย เพราะกรมหรือกระทรวงของเราความรู้ ทักษะยังมีข้อจำกัด แต่เรามีความชอบธรรม มีงบประมาณสนับสนุนให้

            ...มีหลายตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่นเราจะฝึกคนให้มีทักษะ การเชื่อมโลหะใต้น้ำ คือดำน้ำลงไปเชื่อม ที่ใช้ในการทำท่อส่งแก๊ส ส่งน้ำมัน การซ่อมฐานขุดน้ำมัน ที่ต้องใช้งานเชื่อมที่อยู่ใต้น้ำ ตอนนี้คนที่ทำงานแบบนี้ได้จะได้เงินเดือนเป็นหลักแสน ซึ่งตอนนี้ไทยเราไม่มีเลย ต้องไปยืมตัวไปขอมาจากประเทศเพื่อนบ้าน จ้างมาเป็นครั้งคราว เราจึงต้องฝึกคนให้มีทักษะทำงานแบบนี้ให้ได้ปีละหลายหมื่นคน เพื่อให้เกิดแรงงานที่มีทักษะแบบนี้ขึ้นมา

            นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานก็จะต้องคิดในเรื่องของแรงงานที่เขามีรายได้เกินกว่าเกณฑ์ความยากจนไม่มาก เราก็ต้องเข้าไปดูแลเพราะก็มีจำนวนไม่น้อย ที่ส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมทั่วไป ไม่ใช่อุตสาหกรรมแนวหน้า แต่หลังจากนี้เราก็ต้องเปลี่ยนคนไทยให้เป็นแรงงานที่มีความรู้ มีวิชาชีพ ให้เป็น digital worker เป็นแรงงานไทยที่ทำงานกับโรบอตได้ ซึ่งเป็นอะไรที่เร่งด่วนมาก กระทรวงแรงงานต้องทันสมัย ต้องทันโลก ก็เป็นเรื่องที่เราต้องพยายามทำซึ่งเราก็มีแผนงานที่จะทำกันอยู่แล้ว

            ดร.เอนก กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้เราต้องมาคิดว่า ผู้ใช้แรงงานที่มีนายจ้างมันจะลดจำนวนไปเรื่อยๆ จะมีผู้ใช้แรงงานอิสระหรือ freelancer ที่เป็นกลุ่มที่ทำงานจากบ้าน นักวิชาชีพอิสระ เราก็พยายามเข้าไปช่วยสนับสนุนให้เขาทำงานอย่างมีอิสระ สร้างสรรค์ เพราะเขาจะเป็นกำลังสำคัญสำหรับภูมิรัฐศาสตร์ที่ดีขึ้นสำหรับเรา หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เราได้ค้นพบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จนเป็นที่หมายตาของคนทั้งโลกที่ต้องการเข้ามาเที่ยว มาลงทุน มาร่วมทำงานด้วยกับเรา แต่หากเราไม่มีคนที่ทำงานแบบนี้อยู่แล้ว คนที่จะเข้ามาก็อาจเกรงว่ามันจะช้า ดังนั้นช่วงนี้ต้องทำเต็มที่ในการเตรียมพร้อมเรื่องคน ผมก็คิดว่าถ้าเราได้ทำงานกระทรวงแรงงาน 3 ปี ผมว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนไปมาก

            "กระทรวงแรงงานที่ผ่านมา คนเขาไปคิดกันแต่เรื่องที่ว่าจะมีคนที่เข้ามาหาประโยชน์จากแรงงานต่างประเทศ หรือแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ อันนั้นมันเป็นกระทรวงแรงงานในยุคก่อนๆ เราไม่ควรทำให้กระทรวงแรงงานเป็นอย่างนั้นต่อไป กระทรวงแรงงานต่อไปต้องทำให้เป็นทั้งกระทรวงด้านแรงงาน กระทรวงนักวิชาชีพ เป็นกระทรวงที่ทันสมัย กระทรวงที่เปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัย ทำงานที่ทันโลก การทำงานต้องมีทักษะ มีคุณภาพ และทำงานเร็ว"

            ...ต้องมีการสร้างความร่วมมือกับนักวิชาชีพ นักวิชาการ นักธุรกิจ ซึ่งนักธุรกิจเขาเห็นโอกาสในเรื่องที่ผมพูดข้างต้นเร็วกว่าผมอีก เขาก็อยากจะทำและเขาต้องการคนที่จะมาทำงานที่เป็น modern  worker เป็นคนทำงานในระดับ 4.0 เราก็ต้องเข้าไปช่วยเขา  

            ...เราคิดถึงขนาดที่ว่าจะทำ สถาบันฝึกบินโดรน เพราะเวลานี้โดรนมันช่วยได้หลายอย่าง เช่น ช่วยดับเพลิง ช่วยดับไฟป่า โดยให้โดรนขนอุปกรณ์ดับเพลิงลงไปทิ้งบอมบ์เพื่อไปปกคลุมไฟไว้ทั้งหมด  ทำให้อากาศกับไฟไม่มาต่อกัน ไฟก็จะดับอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้โดรนยังทำเกษตรได้ด้วย เช่น การพ่นปุ๋ย พ่นยาฆ่าเชื้อ เราก็คิดว่ามันควรต้องมีนักบินโดรน เราต้องฝึกนักบินโดรนขึ้นมา เมื่อเรามีนักบินโดรนก็จะมีคนนำโดรนมาใช้มากขึ้น ทำให้ต่อไปก็ต้องฝึกคนซ่อมโดรน เพราะจากเดิมที่อาชีพช่างซ่อมรถเป็นอาชีพที่รายได้ดีมาก แต่ต่อไปคนก็จะไม่ซื้อรถอย่างเดียว แต่เขาจะซื้อโดรนด้วย จึงทำให้ต้องมีคนซ่อมโดรนได้ ก็จะเป็นอาชีพใหม่อีกอาชีพหนึ่ง

                -พรรค รปช.มีความพร้อมหากจะทำงานในกระทรวงแรงงานต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะกับการรับมือวิกฤติคนว่างงานที่จะหนักมากขึ้นหลังจากนี้ ?

            ก็พร้อม เพราะเราคิดกันมาตั้งแต่เริ่มมีโควิดเข้ามาแล้ว เราก็เริ่มคิดกันเรื่องนี้ มีแผนงานอะไรเยอะแยะ

             อย่างเรื่อง แรงงานดิจิทัล ที่ผ่านมา เราก็ทำงานร่วมกับสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยที่มีนายศุภชัย เจียรวนนท์ เป็นประธาน ก็มาช่วยกันคิด เพราะภาคธุรกิจก็ต้องการแรงงานที่จะมาทำงานแบบใหม่ ส่วนเราก็พร้อม เราเห็นอะไรจากเขาเยอะ ก็จะสนับสนุนเขาเต็มที่ โดยผลที่เราจะได้ก็คือแรงงานของเราจะตกงานน้อยลง และถ้าเป็นไปได้ก็จะได้ไม่ต้องกลับไปทำงานแบบเดิมที่ค่าจ้างมันต่ำ คนจำนวนหนึ่งก็จะถูกฝึกให้เป็นแรงงานวิชาชีพ เขาก็จะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น และส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศไทยกระโดดอย่างรวดเร็ว จากยุคที่เป็นอุตสาหกรรมหนัก-อุตสาหกรรมเบา ก็จะเข้าไปสู่ยุคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง เนื่องจากโควิด-19 มาเร่งเรา

            ...การทำงานของกระทรวงแรงงานจะต้องไม่ใช่มีแต่ข้าราชการ เพราะมันไม่พอ และทักษะอะไรต่างๆ ก็เติบโตไม่ทันกับโลก กระทรวงแรงงานต้องทำตัวเราให้เป็นเหมือนคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ ก.ร.อ. สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ คือร่วมมือกับภาคธุรกิจ ภาคแรงงาน สหภาพแรงงาน คือร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างคนให้เป็นพลังใหม่ให้ได้มากที่สุด     

                -หากมีการปรับ ครม. ถ้าพรรค รปช.ไม่ได้ดูกระทรวงแรงาน การทำงานไม่ต่อเนื่อง จะเป็นอย่างไร?

            ผมก็พูดแค่นี้ คือเราก็ตั้งใจมาก และเราก็เชื่อว่าท่านนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจเป็นคนสุดท้าย เราก็พูดแค่นี้ คือเราก็ตั้งใจทำงานของเราเต็มที่ พรรค รปช.ก็ยืนยันกับนายกรัฐมนตรีว่าจะขอดูแลรับผิดชอบกระทรวงแรงงานต่อ

            ดร.เอนก กล่าวด้วยว่า หลังการประชุมใหญ่พรรค รปช.วันที่ 5 ก.ค. ซึ่งจะมีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ที่จะเป็นที่ยอมรับของแกนนำพรรคและคนที่ทำงานให้พรรค มวลสมาชิกพรรค แต่จะเป็นใครก็ต้องรอดูผลการประชุม พรรค รปช.เป็นพรรคที่มีระเบียบวินัยและ ส.ส.ตั้งใจทำงาน มีประเด็นอะไรก็พูดจากันในพรรค ถกเถียงกัน จากนั้นก็นำไปปฏิบัติ ไม่มีใครออกมาให้สัมภาษณ์ในทางที่เป็นลบกับผู้นำของพรรค หลังจากนี้พรรค รปช.ก็ต้องเติบโตในด้านต่างๆ ต่อไป เช่นเรื่องสมาชิกพรรค โดยพรรค รปช.เป็นพรรคที่สมาชิกพรรคต้องจ่ายเงินค่าบำรุงสมาชิกพรรคปีละ 365 บาทต่อปี ก็ทำให้คนที่ตัดสินใจมาเป็นสมาชิกพรรคเราก็ต้องตัดสินใจพอสมควร เป็นการทำให้ประชาชนคิดว่านี้คืออะไรที่เป็นของเขาเอง  เขาต้องลงทุนต้องสร้างมันขึ้นมา

            ส่วนความเป็นไปได้ในการที่พรรค รปช.จะส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่จะมีขึ้นในอนาคต ดร.เอนก แสดงท่าทีต่อเรื่องนี้ไว้ว่า พรรคก็พร้อมสนับสนุนคนของพรรค รปช.ให้ลงสู่การเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมีขึ้น โดยก็ต้องดูศักยภาพของคนที่สนใจอยากจะลงสมัครว่าเขามีศักยภาพหรือไม่ โดยพรรค รปช.มีความคิดความสนใจในเรื่องการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น เพราะพรรค รปช.เห็นความสำคัญของท้องถิ่น เช่นอยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง อยากให้ท้องถิ่นมีบทบาท

            ...เมื่อดูกรณีโควิด-19 ที่เราสามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้สำเร็จ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะท้องถิ่นที่เอาการเอางานให้ความร่วมมือ รวมถึงจากราชการส่วนภูมิภาคที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถรับมือได้ดี จนบางจังหวัดไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดเลย หลังมีการให้อำนาจผู้ว่าฯ สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ผวจ.ก็ทำได้ดี ถือว่าเรื่องโควิดกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงสาธารณสุขมีบทบาทสำคัญมาก ถ้าประเมินอย่างผมคิดว่าสมรภูมิโควิด-19 จุดชี้ขาดคือ "ชนบท" คือหมู่บ้าน เพราะโควิดไปแพ้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. และวินัยทางการสังคมที่อยู่ในหมู่บ้านที่ช่วยกัน จำกัดการโยกย้ายของคน และร่วมกันป้องกันการแพร่เชื้อ มันถูกหยุดยั้งที่ชนบท

ภูมิรัศาสตร์-เศรษกิจโลก

หลัง Post COVID-19

            และจากวิกฤติสงครามไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ในทัศนะของ ดร.เอนก-นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชื่อดัง มอง สังคม-เศรษฐกิจระหว่างประเทศ-การเมือง-ภูมิรัฐศาสตร์โลก หลัง Post COVID-19 โดยเริ่มต้นที่การเล่าย้อนเหตุการณ์วิกฤติแต่ละครั้งที่ประเทศไทยพบเจอมาจนถึงวิกฤติโควิดรอบนี้ ว่าเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดเป็นเหตุการณ์ที่ทั่วโลกไม่เคยมี เพราะระบาดไปทั่วโลก ระบาดเร็ว มีคนติดเชื้อมหาศาล คนตายทั่วโลกหลายแสน จากการเฝ้าสังเกตและค้นคว้าก็พบว่า  ประเทศไทยแม้ในยามวิกฤติเราก็สามารถเผชิญหน้ารับมือได้ดี เราจัดการกับวิกฤติแต่ละเรื่องเป็นอย่างดี

            ...อย่างประวัติศาสตร์ในอดีตแผ่นดินสยาม โดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกู้เอกราชคืนมาได้ภายในสิบห้าปีเท่านั้น แม้พระเจ้าบุเรงนองจะเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสุวรรณภูมิ และขยายอาณาเขตไปได้ไม่น้อยกว่าเดิม หรือสมัยพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยาแตกในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ โดยที่พม่าตอนนั้นยิ่งใหญ่มาก รบกับจีน อินเดียได้ แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงกู้เอกราชกลับคืนมาได้ภายในเจ็ดเดือน

            วิกฤติสองครั้งดังกล่าวข้างต้นอาจทำให้เราสูญชาติได้ แต่เราก็มีความสามารถพิเศษ จนสามารถฟื้นฟูทุกอย่างให้กลับมาเหมือนเดิมได้ หรือตอนตะวันตกเริ่มขยายเข้าไปปกครองอาณานิคมหลายประเทศทั่วโลก ก็มีไม่เกินสิบประเทศในโลกที่เอาตัวรอดมาได้จากฝรั่ง ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น ถือเป็นอะไรที่น่าพิศวง

            ไทยเราเป็นประเทศเดียวในเอเชียอาคเนย์ที่ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้น สิบประเทศในตอนนี้มีเก้าประเทศล้วนเคยตกเป็นเมืองขึ้นมาทั้งนั้น หรือช่วงสงครามเย็นก็มีการรบรากันจนคนตายเป็นแสนเป็นล้าน อย่างที่เห็นกันในเวียดนาม ลาว หรือตอนเวียดนามบุกกัมพูชา ประชิดชายแดนไทยช่วงปี พ.ศ. 2521 ที่เป็นช่วงวิกฤติสุดขีดเพราะสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากเอเชียอาคเนย์ไปแล้ว เพราะแพ้สงครามเวียดนามตอนปี พ.ศ.2518 ทำให้ในเอเชียอาคเนย์เป็นสุญญากาศ เวียดนามกำลังเป็นมหาอำนาจของเอเชียอาคเนย์ เราก็ไปนำจีนมาเป็นพันธมิตรกับเรา จนเราต้านเวียดนามได้

            เราก็คิดปลอบใจเรากันตั้งแต่ตอนเกิดโควิด ว่าคนไทยเรามักจะทำอะไรได้ดีมากเป็นพิเศษอย่างเหลือเชื่อในยามที่มีวิกฤติ และมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมก็ยังงงว่าทำไมคนไทยถึงอยู่ในระบบระเบียบดีเหลือเกิน เขาไม่ให้ออกจากบ้าน ไม่ให้ออกไปชุมนุม ให้ใส่หน้ากากออกจากบ้านก็ทำกันหมด เวลากลับต่างจังหวัดต้องกักตัวก็ทำตามหมด อสม.ก็ปฏิบัติหน้าที่ได้เคร่งครัดมาก และเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ที่ปกติเราก็คิดว่าเก่งอยู่แล้ว ก็เก่งมากกว่าที่เราคิด

            ตอนแรกคนก็เป็นห่วงว่าไทยจะลำบากมากที่สุด เพราะรับนักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากสุด คนจากอู่ฮั่นก็มาเที่ยวที่กรุงเทพฯ มาก อย่างตอนแรกมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ก็ประเมินว่าไทยเป็นประเทศอันดับ 6 ของโลกในการรับมือกับโรคระบาด แต่พอผ่านไปรอบแรกมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ก็จัดอันดับให้ไทยเป็นอันดับ 1 ของโลกในการรับมือกับโรคระบาดทั้งหมด ทำให้จากตอนแรกที่เราดูว่าเรามีปัญหาเยอะแยะไปหมด แต่พอเกิดวิกฤติอะไรขึ้นมาจริงๆ ไทยเรากลับรับมือได้

            ดร.เอนก ย้ำว่า ผมก็เลยสรุปได้อย่างหนึ่งว่าคนไทยนั้น โหมดที่ทำงานได้ดีที่สุดคือโหมดวิกฤติ ดังนั้นเราก็ไม่น่าจะกลัววิกฤติอะไรมากนัก แต่ก็ไม่ได้จะให้เราประมาท

            ...หลังวิกฤติผมว่าภาพของประเทศไทยสูงเด่นขึ้นมากกว่าเดิมทันที ในฐานะประเทศที่มีระบบสาธารณสุขดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ทำให้หลังจากนี้เมื่อต่อไปจะมีการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของโลกขึ้นมา คนก็จะต้องไปยังประเทศที่มีสาธารณสุขดีที่สุดเพราะจะปลอดภัย ก็จะทำให้คนทั่วโลกก็อยากมาเมืองไทย ไม่ใช่แค่ธรรมชาติ ทิวทัศน์ จิตใจของคนไทยเท่านั้น แต่เพราะเมืองไทยปลอดภัย

            ...อีกทั้งจากวิกฤติโควิดที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานของโลก หรือ supply chain ที่เคยใช้กระบวนการผลิตที่ยาวต่อไปก็จะสั้นลง อย่าง supply chain ของจีนที่อยู่ในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ต่อไปก็จะต้องมาบวกกับในเอเชียอาคเนย์มากขึ้น ซึ่งในเอเชียอาคเนย์หากจีนต้องเลือกก็จะมาเลือกไทย เพราะระบบสาธารณสุขของไทยดีกว่าประเทศอื่นอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ที่เป็นคู่แข่งของเรา ก็ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ  ของไทยหลังโควิดก็จะกลับมาฟื้นฟูและเติบโตได้ต่อไป โดยอาจจะเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ สาธารณสุข การต่อสู้กับไวรัส เชื้อโรค การผลิตวัคซีนต่างๆ หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรืออุตสาหกรรม 4.0 หรืออุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี ที่จีนอาจจะทยอยถ่ายโอนเทคโนโลยีต่างๆ เช่น 5จี มาที่ไทยได้ อันเนื่องมาจาก supply chain ของโลกมันเปลี่ยนไป 

            คิดว่าถ้ารัฐบาลจัดตั้งตัวเองให้ดี หาคนที่มีความสามารถเป็นพิเศษเท่าที่จะหาได้ จากระบบการเมืองของเราที่ไม่ค่อยเอื้อให้กับการหาคนที่มีความสามารถทางบริหาร ทางวิชาการ แต่หากเราพยายามทำก็จะทำให้โอกาสก็มาถึงเราได้

Supply Chain โลกเปลี่ยน

ต้องชูจุดแข็งไทย ระบบสาธารณสุข

                ดร.เอนก กล่าวถึงทิศทางและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศไทยหลังโพสต์โควิด-19 ว่า น่าจะดี  แต่ระยะแรกก็ต้องปรับตัวกว่าจะฟื้นขึ้นมา ก็เหมือนเครื่องจักร กว่าจะกลับมาเดินได้เต็มสตรีมอีกครั้งก็ต้องใช้เวลา ก็อาจจะมีปัญหาเรื่องการว่างงาน การหางานทำชนิดใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ก็ต้องปรับตัว แต่ว่าทิศทางทั่วไปดี ส่วนภูมิศาสตร์ประเทศไทยถือว่าดีจนถึงดีมาก แต่ภูมิศาสตร์หรือการจัดการใหม่ที่เราจัดการเรื่องโควิดได้ดี โดยตัวของมันเองอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีรัฐและสังคมที่รู้เท่าทันโอกาสดีอันนี้ นำพาประเทศนำพาสังคมไปในทางที่เป็นประโยชน์ แต่ว่าโอกาสของเรามีเยอะ อันเนื่องมาจากการจัดการโควิดแบบที่เราคาดไม่ถึง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้ทำกันได้ทั้งโลก

            เพราะอย่างที่สหรัฐฯ การเกิดโควิดรอบนี้ทำให้ด้านลบของสังคมอเมริกาปรากฏออกมาให้เห็นชัดยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับยุโรปมีคนเสียชีวิตจำนวนไม่น้อย ทำให้พลังทางเศรษฐกิจของตะวันตกที่มีสหรัฐเป็นผู้นำ ที่ก่อนหน้านี้พยายามจะหนีออกจากจีน ก็จะยิ่งทำให้โอกาสหนีน้อยลงไปอีก แต่สำหรับจีนและประเทศทางตะวันออกที่เสียหายน้อยกว่า ก็จะยิ่งเบียดขับตะวันตกไปไกลมากขึ้น

            ...ถ้าถามผมในฐานะนักภูมิรัฐศาสตร์ด้วย ผมก็คิดว่าเราก็จะต้องปรับแนวทางด้านการต่างประเทศอะไรของเราพอสมควร เราต้องพยายามบอกตัวเองว่าเราไม่ได้อยู่ในยุคสงครามเย็นแล้ว เราไม่ได้อยู่ในยุคที่โลกทั้งโลกมีแต่ตะวันตกหรือมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ แต่เรายังมีซีกตะวันออกของโลก มีจีนและประเทศที่ผมเรียกว่าบูรพาภิวัตน์อีกมากมายหลายทวีป เช่น ลาตินอเมริกา แอฟริกา ที่เราก็ต้องให้ความสำคัญกับเขาเหมือนกัน ทำให้การทูตของเราก็จะต้องไม่เหมือนเดิม โลกจะไม่ได้มีแค่สองขั้ว แต่เป็นโลกหลายขั้ว ที่หากเราเข้าใจภูมิรัฐศาสตร์อันนี้ เราก็ต้องปรับยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศของเราพอสมควร

                ดร.เอนก มองว่า New Normal สังคม เศรษฐกิจประเทศไทยในภาพใหญ่หลังโพสต์โควิด ไทยเราต้องเตรียมเรื่องการท่องเที่ยว โดยต้องเป็นการท่องเที่ยวคุณภาพ การท่องเที่ยวมีมูลค่า โดยใช้จุดแข็งของเราเรื่องสาธารณสุขมาเป็นจุดขาย ส่วนด้านอุตสาหกรรมก็ต้องทำให้อุตสาหกรรมของเรา เช่นในโครงการอีอีซีเป็นอุตสาหกรรมที่รองรับการเปลี่ยน supply chain ของโลก คือต่อไปหลายประเทศโดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่นจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตมากขึ้น เพราะไทยมีความพร้อมในด้านสาธารณสุข อย่างพวกอุตสาหกรรมระดับสูงที่จีนกำลังจะนำโลก ก็จะแบ่งส่วนหนึ่งมาทำการผลิตในไทย เราก็ต้องร่วมมือกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอาจรวมถึงอินเดีย ที่จะทำให้อุตสาหกรรมด้านยา การต่อสู้กับโรคระบาด การทำวัคซีน การผลิตยารักษาโรคต่างๆ ที่จะทำอย่างไรให้ไทยพึ่งตนเองทางด้านยา รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ เช่น หน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพสูง ที่เรายังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งหมดต้องใช้เวลาในการดำเนินการผลิต ซึ่งเวลานี้เรายังขาดวัสดุ เทคนิคการผลิตและองค์ความรู้ เราก็ต้องเลือกบางประเทศมาเป็นพันธมิตรในการผลิตกับไทย

            ทั้งหมดก็เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางสาธารณสุข เพราะความมั่นคงของประเทศต่างๆ ต่อจากนี้ ความมั่นคงทางทหารและทางเศรษฐกิจจะลดน้อยลง แต่จะไปเพิ่มที่ความมั่นคงทางระบบสาธารณสุข ซึ่งประเด็นนี้เราไม่ค่อยได้เคยคิดกัน ไปคิดว่ากระทรวงสาธารณสุขจะไปเกี่ยวข้องแต่กับเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งก็ยังคงต้องมีอยู่ แต่ว่าโลกหลังยุคโควิด-19 ทำให้ได้เห็นว่า หากความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขมีน้อย ประเทศก็จะเสียหาย ประเทศก็จะอ่อนแอ อย่างที่สหรัฐอเมริการอบนี้คนตายเป็นแสน ระบบต่างๆ ของเขาฟกช้ำดำเขียวไปหมด โดยเฉพาะเรื่องชีวิต ความเจ็บไข้ได้ป่วย ที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู

            "ระบบสาธารณสุขของไทยตอนนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าอยู่ในระดับนำของโลก ก็ต้องพยายามใช้ตรงนี้ให้เกิดประโยชน์ อย่างพวกอุตสาหกรรมด้านสาธารณสุข ด้านโรงพยาบาล  การดูแลผู้สูงวัย งานเหล่านี้ต้องทำให้เป็นงานหลักของประเทศ"

            ...ตอนที่เกิดวิกฤติโควิด-19 เราก็ได้เห็นอีกครั้งว่านายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ก็สามารถตัดสินใจได้ถูกต้อง หลายเรื่องโดยเฉพาะการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ก็จัดการในเรื่องใหญ่ที่จำเป็นหลายเรื่อง โดยมีการรวบรวมคนที่มีความรู้ความสามารถหลายคนมาช่วยงาน อีกทั้งสามารถจัดการเรื่องการคลังได้ดี เช่นการกู้เงินมาช่วยเหลือประชาชน เพื่อทำให้คนบอบช้ำกันน้อยที่สุด แต่ก็ไม่ใช่อยู่ที่รัฐบาลอย่างเดียว  แต่อยู่ที่สังคมด้วย คนไทยต่างร่วมมือกัน ทำให้เห็นชัดว่าสังคมไทยเรามีคุณภาพมากกว่าที่เราคิด จึงอยากมองว่าเหตุการณ์วิกฤติครั้งนี้ที่เราผ่านมาได้ เป็นชัยชนะร่วมกันของคนไทยทุกคน จึงไม่อยากให้เรามองแค่ว่าโควิดคือโรคภัยไข้เจ็บ เป็นแค่โรคระบาดมาแล้วก็ไป แต่ควรใช้เหตุการณ์ครั้งนี้มาทบทวนใหม่ ทั้งในแง่คุณภาพของคนไทย ความสามารถและความเข้มแข็งของสังคมไทย

            ...นอกจากนี้ก็ต้องทบทวนภูมิรัฐศาสตร์ในระดับโลก ในเรื่องระบบ-ระเบียบโลก หลังจากโควิดเข้ามาแล้วก็หมดไป มันจะเป็นอย่างไร แล้วเราจะได้ประโยชน์อะไรจากระเบียบ-ระบบโลกใหม่ หลังจากนี้คิดว่าต้องถือโอกาสที่เราต้องประเมินกันใหม่หมด. 

                                                            โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

...........................................            

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"