ช่อโวซ้ำรอย'อนค.' กวาดเก้าอี้ท้องถิ่นเขย่าปท./'โพล'หนุนปรับครม.ยกคณะ


เพิ่มเพื่อน    

    “ช่อ” โวคณะก้าวไกลจะเขย่าการเลือกตั้งท้องถิ่นเหมือนยุคส้มหวาน ชี้เป็นมิติใหม่ส่งผู้สมัครในชื่อเดียวกัน อุดมการณ์เดียวกันทั่วประเทศ โพลเผย ปชช.หนุนปรับ ครม.ทั้งคณะ ชี้ "อุตตม-สนธิรัตน์" ไร้ผลงานเด่นชัด แต่ยี้ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ ระบุ "นฤมล" ขาดประสบการณ์ ยังหนุน "ลุงตู่" ขณะที่ "เพื่อไทย" อารมณ์ค้างยกระดับฉายา "นักกู้แห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก" ฟันธงยังไม่ปรับ ครม.จะเกิดสภาพเตี้ยอุ้มค่อม กมธ.งบฯ ตั้งเป้าตัดงบซื้ออาวุธทั้งหมดนำมาแก้ปัญหา ศก.ที่จำเป็น ชงให้ภาค ปชช.-สื่อมวลชนเข้ารับฟังได้ 
    เมื่อวันอาทิตย์ ที่อาคารไทยซัมมิท คณะก้าวหน้ายังคงจัดอบรมสัมมนาทีมผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นวันที่สอง ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคักสนุกสนาน โดยช่วงเช้าเป็นเวทีอบรมเรื่องการสื่อสารทางการเมือง จากนั้นในช่วงบ่ายมีกิจกรรมเวิร์กช็อปโดยให้ทีมผู้สมัคร อบจ.แต่ละจังหวัด ระดมสมองร่วมกันคิดนโยบาย วิเคราะห์ร่วมกัน รวมถึงวางแผนการรณรงค์หาเสียง จากนั้นให้แต่ละทีมได้นำเสนอนโยบายเหล่านั้น โดยมีแกนนำคณะก้าวหน้า อาทิ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ,  น.ส.พรรณิการ์ วานิช, นายไกลก้อง ไวทยการ, นายเจนวิทย์ ไกรสินธุ์, นายสุนทร บุญยอด และนายนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ รวมถึงทีมผู้สมัคร อบจ.อื่นๆ ร่วมแสดงความคิดเห็น
น.ส.พรรณิการ์กล่าวว่า กิจกรรมทั้ง 2 วันในการอบรมอัดแน่นไปด้วยสาระความรู้ ซึ่งเป็นการเสริมความเข้มแข็งให้ทีมผู้สมัครของเรา โดยผู้สมัครทั้ง 17 จังหวัดที่มาอบรมครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นบ้านเกิดเมืองนอนตัวเองเปลี่ยนแปลง เราไม่รู้ว่าที่ผ่านมาในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเคยมีการจัดกิจกรรมอบรมสัมมนาให้ผู้สมัครอย่างนี้มาก่อนหรือไม่ แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมี  ครั้งนี้เป็นมิติใหม่ เพราะอย่างที่เราได้ประกาศไปแล้วว่านี่จะเป็นครั้งแรกที่จะส่งผู้สมัครในชื่อเดียวกัน อุดมการณ์เดียวกัน และกรอบนโยบายหลักแบบเดียวกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะการบรรยายให้ภาพรวมของท้องถิ่นของประเทศไทย, การบรรยายเรื่องแนวทางการสร้างนโยบายและการจัดการงบประมาณ, การบรรยายเรื่องนโยบายและแนวทางการสร้างนโยบาย, การให้แนวทางการสื่อสารทางการเมือง รวมถึงกิจกรรมวันนี้คือเวิร์กช็อปที่ให้แต่ละทีมร่วมกันออกแบบนโยบายของจังหวัดตนเอง แล้วมานำเสนอ บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน 
“ทุกคนกระตือรือร้นในการร่วมกันแสดงความคิดเห็น และผลงานก็ออกมาดีมากๆ หลายๆ จังหวัดดึงศักยภาพของพื้นที่ตัวเองออกมาใช้ได้อย่างน่าทึ่ง ทำให้เรามั่นใจยิ่งขึ้นว่านโยบายที่ทุกคนร่วมกันคิด รวมถึงนโยบายหลักที่คณะก้าวหน้าจะนำไปใช้ในการรณรงค์หาเสียง จะสามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่นได้ เราเชื่อว่าประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลง และจะให้โอกาสคณะก้าวหน้าในการเลือกตั้งที่จะมาถึง เราจะสามารถเขย่าการเลือกตั้งท้องถิ่นได้อีกครั้ง อย่างที่ครั้งหนึ่งในนามพรรคอนาคตใหม่เคยทำสำเร็จแล้วกับการเลือกตั้งระดับประเทศ”
    นายภูมิพันธ์ บุญมาตุ่น ผู้สมัครนายก อบจ.บึงกาฬ กล่าวว่า ปัญหาปัจจุบันของบึงกาฬคือเรื่องราคายางพาราตกต่ำ ดังนั้น นโยบายที่เราออกแบบสำหรับท้องถิ่นก็เพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกร ว่าทำอย่างไรก็ได้ที่เพิ่มมูลค่ายางพาราขึ้น สำหรับการอบรมในครั้งนี้ กิจกรรมเรื่องแนวทางการคิดนโยบายนั้นน่าสนใจมาก การคิดนโยบายที่ฐานต้องมาจากประชาชน จากปัญหาในพื้นที่ จากการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ เพื่อจะออกมาเป็นนโยบายและแก้ปัญหากลับไปให้คนในพื้นที่จริงๆ ทั้งนี้ คณะก้าวหน้าประกาศแล้วว่าจะส่งลงท้องถิ่น 4,000 แห่ง เราอยากได้คนรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน รักประชาธิปไตย อยากเห็นบ้านเกิดตัวเองดีขึ้น 
    ด้านนายชัชวาล นันทะสาน ผู้สมัครนายก อบจ.นครปฐม กล่าวว่า เรื่องนโยบายที่เชื่อมโยงการผูกขาดการเมืองใน จ.นครปฐม คือนโยบายรัฐเปิดเผย ซึ่งสำคัญมาก เพราะจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบ ตัดสินว่าประชาชนอยากได้อะไรในท้องถิ่นจริงๆ ภาษีประชาชนจะถูกใช้ไปกับโครงการอะไรบ้าง จะเป็นการลดข้อกังขาการใช้งบประมาณของจังหวัด ถ้ามีโครงการไหนที่ไม่ตอบโจทย์ประชาชน ก็สามารถตัดออกแล้วนำงบประมาณตรงนั้นไปใช้ให้ตรงกับความต้องการกับปัญหาท้องถิ่นได้จริงๆ
    วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง ปรับ ครม.? ระหว่างวันที่ 29-30 มิ.ย. จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,251 ตัวอย่างทั่วประเทศ เกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 43.09% ระบุว่าควรปรับ ครม.ทั้งคณะ เพราะการบริหารงานที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ยังไม่มีผลงานให้เห็นเด่นชัด และอยากให้ท่านอื่นลองเข้ามาบริหารบ้าง รองลงมา 39.89% ระบุว่าควรปรับ ครม.บางตำแหน่ง เพราะบางตำแหน่งยังทำงานไม่ตรงตำแหน่งที่ได้รับ อยากได้บุคคลเข้ามาทำงานเหมาะสมกับตำแหน่ง, 16.95% ระบุว่ายังไม่ถึงเวลาปรับ ครม. เพราะอยากให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 หมดจากประเทศก่อน ขณะที่บางส่วนระบุว่าดีอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องปรับ ครม. 
    ด้านการปรับนายอุตตม สาวนายน ออกจากตำแหน่ง รมว.การคลัง พบว่า ส่วนใหญ่ 44.76% ระบุว่าควรถูกปรับ เพราะการบริหารงานล่าช้า ผลงานยังไม่มีความโดดเด่น ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งที่ได้รับ, 38.61% ระบุว่าไม่ควรถูกปรับออก เพราะการทำงานดีอยู่แล้ว นโยบายช่วยเหลือประชาชนดี ควรให้โอกาสในการดำรงตำแหน่งต่อไปก่อน และ 14.95% ระบุว่าไม่แน่ใจ ขึ้นอยู่กับนายกฯ ส่วนการปรับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ออกจากตำแหน่ง รมว.พลังงาน พบว่า ส่วนใหญ่ 41.17% ระบุว่าควรถูกปรับออก เพราะไม่มีผลงานให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ อยากได้บุคคลที่ตรงกับตำแหน่งเข้ามาทำงานมากกว่า, 36.05% ระบุว่าไม่ควรถูกปรับออก เพราะผลงานที่ผ่านมายังดีอยู่ อยากให้โอกาสอยู่ในตำแหน่งต่อเพื่อดูผลงานต่อไป และ 19.26% ระบุว่าไม่แน่ใจ ขึ้นอยู่กับนายกฯ  
ปชช.ยังหนุน"ลุงตู่"
    สำหรับการปรับนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ออกจากตำแหน่ง รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พบว่า ส่วนใหญ่ 37.73% ระบุว่าไม่ควรถูกปรับออก เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ควรให้โอกาสดำรงตำแหน่งต่อไปก่อน,  36.45% ระบุว่าควรถูกปรับออก เพราะผลงานยังไม่มีความโดดเด่นเท่าที่ควร ไม่มีการพัฒนา ไม่มีประสิทธิภาพ และ 20.78% ระบุว่าไม่แน่ใจ ขึ้นอยู่กับนายกฯ
    เมื่อถามถึงความเหมาะสมกับตำแหน่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ ของนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาล พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 44.44% ระบุว่าไม่เหมาะสม เพราะยังขาดประสบการณ์การทำงานทางด้านเศรษฐกิจ ผลงานยังไม่มีความโดดเด่นเท่าที่ควร และการทำงานยังสู้หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนเดิมไม่ได้ รองลงมา 32.45% ระบุว่าเหมาะสม เพราะมีความสามารถแจกแจงปัญหาได้ชัดเจน มีเหตุมีผล และอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ดีขึ้น 
    นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจภาคสนามเรื่อง ถ้าวันนี้เลือกตั้งพรรคใดชนะ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 1,075 ตัวอย่าง  ระหว่างวันที่ 3-5 ก.ค. เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นภายหลังจากที่ พปชร.เปิดเผยคนที่จะให้ดูแลงานด้านเศรษฐกิจ พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 67.3% ระบุแย่ลงกว่าทีมเดิม ในขณะที่ 32.7% ระบุว่าดีกว่าทีมเดิม ตามลำดับ เมื่อสอบถามถึงการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์แก้ปัญหาวิกฤติต่างๆ ของประเทศและประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 56.9% สนับสนุน ในขณะที่ 43.1% ไม่สนับสนุน
     เมื่อถามถึง ส.ส.ของพรรคการเมืองที่เคยเลือกในการเลือกตั้งครั้งก่อนในปี  2562 พบว่า 18.9% ระบุพรรคเพื่อไทย, 16.6% ระบุพรรคพลังประชารัฐ, 15.1% ระบุพรรคอนาคตใหม่, 11.7% ระบุพรรคประชาธิปัตย์, 7.2% ระบุพรรคภูมิใจไทย และ 2.6% ระบุพรรคชาติไทยพัฒนา ตามลำดับ
    แต่เมื่อถามถึง ส.ส.ของพรรคการเมืองที่จะเลือกถ้าวันนี้เลือกตั้ง พบว่า 16.7% จะเลือกพรรคก้าวไกล เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากพรรคอนาคตใหม่ชื่อเดิม, 15.7% ระบุพรรคเพื่อไทย ลดลงเล็กน้อย ในขณะที่ 8.7% ระบุพรรคประชาธิปัตย์ และ 8.3% ระบุพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งทั้งสองพรรคได้รับความนิยมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่พรรคภูมิใจไทยได้ 6% อย่างไรก็ตาม จำนวนมากหรือ 41.2% ระบุอื่นๆ เช่น ต้องการเลือกพรรคการเมืองที่ทำ “การเมืองใหม่” และบางส่วนจะเลือกพรรคการเมืองอื่นๆ ตามลำดับ
    นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงผลโพลซูเปอร์โพลว่า พรรครับฟังความคิดเห็นจากผลโพล แต่ก็ต้องสะท้อนความเป็นจริง มุมมองอีกส่วนหนึ่งว่ามีข้อเท็จจริงที่พรรคได้ลงเก็บข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ได้ชื่นชอบนโยบายของพรรค ที่เมื่อเข้าไปขับเคลื่อนนโยบายหลายโครงการจนเกิดผลสำเร็จที่ประชาชนได้รับประโยชน์มาก กระแสพรรคดีขึ้นโดยลำดับ พรรค จึงไม่หวั่นไหวกับกระแสต่างๆ อยากให้วัดกันที่ผลงาน วัดกันที่ผลการทำงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศ 
เชื่อจะมีม็อบไล่รัฐบาล
    ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ในวาระแรก ว่าเป็นการสร้างสถิติใหม่ให้  พล.อ.ประยุทธ์ที่เป็นนายกฯ คนแรกที่จัดงบเองและใช้จ่ายงบเอง ในลักษณะชงเอง กินเอง ยาวนานติดต่อกันถึง 7 ปี รวมเป็นจำนวนสูงเงินถึง 20 ล้านล้านบาท ฉายานักกู้แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากำลังยกระดับไปสู่นักกู้แห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก สะท้อนการทำงานได้เป็นอย่างดี 
    "กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ต้องกล้าเสนอแนะแก้ไขและปรับลด พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าจะทำงานแบบนิวนอร์มอล แต่ที่เห็นในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบฯ ไม่มีอะไรใหม่ ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหา ไม่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นการจัดงบแบบเอื้อระบบรัฐราชการและพ่อค้าแบบโอลด์นอร์มอล แม้งบผ่านวาระแรกแล้ว แต่รัฐบาลน่าจะยังไม่ปรับ ครม.ได้ เพราะยิ่งปรับยิ่งเกิดแรงกระเพื่อม คนเก่าไม่อยากออก คนนอกไม่อยากเข้ามารับเผือกร้อน จะเกิดสภาพเตี้ยอุ้มค่อมแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ” นายอนุสรณ์กล่าว 
    พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขานุการคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรค พท. กล่าวว่า เป็นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณที่ไม่ตอบโจทย์ที่จะรับมือกับวิกฤติโควิด โดยเฉพาะกองทัพที่มีการจัดซื้ออาวุธทั้งที่ควรชะลอไว้ก่อนเพื่อนำงบมาแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพ ตอนนี้ประชาชนคาดหวังมากที่สุดคือการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ และการอำนวยความยุติธรรมแก้ความเหลื่อมล้ำ แต่เรื่องเศรษฐกิจพิสูจน์แล้วว่าฝีมือของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่ถึง เมื่อเจอวิกฤติคนก็คาดหวังต้องมีการปรับ ครม. แต่ข่าวที่ออกมาเกี่ยวกับทีมเศรษฐกิจใหม่ก็ไม่เป็นที่เชื่อมั่น ยิ่งทำให้ประชาชนมองมุมกลับ เป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ ลากประเทศไปสู่ภาวะล้มละลาย  
    "ทางออกมาทางเดียวคือต้องเปลี่ยนรัฐบาล รัฐบาลนี้เป็นเสียงข้างมากที่ไม่ชอบธรรม เพราะมีการดึงงูเห่าเข้าไป ฝ่ายค้านจึงทำอะไรไม่ได้ องค์กรอิสระต่างๆ ก็ยังเป็นที่สงสัยในแง่ความยุติธรรม จึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงคือประชาชนต้องออกมาเรียกร้องเอง และจะเป็นที่มาของม็อบต่างๆ ที่จะเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล คิดว่าคงใช้เวลาอีกไม่นาน" พล.ท.ภราดรกล่าว 
    ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช กรรมการกิจการพิเศษ และหัวหน้าศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรามักเห็น พล.อ.ประยุทธ์ชอบพูดว่าประเทศไทยต้องมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แต่หลังจากศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 64 ก็เริ่มไม่แน่ใจว่า ร่างงบประมาณดังกล่าวจะแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพราะการยึดโจทย์เดิมๆ ไม่ได้ปรับให้เหมาะกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน และยังใช้ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณแบบเก่าๆ ไม่ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งหลังโควิด-19 พล.อ.ประยุทธ์คงเหลือแค่ 2 ทางออก คือปรับ ครม.ใหม่ทั้งชุด หรือยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชน เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกใครเข้ามาบริหารประเทศ
จ้องตัดงบซื้ออาวุธ
    นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ในฐานะ กมธ.พิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2564 กล่าวถึงการเตรียมการพิจารณาเม็ดเงิน และโครงการต่างๆ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวว่า เราต้องต่อรองกับฝากรัฐบาลว่างบหลังสถานการณ์โควิดที่ไม่ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและไม่เป็นประโยชน์จะต้องตัดออก รวมไปถึงงบประมาณที่ใช้จัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เราจะขอตัดทั้งหมด เพื่อนำเงินมาใช้แก้ไขปัญหาที่จำเป็นจริงๆ และอยากให้ส่วนราชการชี้แจงด้วยว่างานที่คุณตั้งไว้เกี่ยวข้องหรือแก้ปัญหายุคหลังโควิดอย่างไรบ้างด้วย
    พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ในฐานะ กมธ.งบประมาณฯ ปี 64 กล่าวว่า กมธ.จะเริ่มมีประชุมในวันที่ 8 ก.ค.นี้ ซึ่งในหลักการต้องเลือกประธาน กมธ.และตำแหน่งต่างๆ  ที่ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงมากกว่าจะได้เป็นประธาน กมธ. จากนั้นคงร่วมกันพิจารณากำหนดกรอบในการทำงานและรับฟังหน่วยงานต่างๆ ภายในระยะเวลาประมาณกว่า 3 เดือน ในกระบวนการร่าง พ.ร.บ.จะต้องสร้างความยุติธรรมให้ประชาชนทุกคนที่เป็นเจ้าของภาษีอากร อยากให้การพิจารณาครั้งนี้เป็นระบบเปิดที่ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เสนอข้อมูล ถ้าไม่ผิดกฎหมายควรเปิดให้สื่อมวลชนได้ถ่ายทอด และรัฐบาล สำนักงบประมาณ ต้องมีข้อมูลที่เพียงพอให้ กมธ. และผลงานหรือการประเมินผลถึงความคุ้มค่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน 
         ขณะเดียวกัน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่ อ.กันทรวิชัย, อ.โกสุมพิสัย และ อ.เมืองฯ จ.มหาสารคาม พร้อมคณะ โดยระบุว่า อยากเห็นงบเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจมีการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน ซึ่งในส่วนของงบประมาณ 4 แสนล้านบาทนั้น แทนที่จะนำไปก่อสร้างถนน สร้างอาคาร สำนักงานต่างๆ ซึ่งไม่สามารถสร้างรายได้ต้องปรับเปลี่ยนมาทำระบบชลประทาน 
    ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังรู้สึกหวั่นวิตกกับการแก้ปัญหาของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการรับมือทางเศรษฐกิจ หลังวิกฤติไวรัสโควิด-19 ผ่านพ้นไป ถ้ารัฐบาลไม่สามารถระดมเม็ดเงินงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมจำนวน 4 แสนล้านบาทได้อย่างทันท่วงที ก็จะทำให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมาอย่างแน่นอน จึงอยากให้รัฐบาลได้เร่งผลักดันงบประมาณจำนวน 4 แสนล้านบาท ในการฟื้นฟูออกมาให้เร็วที่สุด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"