ถึงเวลานิรโทษฯ ปลดล็อกขัดแย้ง


เพิ่มเพื่อน    

  หลายฝ่ายเห็นตรงกัน ถึงเวลาต้องสร้างความปรองดองอย่างจริงจัง แนะนิรโทษกรรมเป็นวิธีการที่เหมาะ "คำนูณ" ชง 4 แนวทางกลางที่ประชุมวุฒิสภา วอนนายกฯ อย่าได้ลังเล ขณะที่ ผอ.สำนักสันติวิธีฯ สถาบันพระปกเกล้าเผยกลุ่มต่างๆ ถูกดำเนินคดี-สูญเสียกันทุกฝ่าย "ชวลิต-ส.ส.เพื่อไทย" หนุนอีกแรง ลั่นจะเดินหน้าในฐานะผู้แทนฯ เพื่อเห็นความสามัคคีปรองดองให้ได้

    เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2563 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภาที่มีพล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติปี 2562 พร้อมรายงานของคณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ
    นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. อภิปรายว่า ในส่วนแผนแม่บทความมั่นคงนั้น เมื่อการเมืองมีปัญหา ขาดเสถียรภาพ ความสงบในประเทศย่อมไม่ยั่งยืนตามไปด้วย การปฏิบัติให้บรรลุผลตามยุทธศาสตร์ชาติย่อมไม่สำเร็จ ตนจึงขอเสนอการสร้างความปรอง ดองว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเร่งตรากฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนจากความผิดที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2548-2563
    นายคำนูณกล่าวว่า ความขัดแย้งทำให้สังคมแยกเป็น 2 ขั้ว และแยกย่อยมากขึ้นทุกที ร้าวลึกถึงระดับครอบครัว มีผู้มีคดีอยู่ในกระบวนการยุติธรรมนับร้อยคน เชื่อมโยงไปถึงมวลชนอีกนับล้านคน ที่เมื่อมีคดีตัดสินออกมาจะเกิดวิวาทะทางออนไลน์ นายกฯ จะรวมไทยสร้างชาติได้อย่างไร เมื่อคนกลุ่มหนึ่งถูกทิ้งให้ขึ้นศาลทุกสัปดาห์ จะไปต่างประเทศต้องรายงานต่อศาล หลายคนถูกยึดทรัพย์ การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ สมัยสงครามคอมมิวนิสต์ยังจบได้ ด้วยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ด้วยการนิรโทษกรรมให้อภัย เปิดโอกาสให้พลังทุกภาคส่วนมาร่วมพัฒนาชาติไทย
    "ถึงเวลาต้องมีกฎหมายนิรโทษกรรม การทำผิดของคนที่มาชุมนุมการเมืองหรือทำผิดทางอาญาที่มีเหตุเกี่ยวเนื่องชุมนุมทางการเมืองนั้น ไม่ใช่มีจิตเป็นอาชญากรโดยแท้ แต่ต้องการสังคมที่ดีกว่า ต้องการการเมืองใหม่ การปฏิรูปประเทศ การกระทำทางการเมือง เพื่อเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ทำผิดกฎหมาย จึงต้องนิรโทษกรรมประชาชนทุกกลุ่ม นายกรัฐมนตรีอย่าลังเล" นายคำนูณกล่าว
    ส.ว.ผู้นี้กล่าวต่อว่า ส่วนคำถามที่ว่าคนหนีคดีจะทำอย่างไรนั้น  ในหลักการอธิบายรายละเอียดได้ อาทิ 1.นิรโทษกรรมแก่ผู้ทำผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมการเมืองโดยตรง 2.นิรโทษกรรมเบื้องต้นเฉพาะผู้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว 3.ใครยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือหนีคดีไปนั้น ถ้ากลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเมื่อผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาที่จะออกแบบตั้งขึ้นมา ย่อมได้สิทธินี้ 4.อาจจะต้องตีความนิยามการชุมนุมทางการเมืองผ่านการออกแบบจากคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมา      "อยากให้นายกฯ แสดงเจตจำนงนำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ที่อาจเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 รัฐธรรมนูญปี 2560 จะต้องนำไปพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา จะเป็นการสร้างบารมีให้นายกฯ เพื่อสร้างระบบประชาธิปไตยที่มั่นคง มีธรรมาภิบาล ถ้านายกฯ รวมใจคนทุกภาคส่วนเข้ามา โดยมีร่างนิรโทษกรรมเป็นก้าวแรก ก็จะก้าวต่อไปได้ ขอฝากความหวัง นำจิตสำนึกผู้รักชาติทุกคน ทุกสี ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอด 15 ปี เพื่อพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง" นายคำนูณกล่าว
    ขณะที่ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่หลายฝ่ายเริ่มกลับมาเสนอเรื่องการสร้างความปรองดองด้วยการนิรโทษกรรมคดีชุมนุมทางการเมืองว่า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม การเมืองเข้าสู่ความสงบพอสมควร เหมาะที่จะทำเรื่องนี้ กลุ่มต่างๆ ได้ถูกดำเนินคดีเกือบจะหมดแล้ว และคนที่ถูกดำเนินคดีในกรณีต่างๆมา ก็สูญสลายชีวิตส่วนตัวและครอบครัวไปพอสมควร ถึงเวลาที่เราต้องให้อภัยกัน ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อที่จะให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน
    พล.อ.เอกชัยกล่าวว่า นิรโทษกรรมเป็นเพียงส่วนเดียว เราต้องทำหลายๆ เรื่องด้วยกัน เรื่องเยียวยา อะไรที่ค้างคา ตนเคยทำมาหลายคณะแล้ว ตอนอยู่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ทำคณะกรรมการปรองดอง วันนี้ทาง กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ก็จะเริ่มทำตรงนี้เหมือนกัน ตนก็ไปให้ข้อมูล เราไม่อยากเรียกว่าปรองดองหรือนิรโทษกรรม เราจะให้อำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย ซึ่งในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ได้ร่าง พ.ร.บ.ขึ้นมาส่วนหนึ่งแล้ว นำมาแต่งเติมให้สมบูรณ์ขึ้น นิรโทษเหมาเข่งต้องเลิก
    ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า กลุ่มที่เราจะทำแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือประชาชนที่มาร่วมชุมนุม ถูก พ.ร.ก.ฉุกเฉินถูกดำเนินคดี จะต้องได้รับการยกโทษให้กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่พรรคประชาธิปัตย์เคยพยายามทำตรงนี้ กลุ่มที่สอง คือแกนนำทางการเมือง ถูกจำคุกไปเกือบจะหมดแล้ว มีคดีค้างอยู่อีกพอสมควร ถูกดำเนินคดีแล้วก็น่าจะมีการยกโทษให้ในส่วนนี้ กลุ่มที่สาม ที่เว้นไว้ก่อนคือคนที่ถูกดำเนินคดีในกรณีที่ทำให้บุคคลบาดเจ็บล้มตาย หรือทรัพย์สินเสียหาย เช่น เผาสถานที่ คงจะให้ในช่วงตอนท้าย แบ่งเป็นช่วงเวลาว่าปีนี้ทำให้กลุ่มไหน อีก 1-2 ปีจะทำให้กลุ่มไหน
    ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ยังระบุถึงการนิรโทษฯ ครอบคลุมเหตุการณ์ภายหลังปี 2557 ว่า บางกลุ่มที่โดนคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา จะเห็นว่ามีคนที่ถูกดำเนินคดีในกรณีนี้น่าจะให้จบตอนที่ประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อนมีการเลือกตั้ง เป็นกรอบแนวคิดที่จะทำ ทำตอนช่วงนี้ก็เหมาะสม ในส่วนของสภาก็เคยทำต่อเนื่องมาแล้ว ตนคิดว่าน่าจะทำตรงนี้ให้ต่อเนื่องไป บางกลุ่มก็เสนอทำแบบนโยบาย 66/23 ตนคิดว่ายังไม่ได้ เพราะ 66/23 เป็นคดีทั่วประเทศจะยาก ต้องทำเป็นกลุ่มเป็นพวกไป
    นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาคือเวลาพูดเรื่องนี้ พูดไปพูดมามักจะมีความรู้สึกนิรโทษฯ หมดรวมๆ ทุกครั้ง แบบนี้ด้วยประสบการณ์ในอดีตมันไปไม่ได้ ถ้าจะหยิบนิรโทษฯ มาคุยกันใหม่รอบนี้ ควรจะคุยกันละเอียด และควรมีกระบวนการแยกแยะ ที่ทุกคนมีส่วนในการเสนอความเห็นได้ว่าจะนิรโทษฯ ใครบ้าง ด้วยวิธีการอย่างไร ตนคิดว่าคนน่าจะเห็นตรงกันที่การนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมที่มาแสดงออกทางการเมืองตามอารมณ์ความรู้สึก ที่มาเข้าร่วมเพราะรู้สึกไม่พอใจรัฐบาล กฎหมายไม่เป็นธรรมก็ออกมาชุมนุม อันนี้นิรโทษกรรมได้ ถ้าประชาชนออกมาด้วยแรงจูงใจทางการเมือง
    "แต่กระบวนการยุติธรรมก็ต้องตกลงกันก่อนว่าขอบเขตแค่ไหน อะไรคือแรงจูงใจทางการเมือง นิรโทษฯ เป็นกลุ่มๆ ไป ผู้ชุมนุมไม่มีใครปฏิเสธ จะยากตรงที่แกนนำ ซึ่งตนมองว่าถ้าคนที่เป็นแกนนำในระดับที่มีคดีความอยู่ ต้องพูดถึงกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน" นักวิชาการผู้นี้กล่าว
    ด้านนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เขียนบทความเรื่อง "กรกฎาคม เดือนมหามงคล ของพสกนิกรชาวไทย" ตอนหนึ่งระบุว่า "มีงานสำคัญอีกงานหนึ่ง ซึ่งผมใช้สถานะทางฝ่ายนิติบัญญัติในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองของคนในชาติ โดยทำคู่ขนานไปกับการดำเนินงานของรัฐบาล เพื่อไปบรรจบกัน ประสานกัน เมื่องานของคณะกรรมาธิการฯ ได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ
    ทั้งนี้ ผมเห็นว่า ยามประเทศชาติมีวิกฤติ หากคนไทยยังไม่สามัคคี ปรองดองกัน ก็ยากที่จะฝ่าฟันวิกฤติของบ้านเมืองให้ผ่านพ้นไปได้ แต่งานสร้างความปรองดองดังกล่าวมีปัญหา อุปสรรคมากมาย ทั้งในระบบ นอกระบบ แต่ก็ไม่อาจทำลายความตั้งใจของผมที่จะเดินงานเรื่องนี้ต่อไปเดือนกรกฎาคม เป็นเดือนมหามงคลของพสกนิกรชาวไทย ผมตั้งเป้าหมายเป็นธงชัยที่จะทำงานนี้อย่างสุดกำลัง เพื่อบ้านเมือง และเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
    ผมไม่ได้เดินงานเพียงลำพัง มีเพื่อนในกรรมาธิการ มีกลุ่ม มีคณะที่มีความคิด ความเห็นต่างทางการเมืองในอดีต รวมตัวกัน พูดคุยกัน ค่อนข้างจะตกผลึกทางความคิดที่จะร่วมมือกันสร้างความปรองดองของคนในชาติ ร่วมกันหาทางออกให้กับบ้านเมือง โดยคิดไปไกลถึงขั้นสลายขั้วความขัดแย้งในอดีตให้หมดสิ้นไป เพื่อร่วมมือกันพัฒนาบ้านเมือง ส่งมอบมรดกบ้านเมือง ที่มีความรัก ความสามัคคี ให้รุ่นลูก หลาน ได้รับช่วงต่อไป
    อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแนวร่วมมากขึ้นๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นงานที่ยากและซับซ้อนมาก คงต้องพึ่งกำลังใจจากประชาชนที่จะเห็นพ้องต้องกันว่า ยามบ้านเมืองมีวิกฤติ ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะรู้รักสามัคคี เพื่อร่วมกันสร้างบ้าน แปลงเมือง ให้วัฒนาสถาพรสืบไป บทความนี้ เขียนขึ้นในยามที่บ้านเมืองมีวิกฤติที่คนไทยต้องร่วมกันฝ่าฟัน ถึงจะผ่านพ้นวิกฤติไปได้ จึงหวังที่จะเห็นคนไทยร่วมใจกันรู้รัก สามัคคี เพื่อสร้างความปรองดองของคนในชาติ เพื่ออนาคตของลูกหลานไทยทุกคน".

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"