'ไอติม' เสนอทางออกประเทศไทย! แนะ 'เยาวชนปลดแอก' หนักแน่นในจุดยืน แต่อ่อนน้อมด้วยท่าที


เพิ่มเพื่อน    

แฟ้มภาพ

20 ก.ค.63 - นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ "ไอติม" คนรุ่นใหม่ อดีตผู้สมัครส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหาดังนี้

ทางออกของประเทศคือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ : 3 สิ่งจำเป็น สำหรับ “ข้อเสนอ” ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ปรากฏการณ์ #เยาวชนปลดแอก เมื่อวานทำให้เห็นได้ชัด ว่าพลังของคนในสังคมที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง มีอยู่จำนวนไม่น้อย และไม่ลดลงจากช่วงก่อนที่วิกฤตโควิดจะเข้ามา

ถึงแม้ในภาพรวม ประเทศไทยจะสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดได้ดีกว่าหลายประเทศ แต่รัฐบาลก็ยังไม่สามารถเรียก “ศรัทธา” กลับมาจากประชาชนได้ เนื่องมาจากเหตุการณ์ต่างๆในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งในมุมของ “ประสิทธิภาพ” ของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาหรือรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และในมุมของ “ความชอบธรรม” ของการได้มาและการใช้อำนาจรัฐภายใต้กติกาที่ไม่เป็นกลาง

ไม่ว่าจะเป็น ความล่าช้าในการใช้ข้อมูลคัดกรองการเยียวยาประชาชนในเบื้องต้น ข้อครหาเรื่องการทุจริตในการควบคุมการผลิตและจำหน่ายหน้ากากอนามัย การออกแบบมาตรการที่ถูกมองว่าเน้นเรื่องสุขภาพด้านเดียวโดยไม่คำนึงถึงเศรษฐกิจ การนิ่งเฉยต่อกรณีการหายตัวของคุณวันเฉลิม การต่ออายุ พรก. ฉุกเฉิน ที่เกินกว่าที่จำเป็นต้องใช้ในการควบคุมโรค หรือ การปล่อยให้วัฒนธรรมสองมาตรฐานนำไปสู่การยกเว้นมาตรการกักตัวสำหรับคณะทูตและทหารจากต่างประเทศ

เป้าหมายที่สำคัญสุดตอนนี้ คือเราจะสามารถแปรพลังและความต้องการการเปลี่ยนแปลงตรงนี้อย่างไร เพื่อให้นำไปสู่ทางออกของประเทศอย่างแท้จริงโดยไม่มีใครต้องบาดเจ็บล้มตาย

ผมเข้าใจถึงเหตุและผลของทั้ง 3 ข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุม ( 1. ยุบสภา / 2. หยุดคุกคามประชาชน / 3. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ) ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน

ส่วนตัว ผมมองเหมือนกับที่เคยกล่าวไว้ก่อนโควิด ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดและต้องทำเป็นลำดับแรกคือการ “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่”

ถ้ามีการยุบสภาก่อนการแก้รัฐธรรมนูญ เราก็ยังมีระบบและกรรมการการเลือกตั้งชุดเดิม เราก็ยังมี ส.ว. 250 คนที่จะเข้ามาเลือกนายกฯ และ เผลอๆ พรรคฝั่งรัฐบาลอาจมีความพร้อมมากกว่าในการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง (อย่าลืมว่าในการเลือกตั้งครั้งถัดไป กฎหมายกำหนดว่าพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 100 คน ในเขตเลือกตั้งหนึ่ง ถึงจะส่งผู้สมัครได้ / ไม่แน่ใจว่าพรรคใหม่ๆที่เพิ่งเกิดขึ้นจะมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน)

ส่วนถ้าเรายังไม่แก้รัฐธรรมนูญ กลไลการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการตรวจสอบอำนาจรัฐอาจไม่แข็งแรงเท่าที่ควรจะเป็น

เพราะฉะนั้น ทางออกของประเทศตอนนี้ คือการแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เป็นต้นตอและที่มาของระบอบวิปริตทั้งหมด

ถึงแม้กติกาที่วางไว้จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ยากมาก (ต้องมี ส.ว. 84 คนเห็นด้วยถึงจะแก้ได้) แต่ถ้าประเด็นนี้ได้รับการสนับสนุนและฉันทามติจากประชาชนจำนวนมาก ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้

โจทย์ใหญ่สุดตอนนี้ คือจะทำอย่างไรให้คนเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

กลุ่มที่เห็นถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่แล้ว รวมถึง 11 ล้านคนที่ลงคะแนนไม่รับร่างในประชามติเมื่อปี 2559 คงไม่ต้องพูดอะไรเพิ่มเติม

ส่วนกลุ่มที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากรัฐธรรมนูญบับนี้ (เช่น กลุ่มที่ป่าวประกาศว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบมาเพื่อเรา”) คงเปลี่ยนอะไรเขาไม่ได้

แต่กลุ่มที่เราจำเป็นอย่างมากที่ต้องแลกเปลี่ยนความเห็นและสื่อสารด้วย คือกลุ่มคนที่ยังลังเลและไม่แน่ใจ ว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะทำให้บ้านเมืองดีขึ้นอย่างไร

ผมเลยมองว่า “ข้อเสนอ” เรื่องรัฐธรรมนูญจึงจำเป็นต้องคำนึงถึง 3 เกณฑ์หลัก:

1. ลงลึก “เนื้อหา” ที่ต้องการแก้ไขอย่างชัดเจน

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีเนื้อหาหลายส่วนที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นกลาง แต่เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนสำหรับคนที่ยังลังเล จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องลงรายละเอียดถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ (มาตรา ต่อ มาตรา) ว่าเราต้องการแก้อะไร ไม่แก้อะไร และถ้าแก้เช่นนั้น จะทำให้แต่ละอย่างดีขึ้นอย่างไร

ข้อเสนอของแต่ละคนไม่จำเป็น (และไม่ควร) ต้องเหมือนกันทั้งหมด แต่การคุยกันถึงเนื้อหาของข้อเสนอแต่ละคน จะเป็นวิธีที่สำคัญในการช่วยให้คนเห็นถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญมากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดบทสนทนาที่สร้างสรรค์ร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นต่างๆในรัฐธรรมนูญ

ผมเคยเสนอการแก้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญไปทั้งหมด 10 ข้อ ที่ผมเรียกว่า “ 5 ยกเลิก / 5 ยกระดับ ” (https://www.facebook.com/254171817929906/posts/4029566233723760/?d=n) ซึ่งผมหวังว่าจะสามารถแก้ปัญหาต่างๆที่มีอยู่ได้ เช่น การยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเนื้อหาที่ไม่จำเป็น / การหยุดใช้เงื่อนไขด้าน “ความมั่นคง” ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน / การยุบวุฒิสภาให้เป็นระบบสภาเดี่ยว / การกลับมาใช้ระบบเลือกตั้งที่มีบัตร 2 ใบ / การกำหนดให้กรรมการองค์กรอิสระทุกคนต้องได้รับการเห็นชอบจากทั้ง ส.ส. รัฐบาลและฝ่ายค้าน / การยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคเพื่อกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด

เมื่อไหร่ที่เราเริ่มขยับบทสนทนาเรื่องรัฐธรรมนูญจากการถกเถียงว่าเราควร “แก้ หรือ ไม่แก้” มาเป็นการร่วมกันออกแบบว่าเราควร “แก้ปัญหา/เนื้อหาตรงนี้อย่างไร” เราจะได้ข้อตกลงร่วมกันได้เร็วขึ้น

2. ครอบคลุมทางออกด้าน “เศรษฐกิจ”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตโควิดจะทำให้ปัญหาเศรษฐกิจที่ประชาชนต้องเผชิญ “หนักหน่วง” กว่าที่ผ่านมา

“หนัก” ในเชิงของรายได้ที่ลดลงและอัตราการว่างงานที่จะสูงขึ้นอย่างมหาศาล

“หน่วง” ในเชิงของความไม่แน่นอนของระยะเวลาที่เราจะต้องอยู่กับสภาวะแบบนี้ เนื่องจากความเสี่ยงต่อการติดเชื้อใหม่ การพัฒนาวัคซีนที่ยังไม่ชัดเจน และการที่เศรษฐกิจไทยพึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมท้ายๆที่จะกลับมาฟื้นตัว (ถ้าฟื้นได้)

ข้อเสนอด้านรัฐธรรมนูญ จึงจะมีโอกาสได้รับฟังและได้รับการสนับสนุนมากขึ้น ถ้าเราสามารถเชื่อมโยงและแสดงให้เห็นได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้รัฐมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ดีขึ้นอย่างไร

ถึงแม้บางคนจะบอกว่าให้ “แก้ปัญหาปากท้องก่อน” แต่ความจริงแล้วการออกแบบโครงสร้างรัฐมีความสัมพันธ์กันกับประสิทธิภาพของรัฐในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เรื่องบังเอิญทางประวัติศาสตร์ที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ๆ มักเกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตต้มยำกุ้งและการได้มาซึ่ง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 หรือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression 1929) และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

เช่นเดียวกัน วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ-สังคมหลายส่วน ซึ่งอาจต้องอาศัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในการผลักดัน เช่น

(i) ความสำคัญในการสร้าง “รัฐสวัสดิการ” เพื่อเป็น “ตาข่ายรองรับ” คุณภาพชีวิตของประชาชนในยามวิกฤต

- ปัจจุบันมีสวัสดิการหลายด้านที่รัฐมีการจัดสรร แต่ยังมีปัญหาอยู่บ้าง (เช่น สิทธิรักษาพยาบาลที่ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 ระบบ หรือ สิทธิเรียนฟรีในระดับการศึกษาขึ้นพื้นฐานที่ยังคงมีค่าใช้จ่ายอื่นๆเข้ามาแทรก) และ มีอีกหลายสวัสดิการที่หลายคนเริ่มมองถึงความจำเป็นในการให้รัฐเข้ามาจัดสรร (เช่น สิทธิในอากาศสะอาด สิทธิในการได้รับการคุ้มครองด้านข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในรายได้ขั้นพื้นฐาน หรือ Universal Basic Income)

- ถ้าเรามองว่าภาครัฐยังไม่จัดสรรสวัสดิการใดอย่างทั่วถึง การบรรจุสวัสดิการนั้นให้เป็น “สิทธิ” ขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ จะเป็นก้าวแรกในการรองรับและปกป้องสวัสดิการนั้นให้ประชาชนทุกคน

(ii) ความสำคัญของเทคโนโลยีในการหารายได้ สร้างงาน และเข้าถึงบริการต่างๆที่สำคัญ (เช่น บริการทางการเงิน การเรียนออนไลน์)

- เราสังเกตเห็นในช่วงโควิดว่าใครที่เข้าถึงและใช้เทคโนโลยีเป็นจะได้เปรียบเป็นอย่างมาก

- เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าถึงโลกดิจิทัลที่ไม่เท่ากัน (Digital Divide) การบรรจุ “สิทธิในการเข้าถึงเทคโนโลยี/อินเตอร์เน็ต” ในรัฐธรรมนูญอาจเป็น “สัญลักษณ์” และแรงกระเพรื่อมที่สำคัญในการกระตุ้นให้รัฐเอาจริงเอาจังกับการวางโครงข่ายให้ทุกคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่มีคุณภาพในราคาต่ำ (ตัวอย่างประเทศที่ใช้วิธีนี้ แต่ไม่สำเร็จเท่าที่ควร คือประเทศเม็กซิโก)

(iii) ความสำคัญของการปฏิรูประบบราชการและการกระจายอำนาจ

-ในมุมหนึ่ง ความสำเร็จของกลไก อสม. แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีคนที่ใกล้ชิดกับพื้นที่ในการออกแบบและขับเคลื่อนมาตรการต่างๆของรัฐ
- แต่ในอีกมุมหนึ่ง การที่รัฐบาลต้องพึ่ง พรก. ฉุกเฉิน ในการควบคุมโรค แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมของระบบราชการปัจจุบันในการจัดการกับปัญหาที่ทับซ้อนความรับผิดชอบของหลายหน่วยหรือกระทรวง

- การออกแบบโครงสร้างรัฐใหม่ในสองประเด็นที่คาบเกี่ยวกันนี้ จะมีความจำเป็นยิ่งขึ้นในอนาคตที่ปัญหาและโอกาสใหม่ๆทางเศรษฐกิจจะมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น (เช่น เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา) คาบเกี่ยวหลายกระทรวงมากขึ้น (เช่น การสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่จะทำให้นิยามเดิมของ “การศึกษา” ใช้ไม่ได้ หรือ ปัญหาสังคมสูงวัยที่สร้างความท้าทายต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและระบบสาธารณสุข) และต้องการมาตรการที่อาจแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ (เช่น การรับมือกับวิกฤตสภาพแวดล้อมและการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ)

3. หนักแน่นในจุดยืน แต่อ่อนน้อมด้วยท่าที

ท้ายสุดแล้ว ไม่ว่าเนื้อหาของข้อเสนอจะเป็นอย่างไร วิธีการสื่อสารและนำเสนอก็มีความสำคัญเช่นกัน

การใช้ภาษาที่รุนแรงหรือโจมตีตัวบุคคลอาจเป็นวิธีที่ได้ผลในการปลดปล่อยความไม่พึงพอใจ หรือการสร้างอารมณ์ร่วมในกลุ่มคนที่คิดเห็นตรงกัน และการที่คนเลือกจะใช้ภาษาที่รุนแรงก็ไม่ได้ลดสิทธิ์ของเขาในการแสดงความเห็นหรือลดคุณค่าของความเห็นเขา

แต่ถ้าเราต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ เราจำเป็นต้องสื่อสารและโน้มน้าวคนที่เห็นต่างจากเรา

การใช้ภาษาที่สุภาพและนำเสนอความเห็นด้วยการให้เหตุผลนำอารมณ์ จึงอาจจะได้ผลกว่าในการเชิญชวนให้คนที่ลังเลหรือเห็นต่างกับเรา หันมาเริ่มเปิดใจรับฟังและเปลี่ยนมาเห็นด้วยกับสิ่งที่เรานำเสนอ

เหมือนกับที่เด็กคนหนึ่งคงไม่อยากจะรับฟังคำแนะนำจากผู้ใหญ่คนหนึ่ง (ไม่ว่าคำแนะนำจะดีแค่ไหน) ถ้าผู้ใหญ่เริ่มต้นด้วยการเรียกเขาว่า “เด็กเมื่อวานซืน” ผู้ใหญ่คนหนึ่งก็คงไม่อยากจะรับฟังความเห็นของเด็กคนหนึ่ง (ไม่ว่าความเห็นจะถูกต้องตามหลักการแค่ไหน) ถ้าเด็กเริ่มต้นด้วยการเรียกเขาว่า “ไดโนเสาร์”

ทั้งหมดนี้ ไม่ได้เพื่อจะบอกว่าเรามีอารมณ์โมโหหรือไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ แต่ผมไม่อยากเห็นคนอื่นมองข้ามความคิดที่ดีของเรา เพียงเพราะเขาตัดสินเราจากคำพูดหรือวิธีการที่เราใช้

การ “หนักแน่นในจุดยืน แต่อ่อนน้อมด้วยท่าที” อาจจะเป็นวิธีสำคัญในการได้ผู้สนับสนุนมาร่วมกับเรามากขึ้น

ถ้าข้อเสนอด้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถผ่าน 3 เกณฑ์นี้แล้ว ผมเพียงแต่หวังว่าคนที่ยังลังเลหรือไม่แน่ใจ จะหันมาร่วมกันสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้มาซึ่งกติกาที่เป็นกลาง ประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง และโครงสร้างรัฐที่มีประสิทธิภาพในรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคม


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"