ข้องใจม็อบแฝงล้มเจ้า ส.ว.จี้ความมั่นคงขยับ


เพิ่มเพื่อน    

 นายกฯ กังวลแทนผู้ปกครอง หลังม็อบ นศ.เคลื่อนไหว เตือนอย่าจาบจ้วง เชื่อคนไทยไม่ยอม "ส.ว." ข้องใจเจตนาม็อบเยาวชนปลดแอกแอบแฝงล้มสถาบันฯ หรือไม่ "ปิยบุตร" ยันการชุมนุมคือเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย ด้านเพื่อไทยวอนรัฐอย่ามองคนเห็นต่างเป็นศัตรู จี้เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ

    ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกในหลายพื้นที่ ซึ่งมีการปราศรัยลักษณะจาบจ้วงพาดพิงสถาบันเบื้องสูง รวมถึงการชุมนุมหน้ากองทัพบก รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร ว่าเป็นห่วงกังวลการเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านี้  ได้สั่งการอย่างเดียวว่าขอให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ซึ่งเห็นใจเด็กๆ เยาวชน นิสิต นักศึกษา และเป็นห่วงแทนผู้ปกครองของเขาด้วย
    "ขอให้ระมัดระวังการละเมิดก้าวล่วง ผมคิดว่าประชาชนคงไม่ยอมนักหรอกที่จะให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ไม่สมควรจะเกิดสำหรับประเทศไทยของเรา ผมจะไม่พูดมากในเรื่องเหล่านี้ ไม่ต้องการให้เป็นประเด็น ส่วน 3 ข้อที่เสนอกันมา ขอให้ไปเสนอในสภา จะมีการตั้งคณะกรรมการอะไรก็ว่ากันไป ซึ่งมีอยู่แล้ว" นายกฯ กล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการประชุม ครม. นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอโมเดลของนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่จัดโซนปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม ซึ่งน่านำมาเป็นต้นแบบในการจัดพื้นที่ให้กับผู้ชุมนุมในประเทศไทย เพื่อความปลอดภัย ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็เห็นด้วย พร้อมระบุว่าตนเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยอยู่แล้ว
    เช้าวันเดียวกัน ในการประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมได้เปิดให้ ส.ว.หารือถึงปัญหาต่างๆ โดยนายสมชาย แสวงการ  ส.ว. หารือเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษา เยาวชนปลดแอก ว่าการชุมนุมเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ถ้าเป็นการชุมนุมที่สงบ สันติ ปราศจากอาวุธ
    แต่สิ่งที่ไม่สบายใจและขอหารือไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หน่วยข่าวกรอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ คือเรื่องการจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันฯ ซึ่งพบในการชุมนุมทุกกรณี และในอีก 2 สัปดาห์ก็จะมีการนัดมาทวงถาม
    "ผมไม่แน่ใจว่ากล่มผู้ชุมนุมที่เป็นแกนนำไม่ว่าจะเป็น สนท. ที่อาจจะมีเจตนาบริสุทธิ์ แต่กลุ่มที่เข้าไปแอบแฝงมีเบื้องหลังหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการไร้เดียงสาหรือยอมให้เข้าร่วมชุมนุม คือการมีจุดประสงค์และวัตถุประสงค์ล้มล้างสถาบันฯ ค่อนข้างชัดเจน จะเห็นในป้ายที่หยิบขึ้นมา และเผยแพร่ทางโซเชียล รวมทั้งในที่ชุมนุมนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมและแกนนำไม่ได้จัดการหรือควบคุม ไม่ว่าจะเป็นการยุยง เช่น การให้ล้มล้างระบอบกษัตริย์ หรือให้ยกเลิกมาตรา 112 รวมทั้งการใช้ถ้อยความที่หมิ่นเหม่ การดัดแปลงถ้อยคำ การทำรูปเลียนแบบ การหมอบกราบ หรือการตั้งกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส และอีกหลายกรณี แต่ทุกม็อบที่จัดขึ้นนั้นทำให้ความโปร่งใสที่น่าเชื่อถือหมดไป และจะนำไปสู่ความรุนแรงในอนาคตเช่นเดียวกับเหตุการณ์ในอดีตได้ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงล้มล้างสถาบันฯ"  
    นายสมชายกล่าวต่อว่า ถ้าขบวนการนักศึกษาที่จะเดินต่อไปและยังมีกลุ่มล้มสถาบันฯ เข้ามาแทรกแซง หรือมีเจตจำนงที่ชัดเจนเช่นนี้อยู่ จะเกิดความรุนแรงขึ้น จึงขอฝากเตือนไปยังแกนนำว่า 1.คงจะต้องขจัดกลุ่มเหล่านี้ออกไป และข้อเรียกร้องต้องชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยุบสภา ก็ต้องถามว่าสภาเพิ่งขึ้นมา 1 ปี ถาม ส.ส.หรือยัง เพราะคงไม่อยากให้ยุบสภา
    2.เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งผ่านประชามติมา ถ้าจะเสนอแก้ไขประเด็นใดก็เสนอมาได้ แต่ต้องให้ชัดเจน แต่ถ้าร่างใหม่ทั้งหมด หมายถึงการล้มล้างรัฐธรรมนูญ และต้องไปถามประชามติ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญและใหญ่เกินกว่ามายกเป็นประเด็นเคลื่อนไหว
    และ 3.เรื่องการคุกคาม ถ้ามีจริงก็แจ้งหน่วยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนยังไม่พบว่ามีการคุกคามนิสิตนักศึกษาอย่างที่กล่าวอ้าง ดังนั้นอยากฝากไปยังหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด ขณะนี้ทราบว่าทุกมหาวิทยาลัยในหลายจังหวัดพยายามเคลื่อนไหว ก็ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชิญอธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างๆ มาหารือ และอธิบายให้เข้าใจว่าสถานการณ์บ้านเมืองเดินหน้ามาอย่างไร เพราะชัดเจนว่าการชุมนุมในต่างประเทศหลังโควิด-19 มีผู้ป่วยมากมาย
    "ดังนั้นเรื่องนี้ต้องชี้แจง ส่วนการดำเนินคดีขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการล้มล้างสถาบันฯ และขณะนี้มีการใช้สื่อออนไลน์บิดเบือนโจมตีสถาบันฯ อย่างมาก และมีการยุยง สิ่งเหล่านี้กระทรวงดีอีเอสต้องดำเนินการพร้อมกันแบบบูรณาการเชิงรุก เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมนุมอย่างสันติ ปราศจากอาวุธได้" ส.ว.ผู้นี้ระบุ
    ทางด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกและ สนท. ว่าคือเสรีภาพ ตนยืนยันมาตลอดว่าสังคมประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงออกการชุมนุมเป็นหัวใจสำคัญ หากปราศจากเสรีภาพ ประชาธิปไตยจะเป็นแค่การเลือกตั้ง แล้วพลเมืองไม่มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ประท้วงรัฐบาลอีกเลย รัฐประชาธิปไตยจะรับรองสิทธิเสรีภาพไว้ ถ้าบ้านเมืองปกติ สถาบันทางการเมืองทั้งหลายตอบข้อเสนอของเรียกร้องของประชาชน ไม่มีใครอยากมาชุมนุมหรอก การชุมนุมเกิดขึ้นเพราะผู้ชุมนุมมองว่าสถาบันทางการเมืองไม่ตอบสนองแก้ปัญหาของเขาได้ บ้านเมืองเรายังพอมีเวลาแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งนี้ด้วยกัน อยู่ที่รัฐบาลและผู้มีอำนาจจะเล็งเห็นปัญหาเรื่องนี้หรือไม่อย่างไร
    ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีปรากฏภาพผู้ชุมนุมบางคนถือป้ายเขียนข้อความที่กระทบเบื้องสูง เป็นห่วงต่อกรณีนี้หรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า เรื่องนี้ปัญหาอยู่ที่ว่าในอดีตที่ผ่านมามีการแสดงออกอะไรต่างๆ เราจะยอมรับข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวว่ามีจริงหรือไม่ ถ้าข้อเท็จจริงมีอยู่จริง ปัญหาอยู่ที่ผู้มีอำนาจรัฐทั้งหลายจะจัดการเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไร
    "ในอดีตที่ผ่านมา ประสบการณ์ของประเทศไทย มักจะใช้วิธีการทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น หรือใช้กลไกรัฐเข้าปราบปรามให้ประชาชนเข็ดหลาบมากขึ้นไปอีก จะมีลักษณะแบบนี้" นายปิยบุตรกล่าวและว่า "แต่ผมคิดว่า ไม่ว่าจะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น หรือใช้กลไกรัฐเข้าปราบปราม ทั้ง 2 วิธีนี้ไม่มีทางแก้ไขปัญหาได้ พวกเขาเหล่านี้จะแสดงออกอย่างไรก็ตาม แต่เขาคืออนาคตของประเทศไทย เขาคืออนาคตของชาติ ถ้าเราจงใจมองไม่เห็นว่าอนาคตของประเทศกำลังแสดงออกอะไรออกมา หรือถ้าเราจัดการเข้าไปปราบปราม ไม่ให้อนาคตของประเทศได้แสดงออก ทั้ง 2 วิธีนี้ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง"
    เมื่อถามถึงอาจจะมีการใช้ ป.อาญา มาตรา 112 กังวลหรือไม่ นายปิยบุตรกล่าวว่า ประสบการณ์ในอดีตแสดงให้เห็นแล้วหลายครั้งหลายหน ครั้งนี้ตนก็ไม่อยากให้ฉายหนังซ้ำอีกรอบหนึ่ง ต้องยอมรับว่ามันมีการแสดงออกแบบนี้ พอเกิดขึ้นผู้มีอำนาจจะจัดการข้อเท็จจริงอย่างไร จะไม่รู้ไม่เห็น หรือเอากฎหมายเข้ากดขี่ปราบปราม ทั้ง 2 วิธีไม่แก้ปัญหา อยากจะให้ฟังเสียงอนาคตของประเทศ สังคมใดก็ตามที่ฆ่าอนาคตของประเทศ สังคมนั้นไม่มีวันเจริญเติบโตก้าวหน้าได้
    ถามว่าทางคณะก้าวหน้าจะมีแอคชั่นสอดรับกระแสการชุมนุมหรือไม่ แกนนำคณะก้าวหน้าบอกว่า พวกเราในฐานะพลเมืองก็ติดตามเอาใจช่วย ยืนยันเป็นเสรีภาพในการแสดงออก สังคมประชาธิปไตยถ้าทุกคนคิดเหมือนกันหมดเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว คิดแตกต่างกันเป็นเรื่องปกติ อยู่ที่จะบริหารจัดการความเห็นแตกต่างนั้นอย่างไร โดยไม่นำไปสู่ความรุนแรง
    วันเดียวกัน พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์เรื่อง ข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อหาทางออกของประเทศ โดยเนื้อหาช่วงหนึ่งระบุว่าขณะนี้กำลังจะเกิดวิกฤติอันสำคัญทางการเมือง อันเป็นผลจากรัฐธรรมนูญที่ไม่มีความชอบธรรม และไม่เป็นประชาธิปไตย จึงทำให้เกิดข้อเรียกร้องของหลายฝ่ายให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง แต่ท่าทีของรัฐบาลกลับไม่ให้ความสนใจ ล่าสุดจึงได้เกิดการเคลื่อนไหวของบรรดานักศึกษาสถาบันต่างๆ นั้น
    พรรคเพื่อไทยเห็นว่า สถานการณ์ของประเทศอยู่ในภาวะเปราะบาง และสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ความขัดแย้งรุนแรงตามมา หากรัฐบาลยังคงบริหารประเทศโดยที่ไม่ฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน และไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจได้ถูกทิศทาง พรรคเพื่อไทยจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้
    1.ขอให้รัฐบาลได้รับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน และใช้ความอดทนในการแก้ปัญหา งดใช้กำลังและความรุนแรงทุกรูปแบบกับประชาชนเพื่อสร้างความขัดแย้งให้ขยายวงกว้างขึ้น อย่ามองคนที่เห็นต่างเป็นศัตรูทางการเมือง และใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหา ขณะเดียวกันขอให้ผู้ชุมนุมเรียกร้องทุกกลุ่มได้ใช้สิทธิของตนภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายและใช้สันติวิธีเช่นกัน
    2.รัฐบาลต้องสนับสนุนให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากเป็นที่ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างขึ้นจากผลพวงของการยึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 และมีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มุ่งสืบทอดอำนาจและพันธนาการประเทศไว้ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งพรรคเพื่อไทยและอีกหลายพรรคได้ร่วมกันผลักดันมาหลายปี แล้วให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยประชาชนและเห็นชอบโดยประชาชน ให้เป็น ROAD MAP ของสังคมร่วมกัน อันจะเป็นเครื่องมือให้ทุกฝ่ายเดินหน้าร่วมกันได้
    ขณะนี้ความคิดได้ตกผลึก และมีประชาชนหลายกลุ่มรวมทั้งบรรดานิสิตนักศึกษาเริ่มออกมาเรียกร้องแล้ว จึงเห็นว่าถึงเวลาที่รัฐบาลและทุกฝ่ายต้องดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด อย่าคิดว่าเมื่อตนเองร่างรัฐธรรมนูญ และได้เข้ามาสู่อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่ตนเองร่างขึ้นแล้วจะได้อยู่ในอำนาจตามสบาย เพราะรัฐธรรมนูญถือเป็นสัญญาประชาคมที่จะต้องเกิดจากความสมัครใจ และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย         หากรัฐบาลยังคงเพิกเฉยก็อาจทำให้เกิดวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญตามมาในไม่ช้าได้.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"