รุมอัยการ-ตร.ปล่อยบอส


เพิ่มเพื่อน    

  เดือด! "อัยการ-ตร." สั่งไม่ฟ้อง "บอส กระทิงแดง"  ขับรถหรูชนดาบตำรวจ สน.ทองหล่อเสียชีวิตทุกคดี เปิดทางถอนหมายจับกลับไทยสง่างาม "รองโฆษก ตร." แจงยึดตามพยานหลักฐานไม่มีสองมาตรฐาน อุบบอกเหตุผลไม่ค้านอัยการสั่งไม่ฟ้อง "อดีต ตร.พฐ." ข้องใจหลักฐานผิดชัด "กมธ.กม." จ่อเรียกสอบ "อสส.-บิ๊กแป๊ะ"

    ความคืบหน้ากรณีอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทกระทิงแดง ในทุกข้อกล่าวหาคดีขับรถเฟอร์รารีพุ่งชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่ ป.สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 3 ก.ย.2555 โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ไม่แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ คดีจึงเป็นอันสิ้นสุดตามกระบวนการทางกฎหมาย และพนักงานสอบสวนได้ขออนุมัติศาลเพิกถอนหมายจับในคดีนี้นั้น
    เมื่อวันที่ 24 ก.ค.63 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวชี้แจงว่า ที่ผ่านมาตำรวจและพนักงานอัยการมีการสอบเพิ่มเติมมาตลอด จนกระทั่งล่าสุดอัยการสูงสุดมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง เมื่อคณะกรรมการตำรวจพิจารณากับฝ่ายกฎหมายแล้ว ก็เห็นพ้องตามอัยการสั่งไม่ฟ้องด้วย ส่วนเหตุผลไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งหลังจากนี้พนักงานสอบสวนจะดำเนินการตามกฎหมาย ถอนหมายจับนายวรยุทธในไทย และให้ตำรวจกองการต่างประเทศประสานตำรวจสากลถอนหมายจับอินเตอร์โพลด้วย ให้เสมือนเป็นผู้บริสุทธิ์คนหนึ่ง ทำให้นายวรยุทธสามารถกลับเข้าประเทศได้ตามปกติ แต่น่าจะต้องใช้เวลาสักระยะ
    "คดีนี้เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนปกติ มีหลายคดีที่ตำรวจมีความเห็นแย้ง ซึ่งยึดตามพยานหลักฐาน ไม่ใช่เรื่องสองมาตรการใดๆ โดยที่ผ่านมาพนักงานอัยการสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติมในหลายประเด็น และพนักงานสอบสวนก็ส่งความเห็นเพิ่มเติมไปหลายครั้ง จนถึงที่สุดเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา พนักงานอัยการก็มีความเห็นเป็นเด็ดขาดออกมา ซึ่งไม่มีใครจะสามารถก้าวล่วงได้ ยืนยันว่าการเห็นแย้งหรือไม่แย้งต้องอยู่ที่พยานหลักฐาน ไม่ได้ทำตามกระแสสังคม" พ.ต.อ.กฤษณะกล่าว
    ถามว่าสังคมตั้งข้อสงสัยมีการเข้าข้างทำสำนวนหรือไม่ รองโฆษก ตร.กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง เพราะที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ก็เปิดโอกาสให้ตรวจสอบมาโดยตลอด การสั่งไม่ฟ้องข้อหาใดก็มีเหตุผลความจำเป็นและพยานหลักฐานสนับสนุนอยู่แล้ว และก็มีการดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบกพร่องในการทำสำนวนคดีนี้ในอดีตไปแล้ว และสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เสียใจกับความสูญเสีย ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ ตำรวจก็อยากจะจับกุมให้ได้และดำเนินคดี แต่คดีเป็นเรื่องของการรวบรวมพยานหลักฐาน
    ซักว่ากรณี ด.ต.วิเชียร ผู้เสียชีวิต มีชื่อเป็นผู้ต้องหาที่ 2 ด้วย พ.ต.อ.กฤษณะชะงักไปก่อนจะตอบว่า ไม่ได้รับข้อมูลดังกล่าว ต้องขอตรวจสอบก่อน
    พอถามว่าสังคมมองว่าคุกมีไว้ขังคนจนเท่านั้น พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า ขอร้องสังคมอย่าสร้างวลีเช่นนั้น ตำรวจปฏิบัติตามหน้าที่
    พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษก ตร. เสริมระหว่างแถลงข่าวด้วยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะตำรวจก็สูญเสีย ไม่ใช่มองแต่ว่าเป็นเรื่องของคนรวยคนมีเส้นมีสาย ถ้ามีพยานหลักฐานใหม่ก็สามารถที่จะกลับมาฟ้องใหม่ได้
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้เดิมนายวรยุทธถูกแจ้งข้อหาทั้งหมด 5 ข้อหา 1.ข้อหาเมาแล้วขับ ที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง 2.ข้อหาขับรถเร็วเกิน หมดอายุความไปแล้วเมื่อวันที่ 3 ก.ย.2556 3.ข้อหาขับรถโดยประมาททำให้ทรัพย์สินเสียหาย หมดอายุความไปแล้วเมื่อวันที่ 3 ก.ย.2556 4.ข้อหาชนแล้วหนี หมดอายุความไปแล้วเมื่อวันที่ 3 ก.ย.2560 และ 5.ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งมีกำหนดจะหมดอายุความในวันที่ 3 ก.ย.2570 แต่สุดท้ายอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องในข้อหานี้เช่นกัน
อดีตตร.พฐ.ข้องใจ'บอส'รอด
    มีรายงานจากศาลยุติธรรมระบุว่า ในส่วนของหมายจับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประสานยกเลิกหมายจับกับทางองค์การตำรวจสากล หรืออินเตอร์โพล แต่ยังไม่มายื่นเพื่อเพิกถอนหมายจับต่อศาล ซึ่งจะดำเนินการขั้นตอนดังกล่าวภายหลังได้
    ด้าน พ.ต.ท.ธนาวุฒิ สงวนสุข รอง ผกก. (สอบสวน) ปฏิบัติราชการแทน ผกก.สน.ทองหล่อ ชี้แจงกรณีลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งเด็ดขาดอัยการไม่สั่งฟ้องนายวรยุทธในทุกข้อกล่าวหาว่า หนังสือดังกล่าวได้ส่งถึงนายวรยุทธตามภูมิลำเนาแล้ว โดยยืนยันด้วยว่าข้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งฐานขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ที่จะสิ้นสุดอายุความวันที่ 3 ก.ย.2570 นั้น ก็หลุดคดีทั้งหมด    
    "ข้อสงสัยเรื่องของข้อความในเอกสารที่ระบุว่า ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เป็นผู้ต้องหาที่ 2 เป็นเพียงถ้อยคำตามขั้นตอนกฎหมาย เนื่องจากเป็นการทำหนังสือระหว่างหน่วยงานอัยการและตำรวจ ซึ่งรับผิดชอบคดี ไม่ใช่ระหว่างอัยการกับคู่กรณี" พ.ต.ท.ธนาวุฒิกล่าว   
    ที่รัฐสภา นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกับคณะกรรมาธิการฯ เราเห็นตรงกันว่าประชาชนสนใจและสังคมต้องการข้อเท็จจริงว่าเหตุใดอัยการถึงไม่สั่งฟ้อง และตำรวจก็ไม่ทำความเห็นแย้งด้วย ทั้งที่ความจริงก่อนหน้านี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) ชี้มูลว่ามีตำรวจจำนวน 5 นายกระทำผิดต่อหน้าที่เนื่องจากช่วยเหลือคดีนี้
    "คณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ เห็นว่าเรามีขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่จะสามารถเรียกอัยการสูงสุด, ผบ.ตร. และตำรวจที่ ป.ป.ช.มาให้ข้อมูลได้ จึงจะได้ทำหนังสือไปถึง โดยคาดว่าจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ไม่วันที่ 29 ก.ค. ก็จะเป็นวันที่ 5 ส.ค. เรายืนยันคุกไม่ได้มีไว้ขังคนจนเท่านั้น และผมจะไม่ปล่อยเรื่องนี้ไปง่ายๆ" นายสิระกล่าว
    ขณะที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ประกอบด้วย พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กทม. และ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร่วมกันแถลงข่าวถึงเรื่องนี้เช่นกัน
    พล.ต.ต.สุพิศาลกล่าวว่า เป็นคดีที่น่าสนใจในเชิงความเห็นของนโยบายและการทำนโยบายในการดำเนินคดี โดยเฉพาะในช่วงของการปฏิรูปตำรวจ ที่เรารอคอยกันมายาวนานพอสมควรว่ากระบวนการสอบสวนของคดีจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งความเห็นของคดีไม่ขอก้าวล่วง แต่ในเชิงสังคมคนที่หลบหนี อยู่รอด เพราะมีทุนทรัพย์สูง มีฐานะไม่ธรรมดา ทำให้คดีนี้เป็นที่น่าติดตาม เพราะหากสั่งฟ้องเร็วและติดตามได้ตัวผู้ต้องหามาอย่างรวดเร็ว มีการสอบสวนครบถ้วน คดีนี้จะครบห่วงโซ่เวลาอย่างชัดเจน
    “ถ้าทอดระยะเวลานานจนเกินไป มีการใช้แท็กติกรูปแบบเสริม ทำให้พยานหลักฐานนั้นจางลง ทำห่วงโซ่นั้นไม่สามารถเกาะเกี่ยวกันได้ ดังนั้นเป็นฝีมือของพนักงานสอบสวนที่จะหาพยานหลักฐานต่างๆ ให้ได้มาก คือสาระสำคัญส่วนหนึ่งของคดีนี้ ในองค์กรตำรวจและการปฏิรูปตำรวจที่สำคัญ คือความรู้ของพนักงานสอบสวน และการปฏิรูปตำรวจครั้งใหญ่ คือการปฏิรูปกระบวนการสอบสวนที่จะทำให้พนักงานสอบสวนมีเครื่องมือสามารถเก็บพยานหลักฐาน" พล.ต.ต.สุพิศาลกล่าว
    ส่วน พ.ต.ต.ชวลิต ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานเมื่อ 8 ปีที่แล้ว กล่าวว่า รู้สึกไม่พอใจกับผลที่ออกมา ตนได้ทำคดีนี้ด้วยตนเอง เป็นคนจดบันทึกถ่ายรูปดูร่องรอยของหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับคดีนี้ ผลการเก็บหลักฐานสามารถยืนยันได้ว่าผู้ต้องหาขับรถชนจริง ข่าวจากสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นที่ปรากฏรูปอยู่ก็เป็นภาพตนที่กำลังตรวจพิสูจน์หลักฐาน โดยสภาพรถในขณะนั้นเห็นได้ชัดว่าเป็นการชนท้ายตรงๆ ไม่ได้เป็นลักษณะปาดหน้า
    “หลักฐานที่มีขณะนั้นเรามั่นใจว่าสามารถเอาผิดได้อย่างแน่นอน ซึ่งหน่วยงานพิสูจน์หลักฐานที่ผมสังกัดได้ทำงานอย่างหนัก และส่งผลสรุปเสร็จภายใน 1 เดือน แต่เมื่อมาถึงชั้นพนักงานสอบสวนกลับใช้เวลาหลายปี พอผลสรุปออกมาแบบนี้ผมรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่ง ถือว่ากระบวนการยุติธรรมไม่น่าพอใจ ควรผลักดันให้ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปเสียที” พ.ต.ต.ชวลิตกล่าว
จ่อร้อง ปปช.สอบอัยการ-ตร.
    วันเดียวกัน นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ทำหนังสือ 2 ฉบับ ส่งถึงอัยการสูงสุดและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เรื่องขอให้ชี้แจงการสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ เนื้อหาโดยสรุประบุว่า มูลนิธิเมาไม่ขับ ในฐานะองค์กรที่ขับเคลื่อนการรณรงค์และสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายเมาไม่ขับมาตั้งแต่ปี 2539 มีความสงสัยต่อกระบวนการยุติธรรมต้นทางในการฟ้องร้อง นำตัวผู้กระทำความผิด ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีสะเทือนขวัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ผู้เสียชีวิตเป็นนายตำรวจ ประกอบกับผู้ต้องหาคือนายวรยุทธได้หลบหนีไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ตนเอง
    "มูลนิธิเมาไม่ขับจึงขอใช้สิทธิในฐานะองค์กรที่ขับเคลื่อนการทำงานเพื่อหยุดความตายบนท้องถนน แทนพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ขอทราบหลักการและเหตุผลในการพิจารณามีคำสั่งไม่ฟ้องคดีต่อนายวรยุทธ อยู่วิทยา เพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อประชาชนทั้งประเทศ อีกทั้งยังเป็นการดำรงไว้ซึ่งความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสถาบันอัยการ ในฐานะทนายของแผ่นดิน" เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับระบุ
    ที่สำนักงานอัยการ จ.ขอนแก่น นายคุ้มพงษ์ ภูมิภูเขียว เครือข่ายทนายความเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย พร้อมด้วยแกนนำเครือข่ายทนายความ จ.ขอนแก่น เข้ายื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด ผ่านสำนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงและเหตุผลของการไม่สั่งฟ้องผู้ต้องหาเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน จากกรณีการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ซึ่งขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจจนเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อปี 2555
    ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์เฟซบุ๊กตอนหนึ่งระบุว่า กรณีดังกล่าวมีข้อสงสัยอยู่ว่าอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธได้อย่างไร ในเมื่อคดีขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ.มาตรา 291 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่จะมีอายุความถึง 15 ปี โดยจะขาดอายุความในปี 2570 ซึ่งยังมีระยะเวลาอีกหลายปีที่ตำรวจจะต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อนำคนผิดมาลงโทษได้ การเพิกถอนหมายจับ จึงอาจเป็นการใช้อำนาจอย่างเลือกปฏิบัติและทุจริตต่อหน้าที่ได้ ไม่เช่นนั้นผู้ที่กระทำความผิดในลักษณะเดียวกัน หากหนีคดีได้เพียง 7-8 ปีก็จักทำให้อัยการถอนหมายจับได้ทุกคดีทุกกรณีเช่นนั้นหรือไม่ หรือเป็นดั่งข้อครหาของสังคมที่ว่า คุกมีไว้ขังคนจนเท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง กระบวนการยุติธรรมไทยและระบบนิติรัฐคงต้องปฏิรูปกันอย่างจริงจังเสียที
    นายศรีสุวรรณกล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเร่งดำเนินการจับผู้ร้ายข้ามแดนได้ แต่กลับโยนเรื่องกันไปมา จนคดีหมดอายุความไปแล้ว 4 ข้อหาคือ ขับรถขณะเมาสุรา ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ขับรถโดยประมาททำให้ทรัพย์สินเสียหาย และไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือ ส่วนคดีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายกลับเร่งรีบมาดำเนินการถอนหมายจับ ทั้งๆ ที่ยังไม่หมดอายุความ โดยที่ตำรวจก็มิได้คัดค้านแต่อย่างใด
    "การกระทำดังกล่าวของอัยการสูงสุดและตำรวจเจ้าของคดี จึงอาจเข้าข่ายความผิดทางวินัยและความผิดอาญาหรือไม่ สมาคมจึงจำต้องนำความไปร้อง ป.ป.ช. เพื่อให้ไต่สวนและสอบสวนเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไปในสัปดาห์หน้า" นายศรีสุวรรณกล่าว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"