ประชาชนต้อนรับ‘ปรีดี’ เรียกร้องยุบสภามาแรง


เพิ่มเพื่อน    

  นิด้าโพลสำรวจประชาชนต้อนรับคนนอก "ปรีดี ดาวฉาย" นั่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ รมว.คลัง ขณะที่ซูเปอร์โพลสวนทาง  ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนรัฐบาลแล้ว อยากให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ "ธนาธร" ขย่มตราบใดที่ยังไม่เปลี่ยนหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคือ "บิ๊กตู่" ปัญหาก็แก้ไม่ได้

    ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “ทีมเศรษฐกิจ ครม.ใหม่” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20-23 ก.ค.ที่ผ่านมา จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,258 หน่วยตัวอย่าง
    โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ที่ร้อยละ 95.0 พบว่าประชาชนร้อยละ 55.33 ระบุอยากให้หัวหน้าทีมเศรษฐกิจควรมาจากคนนอกพรรคการเมือง เพราะต้องการคนมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยตรง ซึ่งเมื่อต้องการให้ระบุชื่อบุคคล ร้อยละ 58.48 ระบุคนไหนก็ได้, ร้อยละ 8.91 ระบุนายปรีดี ดาวฉาย (นายกสมาคมธนาคารไทย)
    ขณะที่ ร้อยละ 23.45 ระบุว่าควรมาจากนักการเมือง เพราะ มาจากการเลือกตั้ง มีประสบการณ์ในการทำงาน สามารถดูแลและบริหารได้ตรงจุด และเข้าถึงประชาชน ส่วนร้อยละ 21.22 ระบุ มาจากนักการเมืองหรือนอกพรรคการเมืองก็ได้ ขึ้นอยู่กับนายกฯ เพราะมั่นใจในตัวนายกฯ ว่าจะเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้
         เมื่อถามถึงที่มาของรัฐมนตรีการคลัง ร้อยละ 51.59 ระบุควรมาจากคนนอกพรรคการเมือง เพราะต้องการคนมีประสบการณ์ตรง มีวิสัยทัศน์ โดยที่ร้อยละ 58.55 ระบุคนไหนก็ได้, ร้อยละ 7.55 ระบุนายปรีดี ดาวฉาย (นายกสมาคมธนาคารไทย) ขณะที่ร้อยละ 25.52 ระบุควรมาจากนักการเมือง เพราะรู้เรื่องดีเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณแผ่นดิน สามารถจัดสรรงบต่างๆ ได้ดี
ถามถึงที่มาของรัฐมนตรีพลังงาน ร้อยละ 48.17 ระบุว่าควรมาจากคนนอกพรรคการเมือง เพราะต้องการคนมีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ทางด้านพลังงานในประเทศไทย ซึ่งร้อยละ 58.58 ระบุคนไหนก็ได้, ร้อยละ 16.17 ระบุนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร (อดีต รมช.คมนาคม และอดีตผู้บริหาร ปตท.) ขณะที่ร้อยละ 27.11 ระบุว่าควรมาจากนักการเมือง เพราะการลงพื้นที่พบประชาชนบ่อยๆ ทำให้รู้ถึงปัญหา น่าจะแก้ปัญหาทางด้านพลังงานได้ดี โดยที่ร้อยละ 62.46 ระบุคนไหนก็ได้ และร้อยละ 14.66 ระบุนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส่วนร้อยละ 24.09 ระบุจากนักการเมืองหรือนอกพรรคก็ได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง ยุบสภา หรือปรับรัฐมนตรี กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียล ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,437 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20-24 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา
ยุบสภาสกัดปัญหา
เมื่อถามความเห็นของประชาชนต่อการยุบสภากับการปรับคณะรัฐมนตรี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.2 ระบุยุบสภา ช่วยแก้สถานการณ์ต่างๆ ได้ ในขณะที่ร้อยละ 20.8 ระบุปรับคณะรัฐมนตรี ช่วยได้ นอกจากนี้ เมื่อถามถึงจุดยืนทางการเมืองของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.3 ไม่สนับสนุนรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 21.8 สนับสนุน และร้อยละ 20.9 ระบุเป็นพลังเงียบ
และเมื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบแสดงแนวโน้มจุดยืนทางการเมือง พบว่า กลุ่มผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 39.1 ในช่วงอภิปรายเงินกู้ มาอยู่ที่ร้อยละ 52.2 ในช่วงกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐลาออก, ร้อยละ 54.4 ในช่วงปลดล็อกโควิดครั้งแรก, ร้อยละ 55.6 ในช่วงหลังต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และล่าสุดขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 57.3 ในช่วงสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อนำความเห็นของประชาชนในการยุบสภา กับการปรับคณะรัฐมนตรีมาวิเคราะห์ร่วมกับจุดยืนทางการเมืองของประชาชน พบว่า ทุกกลุ่มจุดยืนทางการเมืองเห็นว่าการยุบสภาคือทางออกช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้ คือร้อยละ 50.5 ของกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล, ร้อยละ 96.0 ของกลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลและร้อยละ 63.0 ของกลุ่มพลังเงียบเห็นว่าการยุบสภาช่วยแก้ไขสถานการณ์การเมืองปัจจุบันได้
ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นจุดสำคัญสองจุดคือ ความเห็นของประชาชนต่อการยุบสภาที่น่าจะช่วยสกัดปัญหาการเมืองที่อาจจะลุกลามบานปลายจนยากจะควบคุม ที่ไม่น่าจะต้องรอให้สถานการณ์สุกงอมจนยากจะเยียวยา เพราะเป็นห่วงผลกระทบต่อความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น จึงควรคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจตามวิถีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และจุดสำคัญที่สองคือ ฐานสนับสนุนของสาธารณชนต่อรัฐบาลที่อยู่ในระดับที่กำลังเหมาะสม ไม่เป็นอันตรายต่อการลงจากหลังเสือของผู้บริหารประเทศ ดีกว่าปล่อยให้สถานการณ์แย่ลงไปกว่านี้ แล้วจะลงก็ลงลำบาก อาจจะไม่สง่างามอย่างน่าเป็นห่วง ฟังเสียงลูกหลานไว้บ้าง พวกเขาส่วนใหญ่บริสุทธิ์ใจจริงๆ
     น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่ รมช.เกษตรฯ ตนพูดเสมอว่าการทำงานจะต้องเอาข้างล่างขึ้นไปข้างบน ซึ่งวันนี้ตนคิดว่าประสบความสำเร็จในการทำงานของตัวเอง เรื่องการแก้ปัญหาให้เกษตรกร และประเมินตัวเองว่าทำงานอย่างเต็มที่แล้ว ส่วนกรณีการแบน 3 สาร จะกระทบต่อการอยู่ในตำแหน่งหรือไม่ ยืนยันว่าตนทำเพื่อประชาชน แม้จะมีคนทักท้วงว่าการเดินหน้าเรื่องนี้อาจถูกปรับออกจากตำแหน่ง แต่ตนยืนยันว่าทำงานด้วยความมั่นใจ แม้จะมีการโจมตีจากบุคคลอื่น และขอย้ำว่ากระแสข่าวโจมตีไม่สามารถหยุดยั้งการทำงานของตนได้ เพราะคนที่ให้ข้อมูลบิดเบือนนั้นมีเจตนาไม่ดีต่อตนเอง
    เมื่อถามว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้ส่งสัญญาณเรื่องการปรับ ครม.หรือไม่ น.ส.มนัญญากล่าวว่า หัวหน้าพรรคไม่ได้พูดคุยถึงเรื่องของการปรับ ครม.ในสัดส่วนของพรรคภูมิใจไทย และก็ยังไม่มีใครที่จะต้องส่งประวัติเพิ่มเติมในการปรับ ครม.ครั้งนี้ ย้ำว่าจะทำงานให้มากขึ้นกว่านี้หลังจากที่เรียนรู้การทำงานมาแล้ว 1 ปี ซึ่งการปรับครั้งนี้รัฐบาลหวังให้ประเทศเดินหน้า ก็ต้องติดตามว่าประชาชนจะพอใจหรือไม่ ขอให้รอติดตามซึ่งนายกฯ ยังไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจน
ประชาชนไม่มีส่วนร่วม
    นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวถึงกรณีนายปรีดี ดาวฉาย จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่าประเด็นที่สำคัญกว่าตัวบุคคล คือเจตนาและความตั้งใจ รวมถึงการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดในปัจจุบัน วันนี้ประชาชนรู้สึกว่าการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) สังคมได้ประโยชน์อะไรบ้าง เพราะขณะนี้เหมือนเป็นเพียงการแย่งอำนาจในวงการการเมือง เป็นเกมการเมือง ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ดังนั้น ตนจึงขอเสนอว่านอกเหนือจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถแล้ว ครม.ชุดใหม่ต้องจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน ว่าเมื่อเข้ามาแล้วจะทำงานอะไรก่อนหลังบ้าง เช่น การแก้ไขปัญหาการว่างงาน ปัญหาผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยที่เข้าไม่ถึงเงินทุน เป็นต้น
    "อยากเห็นว่า ครม.เศรษฐกิจใหม่ที่กำลังจะเข้ามาจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร หรือแม้แต่เงินกู้ 4 แสนล้านที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่านำเงินไปแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด และอาจรั่วไหลนำสู่การทุจริตนั้น ผมอยากเห็น ครม.เศรษฐกิจรื้อแผนการใช้เงินฉบับนี้ และนำเม็ดเงินยิงตรงถึงปัญหาให้ถูกจุด"
         ถามย้ำถึงความต้องการให้ ครม.เศรษฐกิจชุดใหม่รื้อแผนการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท หมายถึงโครงการคณะกรรมการกลั่นกรองอนุมัติไปแล้วให้รื้อทั้งหมดด้วยใช่หรือไม่ นายกรณ์กล่าวว่า ครม.เพิ่งอนุมัติไปบางส่วน ไม่ถึง 1 ใน 4 เพราะฉะนั้นยังมีโอกาสในการออกแบบใช้เงินส่วนนี้ใหม่ในรูปแบบที่ตรงและโปร่งใสกว่า
      “ครม.ทำงานมาแล้ว 1 ปี และกำลังจะมี ครม.ชุดใหม่อีก ประชาชนคาดหวัง ฉะนั้นต้องจัดลำดับความคิดให้ชัดเจนว่ามีทีมใหม่เข้ามาแล้วจะทำอะไรบ้าง มองว่าอะไรเป็นปัญหาเร่งด่วน และแก้ไขอย่างไร ไม่มีเวลาคิดกันใหม่ เข้ามาต้องลงมือทำเลย ส่วนการที่รัฐบาลต้องพึ่งคนนอก สะท้อนให้เห็นถึงข้อบกพร่องของบุคลากรในพรรคการเมืองต่างๆ ที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกันอยู่ ความจริงผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง ถ้าเป็นไปได้ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ตอนนี้บุคคลที่ผ่านมาการเลือกตั้งมาไม่มีความเหมาะสม ทำให้เราเห็นอะไรบ้างอย่าง” หัวหน้าพรรคกล้ากล่าว
    นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ปัจจัยการปรับ ครม.ที่เกิดขึ้นมีเหตุมาจากปัจจัย อันประกอบไปด้วย หนึ่ง ความล้มเหลวในการจัดการเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศที่พังทลายลง GDP ปีนี้มีแนวโน้มที่จะลดอย่างรุนแรง อาจจะถึง 10% พี่น้องประชาชนที่หาเช้ากินค่ำรู้ดีที่สุดว่ามีปัญหาอย่างไร เป็นส่วนให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องปรับทีมเศรษฐกิจ
    “ปัญหาคือเราต้องเข้าใจว่าเปลี่ยนคนทำงานกี่คนก็เหมือนเดิม ตราบใดที่ยังไม่เปลี่ยนหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือตัว พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยังเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอยู่เหมือนเดิม และที่สำคัญเป้าหมายที่สำคัญที่ที่สุดของรัฐบาลชุดนี้ไม่ใช่เรื่องการทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี แต่คือการสืบทอดอำนาจอยู่ให้นานที่สุด ดังนั้นการปรับ ครม.ไม่อาจแก้ไขปัญหาของประเทศได้ เพียงแต่แก้ไขความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลมากกว่า”
    สอง ความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีเป้าประสงค์ที่จะทำให้ฝ่ายบริหารและพรรคการเมืองอ่อนแอ ไม่มีพรรคไหนที่มีเสียงข้างมากในสภา ประชาชนอ่อนแอ อย่างที่ผลเกิดขึ้นอยู่ในทุกวันนี้ ที่พรรคเล็กพรรคน้อยเกิดขึ้นเต็มไปหมด เสียงแตก ขาดประสิทธิภาพในการบริหารงาน ดังนั้น ความล้มเหลวของรัฐบาลในด้านหนึ่ง จึงเป็นความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญด้วย
ทุกฝ่ายล้วนขาดทุน
    นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)? โพสต์ความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีการปรับ ครม.ใหม่ของพล.อ.ประยุทธ์ ว่า ครม.ใหม่ของประยุทธ์ ที่ทุกฝ่ายล้วนขาดทุน หากนักการเมืองในพลังประชารัฐไม่เดินเกม จะเอา 4 เก้าอี้รัฐมนตรี (สมคิด อุตตม สนธิรัตน์ สุวิทย์) โดยออกมาพูดไม่ให้เกียรติ ขับไล่ไสส่ง ลาออกจากกรรมการบริหารพรรคเพื่อบีบให้มีการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคใหม่ ขุดเอาลุงชรามาเป็นหัวหน้าพรรค พร้อมกดดันยื่นคำขาดต่อนายกฯ ว่าอยากได้กระทรวงนั้นกระทรวงนี้
    หากนายกฯ ประยุทธ์มีภาวะผู้นำ ไม่ใจเร็วด่วนได้ ส่งไลน์ไปหาคุณสมคิดเหมือนไล่ทางอ้อม สี่กุมารคงไม่รีบแถลงข่าวลาออกให้นายกฯ ต้องหัวป่วนบากหน้าโทรไปขอให้ใครต่อใครมาเป็นทีมเศรษฐกิจ
    หากสาวตากลมหนึ่ง ไม่มุ่งมั่นอยากเป็นรัฐมนตรีสำนักนายกฯโดยใช้แรงผลักดันของลุงชรากดดัน รมต.เทวัญ ก็คงไม่รีบลาออก
    หากพรรคลุงกำนันเห็นว่าหม่อมหัวหน้าพรรคเดิมทำงานไม่ดี  ควรเปลี่ยนคนอื่นมาแทนแบบให้เกียรติกัน ก็ควรใช้วิธีอื่น ไม่ใช่เลียนแบบพลังประชารัฐ จัดประชุมเลือกหัวหน้าพรรคใหม่ให้คนเก่าแทบไม่มีที่ยืน
    แล้วเป็นไง 1.รมต.เศรษฐกิจแทบหาคนไม่ได้ ไปได้นายแบงก์และผู้บริหารน้ำมัน มาดูแลแถมควบตำแหน่งรองนายกฯ เศรษฐกิจ (อดเลย ที่จะได้สวมแทน สมคิด อุตตม สนธิรัตน์) 2. ข่าวว่า สาวตากลม ไม่ได้นั่ง รมต.สำนักนายกฯ ต้องไปเป็น รมช.ที่ไหนไม่ทราบ 3.พรรคลุง เสียกระทรวงแรงงานให้ พปชร.อีก (เดิมแค่อยากเปลี่ยนคน ตอนนี้เลยต้องเปลี่ยนกระทรวง)
    "พลังประชารัฐ ขาดทุน ผลักออก 4 ไม่ได้สัก 1 พรรคลุงกำนัน  ขาดทุน เสียกระทรวงสำคัญ นายกฯ ขาดทุน ทีมงานสมคิดเดิมไปหมด (เสียดายคุณสุวิทย์และคุณกอบศักดิ์) สร้างความเคืองกับ ชาติพัฒนา ปรับ ครม.ใหม่ ไม่ได้ภาพลักษณ์อะไรที่ดีขึ้น ไม่ได้สร้างความหวังอะไรต่อประชาชน สุดท้าย ขาดทุนที่สุด คือประเทศชาติ ที่อยู่ในมือของผู้บริหารที่ไร้ภาวะผู้นำ ขาดวิสัยทัศน์  ทำขึงขังแบบว่างเปล่าไปวันๆ" นายสมชัยระบุ
    ด้าน ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา (เฟซบุ๊ก : Olarn Thinbangtieo) ได้โพสต์ข้อความว่า “ถ้า ศ.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ได้รับตำแหน่ง รมต.ในการปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/2 ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดอีกครั้งของลุงตู่ในการตัดสินใจครั้งนี้ เพราะนอกจากสังคมจะตั้งคำถามและหัวเราะเยาะอย่างสิ้นหวังว่าทำไมต้องเป็นนฤมล?
    เพราะที่ผ่านมาผลงานในฐานะโฆษกรัฐบาล ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากสังคม หลายกรณีก็สร้างสื่อสารผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่บ่อยครั้ง บางครั้งก็อยากเอาใจลุงตู่ อย่างกรณีกล่องโฟม แทนที่จะได้เสียงตบมือ กลับกลายเป็นหินก้อนโตปาใส่หัวนายกรัฐมนตรี
    บทบาทเธอกลายเป็นโฆษกคาเฟ่ประจำรัฐบาล เสียดายความรู้ความสามารถของเธอ ที่ไม่ได้ใช้ไปในทางที่ถนัดหรือสอดคล้องกับความรู้ ซึ่งสะท้อนถึงหลักการบริหารของลุงตู่ที่ไม่คำนึงถึงหลักการ put the right man on the right job
    แน่นอนถ้าการปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/2 เธอได้รับตำแหน่ง รมต. ทั้งคนในสังคมและบรรดา ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐก็จะมีคำถามถึงลุงตู่ใช้เกณฑ์มาตรฐานอะไรในการพิจารณาจัดสรรตำแหน่ง ส.ส.ท่านอื่นในพรรคพลังประชารัฐไม่มีความสามารถเลยหรือจึงถูกมองผ่าน หรือเป็นเพียงแค่นั่งร้านอำนาจจริงๆ
     ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นหน่ออ่อนของความไม่พอใจในกลุ่ม ส.ส.ที่มาจากพื้นที่ทำงานหลัก ทำงานจริง ไม่ได้นั่งบนหอคอยงาช้าง ไม่มีวาสนา ไม่ได้มีโอกาสประจบสอพลอเดินตาม พล อ.ประวิตร  
    ทำให้เห็นถึงลักษณะ 2 มาตรฐาน 2 ชนชั้นในพรรคพลังประชารัฐอย่างชัดเจน ระหว่างชนชั้นนำ vip อภิสิทธิ์ชน กับบรรดา ส.ส. นั่งร้านคอยทำหน้าที่เป็นสภาฝักถั่วผู้ทรงเกียรติ
    แม้ว่าตอนนี้พรรคพลังประชารัฐจะมีผู้ทรงอำนาจอย่าง พล อ.ประวิตรควบคุมเบ็ดเสร็จ แต่ถ้าลุงตู่ตัดสินใจผิดพลาดในกรณีปรับ ครม. แล้วมีคนที่ได้รับตำแหน่งอย่างไร้เหตุผล ไร้หลักการ ไม่สะท้อนความรู้ความสามารถจริงเท่ากับเป็นการตั้งระเบิดเวลาเอาไว้ในอนาคตสำหรับในพรรคพลังประชารัฐ.
    

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"