คดี‘บอส’เขย่ารัฐบาล จี้สะสางเหตุสั่งไม่ฟ้องให้เคลียร์อัยการถกด่วน-ตร.ขีดเส้น15วัน


เพิ่มเพื่อน    

  “บอสเอฟเฟกต์” องค์กรต้านโกง-คณาจารย์ธรรมศาสตร์ร่อนแถลงการณ์จี้สางคดีอัยการ-สตช.สั่งไม่ฟ้องให้ชัดเจน ชี้เป็นการสั่นคลอนกระบวนการยุติธรรมไทยนำไปสู่หายนะ “ธนาธร” ร่วมแจมบอกระวังแผ่นดินจะเดือดดาล อดีตเด็ก ปชป.แนะ 4 ข้อจับไอ้โม่งช่วยเป่าคดี เตือนหากไม่เร่งเคลียร์ระวังรัฐบาลล้มครืน "หมอพรทิพย์-สุริยะใส" จี้นายกฯ เร่งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม “อัยการ” ดีเดย์ประชุม 28 ก.ค.ส่องคำสั่งแต่ไม่ตอบมีผลเปลี่ยนคดีหรือไม่ บิ๊กแป๊ะขีดเส้น 15 วันต้องรู้ผล

    เมื่อวันจันทร์ที่ 27 ก.ค.ยังคงมีความต่อเนื่องในกรณีสำนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทกระทิงแดง กรณีขับรถเฟอร์รารีชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อเสียชีวิต และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไม่แย้งคำสั่งของอัยการนั้น นายประยุทธ เพชรคุณ  รองโฆษกอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ชี้แจงถึงกรณี อสส.มีคำสั่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการสั่งคดีของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ว่าคณะทำงานทุกคนรับทราบคำสั่งแล้ว  โดยประธานได้สั่งให้ตนเองในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงานเร่งประสานคณะทำงานทุกคนเพื่อประชุมโดยเร็ว คาดว่าอาจนัดประชุมได้ในวันอังคารที่ 28 ก.ค. เพราะอัยการต้องการให้ความจริงปรากฏเร็วที่สุด โดยเบื้องต้นจะศึกษาสำนวนก่อนว่าสั่งคดีอย่างไร ส่วนแนวทางการตรวจสอบประธานคณะทำงานจะเป็นผู้พิจารณา
    เมื่อถามว่าผลการตรวจสอบของคณะทำงานสามารถเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมได้หรือไม่ นายประยุทธปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น
    ขณะที่ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร.กล่าวถึงกรณี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร.เป็นประธานว่า ได้ให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน  15 วัน นับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง พร้อมรายงานผลให้ทราบเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป
    ส่วน พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะอดีตประธานกรรมาธิการกฎหมาย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่า ทนายความของนายวรยุทธได้ขอความเป็นธรรมไปยัง กมธ.สนช. ซึ่งกรรมาธิการฯ ได้ทำเรื่องขอให้อัยการส่งกลับคดีให้ตำรวจทบทวนเพราะมีพยานใหม่ จนเป็นจุดเปลี่ยนสั่งไม่ฟ้องคดีดังว่า คาดว่าภายในวันที่ 29-30 ก.ค. นายธานี อ่อนละเอียด  ส.ว. ในฐานะอดีต กมธ.จะเป็นผู้แถลงรายละเอียด
    ขณะเดียวกันองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้ระบุว่า  "เป็นการสร้างจุดด่างพร้อยให้ภาพลักษณ์ของประเทศ และยังเป็นการตอกย้ำถึงความล้มเหลวของกระบวนการรักษาความยุติธรรมแห่งชาติ สังคมจะดำเนินต่อไปได้อย่างไรหากผู้รักษาความยุติธรรมไร้ซึ่งจุดยืนที่สังคมจะพึ่งได้ การต่อสู้เพื่อให้สังคมไทยมีการฉ้อโกงน้อยลงคงเป็นไปได้ยาก หากเสาหลักผุกร่อนไร้ศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิ
    องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจึงขอเรียกร้องความกระจ่างชัดของคำอธิบายที่จะกอบกู้ความเชื่อมั่นให้กลับมาอีกครั้งจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและอัยการสูงสุดต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและความเป็นนิติรัฐเพียงใดหรือไม่ รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาความสั่นคลอนของกระบวนยุติธรรมจากนายกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบการบริหารราชการแผ่นดิน อย่าปล่อยให้ความศักดิ์สิทธิ์ความยุติธรรมถูกลบหลู่ดูแคลนจากทั้งสังคมไทยและสังคมโลก
    การโกงความยุติธรรมไปจากชีวิตคนไทยโดยใช้กฎหมายและอำนาจหน้าที่ คือการทำลายความเชื่อมั่นศรัทธาต่อสถาบันหลักของประเทศอันจะนำไปสู่หายนะของชาติ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจะต่อสู้  ปลุกพลังสังคมให้ไม่ยอมรับและต่อต้านกับวิกฤติศรัทธาครั้งนี้อย่างที่สุด เราจะไม่ยอมให้อำนาจอธรรมมีอำนาจเหนือความยุติธรรม” แถลงการณ์ระบุ
คณาจารย์ มธ.ออกโรง
    ด้านคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) รวม 31 รายได้ลงชื่อออกแถลงการณ์เรียกร้องเช่นกัน โดยมีเนื้อหาว่า "เพื่อธำรงไว้ซึ่งหลักความเสมอภาคภายใต้กฎหมายและหลักนิติรัฐ เพื่อกอบกู้ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย และเพื่อรักษากำลังใจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรมและด้วยความภาคภูมิใจ จึงขอเรียกร้องให้ อสส.และ สตช.ดำเนินการดังนี้ 1.ชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการคดีอาญากับนายวรยุทธ โดยละเอียดและอธิบายเหตุผลอย่างชัดเจนถึงผลของคดีที่ขาดอายุความและการใช้ดุลยพินิจไม่ฟ้องคดีอาญา และ 2.ตรวจสอบว่าการดำเนินการและการใช้ดุลยพินิจดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมาย สุจริตและโปร่งใสหรือไม่ และหากพบว่ามีการดำเนินการหรือการใช้ดุลยพินิจในขั้นตอนใดไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่สุจริต หรือไม่โปร่งใส ให้พิจารณาดำเนินการและใช้ดุลยพินิจใหม่ให้ถูกต้อง"
    สำหรับความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ นั้น พบว่า น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ  (พปชร.) โพสเฟซบุ๊กว่า "คดีดังกล่าวยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติและองค์กรอัยการ จึงควรต้องออกมารับผิดชอบชี้แจงความโปร่งใสของการออกคำสั่งดังกล่าว ซึ่งแม้นายกฯ ไม่มีอำนาจแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานดังกล่าว แต่ก็มีอำนาจตรวจสอบการทำงานได้ เพื่อผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม และเพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นของประชาชนและศรัทธาของการบังคับใช้กฎหมาย โดยทั้ง 2 หน่วยงานดังกล่าวต้องออกมาชี้แจงสังคมโดยเร็วที่สุดหลังตั้งคณะทำงานตรวจสอบ"
         นายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมไทยมาใกล้ถึงจุดวิกฤติศรัทธาแล้ว เพราะผู้คนในสังคมกังขาว่ามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างบิดผัน ทำให้ประชาชนทั้งในและต่างประเทศสูญเสียความเชื่อมั่นในฐานะเป็นที่พึ่งสุดท้ายแห่งความยุติธรรมของสังคม ขณะนี้เรามีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะด้านกระบวนการยุติธรรม จึงขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องเร่งสังคายนาและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจังทั้งระบบ ทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยเป็นเสาหลักสำคัญของประเทศชาติ และเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนอย่างแท้จริง
    ส่วนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ประชาชนมีความเคลือบแคลงสงสัยในความสองมาตรฐาน ในแง่หนึ่งเมื่อคนรวยคนมีอำนาจทำผิดกฎหมายไม่ต้องเข้าคุกในประเทศนี้ ขณะเดียวกันคนเล็กคนน้อยคนที่ไม่มีเงินไม่มีอำนาจ ทำผิดกฎหมายก็จะถูกติดคุกติดตะราง ซึ่งความยุติธรรมเป็นเสาหลักสุดท้ายของสังคมในภาวะที่พี่น้องประชาชนหมดศรัทธากับสถาบันองค์กรการเมืองต่างๆ เมื่อพี่น้องประชาชนหมดศรัทธากับความยุติธรรม สังคมมันจะล่มสลาย ความยุติธรรมคือที่พักพิงสุดท้ายของประชาชน การเอากระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ หรือไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระอย่าง กกต., ป.ป.ช. รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในวันที่ประชาชนไร้สิ้นความหวัง หมดศรัทธากับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม แผ่นดินจะเดือดดาล
“ผมไม่อยากให้สังคมไปถึงจุดนั้น ดังนั้นเรื่องนี้ต้องกลับมาที่รัฐบาลว่า รัฐบาลจะกล้าจริงใจเอาคนผิดมาลงโทษหรือไม่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์พูดเสมอว่าขอให้ประชาชนทุกคนทำตามกฎหมาย คำถามคือรัฐบาลทำตามกฎหมายเพื่อยื่นความเป็นธรรมให้กับคนทุกกลุ่มคนในประเทศไทยอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันหรือไม่ อยากฝากคำถามนี้ถึงรัฐบาลด้วยเช่นกัน” นายธนาธรกล่าว    
    นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กไล่ลำดับเหตุการณ์คดีก่อนระบุว่า "เรื่องนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือคดียุติหรือยัง และส่วนที่สองการตามหาตัวไอ้โม่งที่อยู่เบื้องหลังการยุติความเป็นธรรมครั้งนี้ จึงขอเรียกร้องไปยังทายาท ด.ต.วิเชียรผู้ตาย ให้ออกมาใช้สิทธิทางศาลเพื่อพิสูจน์ความจริงกันให้กระจ่าง ไม่ต้องไปยึดติดกับบันทึกข้อตกลง หากไม่มีทนายก็พร้อมอาสาว่าความให้"
4 แนวทางจับไอ้โม่ง
    "ส่วนการตามล่าหาไอ้โม่งนั้นขอเสนอ 4 ข้อทางออก คือ 1.ให้ อสส.เปิดเผยพยานหลักฐานทั้งหมด พร้อมทั้งแจงรายละเอียดถึงที่มาของพยานหลักฐาน ความเห็นของพนักงานสอบสวนและอัยการผู้รับผิดชอบสำนวนทั้งหมด 2.ให้สอบสวนพฤติการณ์การสั่งคดีของนายเนตร นาคสุข รอง อสส.ผู้สั่งคดี 3.สตช.ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำไมไม่มีความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้อง ทั้งที่เคยมีความเห็นควรสั่งฟ้องตามพยานหลักฐานเดิม และ 4.รัฐบาลที่ตอนนี้หนีไม่พ้นข้อครหา เพราะมีการใช้ กมธ.ยุค สนช.รื้อคดีสอบเองจนกลายเป็นจุดเปลี่ยนของคดี ทำให้เกิดคำถามว่ามีบิ๊กคนไหนเข้าไปสร้างกระบวนการฟอกผิดเป็นถูกให้กับทายาทมหาเศรษฐีหรือไม่ เรื่องนี้รัฐบาลจะนิ่งเฉยไม่ได้ เพราะหากไม่รีบหาตัวผู้ใช้อำนาจผิด บิดเบือนความจริงมาลงโทษ เกรงว่านอกจากระบบยุติธรรมสั่นคลอนแล้ว รัฐบาลจะพังครืนลงมาในไม่ช้านี้"
นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความและกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม กล่าวเรื่องนี้ว่า คณะกรรมการปฏิรูปฯ จะนำเรื่องนี้เสนอที่ประชุมวันที่ 10 ส.ค. โดยขณะนี้กำลังรวบรวมประเด็นต่างๆ ที่ประชาชนสงสัยเสนอที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปฯ 15 คนพิจารณา เพราะเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม หน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปฯ คือเสนอความเห็นควรแก้ไขปรับปรุงอย่างไร จะได้ศึกษาร่วมกัน
     พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร คอลัมนิสต์เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ กล่าวว่า คดีนายวรยุทธถือเป็นรูปธรรมที่สำคัญและชัดเจนของปัญหากระบวนการยุติธรรมอาญาไทยในชั้นสอบสวน ที่รัฐและสังคมปล่อยให้อยู่ในมือของตำรวจเพียงฝ่ายเดียวด้วย การสั่งให้สอบเพิ่มเติมของอัยการก็มีข้อจำกัดอย่างมาก  สามารถทำได้เฉพาะจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนเท่านั้นที่ไม่ปรากฏก็ไม่รู้ บางครั้งต้องหลับหูหลับตาสั่งคดีไปตามที่ตำรวจเสนอ ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องที่หลายคดีเป็นนิยายการสอบสวน  ทำให้ประเทศเรามีผู้บริสุทธิ์ตกเป็นแพะมากมาย  
    "เป็นปัญหาใหญ่ที่นายกฯ ต้องเร่งแก้ไขและปฏิรูประบบการสอบสวนคดีอาญา ให้มีการตรวจสอบจากภายนอกทั้งโดยฝ่ายปกครอง ผู้ว่าฯ นายอำเภอ รวมทั้งพนักงานอัยการในคดีสำคัญหรือเมื่อมีการร้องเรียนเกิดขึ้น อีกทั้งต้องกำหนดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการสอบปากคำบุคคลเป็นหลักฐานประกอบสำนวนการสอบสวนไว้ด้วย ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญาที่ผ่านความเห็นชอบในรายงานของสภาผู้แทนฯ ไปเมื่อเดือนที่แล้ว และเวลานี้อยู่ในมือของนายกฯ ที่ต้องเร่งเสนอเข้าสู่สภาตราเป็นกฎหมายโดยเร็ว" พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าว
    แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "ไม่ปฏิรูปคงไม่ได้แล้ว มีหลักฐานชัดเจนในคดี แต่ผู้ที่ทำสำนวนที่ทำให้เกิดความอ่อน จนท้ายสุดสั่งไม่ฟ้องทั้งผู้บริหารของอัยการ ทั้งตำรวจ ต่างไม่มองที่ความจริง ความยุติธรรม แต่มองที่ข้อกฎหมาย จึงปัดความรับผิดชอบกันให้วุ่นวาย นายกฯ ปรับ ครม.แล้วเห็นทีจะปล่อยเรื่องนี้ให้ผ่านไปเฉยๆ ไม่ได้ เพราะท่านสัญญาต่อสภาว่าจะปฏิรูปตำรวจ ความล้มเหลวของคดีนี้เป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม ต้องคลี่ให้เห็นปัญหาทุกจุด ทุกขั้นตอน"
    นายสุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "ปรากฏการณ์ทางสังคมจากกรณีที่อัยการฯ สั่งไม่ฟ้องคดีบอส กระทิงแดงนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่สั่นคลอนและไม่ไว้วางใจต่อกระบวนการยุติธรรมรุนแรงที่สุดอีกครั้งหนึ่งในสังคมไทย มากกว่าทุกครั้งด้วยซ้ำไป เพราะข้อพิรุธเบื้องหน้า เบื้องหลัง กระทั่งคำถามมากมายถูกตีแผ่ เปิดโปง ผ่านโซเชียลอย่างเข้มข้น ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และไฟไหม้ฟางแน่นอน เพราะผู้คนในสังคมที่แม้กำลังประเชิญหน้ากับความขัดแย้งแตกแยกทางความคิดแบบเรื้อรังมายาวนานก็ตามที แต่กับเฉพาะเรื่องนี้ความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันทุกกลุ่ม ทุกขั้ว เรื่องนี้จึงไม่ใช่น้ำผึ้งหยดเดียวอีกต่อไป แต่เป็นน้ำผึ้งในโถใบใหญ่ที่สังคมกำลังสาดใส่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง
     ทางรอดเดียวที่จะทำให้รัฐบาลจบเรื่องนี้ได้ ต้องฉวยใช้สถานการณ์ในขณะนี้ตัดสินใจอย่างกล้าหาญปฏิรูประบบยุติธรรม ข้อเสนอเรื่องปฏิรูปตำรวจปฏิรูปอัยการฯ หรือการปฏิรูประบบยุติธรรมทั้งระบบมีพิมพ์เขียวมากมาย แต่รัฐบาลนี้ยังไม่นำพาแนวคิด 'รวมไทยสร้างชาติ' ที่นายกฯ ชักชวนคนไทย จะมีความหมายอะไร ถ้าชาติไม่เอื้ออำนวยให้กับทุกคน ทุกชนชั้น เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม อย่างเสมอหน้าและเท่าเทียมกัน" นายสุริยะใสระบุ
    ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า "นายกฯ ควรใช้อำนาจตามมาตรา 11(6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 ในการตั้งกรรมการมาสอบอัยการและตำรวจที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะอ้างว่านายกฯ ไม่ได้เป็นผู้แต่งตั้งอัยการ แล้วจะสั่งให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจของอัยการมิได้นั้น หาชอบด้วยกฎหมายไม่ ส่วนประเด็นการสั่งคดีนี้ของอัยการนั้น แม้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 248 วรรคสอง จะให้ความเป็นอิสระของอัยการในการพิจารณาสั่งคดี แต่ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม ปราศจากอคติทั้งปวง แต่การประวิงเวลาการสั่งคดีมากว่า 8 ปีย่อมถือได้ว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว
    กรณีของบอส อยู่วิทยา ความปรากฏว่าอัยการสูงสุดไม่ทราบเรื่องแต่อย่างใด จึงชี้ให้เห็นว่าคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องบอสในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญดังกล่าว” นายศรีสุวรรณระบุ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"