"ฝันที่เป็นจริง" ของคนจนเมืองพัทยา รวมพลังสร้างบ้านมั่นคง-สร้างชีวิตใหม่


เพิ่มเพื่อน    

(สภาพบ้านมั่นคงเขาน้อยพัฒนาเมืองพัทยาจากชุมชนที่เคยบุกรุกวันนี้มีบ้านใหม่ที่มั่นคง (ซ้าย) ชุมชนบุกรุกแห่งหนึ่งใกล้วัดช่องลมนาเกลือ อ.บางละมุง พัทยา)

     ก่อนสถานการณ์โควิด  เมืองพัทยายังมีเสน่ห์และดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก  รวมทั้งคนไทยให้มาเยือนไม่น้อยกว่าปีละ 10 ล้านคน  ทำรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ 100,000 ล้านบาท  ขณะเดียวกันการเติบโตของเมืองพัทยาในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา  ทำให้เมืองชายทะเลแห่งนี้เป็นเสมือนแม่เหล็กยักษ์ที่ดึงดูดความฝันและความหวังของผู้คนจากทั่วประเทศ

     ข้อมูลจากเมืองพัทยาระบุว่า  เมืองพัทยามีพื้นที่ทั้งหมด 208  ตารางกิโลเมตร  ในปี 2561  มีจำนวนประชากร (ตามทะเบียนราษฎร) ทั้งหมด 119,112 คน  จำนวนครัวเรือน 23,786  ครัวเรือน  จำนวนบ้าน (บ้านส่วนตัว/บ้านเช่า) รวม  164,029 หลังคาเรือน  แต่คาดว่าจะมีประชากรแฝงจากทั่วประเทศที่เข้ามาทำมาหากินในเมืองพัทยามากกว่าตัวเลขในทะเบียนราษฎรประมาณ 4-5 เท่า  หรือประมาณ 400,000-500,000 คน !!

คนจนในซอกหลืบพัทยา

     พัทยาในสายตาของนักท่องเที่ยวและผู้คนทั่วไปอาจจะมองเห็นแต่ชายหาด  น้ำทะเล  โรงแรมหรู  คอนโดสูงเทียมเมฆ  แหล่งท่องเที่ยว  สถานบันเทิง  สถานบริการ  และร้านอาหารหลากหลายรสชาติ  แต่เบื้องหลังและฟันเฟืองหมุนวงจรธุรกิจท่องเที่ยวเมืองพัทยาก็คือ  เหล่านักรบแรงงาน  ผู้พกพาความหวังมาจากทั่วสารทิศ  พวกเขามาเป็นแรงงาน  เป็นพนักงานบริการในโรงแรม  เช่น  เด็กยกกระเป๋า  แม่บ้าน  รปภ.  พนักงานเสิร์ฟอาหาร  คนครัว  คนขับรถสองแถว  มอเตอร์ไซค์รับจ้าง  พนักงานนวด  เล่นกล  โชว์กายกรรม  รับจ้างทั่วไป  ทำงานก่อสร้าง  หาบเร่  แผงลอย   พนักงานเก็บขยะ คนเก็บของเก่าขาย  ฯลฯ

     แต่ด้วยราคาที่ดินในเมืองพัทยาแพงเหมือนกับปูด้วยทองคำ  นักรบแรงงานเหล่านี้จึงต่างดิ้นรนหาที่อยู่อาศัยกันไปตามยถากรรม  บางคนบุกรุกที่รกร้างว่างเปล่า  หรือเช่าที่ดินปลูกสร้างบ้านขึ้นมา  แต่ก็นอนหลับไม่เต็มตา  เพราะไม่รู้ว่าเจ้าของที่ดินจะมาขับไล่ในวันใด  และอยู่กันอย่างแออัด  สภาพบ้านเรือนผุพังทรุดโทรม  มีปัญหาน้ำท่วม  เน่าเสีย  ทางเดินเฉอะแฉะ  ขยะเกลื่อน  ฯลฯ  ที่ดีหน่อยก็เช่าบ้าน  เช่าห้องพักอยู่อาศัย  ราคาไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 บาทต่อเดือน 

ขณะที่รายได้ก็ไม่ได้มากมายนัก  ส่วนใหญ่จะมีรายได้ตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ปัจจุบัน จ.ชลบุรี วันละ 330 บาท) หากเป็นพนักงานบริการในโรงแรม  สถานบันเทิง  สถานบริการต่างๆ  จะมีรายได้เพิ่มจากทิป 

     ถวิล  กัสปะ  อายุ 64 ปี  บ้านเดิมอยู่จังหวัดขอนแก่น  เรียนจบชั้นประถม 7  ช่วยพ่อแม่ทำนาทำไร่อยู่หลายปี  หัวใจคนหนุ่มเรียกร้องให้หนีความแร้นแค้นจากท้องทุ่งและควายทุยออกมาเผชิญชีวิต  เขาจึงมุ่งหน้ามาที่เมืองพัทยาเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน  สมัยที่ทหารอเมริกันยังรบอยู่ในอินโดจีน  ได้งานเป็นเด็กยกกระเป๋าในโรงแรม  เรียกให้หรูก็คือ Bell boy”  กินเงินเดือนๆ ละ 900 บาท  ทำงานโรงแรมมาแล้วหลายแห่ง  ปัจจุบันเกษียณอายุแล้ว  ตำแหน่งสุดท้ายคือหัวหน้า Bell boy  เงินเดือน 17,000 บาท  และได้ทิปรวมเฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท  แต่รายได้เพียงเท่านี้ไม่เพียงพอที่จะหาซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง  ต้องเช่าบ้าน-เช่าที่ดินปลูกสร้างบ้านมาตลอด

บ้านและฝันของคนจน

     เรื่องราวสั้นๆ ของถวิล  กัสปะ  เป็นตัวอย่างของแรงงานต่างถิ่นที่เข้ามาหากินในเมืองพัทยา  ไม่มีรายได้และเงินทองมากพอที่จะซื้อหาที่อยู่อาศัยในเมืองพัทยาเป็นของตัวเอง  เช่นเดียวแรงงานต่างถิ่นคนอื่น ๆ  เมื่อพวกเขาได้ลงหลักปักฐานสร้างครอบครัว  กลายเป็น คนพัทยา  เป็นประชากรแฝงขึ้นมา  แต่เมื่อคิดจะขยับขยายสร้างที่อยู่อาศัยให้มั่นคงเป็นของตัวเอง  ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย  เพราะที่ดินนอกเมืองพัทยาที่ไม่ใช่ย่านธุรกิจและท่องเที่ยวเมื่อราว 10 กว่าปีที่แล้ว  ราคาเฉียดไร่ละ  10  ล้านบาท

     ในปี 2551 เมืองพัทยามีการเลือกตั้งนายกเมือง  และนักการเมืองรายหนึ่งมองเห็นปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยของคนจนในเมืองพัทยา  จึงนำมาเป็นนโยบายหนึ่งในการหาเสียงเลือกตั้ง  เมื่อเขาได้เป็นนายกเมืองพัทยาสมความตั้งใจ  เขาจึงไม่ลืมที่จะนำปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยมาขับเคลื่อน

     วาศินี กาญจนกุล  อายุ 48 ปี  แกนนำคนจนเมืองพัทยาที่อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง  เล่าว่า  ตอนแรกชาวบ้านก็ไม่ค่อยเชื่อคำพูดของนักการเมือง  คิดว่าเป็นนโยบายขายฝัน  เพราะที่ดินในพัทยามีราคาแพง  ในปี 2552 จึงเริ่มมีการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยในเมืองพัทยา  โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีมาช่วย  พบว่ามีชุมชนแออัด 33 ชุมชน  จำนวน  11,724  ครัวเรือน  มีผู้เดือดร้อนและมีความต้องการที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองจำนวน  1,586   ครัวเรือน  ส่วนใหญ่กำลังจะถูกเจ้าของที่ดินขับไล่

     หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการจัดเตรียมกระบวนการแก้ไขปัญหา  โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ซึ่งมีโครงการบ้านมั่นคงเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว  รวมทั้ง ‘สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ’ (สอช.) ส่งเจ้าหน้าที่มาเป็นพี่เลี้ยงและให้คำปรึกษาเพื่อเตรียมจัดทำโครงการบ้านมั่นคง  และจะต้องมีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้าน  สมาชิกแต่ละรายจะต้องออมเงินเข้ากลุ่มเป็นรายเดือนๆ ละ 1,500-3,000 บาท  ช่วงแรกมีชาวบ้านสนใจที่จะร่วมโครงการประมาณ 400 ครอบครัว

     แต่คนที่ไม่เชื่อมั่นต่างถอนตัวไม่เข้าร่วมโครงการ  เพราะกลัวเงินที่ออมจะหายสูญ  ที่ดินก็ยังไม่มี   บ้านก็ยังไม่ได้สร้าง  ใครจะไปเชื่อ ?  สุดท้ายจึงเหลือคนที่เข้าร่วม 304 ครอบครัว  ส่วนใหญ่มาจากชุมชนที่กำลังจะถูกไล่รื้อ 7 ชุมชน  เช่น  ชุมชนกอไผ่  เขาน้อย  ตลาดเก่านาเกลือ  ฯลฯ   โดยมีตัวแทนแต่ละชุมชนร่วมเป็นคณะทำงาน  มีการประชุมคณะทำงานและสมาชิกทุกเดือนเพื่อให้รับรู้การทำงานและความคืบหน้า 

     ขณะเดียวกัน  เมืองพัทยาได้แต่งตั้ง ‘คณะกรรมการเมืองพัทยา’ ขึ้นมา  เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย  โดยมีผู้แทนหลายหน่วยงานเข้าร่วม  เช่น  เมืองพัทยา  การประปา  การไฟฟ้า  ตำรวจ  สหกรณ์จังหวัด  ที่ดินจังหวัด  ผู้แทนชุมชน  ฯลฯ แกนนำชุมชนที่อยากจะมีบ้านจึงไปคุยกับคณะกรรมการเมืองฯ  เพื่อจะขอเช่าที่ดินของรัฐหรือที่ดินสาธารณะเพื่อทำโครงการ  เพราะที่ดินในพัทยาราคาแพง  คนจนไม่มีปัญญาซื้อ  แต่ได้รับคำตอบว่า  ที่ดินสาธารณะในพัทยามีแต่เกาะกลางถนนและในทะเล 

     ฉะนั้นถ้าจะทำโครงการบ้านมั่นคง  พวกเราจะต้องหาซื้อที่ดิน หรือไม่ก็ต้องสร้างเป็นแฟลตเหมือนบ้านเอื้ออาทรของการเคหะ เพราะใช้เนื้อที่น้อย  แต่พวกเราอยากจะได้บ้าน  จึงช่วยกันหาที่ดิน  ส่วนใหญ่ราคาไม่ต่ำกว่าไร่ละ 10 ล้านบาท  จนมาได้ที่ดินที่เขาน้อย  ตำบลนาเกลือ  เนื้อที่ 12 ไร่  3 งาน  ตอนแรกเจ้าของตั้งราคาเอาไว้ 55 ล้านบาท  แต่พวกเราก็ไปพูดคุยต่อรองหลายครั้งว่าจะทำบ้านให้คนจนอยู่  ไม่ได้เอาไปทำธุรกิจ  เจ้าของที่ดินจึงลดราคาให้  เหลือ 42 ล้านบาท  หรือประมาณไร่ละ 3 ล้าน  5 แสนบาท  แต่พวกเราก็ยังไม่มีเงินซื้อ จึงทำสัญญาปากเปล่ากับเจ้าของที่ดินว่าอีก 2 ปีจะมาซื้อ”  วาศินีบอกถึงความฝันที่เริ่มก่อรูปในช่วงปี 2552-2553

     หลังเจรจากับเจ้าของที่ดินได้แล้ว  แต่ชาวบ้านก็ยังไม่มีเงินพอที่จะซื้อที่ดิน  จึงนำกลุ่มออมทรัพย์เดิมที่มีอยู่มาจัดตั้งเป็น  ‘กลุ่มออมทรัพย์เขาน้อยพัฒนาเมืองพัทยา’ ในเดือนมิถุนายน 2553 และร่วมกันออมเงินให้มากขึ้นเป็นรายละ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน  ในแต่ละเดือนจะมีเงินออมจากสมาชิก  304 ราย  มีเงินออมรวมกันเกือบ 800,000 บาท  เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม 2554  กลุ่มออมทรัพย์มีเงินออมประมาณ  8 ล้านบาทเศษ  ขณะเดียวกันในช่วงนั้นมีคนมาขอซื้อที่ดินแปลงนี้   แต่เจ้าของที่ดินเป็นเศรษฐีใจบุญและมีสัจจะจึงไม่ยอมขาย

คนจนรวมพลังสร้าง ‘บ้านมั่นคง’ มูลค่ากว่า 120 ล้านบาท

     หลังจากนั้นในช่วงกลางปี 2554  แกนนำและสมาชิกจึงร่วมกันจัดทำโครงการ ‘บ้านมั่นคงเขาน้อยพัฒนาเมืองพัทยา’ ขึ้นมา  โดยเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนสินเชื่อจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’  เพื่อจัดซื้อที่ดินและก่อสร้างบ้าน  และเตรียมจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน  เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล  สามารถทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ แทนชาวชุมชน  ต่อมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน  พอช.จึงอนุมัติสินเชื่อเพื่อนำไปซื้อที่ดิน   จากนั้นชาวชุมชนได้ร่วมกันจัดสรรการใช้ประโยชน์ที่ดิน   วางผังแบ่งแปลง  รวมทั้งหมด  304  แปลง/ครอบครัว  โดยมีสถาปนิกจาก พอช. และเมืองพัทยามาเป็นพี่เลี้ยง

     ส่วนขนาดของบ้านมีเนื้อที่ตั้งแต่  10 - 12.5  และ 13.25  ตารางวา  เป็นบ้านแถว 2 ชั้น  ราคาบ้านและที่ดินหลังละ 285,000-300,000 บาท  โดยสมาชิกจะต้องผ่อนชำระเงินกู้ให้สหกรณ์ฯ ประมาณเดือนละ  2,400-2,500 บาท  (สหกรณ์นำไปชำระคืน พอช.)  ระยะเวลา 15 ปี  อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 บาทต่อปี (พอช.คิดดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาท  ส่วนต่าง 2 บาท  สหกรณ์ฯ นำไปเป็นค่าบริหารจัดการ)   

     วาศินี กาญจนกุล  ผู้นำบ้านมั่นคงเขาน้อยฯ  เล่าถึงกระบวนการจัดทำโครงการบ้านมั่นคงว่า  ตามระเบียบของ พอช. ชุมชนที่รวมตัวกันจัดทำโครงการบ้านมั่นคงจะต้องออมเงินให้ได้จำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินที่จะขอใช้สินเชื่อ  ซึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคม  2554 นั้น  ชุมชนมีเงินออมรวมกันทั้งหมดประมาณ 8   ล้านบาทเศษ  จึงทำเรื่องขอใช้สินเชื่อซื้อที่ดินจาก พอช.  37,800,000  บาท  (ราคาที่ดิน 12 ไร่  3 งาน  42 ล้านบาท  ชุมชนใช้เงินออมสมทบ 4.2 ล้านบาท)   และขอสินเชื่อปลูกสร้างบ้าน   46,720,857  บาท  รวมสินเชื่อทั้งหมด     84,520,857  บาท  

     นอกจากนี้  พอช.ยังมีงบสนับสนุนการสร้างบ้านและสาธารณูปโภคอีกประมาณ 23 ล้านบาท  เมืองพัทยาสมทบการก่อสร้างสาธารณูปโภค  เช่น  ถนน  ท่อระบายน้ำ  อีก  11.5  ล้านบาท  รวมเป็นเงินที่ชาวบ้านต้องร่วมกันบริหารจัดการประมาณ  120 ล้านบาทเศษ  ในเดือนเมษายน  2555  จึงเริ่มก่อสร้างบ้านเฟสแรก 64 หลัง  และก่อสร้างเสร็จทั้งหมด 304 หลังในเดือนมีนาคม 2558  รวมใช้ระยะเวลาสร้างฝันให้เป็นจริงตั้งแต่ปี 2552-2558  รวม 6 ปี

     “ในชีวิตเกิดมาเคยจับเงินมากที่สุดก็แค่แสนบาท  แต่นี่มันทั้งโครงการ  บ้าน 304 หลัง  รวมเป็นเงินประมาณ 120 ล้านบาท  แต่พวกเราก็ร่วมกันบริหารโครงการ แบ่งหน้าที่กันทำงาน  ช่วยกันตั้งแต่สืบราคาที่ดิน  ราคาวัสดุก่อสร้าง  ตรวจสอบบัญชี  เพื่อไม่ให้เงินทองรั่วไหล  และประชุมสมาชิกทุกเดือน  เพื่อให้ทุกคนรู้เท่ากัน  จะได้ไม่ต้องสงสัย  เริ่มสร้างบ้านในเดือนเมษายน 2555  และทยอยสร้างมาเรื่อยๆ  จนแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2558  ตอนนี้บ้านในฝันของพวกเราเป็นจริงขึ้นมาแล้ว”  วาศินีหญิงแกร่ง ซึ่งในวันนี้เป็นประธานสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเขาน้อยพัทยา  จำกัด บอก

(วาศินี กาญจนกุล  ผู้นำบ้านมั่นคงเขาน้อยฯ)

 

     ประธานสหกรณ์บอกด้วยว่า  ในจำนวนบ้าน 304 หลังนั้น  ชาวชุมชนได้ช่วยกันนำเงินสนับสนุนการสร้างบ้านจาก พอช.มาช่วยกันลงขัน  ครอบครัวละ 5,000 บาท  เพื่อก่อสร้างบ้านให้แก่ครอบครัวที่ยากจน  คนด้อยโอกาสในเมืองพัทยาที่กำลังจะโดนไล่รื้อ  รวมทั้งหมด 14 ครอบครัว  เพื่อให้มาอยู่อาศัยด้วยกันในโครงการบ้านมั่นคงเขาน้อยฯ  เป็นบ้านแถวชั้นเดียว  ขนาด 4 x 8 ตารางเมตร  ค่าวัสดุและก่อสร้างหลังละ  122,000 บาท   รวมเป็นเงินทั้งหมดประมาณ 1.7 ล้านบาทเศษ  ถือเป็นน้ำใจและความห่วงใยที่คนจนมีให้แก่กัน

 

ถอดบทเรียนการบริหารจัดการบ้านมั่นคงเขาน้อย

 

     มีสุภาษิตโบราณกล่าวว่า “คบเด็กสร้างบ้าน  คบหัวรั้น (ล้าน) สร้างเมือง”  จะทำให้การทำงานไม่ประสบผลสำเร็จ  เพราะเด็กหรือคนที่ไม่มีวุฒิภาวะมักจะขาดความรับผิดชอบ  เอาแต่เที่ยวเล่นสนุกสนาน  ส่วนคนหัวรั้น (สมัยหลังเรียกเพี้ยนเป็นหัวล้าน) ก็มักทำตามใจตัวเอง  ดื้อรั้น  ไม่ฟังความคิดเห็นของคนอื่น 

     แต่การทำงานของคณะกรรมการสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเขาน้อยพัฒนา  ไม่เป็นไปตามสุภาษิตนั้น  เพราะมีทีมที่ปรึกษาจากคณะกรรมการเมืองพัทยา  ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี  สอช.  และ พอช. มาช่วยให้คำแนะนำ  ขณะที่คณะกรรมการสหกรณ์ฯ ก็มีการแบ่งบทบาทหน้าที่การทำงานชัดเจน  เช่น  มีทีมสืบราคา  ทีมจัดซื้อจัดจ้าง  ทีมตรวจสอบ  บัญชี  ฯลฯ ทีมละ 3-5 คน  เพื่อดำเนินการและควบคุมการก่อสร้างบ้านไม่ให้มีการทุจริต  รั่วไหล  ได้เนื้องานตามสัญญาจ้าง  

     นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการชุมชนจำนวน 19 คน  และกรรมการกลุ่มย่อยจำนวน  21 กลุ่มที่มาจากตัวแทนชาวบ้านทั้ง 304  ครอบครัว  เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน  ร่วมตรวจสอบการก่อสร้าง  กระจายข่าวสารให้สมาชิกกลุ่มย่อยได้รับรู้ข้อมูล  ความคืบหน้า  เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดหรือสร้างความแตกแยกในหมู่สมาชิก  จึงทำให้การดำเนินโครงการก่อสร้างบ้านมั่นคงชุมชนเขาน้อยพัฒนาสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี 

     แม้ว่าในช่วงแรกจะมีผู้ไม่ประสงค์ดีปล่อยข่าวว่า  คณะกรรมการสหกรณ์ฯ มีการทุจริต  งุบงิบ  เก็บบังผลประโยชน์  แต่เมื่อมีการตรวจสอบจากคณะกรรมการเมืองพัทยาก็ไม่พบความผิดตามที่มีผู้กล่าวหา  แถมยังเหลือเงินจากการบริหารโครงการอีกประมาณ 3 ล้านบาทเศษ 

     เช่น  ก่อนการสั่งซื้อวัสดุก่อสร้าง  คณะกรรมการจะไปสืบราคาจากหลายร้าน  หรือสั่งซื้อวัสดุในปริมาณมากจากตัวแทนจำหน่ายโดยตรง  และคณะกรรมการไม่เอาค่าคอมมิชชั่น  จึงทำให้ซื้อสินค้าได้ในราคาถูก  เช่น  ปูนเขียว (ซีเมนต์) หากซื้อจากร้านวัสดุก่อสร้างราคาลูกละ 85-90 บาท  แต่เมื่อสั่งซื้อจากผู้จำหน่ายโดยตรง  และซื้อครั้งละ 1  คันรถเทลเลอร์ขึ้นไป (ประมาณ 10 ตัน) จะได้ราคาลูกละประมาณ 75 บาท

ขณะที่ สำนักสินเชื่อ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. ได้ส่งทีมงานมาถอดบทเรียนและประสบการณ์การทำโครงการบ้านมั่นคงเขาน้อยฯ ระหว่างวันที่ 23-24 กรกฎาคมที่ผ่านมา  ให้ความเห็นว่า

      “คณะกรรมการสหกรณ์ฯ มีระบบการบริหารจัดการที่ดี  มีการแบ่งบทบาทหน้าที่กันทำงาน  แบ่งกรรมการเป็นกลุ่มย่อย 21 กลุ่ม  เพื่อช่วยกันตรวจสอบวัดุ  ตรวจสอบงาน  ตรวจบัญชี   และมีการประชุมร่วมกันทุกเดือน  เพื่อให้กรรมการและสมาชิกรับรู้ข้อมูลเท่ากัน   คณะกรรมการไม่ทำงานเพียงฝ่ายเดียว  แต่ดึงสมาชิกเข้ามาร่วมรับผิดชอบ  ขณะที่ผู้นำก็เป็นนักเจรจาต่อรอง  มีความเข้มแข็ง  ไม่ท้อถอย  ทำให้สมาชิกมีความเชื่อถือ 

ส่วนระบบการก่อสร้าง  จะจ้างผู้รับเหมาเฉพาะค่าแรง   จ้างเป็นเฟส  และกระจายงาน  ไม่จ้างผู้รับเหมาเพียงรายเดียว  เพื่อป้องกันความเสี่ยง  คณะกรรรมการสหกรณ์ฯ จะจัดซื้อวัสดุก่อสร้างเอง  และซื้อในปริมาณมากจึงได้ราคาถูก   นอกจากนี้ยังมีการติดตาม  ตรวจงวดงาน  คุณภาพงานและมาตรฐาน  โดยช่างชุมชน  กรรมการกลุ่มย่อย  และช่างจากเมืองพัทยา จึงทำให้การบริหารโครงการบ้านมั่นคงเขาน้อยประสบผลสำเร็จ” 

นี่คือฝันที่เป็นจริงของคนจนเมืองพัทยา  และจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนจนกลุ่มอื่นๆ ในพัทยาและใกล้เคียงที่อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง...เดินตามความฝันนี้ !!   

 

                                                                     

บ้านมั่นคงเขาน้อยพัทยา  บ้านที่มีความหมายมากกว่าคำว่า “บ้าน”

 

     ‘บ้านมั่นคงเขาน้อย’  บ้านในฝันของเหล่าคนจนในเมืองพัทยา  เป็นบ้านที่มีความหมายและมีความลึกซึ้งมากกว่าคำว่า “บ้าน” ทั่วไป  เพราะบ้านมั่นคงไม่ใช่มีเงินแล้วจะหิ้วกระเป๋าเข้าไปอยู่ได้เลยเหมือนกับบ้านจัดสรรทั่วไป  แต่เป็นบ้านที่เกิดจากความหวัง  ความตั้งใจของคนจนที่อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง  จึงได้รวมตัวกันจัดทำโครงการขึ้นมา  ช่วยกันระดมทุนออมทรัพย์เพื่อสมทบเงินซื้อที่ดินและสร้างบ้าน  ช่วยกันบริหารจัดการทั้งที่ไม่เคยมีความรู้มาก่อน ฯลฯ   นอกจากนี้พวกเขายังเจียดเงินครอบครัวละ 5,000 บาท  สร้างบ้านให้แก่คนที่ยากลำบากกว่าที่กำลังเดือดร้อนรวมทั้งหมด 14 หลัง  รวมเป็นเงินกว่า 1,450,000 บาท

 

บ้านกลางเพื่อคนที่ยากจนกว่า 

 

     ลุงประเสริฐ  ซาตั๋ว  อายุ 69 ปี  อาศัยอยู่กับภรรยา  วัย 64 ปี  และลูกชายอายุ 35 ปี   พื้นเพเดิมเป็นคนอุตรดิตถ์  แต่อพยพมาหางานทำในเมืองพัทยาเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน  ทำงานรับจ้างสารพัด  แต่ส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้าง  มีรายได้ไม่แน่นอน  พอเลี้ยงปากท้องและครอบครัวไปวันๆ  อาศัยอยู่ในบ้านเช่า  บางครั้งต้องย้ายบ้านไปเรื่อยๆ  เพื่อให้อยู่ใกล้ไซต์งานก่อสร้าง  ราคาค่าเช่าบ้านเดือนละ 1,500-2,000 บาท 

     เมื่อหลายปีก่อน  เพื่อนบ้านรู้ข่าวว่าจะมีโครงการบ้านมั่นคงเขาน้อยเกิดขึ้น  และจะให้คนยากคนจน  คนที่ลำบากเรื่องที่อยู่อาศัยในพัทยาได้อยู่บ้านฟรี  แต่ต้องผ่อนค่าที่ดินเป็นรายเดือนเอง  จึงนำข่าวมาบอก  ลุงประเสริฐให้ความสนใจ  เพราะช่วงหลังๆ อายุเริ่มมากขึ้น  ทำงานก่อสร้างไม่ไหว  ไม่ค่อยมีรายได้  จึงอยากมาอยู่ในโครงการนี้

     “ตอนแรกลุงก็ไม่เชื่อว่าจะมีโครงการแบบนี้  เพราะใครเขาจะปลูกบ้านให้เราอยู่ฟรีๆ  แต่ก็อยากอยู่จึงไปลงชื่อเอาไว้  ต่อมาก็มีกรรมการเป็นชาวบ้านนี่แหละ  มาตรวจสอบ  มาดูสภาพครอบครัวว่าเราเดือดร้อนลำบากจริงหรือไม่  พอเขาสร้างบ้านเสร็จเมื่อ 7-8 ปีที่แล้วจึงได้เข้ามาอยู่  ก็ดีใจที่มีบ้านเป็นของตัวเอง  เพราะเมื่อก่อนต้องเช่าบ้านอยู่  ทำให้ประหยัดรายจ่าย  แต่ต้องจ่ายค่าน้ำ  ค่าไฟเอง  ผ่อนค่าที่ดินและส่งเงินออมเข้าสหกรณ์ประมาณเดือนละ 1,500 บาท  ถ้าผ่อนเสร็จ  ทั้งบ้านและที่ดินก็จะเป็นของเรา  เอาไว้ให้ลูกหลานอยู่ต่อไป”  ลุงประเสริฐบอก

(ครอบครัวลุงประเสริฐ)

 

     บ้านที่ลุงประเสริฐและครอบครัวอาศัยอยู่  เป็นบ้านชั้นเดียว  ขนาด 4 X 8 ตารางเมตร  ก่อสร้างด้วยปูนซีเมนต์  เช่นเดียวกับบ้านกลางหลังอื่นๆ  รวมทั้งหมด 14 หลัง  โดยชาวชุมชน 290 ครัวเรือนร่วมสมทบเงินก่อสร้างหลังละ 5,000 บาท  พอช.สมทบหลังละ 25,000 บาท  ราคาก่อสร้างบ้านหลังละ 122,000 บาท  รวมเป็นเงินทั้งหมดประมาณ 1.7 ล้านบาทเศษ  ส่วนที่ดินราคาประมาณ 124,000 บาท/ครอบครัว  ผู้อยู่ต้องผ่อนชำระเอง  อัตราเดือนละ  1,048 บาท  ระยะเวลา 15 ปี

 

ช่วยสมาชิกปลดหนี้นอกระบบ

     นอกจากการออมเงินเพื่อสมทบซื้อที่ดินในช่วงแรกแล้ว  สมาชิกบ้านมั่นคงเขาน้อยฯ ยังต้องออมเงินสัจจะเข้าสหกรณ์บ้านมั่นคงเขาน้อยฯ  อย่างน้อยเดือนละ 30 บาท  ต้องถือหุ้นสหกรณ์อย่างน้อย 5 หุ้นๆ ละ 20 บาท  (ชำระค่าหุ้นทุกเดือน)  สมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการเดือนละ 60 บาท  ฯลฯ 

ปัจจุบันสหกรณ์ฯ  มีเงินออมสัจจะจากสมาชิกประมาณ  1.3 ล้านบาท  เงินหุ้นจากสมาชิกประมาณ 3.2 ล้านบาท  เงินกองทุนสวัสดิการประมาณ 500,000  บาท  นำเงินที่สมาชิกฝากและสมทบมาช่วยเหลือดูแลกัน  เช่น  ให้กู้ยืมในยามเดือดร้อนไม่เกินรายละ 30,000 บาท  (หากสมาชิกเข้าประชุมสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 8 ครั้ง  สามารถกู้เงินโดยไม่ต้องมีคนค้ำประกัน) ช่วยสวัสดิการยามเจ็บไข้ได้ป่วย  มีกองทุนฌาปนากิจ  เมื่อเสียชีวิตจะได้รับการช่วยเหลือประมาณ 50,000 บาท   และช่วยเหลือสมาชิกปลดหนี้นอกระบบ 

     อรอนงค์  ลิ้มจิตรกร  หรือ ‘ป้าลี่’  อายุ 52 ปี  อาชีพขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง  บอกเล่ามรสุมชีวิตในช่วงหนึ่งว่า  ในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมือง (ก่อน คสช.ยึดอำนาจในปี 2557) เมืองพัทยาเป็นสมรภูมิรบแห่งหนึ่ง  มีการจัดชุมนุมประท้วงของแต่ละฝ่าย  ทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้ามาพัทยา  รายได้ที่เคยมีจากการขี่มอเตอร์ไซค์วันละกว่า 1,000 บาท  หายวับไปกับตา  เริ่มชักหน้าไม่ถึงหลัง  ป้าลี่เริ่มกู้เงินนอกระบบเอามาใช้จ่ายในครอบครัว  ดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 20 ต่อเดือน  บางวันหมุนเงินไม่ทัน  ต้องกู้รายนี้มาจ่ายรายโน้น  และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยเท่านั้น  เงินต้นจึงทบเข้าไปยิ่งกว่าดินพอกหางหมู 

พอรู้ตัวอีกทีก็มีหนี้สะสมกว่า 200,000  บาท  มีเจ้าหนี้รายเล็กรายน้อยรวม 19 คน  เจ้าหนี้เริ่มรุมตอม  ดักหน้าดักหลัง  จะไปไหนทีจะต้องวางแผนการเดินทางให้ดี  ป้าลี่เริ่มเครียด  หน้าตาหมองคล้ำ  ไม่พูดไม่จากับใครๆ  เพราะต้องหาเงินมาจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยวันละ 1,200 บาท

(ป้าลี่ประกาศอิสระภาพจากเจ้าหนี้แล้ว)

 

 

     เมื่อประธานสหกรณ์บ้านมั่นคงเขาน้อยฯ  เห็นความผิดปกติของป้าลี่จึงเรียกมาสอบถาม  และนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสหกรณ์ฯ เพื่อช่วยแก้ปัญหา  ปลดหนี้เงินนอกระบบทั้งหมดกว่า 200,000 บาทให้ป้าลี่  โดยให้ป้าลี่ผ่อนจ่ายคืนเงินให้สหกรณ์เป็นรายเดือนตามกำลัง   คิดดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย 

ทุกวันนี้ป้าลี่ผ่อนเงินคืนสหกรณ์หมดแล้ว  เดินไปไหนก็ยิ้มหน้าใส  ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ  กินก็อุ่น  ทุนก็มี  เพราะหนี้ลด..!!

นอกจากป้าลี่แล้ว  สหกรณ์ยังช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนปลดหนี้นอกระบบอีกประมาณ 20 ราย  วงเงินตั้งแต่ 30,000-300,000 บาท

 

ชีวิตใหม่ของ ‘ป้าแมว’

     ‘ป้าแมว’  หรือ ‘ชิด  กิ่งเมือง’  วัย 62 ปี  อาศัยอยู่กับลูก 4 คน  หลาน 8 คน  รวมป้าแมวเป็น 13 คน  เดิมป้าแมวหาเลี้ยงชีพด้วยการเปิดร้านรับจ้างซักรีดเสื้อผ้าอยู่ที่พัทยากลาง  มีรายได้เดือนละหลายหมื่นบาท  แต่เมื่อหลายปีก่อนป้าแมวป่วยเป็นมะเร็งจึงต้องหยุดงานเพื่อมารักษาตัว  และย้ายมาอยู่กับลูกหลานที่บ้านมั่นคงเขาน้อยฯ ในปี 2559  มีรายได้จากเบี้ยยังชีพคนชราเพียงเดือนละ 600 บาท  และรักษาตัวจนอาการเริ่มดีขึ้น

     ขณะเดียวกัน  สหกรณ์บ้านมั่นคงเขาน้อยฯ มีสมาชิกที่เลี้ยงหมาและแมวอยู่หลายบ้าน  บางตัวก็ขับถ่ายไม่เป็นที่เป็นทาง  สร้างความสกปรกเลอะเทอะให้แก่ชุมชน  คณะกรรมการสหกรณ์และสมาชิกจึงประชุมลงมติจัดเก็บค่าดูแลความสะอาดจากสัตว์เลี้ยงหลังละ 100 บาท  และจ้างป้าแมวให้มาทำหน้าที่นี้  เพราะเป็นงานที่ไม่หนักมาก  ป้าแมวจะได้ออกกำลังกายไปด้วย  โดยทำงานวันละ 2 รอบ  คือช่วงเช้าและเย็น  ทำให้ป้าแมวมีรายได้เดือนละ 3,000 บาท 

(ป้าแมวกับหลานๆ)

 

     นอกจากนี้ยังจ้างป้าแมวทำความสะอาดถังขยะรวมในหมู่บ้านที่มีอยู่ 3 จุด  อีกเดือนละ 3,000 บาท  โดยใช้เงินค่าบริการส่วนกลางที่เก็บจากสมาชิก  เพื่อไม่ให้ถังขยะหมักหมม  แพร่เชื้อโรค  และส่งกลิ่นเหม็น

     รวมแล้วป้าแมวมีรายได้เดือนละ 6,000 บาท  ไม่มากนัก  แต่ป้าแมวก็ภูมิใจที่มีส่วนช่วยให้ชุมชนเกิดความสะอาด  ใครมาเยี่ยมก็ออกปากชม  ส่วนเงินที่ได้ก็นำมาใช้รักษาตัวและดูแลลูกหลาน...ทุกวันนี้ป้าแมวอยู่อย่างมีความหวังและมีความสุขท่ามกลางลูกหลานและเพื่อนบ้าน

     นี่คือบางตัวอย่างของการช่วยเหลือเกื้อกูลดูแลช่วยเหลือกันของสมาชิก ‘บ้านมั่นคงเขาน้อยพัฒนาเมืองพัทยา’  เป็นบ้านหลังใหญ่ของทุกคน...และอบอวลไปด้วยอุ่นไอแห่งความรัก  ความปรารถนาดีที่ทุกคนมีให้แก่กัน...และเป็นบ้านที่มีความหมายมากกว่าคำว่า “บ้าน”

 

 

พอช.จับมือหน่วยงานภาคีเดินหน้าพัฒนาคลองเปรมประชากรทั้งระบบ      

  

            

(สภาพชุมชนริมคลองเปรมประชากรก่อนและหลังการพัฒนา)

     จากวิกฤตน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2554  รัฐบาลจึงมีแผนการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ริมคลองในคลองสายหลักของกรุงเทพฯ  และก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ-ป้องกันน้ำท่วม   เริ่มดำเนินการในคลองลาดพร้าวเป็นแห่งแรกในปี 2559   และคลองเปรมประชากรเริ่มในปี 2562  ที่ผ่านมา

คลองลาดพร้าวต้นแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง

 

     คลองลาดพร้าวมีความยาวทั้งหมดประมาณ 22 กิโลเมตร  เริ่มจากคลองสอง  เขตสายไหม  ลงมาบรรจบกับคลองแสนแสบที่อุโมงค์เขื่อนระบายน้ำพระราม 9  เขตวังทองหลาง   มีชุมชนตั้งอยู่ริมคลองทั้งหมด 50 ชุมชน  รวม 7,069 ครัวเรือน  เป็นที่ดินราชพัสดุ  อยู่ในพื้นที่ 7 เขต  คือ  สายไหม   ดอนเมือง   หลักสี่  บางเขน  จตุจักร   ห้วยขวาง  และวังทองหลาง  โดยรัฐบาลมอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จัดทำแผนงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองทั้ง 50 ชุมชน  เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 

     ส่วนกรุงเทพมหานคร  รับผิดชอบการสร้างเขื่อนระบายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลอง  ป้องกันน้ำท่วม  ระยะทางทั้ง 2 ฝั่ง  ประมาณ 45 กิโลเมตร   นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานต่างๆ  ร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน  เช่น  สำนักงานเขต กทม.  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กองทัพบก  กระทรวงมหาดไทย   กรมส่งเสริมสหกรณ์  กรมธนารักษ์  การประปานครหลวง  การไฟฟ้านครหลวง  ฯลฯ

     ธนัช  นฤพรพงศ์   ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ในฐานะผู้บริหารโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว-คลองเปรมประชากร  กล่าวว่า  หลักการสำคัญในการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง  คือ  หากชุมชนใดมีพื้นที่เหลือจากแนวก่อสร้างเขื่อนฯ  สามารถสร้างบ้านใหม่ในชุมชนเดิมได้  จะต้องทำสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุกับกรมธนารักษ์  เปลี่ยนสถานะจากชุมชนรุกล้ำลำคลองเป็นผู้เช่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  ระยะเวลาเช่าช่วงแรก 30 ปี

     โดยกรมธนารักษ์จะคิดค่าเช่าในอัตราผ่อนปรน (ตั้งแต่ 50 สตางค์-3 บาท/ตารางวา/เดือน)  และชาวชุมชนจะต้องรื้อย้ายบ้านเดิมเพื่อปรับผังชุมชนใหม่  เพื่อให้ทุกคนอาศัยอยู่ในชุมชนเดิมได้  โดยได้รับสิทธิในที่ดินเท่ากันทุกครอบครัว   หากชุมชนใดเหลือพื้นที่ไม่พอ  จะต้องจัดซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่ไม่ไกลจากเดิมเพื่อปลูกสร้างบ้าน

     ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.จะสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้าง (บางส่วน) สินเชื่อเพื่อสร้างบ้านและซื้อที่ดิน (กรณีอยู่อาศัยที่เดิมไม่ได้)  รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพื่อให้ชุมชนบริหารจัดการเอง  ตามแนวทาง ‘บ้านมั่นคง’ ของ พอช. โดยชุมชนจะต้องรวมตัวกันจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ  เช่น  ร่วมกันสำรวจข้อมูลชุมชน  วางผังชุมชน  จัดสรรพื้นที่ใช้สอย  ร่วมกันออกแบบบ้าน  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนสร้างบ้าน   ฯลฯ

  •  จะใช้แนวทางการทำงานตามโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งมี 9 ขั้นตอน  เช่น การสร้างการรับรู้และความเข้าใจโครงการ การทบทวนข้อมูลครัวเรือน  การรับรองสิทธิผู้เข้าร่วมโครงการ การจดแจ้งจัดตั้งสหกรณ์ การรังวัดที่ดินเพื่อเข้าสู่กระบวนการเช่าที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ การออกแบบวางผังการขออนุมัติโครงการและงบประมาณจาก พอช. โดยชุมชนจะต้องรวมกลุ่มกันในรูปแบบของสหกรณ์ เพื่อสร้างบ้านและบริหารโครงการ” ธนัชแจงกระบวนการพัฒนาที่อยู่อาศัย

     ส่วนงบประมาณที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนการก่อสร้างบ้านใหม่ แบ่งเป็น 1.การปรับปรุงสาธารณูปโภค อุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ฯลฯ รวมครัวเรือนละ 147,000 บาท 2.งบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย วงเงินครัวเรือนละไม่เกิน 400,000 บาท ผ่อนชำระ 20 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4%

 

บ้านใหม่ในคลองลาดพร้าว  สร้างบ้านเสร็จแล้ว 2,931 หลัง

     โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว  เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี  2559  นำร่องที่ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบูรณ์  (ตรงข้ามตลาดสะพานใหม่) ซอยพหลโยธิน  54  เขตสายไหม  ก่อสร้างเสร็จในช่วงต้นปี 2560  รวมทั้งหมด 65 ครัวเรือน   ส่วนใหญ่เป็นบ้านแถว 2 ชั้น ขนาด 4 X6 ตารางเมตร  ในจำนวนนี้เป็นบ้านกลางชั้นเดียวที่ชาวชุมชนร่วมกันบริจาคเงินสร้างบ้านให้ผู้ด้อยโอกาสฐานะยากจนอยู่ฟรี 1 หลัง 

     อวยชัย  สุขประเสริฐ  ผู้นำชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบูรณ์  กล่าวว่า  จากสภาพเดิมเป็นชุมชนแออัด  บ้านไม้เก่าๆ ผุพัง  เพราะสร้างและอยู่กันมานานกว่า 50-60 ปี  สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม  มีทางเดินเป็นสะพานไม้โย้เย้   มีขยะอยู่ในคลอง  น้ำก็ดำเน่าเหม็น  ตอนแรกที่จะทำโครงการชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อว่าจะทำได้  คิดว่ากรรมการคงจะโกงกิน 

     แต่เมื่อมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุน  มีรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (พลตำรวจเอกอดุลย์  แสงสิงแก้ว รมว.พม.ในขณะนั้น) มาเป็นประธานยกเสาเอกสร้างบ้านหลังแรก  ชาวบ้านจึงเริ่มเชื่อถือ  เมื่อสร้างเสร็จ 10-20 หลังแรก  ชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ติดกันจึงทำตามบ้าง 

     “โครงการบ้านมั่นคงริมคลองเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง  แต่ทำเพื่อลูกหลาน  จะได้มีที่ที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  มีสภาพ แวดล้อมที่ดี  เมื่อสร้างเสร็จทำให้ชุมชนมีสภาพดีขึ้นมาก   มีทางเดินเลียบคลอง  ปลูกต้นไม้และผักสวนครัวริมคลอง  มีลานออกกำลังกาย  สนามเด็กเล่น  มีถังบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงคลอง  และมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุน  เรื่องการจัดการขยะ  สร้างอาชีพ  ดูแลผู้สูงอายุ  คนพิการ   ทำให้ชีวิตของพวกเราดีขึ้นกว่าเดิม”  อวยชัยบอกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น 

ปัจจุบันชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบูรณ์ และชุมชนต่างๆ ที่สร้างบ้านเสร็จแล้ว เป็นสถานที่ศึกษาดูงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง  มีคณะดูงานจากต่างประเทศและในประเทศมาศึกษาดูงานตลอดทั้งปี

     จากชุมชนแรกในคลองลาดพร้าวที่ขยับบ้านออกจากแนวคลอง   ขณะนี้ พอช.ได้สนับสนุนให้ชุมชนต่างๆ พัฒนาที่อยู่อาศัยไปแล้ว 35 ชุมชน  รวม 3,353 ครัวเรือน    โดยสร้างบ้านเสร็จแล้ว 2,931 หลัง  จากเป้าหมายทั้งหมด 50 ชุมชน  รวม 7,069 ครัวเรือน   

(บ้านที่สร้างเสร็จแล้วในคลองลาดพร้าว (ช่วงเขตสายไหม ตรงข้ามกองทัพอากาศ))

เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนคลองเปรมฯ 6,386 ครัวเรือน

     ส่วนการพัฒนาและฟื้นฟูคลองเปรมประชากร  ซึ่งมีปัญหาน้ำเน่าเสีย  การระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพ  เนื่องจากมีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางลำคลองเหมือนกับคลองลาดพร้าวนั้น  คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 เห็นชอบแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร  โดยให้หน่วยงานต่างๆ นำแผนไปปฏิบัติการ

     ธนัช  นฤพรพงศ์   ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า  ชุมชนในคลองเปรมฯ มีทั้งหมด 32  ชุมชนในเขตกรุงเทพฯ  และอีก 6  หมู่บ้านในจังหวัดปทุมธานี  รวมทั้งหมด 6,386  ครัวเรือน   โดย พอช.จะใช้แนวทางดำเนินงานและสนับสนุนชุมชนเช่นเดียวกับคลองลาดพร้าว  เริ่มดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักรเป็นชุมชนแรก  โดยมีพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีเป็นประธานยกเสาเอกสร้างบ้านหลังแรกเมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา

     “ขณะนี้ชุมชนประชาร่วมใจ 2 สร้างบ้านเสร็จแล้ว  เฟสแรกจำนวน  20 ครัวเรือน  จากทั้งหมด 193 ครัวเรือน  โดยเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา  พลเอกอนุพงษ์  เผ่าจินดา  ได้เดินทางมามอบทะเบียนบ้านให้แก่ชาวชุมชนที่สร้างบ้านเสร็จ 20 หลังแรก  ส่วนที่เหลืออีก 173 หลัง  ตามแผนงานจะก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้  และจะทยอยสร้างในชุมชนอื่นๆ ต่อไป”  ผู้ช่วย ผอ.พอช. กล่าว

     ส่วนแบบบ้านมีหลายขนาดเพื่อให้ชาวชุมชนได้ร่วมออกแบบและเลือกให้ตรงกับความต้องการ ส่วนใหญ่เป็นบ้านแถว เช่น บ้านแถวชั้นเดียว ขนาด 4 X 7 ตารางเมตร ราคา 290,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 1,500 บาท บ้านแถวสองชั้น ขนาด 4 X 7 ตารางเมตร ราคา 450,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 2,600 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 20 ปี

     ชุมชนประชาร่วมใจ 2 ถือเป็นชุมชนแห่งแรกในคลองเปรมประชากรที่ชาวชุมชนร่วมใจกันรื้อบ้านออกจากแนวคลองเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการพัฒนาคลองเปรมฯ ทั้งระบบ    โดยก่อนหน้านี้หน่วยงานต่างๆ  เช่น  กองทัพภาคที่ 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กรุงเทพมหานคร  กรมธนารักษ์  กรมส่งเสริมสหกรณ์  สำนักงานเขตต่างๆ  และหน่วยงานท้องถิ่นจังหวัดปทุมธานี  ร่วมกันจัดเวทีประชุมสร้างความเข้าใจกับชาวชุมชนเพื่อให้เข้าร่วมโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย  โดยมีชุมชนที่เข้าร่วมทั้งหมด  32 ชุมชนในเขตกรุงเทพฯ  และ 6 หมู่บ้านในเขต จ.ปทุมธานี  รวมทั้งหมด 6,386 ครัวเรือน

 

แผนพัฒนาคลองเปรมทั้งระบบ

 

     คลองเปรมประชากรมีความยาวทั้งหมด 50 กิโลเมตรเศษ  เริ่มจากคลองผดุงกรุงเกษม  กรุงเทพฯ-ปทุมธานี-พระนครศรีอยุธยา  มีการปลูกสร้างบ้านรุกล้ำคลองเป็นจำนวนมาก  ทำให้คลองตื้นเขิน การระบายน้ำไม่คล่องตัว  ชุมชนริมคลองส่วนใหญ่มีสภาพแออัด  สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม  มีปัญหาขยะและน้ำเน่าเสีย

     แผนพัฒนาคลองเปรมฯ ทั้งระบบจะใช้ระยะเวลา 9   ปี (พ.ศ.2562-2570)  เช่น  โครงสร้างพื้นฐาน ระยะเร่งด่วน ปี 2562 – 2565 จำนวน 4 โครงการ  วงเงิน 4,448 ล้านบาท  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ  ป้องกันน้ำท่วม  และบำบัดน้ำเสียในคลองเปรมฯ ทั้งระบบ  ตั้งแต่กรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา  โดย กทม. จะก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำจากถนนเทศบาลสงเคราะห์–สุดเขต กทม. ระยะทางทั้ง 2 ฝั่งประมาณ 27.20 กิโลเมตร (ขณะนี้ก่อสร้างเขื่อนฯ ช่วงแรกในเขตดอนเมือง ระยะทาง 580 เมตรเสร็จแล้ว)

     กรมชลประทานดำเนินการขุดลอกคลองเปรมฯ ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี  จากคลองรังสิต–คลองเชียงรากน้อย ระยะทาง 15.3 กิโลเมตร และขุดลอกคลองในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จากคลองเชียงรากน้อย – สถานีสูบน้ำเปรมเหนือบางปะอิน ระยะทาง 8.1 กิโลเมตร  ฯลฯ 

     นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ริมคลอง  เช่น  สร้างพื้นที่สีเขียว  ตลาดนัดริมคลอง  พัฒนาเส้นทางจักรยานเลียบคลอง  เชื่อมเส้นทางคมนาคมทั้งทางรถไฟและรถไฟฟ้า  และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน  ชมวิถีชีวิตชุมชนริมคลอง  เป็นการพัฒนาคลองเปรมประชากรทั้งระบบ..!!

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"