โพลชูลุงตู่คุยเด็ก ซัดกันนัวรื้อรธน.


เพิ่มเพื่อน    

.

    ยังไม่ทันเริ่มตั้งไข่แก้ รธน. สภาล่าง-สภาสูงเปิดฉากดวลฝีปากกันแล้ว "เทพไท" ทิ่ม ส.ว.ขวางแก้เพราะเสพติดอำนาจ  เพื่อไทยตีขนาบ ทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมไว้แล้ว ให้มี ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้ง เขียนใหม่หมดทั้งฉบับใน 240 วัน แม้ต่อให้มีการยุบสภา นิด้าโพลเผยประชาชนอยากเห็น "บิ๊กตู่" เปิดอกคุยม็อบเยาวชนเพื่อหาทางออกการเมือง
    หลังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แถลงท่าทีของกรรมาธิการที่มีทั้งจากรัฐบาลและฝ่ายค้านไว้เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กมธ.เห็นด้วยและสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการปลดล็อกแก้มาตรา 256 เพื่อให้มีการร่าง รธน.ฉบับใหม่ 
    เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะกรรมาธิการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ชุดดังกล่าวย้ำว่า ข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของเพื่อไทยนั้น นายโภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค พท. และ กมธ. ได้นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่ออนุกรรมการศึกษาบทบัญญัติตามที่พรรคได้ยกร่างขึ้นมานานแล้ว และพร้อมที่จะนำร่างดังกล่าวให้ ส.ส.ได้ร่วมเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาได้ทันที 
    นายชูศักดิ์กล่าวว่า ร่างดังกล่าวมีสาระคือ แก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้แก้รัฐธรรมนูญได้ง่ายกว่าเดิม โดยใช้เสียงข้างมากของรัฐสภาเหมือนกับรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ที่มีมาในอดีต ทั้งนี้ ได้เพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง มีหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน สภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ได้แม้จะมีการยุบสภา เมื่อมีการจัดทำรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จแล้ว ให้นำร่างดังกล่าวให้ประชาชนลงประชามติว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวหรือไม่
    นายชูศักดิ์กล่าวด้วยว่า วิธีการเช่นนี้จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน เพราะมีตัวแทนประชาชนทุกจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาร่วมยกร่าง จะได้รัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง ดังเช่นนี้เราเคยทำมาแล้วจนได้รัฐธรรมนูญ 2540 ฉบับปฏิรูปการเมือง ขออย่าดูถูกขีดความสามารถของประชาชนว่าคิดอะไรไม่เป็น หรืออย่าไปคิดว่าตีเช็คเปล่า เข้าใจว่าปัญหาบ้านเมืองขณะนี้อยู่ในสมองประชาชนหมดแล้ว ตีเช็คเปล่าดีกว่าตีเช็คขีดคร่อม เข้าบัญชีผู้มีอำนาจ เข้าบัญชีผู้สืบทอดอำนาจอย่างเดียวเท่านั้น ส่วนกรณีที่อาจมีการยื่นญัตติเป็นรายประเด็น ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญหลายเรื่อง โดยเฉพาะที่ประชุมหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านให้ความสำคัญต่อเรื่องระบบเลือกตั้ง อำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาล โดยเฉพาะการเลือกนายกรัฐมนตรี กรณีมาตรา 279 ที่รับรองการกระทำของ คสช. ตลอดกาลว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชอบด้วย กม. การยกเว้นกฎ ระเบียบ การอนุมัติ อนุญาต อย่างน้อย 3 ปี เพื่อให้ประชาชนมีอิสระ ทำมาหากินได้คล่องตัวขึ้น อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหลังโควิดได้ด้วย โดยมอบหมายให้แต่ละพรรคไปยกร่างเพื่อนำเสนอต่อรัฐสภาเช่นกัน
    "โดยรวมการแก้รัฐธรรมนูญจะสำเร็จหรือไม่ คงต้องถามว่ารัฐบาลคิดอย่างไร ส.ว.คิดอย่างไร และคงต้องถามกันตรงไปตรงมาว่าจนถึงบัดนี้ท่านคิดว่ารัฐธรรมนูญ 2560 คือปัญหาของประเทศหรือไม่" นายชูศักดิ์กล่าว 
    ส่วนท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ทางนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้ความเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความชัดเจนในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น เป็นพรรคเดียวที่ชูธงนำเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นมาตราที่สำคัญ ที่จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่วันแรกที่ได้ประกาศจุดยืนพรรคได้ร่างญัตติขอแก้รัฐธรรมนูญไว้แล้วครบถ้วน แต่หลังจากนั้นก็มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา  และท้ายที่สุดก็มีผลการศึกษาที่ตรงกันกับหลักของพรรคคือแก้ มาตรา 256 ส่วนประเด็นการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าเมื่อมีการนำเสนอรายงานฉบับดังกล่าวเข้าสภา ทุกพรรคก็จะมีการพูดคุยกัน
    โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า เรื่องแก้รัฐธรรมนูญควรนับหนึ่ง และควรเริ่มต้นได้ตั้งนานแล้ว แต่ระยะเวลาก็ทอดยาวออกมาถึงทุกวันนี้ เพราะไม่ว่าจะมีการเรียกร้องจากนักศึกษาหรือไม่ เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ควรเดินหน้า เพราะขณะนี้ทุกคนเห็นตรงกันว่ามีปัญหาอยู่หลายมาตรา รวมถึงเรื่องสิทธิประชาชนที่จะต้องนำกลับมาคืนสิทธิให้กับประชาชน และที่สำคัญเพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น และเรื่องแก้รัฐธรรมนูญจะมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในที่ประชุม ส.ส.ของพรรควันจันทร์ที่ 3 สิงหาคมนี้ 
    สอดรับกับความเห็นของนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดดังกล่าวด้วย ให้ความเห็นไว้ว่า ในฐานะที่เป็นกรรมาธิการคนหนึ่ง มีความพอใจกับผลมติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และเพิ่มหมวดการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะประเด็นการแก้ไขมาตรา 256 เป็นจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่ต้น และเป็นไปตามญัตติที่ตนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร
    นายเทพไทกล่าวว่า ส่วนประเด็นให้เพิ่มหมวดการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นความเห็นพ้องของคณะกรรมาธิการทั้งหมด ที่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เนื่องจากการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้ พบว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีจุดอ่อนและจุดบกพร่องที่ต้องแก้ไขทุกหมวด ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น ความเห็นของที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า ถ้าหากต้องการให้เป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ศึกษา ก็ต้องยกเครื่องปรับปรุงรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จึงจำเป็นต้องมีหมวดว่าด้วยการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา เพื่อให้รัฐธรรมนูญได้ยึดโยงกับประชาชน และเป็นการตอบโจทย์ให้กับทุกฝ่ายในสังคมอีกด้วย
    นายเทพไทกล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นที่มีสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนแสดงความไม่เห็นด้วยกับมติของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯชุดนี้นั้น นายเทพไทกล่าวว่า ก็เป็นสิทธิ์ของสมาชิกวุฒิสภากลุ่มนั้น ที่ไม่ต้องการเสียอำนาจหรือสถานะของตัวเอง 
    "เพราะคนเหล่านี้ได้เสพติดอำนาจ ผ่านเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่มาจากการสืบทอดอำนาจของเผด็จการทุกยุคทุกสมัย แต่ก็ยังมีสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนเช่นกันที่เห็นว่าบ้านเมืองกำลังเดินเข้าสู่ทางตัน จึงอยากจะปลดล็อกให้กับบ้านเมืองในครั้งนี้ด้วย ผมจะนำมติของกรรมาธิการเสนอต่อที่ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์วันที่ 3 ส.ค. เพื่อรับทราบผลการศึกษาทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้พรรคได้รับทราบ และนำไปผลักดันต่อในส่วนของรัฐบาล ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไข 3 ข้อในการตัดสินใจร่วมรัฐบาล" นายเทพไทระบุ
    วันเดียวกันนี้ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “ม็อบเยาวชน ปลดแอก” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29-31 กรกฎาคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และในอีกหลายจังหวัด 
    จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและในอีกหลายจังหวัด พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 26.56 ระบุว่าเป็นสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม หากปราศจากอาวุธและความรุนแรง รองลงมา ร้อยละ 26.16 ระบุว่าเป็นสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม หากไม่กระทำผิดกฎหมาย, ร้อยละ 18.24 ระบุว่าเป็นการชุมนุมของพลังบริสุทธิ์ของนักศึกษา, ร้อยละ 17.12 ระบุว่าเป็นการจัดชุมนุมเพื่ออนาคตของประเทศ, ร้อยละ 13.44 ระบุว่าเป็นการจัดชุมนุมเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการ, ร้อยละ 9.76 ระบุว่า เป็นจุดเริ่มต้นของความแตกแยกและสถานการณ์ความวุ่นวายในอนาคต
    ด้านการเห็นด้วยของประชาชนต่อการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก พบว่า ร้อยละ 34.72 ระบุว่าเห็นด้วยมาก เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองไปในทางที่ดีขึ้นกว่านี้, ร้อยละ 19.28 ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย เพราะเป็นสิทธิของกลุ่มเยาวชนที่จะเรียกร้องความถูกต้อง และอยากให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้, ร้อยละ 18.08 ระบุว่าไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะกลัวสถานการณ์จะเกิดความรุนแรง วุ่นวาย และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่หมดไป 100% เกรงว่าจะกลับมาเเพร่ระบาดรอบ 2, ร้อยละ 23.76 ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย เพราะ ทำให้เกิดความวุ่นวาย เหตุผลยังไม่เพียงพอในการออกมาชุมนุม และยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ และร้อยละ 4.16 ระบุว่า เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
    ส่วนความกังวลว่าประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนในอดีต จากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก พบว่า ร้อยละ 11.20 ระบุว่า กังวลว่าจะมีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงมากกว่าในอดีต เพราะกลุ่มเยาวชนในปัจจุบันมีความเป็นตัวของตัวเองมากเกินไป หัวรุนแรง และสื่อนำเสนอข่าวในเชิงการปลุกระดม, ร้อยละ 16.72 ระบุว่า กังวลว่าจะมีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงพอๆ กับในอดีต เพราะอาจมีการสร้างสถานการณ์เหมือนในอดีต, ร้อยละ 29.76 ระบุว่า กังวลว่าจะมีความขัดแย้งทางการเมือง แต่คงไม่เท่าในอดีต เพราะรูปแบบการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนมีความแตกต่างจากในอดีต และคาดว่ารัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้, ร้อยละ 16.88 ระบุว่าไม่ค่อยกังวล เพราะเป็นการแสดงพลังของกลุ่มเยาวชนในการเรียกร้องให้รัฐบาลรับทราบถึงเหตุผลในการชุมนุมเท่านั้น และเป็นการชุมนุมเพียงระยะเวลาสั้นๆ, ร้อยละ 23.68 ระบุว่า ไม่กังวลเลย เพราะเป็นสิทธิในการแสดงเหตุผลของกลุ่มเยาวชน และร้อยละ 1.76 ระบุว่า เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
    ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงสิ่งที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรดำเนินการกับการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 42.72 ระบุว่าควรรับฟังปัญหาจากกลุ่มนักศึกษาด้วยตนเอง รองลงมา ร้อยละ 20.40 ระบุว่าควรยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ทันที, ร้อยละ 13.68 ระบุว่าควรรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่, ร้อยละ 6.56 ระบุว่าควรอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร, ร้อยละ 5.36 ระบุว่าควรใช้กลไกรัฐสภาในการฟังปัญหาจากกลุ่มนักศึกษา. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"