นายกฯสั่งระดมกำลังช่วยจ.เลย


เพิ่มเพื่อน    

    ดีเปรสชัน "ซินลากู" ถล่ม "เลย"! น้ำป่าทะลักท่วม 1พันครัวเรือน นายกฯ สั่งทุกหน่วยลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือประชาชน อพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย ปภ.ประสาน 67 จังหวัดรับมือท่วมฉับพลัน-คลื่นลมแรง พายุซัด รร.สุรินทร์พังราบ ขณะที่ลำปางสะพานหักตัดขาด 2 หมู่บ้าน ปิดอุทยานหมู่เกาะอ่างทองถึง 5 ส.ค.
    เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีความเป็นห่วงถึงสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ อ.เมืองเลย, อ.เชียงคาน และ อ.ปากชม จ.เลย โดยได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเลย หน่วยทหารในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ระดมกำลังลงพื้นที่เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่จังหวัด ประกอบด้วย อ.เมืองเลย ได้แก่ ต.น้ำสวย รวม 7 หมู่บ้าน, อ.เชียงคาน จำนวน 2 ตำบล ได้แก่ ต.เขาแก้ว รวม 2 หมู่บ้าน และ ต.ธาตุ รวม 9 หมู่บ้าน และ อ.ปากชม จำนวน 3 ตำบล ได้แก่ ต.เชียงกลม ต.ห้วยบ่อซืน และ ต.ชมเจริญ ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนักตลอดทั้งคืน ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากทะลักเข้าท่วมถนนและบ้านเรือนของประชาชนเมื่อคืนที่ผ่านมา 
    โดยนายกรัฐมนตรีกำชับให้ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในเบื้องต้น รวมทั้งให้เร่งสำรวจความเสียหาย อย่าปล่อยให้ชาวบ้านเดือดร้อน เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนสัตว์เลี้ยง พร้อมกับให้เคลื่อนย้ายชาวบ้านและสัตว์เลี้ยงไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัย จัดหาอาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ให้กับชาวบ้านอย่างพอเพียง ขอให้ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังคำนึงถึงความปลอดภัยชีวิตเป็นสำคัญ และย้ำเตือนให้ชาวบ้านติดตามข่าวสาร รวมถึงการแจ้งเตือนจากส่วนราชการอย่างใกล้ชิด
    ด้านนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ประชาชนได้รับผลกระทบแล้วกว่า 1,000 หลังคาเรือน จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัยในทันที โดยเฉพาะบ้านเรือนประชาชนที่มีสภาพชั้นเดียว รวมถึงบ้านเรือนที่มีเด็กและคนชราอาศัยอยู่ ให้เร่งอพยพออกมายังที่ปลอดภัยก่อน พร้อมทั้งประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้จัดเตรียมสถานที่อพยพและเครื่องอุปโภคบริโภค
       ในส่วนของเส้นทางคมนาคมและการติดต่อสื่อสารที่ถูกตัดขาด เช่น สะพานเชื่อมระหว่างหมู่บ้าน ถนนที่ใช้สัญจร และระบบสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ประสานการแก้ไขร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย และหน่วยทหารในพื้นที่ เพราะยังมีความจำเป็นในการลำเลียงการช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่ เช่น อาหาร และดูแลผู้เจ็บป่วย หรือบาดเจ็บ จากเหตุอุทกภัย ตลอดจนให้ประสานไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเลย ในการตัดกระแสไฟฟ้าเพื่อป้องกันอันตราย และสำรองการใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นสำหรับพื้นที่อพยพอีกด้วย 
    นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดย ปภ.ได้ติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าพายุโซนร้อนซินลากู บริเวณอ่าวตังเกี๋ย กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก คาดว่าจะขึ้นฝั่งที่เมืองวินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง และร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น คลื่นสูง 2-3 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร กอปภ.ก. โดย ปภ.จึงได้ประสาน 67 จังหวัด เตรียมพร้อมรับมือ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 2-4 ส.ค.2563 แยกเป็น 
67จ.รับมือน้ำท่วมฉับพลัน
    สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ดังนี้ ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน พิจิตร สุโขทัย ตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุทัยธานี, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี, ภาคกลาง 10 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สมุทรสงคราม นครนายก เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์, ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด, ภาคใต้ 11 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา กระบี่ และภูเก็ต 
    สถานการณ์คลื่นลมแรง ดังนี้ ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด, ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี, ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล รวมถึงสั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน พร้อมวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงและแนวโน้มสถานการณ์ภัยต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง จัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤติ (ERT) รถปฏิบัติการ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที 
    ที่ จ.เลย พ.อ.สมหมาย บุษบา รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 28 และรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเลย ได้ประสานบูรณาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบก ที่ 28 (ศบภ.มทบ.28) และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องโดยเร่งด่วน   พร้อมสั่งการให้นายทหารนำกำลังพลเดินทางเข้าพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในพื้นที่หมู่บ้านสูบ ตำบลน้ำสวย อำเภอเมืองเลย หลังจากฝนตกหนักตลอดทั้งคืนใน 14 อำเภอ และตั้งแต่เวลา 05.00 น. เกิดเหตุน้ำป่าทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านสูบ 4 หมู่บ้าน กว่า 300 หลังคาเรือน ซึ่งบ้านเรือนบางหลัง น้ำทะลักเข้าไปในบ้านระดับน้ำสูงประมาณ 70 เซนติเมตร
    นอกจากนี้ ยังเกิดดินสไลด์ไหลลงมาปิดเส้นทาง รวมทั้งต้นไม้ใหญ่ล้มปิดเส้นทางในหลายหมู่บ้าน โดยเฉพาะบ้านสงเปือย บ้านหวยพอด ต.ธาตุ อ.เชียงคาน น้ำป่าไหลหลากอย่างรุนแรงเข้าท่วมบ้านประชาชนไปแล้วกว่า 50 หลังคาเรือน และเส้นทางบ้านธาตุ-ปากชม รถเล็กไม่สามารถผ่านได้ รวมทั้งได้เกิดต้นไม้ใหญ่ล้มทับเส้นทาง ส่วนถนนเส้นนาแห้ว-ด่านซ้าย บริเวณภูเก้าง้อม ฝนตกได้มีดินสไลด์ลงปิดถนน และน้ำป่าไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่บ้านนานกปีด ต.ห้วยบ่อซืน อ.ปากชม บ้านโพนทอง ต.เชียงกลม อ.ปากชม 
    นายจรูญ พานิช นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) น้ำสวย กล่าวภายหลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ อบต. และประสานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าช่วยเหลือประชาชนและเร่งสำรวจความเสียหายว่า ฝนตกลงมาตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยตกตลอดทั้งคืน และช่วงดึกน้ำเริ่มเอ่อแล้วทะลักเข้าท่วมหมู่บ้าน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้เข้าสำรวจพบมี  4 หมู่บ้าน มีทั้งหมดกว่า 800 หลัง น้ำได้เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนไปแล้วกว่า 300 หลัง โดยได้เร่งแจ้งไปยังกำนันผู้ใหญ่บ้านเข้าช่วยเหลือ ทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานชาวบ้านได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
    ที่ จ.อุตรดิตถ์ เกิดน้ำป่าไหลหลากบริเวณ ม.6 ต.ฟากท่า อ.ฟากท่า เนื่องจากพายุซินลากูที่กำลังเคลื่อนผ่านทางตอนเหนือของประเทศไทย ทำให้มีฝนตกหนักตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา ขณะนี้ฝนก็ยังตกไม่หยุด ทำให้ท้องที่อำเภอฟากท่าน้ำท่วมหลายจุด ทั้งนี้นายสุพัฒน์ ศรีสวัสดิ์ นายอำเภอฟากท่า ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและอำนวยการสั่งการในการป้องกัน ในเบื้องต้นเทศบาลตำบลฟากท่าได้ตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่เทศบาล พร้อมรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ทราบ และ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ผู้บริหารท้องถิ่น เร่งให้การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลท่วมในพื้นที่หลายตำบล 
รร.สุรินทร์พังหนักสุด 70 ปี
    ที่โรงเรียนบ้านระหาร อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนไม้สองชั้นอายุมากกว่า 70 ปี ถูกพายุฝนถล่มอย่างหนักได้รับความเสียหายทั้งอาคาร หนักสุดในรอบ 70 ปี ทั้งนี้ น.ส.จำเนียร เกตุชยันต์ อายุ 59 ปี ครูโรงเรียนบ้านระหาน เปิดเผยว่า โรงเรียนแห่งนี้ถูกพายุถล่มมาแล้วถึง 3 ครั้ง แต่ครั้งนี้โดนหนักกว่าทุกครั้ง เนื่องจากสมุด หนังสือ คอมพิวเตอร์ และหนังสือการเรียนการสอน สิ่งของที่เก็บไว้ภายในโรงเรียนเสียหายอย่างหนัก จึงได้ปรึกษากับชาวบ้านและคณะครูว่าจะให้นักเรียนชั้น ป.1 ถึง ป.3 ไปเรียนที่ศาลาวัดก่อนเป็นการชั่วคราว ส่วนนักเรียนชั้น ป.4-ป.6 จะให้เรียนที่โรงเรียนบางส่วนที่ยังพอจะเปิดการเรียนการสอนในวันจันทร์ได้ 
    ที่ จ.หนองคาย ฝนตกต่อเนื่องเป็นระยะๆ ตั้งแต่กลางดึกที่ผ่านมา ทางเทศบาลเมืองหนองคายเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนซินลากู โดยเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 7 ประตู โดยเฉพาะประตูระบายน้ำที่ชุมชนวัดธาตุ ที่เป็นประตูระบายน้ำหลักที่ระบายน้ำจากตัวเมืองลงในแม่น้ำโขง ถึงแม้ช่วงนี้จะมีระดับเพิ่มขึ้น แต่ถือว่ายังมีระดับที่ต่ำอยู่ ทั้งนี้ ล่าสุดระดับน้ำในแม่น้ำโขง วัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ มีระดับอยู่ที่ 3.15 เมตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อวานนี้ 12 เซนติเมตร ต่ำกว่าตลิ่งถึง 9.05 เมตร และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากระดับน้ำโขงทางตอนเหนือคือที่สถานีเชียงคาน จ.เลย น้ำโขงมีระดับสูงขึ้น 24 ซม. เช่นเดียวกัน
    ขณะที่นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ 9.22 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.), เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ 4.08 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ 0.29 ล้าน ลบ.ม. สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 69 แห่งที่กระจายอยู่ในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างรวมกัน 10.79 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัดภาคอีสานตอนกลางยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีก 4,200 ล้าน ลบ.ม. หากฝนตกลงมาบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำ หรือพื้นที่ที่สามารถรองรับน้ำฝนได้ จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติได้พอสมควร 
    ที่ จ.พังงา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ทุ่งคาโงก และชาวบ้านหมู่ 3 ต.นบปริง อ.เมืองพังงา ร่วมกันช่วยตัดกิ่งและต้นไม้ข้างทางที่โค่นล้มจากแรงลมพัดออกจากถนนเพชรเกษมสายนบปริง-ทุ่งคาโงก  ทำให้รถที่สัญจรในพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถสัญจรได้หนึ่งช่องทางจราจร ไม่พบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือทรัพย์สินเสียหาย ส่วนในพื้นที่อำเภอคุระบุรี เกิดฝนตกหนักและลมกระโชกแรง ส่งผลให้เกิดความเสียหายลมพัดกระเบื้องหลังคาบ้านเรือนประชาชน ได้รับความเสียหายจำนวน 30 หลังคาเรือน ในพื้นที่ 3 ตำบล และต้นไม้ล้มทับบ้านเรือนราษฎรจำนวน 2 หลัง ได้รับความเสียหายแต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ต้นไม้ล้มกีดขวางการจราจรจำนวน 5 จุด 
    ที่ จ.สุราษฎร์ธานี นายปิยะ หนูนิล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ได้ประกาศปิดการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 2-5 ส.ค.2563 
    ที่ จ.ลำปาง ฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเช้า ทำให้น้ำป่าไหลหลากลงมาท่วมในหมู่บ้านของอำเภอวังเหนือหลายหมู่บ้าน และได้ซัดสะพานคอนกรีตขาด ซึ่งเชื่อมจากบ้านทุ่งฮ้าง ม.1 ต.ทุ่งผึ้ง เข้าไปในหมู่บ้านช่อฟ้าและบ้านแม่จอกฟ้า 2 หมู่บ้าน ซึ่งมีประชากรประมาณ 400 ครัวเรือน รถยนต์ไม่สามารถวิ่งข้ามผ่านไปมาได้ ทั้งนี้ นายชัยธวัช ศิวบวร หัวหน้าสำนักงาน ปภ.จ.ลำปาง ได้เดินทางมาตรวจสอบสภาพพื้นที่พร้อมกับผู้นำท้องถิ่น โดยชาวบ้านได้ทำสะพานไม้ไผ่สานขัดแตะนำมาวางพาด เพื่อให้รถมอเตอร์ไซค์วิ่งข้ามผ่านไปมาได้ ทั้งนี้ น้ำป่าที่ไหลตามลำห้วยยังคงเป็นสีแดงโคลนและยังไหลเชี่ยว หากฝนยังคงตกลงมาต่อเนื่องคาดว่าสะพานอาจจะถูกน้ำซัดพังทลายทั้งหมด
    สำหรับ 3 อำเภอที่ประสบอุทกภัย ได้แก่ อ.วังเหนือ ในพื้นที่ตำบลทุ่งฮั้ว ม.5 บ้านผาแดง ม.12 บ้านทุ่งวังทอง ต.วังทอง ม.3 บ้านปงถ้ำ ม.7 บ้านปงทอง ต.วังเหนือ ม.7 บ้านแม่เฮียว ต.วังซ้าย ม.7 บ้านแม่สุก ต.วังทรายคำ ม.1 บ้านทุ่งฮี, อ.แจ้ห่ม ในพื้นที่ ต.ปงดอน ม.4 บ้านเปียงใจ ม.8 บ้านเลาสู ต.ทุ่งผึ้ง ม.5 บ้านแม่ช่อฟ้า ม.8 บ้านแม่จอกฟ้า และ อ.เมืองปาน ในพื้นที่ ต.หัวเมือง ม.1 บ้านขาม ม.3 บ้านต้นงุ้น ม.6 บ้านทุ่งยาง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"