โปรดเกล้าฯ7รมต.ใหม่ ตามโผ‘ดอน’ควบรองนายกฯเอกชนขานรับจี้เร่งฟื้นฟูศก.


เพิ่มเพื่อน    

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ 7 รายแล้ว ไม่มีพลิกโผ แค่ “ดอน” โผล่ควบ “รองนายกฯ” อีกเก้าอี้ ทำให้ประยุทธ์ 2/2 อุดมรองนายกฯ ถึง 6 ตำแหน่ง ภาคเอกชนขานรับแต่จี้เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19  โดยเฉพาะการตกงานที่จะพุ่งขึ้นตามวิถีชีวิตใหม่ “ลุงตู่” ฟุ้งผลงานดันจีดีพีประเทศโตต่อเนื่องหลังทำรัฐประหาร สะกิดสังคมหากยังขัดแย้งอาจทำให้ไทยต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปีถึงผงาดได้

    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 137 ตอนพิเศษ 180 ง ความว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2562 แล้วและแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ตามประกาศลงวันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2562 นั้น
    บัดนี้ นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลว่า ได้มีรัฐมนตรีลาออกบางตำแหน่ง สมควรแต่งตั้งรัฐมนตรีแทนตำแหน่งที่ว่างและเพิ่มเติมบางตำแหน่ง เพื่อความเหมาะสมและบังเกิดประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน
    อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง, นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายอนุชา นาคาศัย เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายปรีดี ดาวฉาย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, นายสุชาติ ชมกลิ่น เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 5 สิงหาคม พุทธศักราช 2563 เป็นปีที่ 5 ในรัชกาลปัจจุบัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
    ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ว่าส่งไปแล้ว แล้วก็จะมีการกำหนดเวลาเข้าเฝ้าฯ สบายใจแล้วกัน จะได้ทำงานกันได้ ทุกอย่างเรียบร้อย
สำหรับ ครม.ประยุทธ์ 2/2 ส่วนใหญ่เป็นไปตามโผก่อนหน้านี้ โดยเป็นคนนอก 2 คนคือ นายสุพัฒนพงษ์ และนายปรีดี ขณะที่อีก 4 รายสังกัดพรรค ทั้งนายอนุชา, นายสุชาติ, นายเอนก และนางนฤมล แต่ที่น่าสนใจคือ การเพิ่มตำแหน่งรองนายกฯ ขึ้นมา 1 ตำแหน่งของนายดอน ทำให้รัฐบาลมีรองนายกฯ ถึง 6 คน จากเดิมที่เพียง 5 คน ทำให้รัฐบาลประยุทธ์ 2/2 มี 36 คน 41 ตำแหน่ง  
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการแต่งตั้งนายดอนควบรองนายกฯ ว่า ไม่ทราบเหตุผล แต่ถ้าให้เดา นายดอนเป็น รมว.การต่างประเทศ ซึ่งในหลายเรื่องที่ต้องเดินทางและทำแทนนายกฯ ที่ผ่านมานายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ เป็นผู้เดินทางไปทำหน้าที่ เมื่อเป็นเช่นนี้ นายดอนก็คงทำหน้าที่ดังกล่าวแทน ซึ่งภารกิจที่นายกฯ ต้องเดินทางไปในต่างประเทศมีมาก หากนายกฯ ไม่ไป จะมอบหมายรัฐมนตรีไม่ได้ ขณะที่ รมว.การต่างประเทศ กต.ต้องไปประชุมในระดับรัฐมนตรีอยู่แล้ว เมื่อแต่งตั้งเป็นรองนายกฯ จะสามารถประชุมแทนนายกฯ ได้ด้วย
    ด้านนายอนุชากล่าวภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งว่า เบื้องต้นรับทราบแล้ว และคงเตรียมความพร้อม เพื่อรอการประสานงานจากผู้เกี่ยวข้องถึงรายละเอียดการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการต่อไป
    นายสุชาติโพสต์เฟซบุ๊ก?ว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง รมว.แรงงาน? ตนเองและครอบครัวรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น และจะขอเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม        
ส่วนนางนฤมลกล่าวว่า ยังไม่ขอพูดอะไรในตอนนี้ ขอให้ผ่านขั้นตอนการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อน จากนั้นจะพูดในนโยบายที่ตั้งใจจะทำงานในส่วนของกระทรวงแรงงานที่ได้รับมอบหมาย
เอกชนจี้เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ
    สำหรับความคิดเห็นของภาคเอกชนนั้น นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า รายชื่อของ ครม.ใหม่ โดยเฉพาะในทีมเศรษฐกิจนั้นเป็นที่ทราบกันมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนได้ เนื่องจากนายสุพัฒนพงษ์และนายปรีดีมีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์การทำงานในภาคเอกชนมาก่อน เชื่อว่าจะเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องการการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน
    “สิ่งเร่งด่วนที่ต้องการให้ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ดำเนินการทันที คือ การตั้งคณะทำงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ เหมือนกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ที่มีหน่วยงานรัฐ และเอกชนเข้าร่วม เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปัญหาปากท้องประชาชน และการขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)”
    ด้านนายสมชาย ภคภาสวิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวว่า ภาพรวมรายชื่อรัฐมนตรีใหม่เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาด ซึ่งถือเป็นรายชื่อที่ยอมรับได้ โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่นายปรีดี ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับ และเป็นที่รู้จักของนักลงทุน ถือว่ามีประสบการณ์การทำงานค่อนข้างมาก ส่วนกรณีนายปรีดี ไม่ได้นั่งควบเป็นรองนายกฯ นั้น ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบแต่อย่างใด เพราะรัฐมนตรีคนไหนก็สามารถนั่งเป็นรองนายกฯ ขอให้ทำงานอย่างมีเอกภาพ เพราะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกกระทรวง เนื่องจากมาตรการต่างๆ เกี่ยวข้องกันระหว่างกระทรวง ดังนั้นคนที่จะมานั่งเป็นรองนายกฯ เพื่อดูแลด้านเศรษฐกิจ จึงต้องบูรณาการการทำงานตรงนี้ให้เป็นเอกภาพ และประสานการทำงานร่วมกันให้ได้ ซึ่งนายกฯ อาจลงมาดูเองก็ได้
        “โจทย์สำคัญของรัฐมนตรีใหม่หลังจากนี้ คือต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นการเร่งด่วน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกติดลบเยอะมาก ตัวเลขส่งออกติดลบมากกว่า 10% สิ่งที่รัฐมนตรีทุกคนต้องเร่งดำเนินการ คือใช้งบที่มีอยู่อย่างจำกัดกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปีนี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อลดการเติบโตที่ติดลบของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ซึ่งงบประมาณมาจากการโยกงบประมาณ 8 หมื่นล้านบาท เงินจากการ พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1.9 ล้านล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายปี 2564 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา จำนวน 3.33 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นงบลงทุน 6 แสนล้านบาท” นายสมชายกล่าว และว่า หากมีการใช้งบดังกล่าวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังอย่างล่าช้า จะทำให้เศรษฐกิจทั้งปี 2563 ติดลบมากกว่าที่คาดการณ์ และจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวเท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 ต้องใช้เวลานานกว่าเดิมอาจถึง 5 ปี แต่หากกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็ว และทำได้สำเร็จ อาจใช้เวลาเพียง 3-4 ปี  
        นายสมชายกล่าวอีกว่า ตอนนี้มีประเด็นปัญหามากคือ งบจากการกู้เงินฉุกเฉิน 1.9 ล้านล้านบาท ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาทนั้นยังเบิกจ่ายจริงได้น้อยมาก รวมถึงเงินกู้ซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำนวน 5 แสนล้านบาทเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอียังปล่อยกู้ได้เพียง 1 แสนล้านบาท แต่สิ่งที่เป็นอันตรายสำหรับเศรษฐกิจอีกเรื่องคือ การคลายล็อกดาวน์ของรัฐบาลที่ทำให้คนเข้าใจผิดว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริง แต่หลังจากนี้จะมีคนตกงาน และธุรกิจปิดกิจการมากขึ้น เพราะว่าการทำธุรกิจจะเข้าสู่วิถีใหม่ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลต้องหามาตรการมารองรับว่าจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร
บิ๊กตู่ฟุ้งผลงานดัน ศก.
    วันเดียวกัน ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว พล.อ.ประยุทธ์ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “พลิกฟื้นประเทศไทย : ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง” ตอนหนึ่งว่า ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2557 จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ อัตราการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจในปี 2557 อยู่เพียง 1% เพราะมีปัญหาความขัดแย้ง ความไม่มีเสถียรภาพ แต่ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 3.1% ในปี 2558 และ 34% ในปี 2559 จากนั้นก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อถึงปี 2563 ประเทศไทยเผชิญปัญหาสำคัญทั้งเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจภายในประเทศ ที่ต้องเผชิญวิกฤตการณ์ทั้งการค้า การลงทุนต่างประเทศ และสิ่งสำคัญที่สุดคือโควิด-19 ซึ่งความรุนแรงยังเกิดขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในต่างประเทศ
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทุกคนทราบดีว่าสถานการณ์เศรษฐกิจอยู่ในช่วงถดถอยทั้งโลก ประเทศไทยที่ว่าแย่ แต่ก็ยังมีหลายประเทศที่แย่มากกว่า ดังนั้นจึงขออย่าท้อแท้ เราต้องทำให้ดีและฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ ทุกคนต้องอดทนบ้าง และคาดว่าจากปีนี้จนถึงปีหน้าและปีต่อไปอีก 2 หรือ 3 ปี กว่าทุกอย่างจะกลับมาฟื้นฟูเข้มแข็งได้ จึงต้องหาวิธีการแก้ไขปัญหา ซึ่งความร่วมมือและความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ ลดความขัดแย้งในหลายๆ ประเด็น สร้างความมีเสถียรภาพเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นทั้งภายในและภายนอกประเทศ วิกฤติครั้งแตกต่างจากครั้งที่ผ่านๆ มา อะไรที่เกิดขึ้นแล้วสามารถแก้ไขได้ก็ต้องทำที่ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งอะไรก็ตาม  
    “เราจะกลับไปสู่ที่เก่ากันหรือ ผมคิดว่ามันยังไม่ใช่ และยังไม่ถึงเวลานี้ แต่ทั้งหมดก็สุดแล้วแต่พวกท่าน เพราะพวกท่านคือผู้ที่จะตัดสินอนาคตประเทศไทย ผมเองก็ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารของผมให้ดีที่สุด” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า วันนี้เราได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี อีกทั้งประเทศไทยก็มีความพร้อม ขอเพียงอย่างเดียวประเทศเราต้องมีเสถียรภาพ อย่าให้มีความวุ่นวาย ไม่เช่นนั้นนักธุรกิจและนักลงทุนจะรู้สึกไม่ปลอดภัยในการที่จะมาลงทุน ไม่เกิดความเชื่อมั่น ทุกฝ่ายจึงต้องช่วยกัน  
    พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงกรณีระบุว่าเศรษฐกิจไทยต้องรับมือไปอีก 1-2 ปี ว่าต่างประเทศก็เหมือนเรา ต้องใช้เวลา 1 ถึง 3 ปี ถ้าเราไม่ร่วมมือ หรือสร้างความเข้มแข็งในวันนี้ มันจะไปอย่างไร ก็อาจต้องนานเกิน 2 ปี ถ้ามัวแต่ตีกันไปตีกันมาแบบนี้ มันจะไปได้อย่างไร
    เมื่อถามว่า ?เงินกู้ 4? แสนล้านบาทจะออกมาใช้ได้เมื่อไหร่? พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ออกและอนุมัติไปแล้ว วันนี้รอบ 2 กำลังจะออกมา อย่างตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีก็กำลังจะดีขึ้น ดังนั้นภายในประเทศต้องมีความสงบและมีเสถียรภาพ จะได้ค้าขายกันได้ แต่ถ้ามันวุ่นวายกันหมดค้าขายไม่ได้ มันก็จะกลับไปสู่เหตุการณ์เมื่อปี 2557 ซึ่งขณะนี้ภาคการท่องเที่ยวถึงวันนี้ถือว่าดีขึ้น.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"