จ่อเด้ง 3ผู้การฯเซ่น สงกรานต์


เพิ่มเพื่อน    

   ปิดฉาก 7 วันอันตรายสงกรานต์ปี 61 สถิติสูงกว่าปี 60 หลังเกิดอุบัติเหตุรวม 3,724 ครั้ง เสียชีวิต 418 ศพ บาดเจ็บ 3,897 คน "คสช." ยึดรถขี้เมาก็เพิ่ม 100% "จักรทิพย์" เต้น! เตรียมเชือด "3 ผู้การจังหวัด" หย่อนยานไม่สนองคำสั่งดูแล ปชช. พร้อมรับลูก "บิ๊กป้อม" คุมเข้ม กม.จราจรต่อเนื่องทั้งปี
    เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2561 นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานแถลงสรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย. ของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561 ในการรณรงค์ "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" ช่วง 7 วันอันตราย ว่าเกิดอุบัติเหตุ 3,724 ครั้ง เสียชีวิต 418 ราย บาดเจ็บ 3,897 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือตายเป็นศูนย์ มี 4 จังหวัด ได้แก่ ระนอง สมุทรสงคราม หนองคาย และหนองบัวลำภู 
    นายสุธีกล่าวว่า จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 133 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 20 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 142 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 40.28 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 26.50 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.85 รถปิกอัพ 7.17 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.66,  ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.57, บนถนนกรมทางหลวงร้อยละ 37.51 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 28.65
    รมช.มหาดไทยกล่าวว่า สำหรับอุบัติเหตุทางถนนเฉพาะวันที่ 17 เม.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์  เกิดอุบัติเหตุ 307 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 26 ราย ผู้บาดเจ็บ 336 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 27.69 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 25.73 และตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 18.89 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.35 รถปิกอัพ 8.05 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 66.45,  บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 42.35, ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 29.64 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 29.32 
    "จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนพบสาเหตุหลักยังคงเกิดจากการดื่มแล้วขับ และขับรถเร็ว รวมถึงผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 79.85 ซึ่ง ศปถ.ได้ประสานจังหวัดบูรณาการสร้างความปลอดภัยทางถนนและต่อเนื่องตลอดทั้งปี ในรูปแบบการประสานพลังประชารัฐวางกลไกการบริหารจัดการอุบัติเหตุครอบคลุมทุกปัจจัยเสี่ยง ทั้งคน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะพฤติกรรมเสี่ยงดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย และรถจักรยานยนต์ไม่ปลอดภัย" รมช.มหาดไทยกล่าว
    ทั้งนี้ สำหรับสถิติอุบัติเหตุทางถนนรวม 7 วันของเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 (11-17 เม.ย.60) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,690 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 390 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,808 คน
    ด้าน พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สรุปมาตรการ “ดื่มไม่ขับ จับยึดรถ” ตลอดช่วง 7 วัน ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย.2561 ว่า ตรวจพบผู้ฝ่าฝืนมาตรการ 490,512 ครั้ง แยกเป็น รถจักรยานยนต์ 280,631 ครั้ง, รถโดยสารสาธารณะ/รถยนต์ 209,881 ครั้ง ซึ่งลดลงจากสถิติผู้กระทำผิดในปี 2560 ประมาณร้อยละ 38 
      ​​"สำหรับการยึดรถที่ฝ่าฝืนมาตรการดื่มไม่ขับในปี 2561 นี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 16,288 คัน แยกเป็นจักรยานยนต์ 11,768 คัน และรถยนต์ 4,520 คัน ซึ่งสถิติการยึดรถเพิ่มขึ้นคิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ จากมาตรการดื่มไม่ขับห้วงสงกรานต์ 2560 ยึดรถรวม 8,128 คัน"
     รองโฆษก คสช.กล่าวว่า ในส่วนของการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในปีนี้ มีทั้งหมด 310,299 คน แยกเป็น รถจักรยานยนต์ 196,613 คน รถโดยสารสาธารณะ/รถยนต์ส่วนบุคคล 113,686 คน ซึ่งเป็นสถิติที่ลดลงจากปี 2560 คิดเป็นร้อยละ 35
    ขณะที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงยอดอุบัติเหตุทางถนนช่วง 7 วันอันตรายสงกรานต์เพิ่มขึ้นว่า รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชน โดยให้ทุกส่วนของภาครัฐและเอกชน ทั้งตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง ร่วมกันหามาตรการ เอาบทสรุปของแต่ละปีมาเป็นตัวตั้ง ซึ่งมาตรการต่างๆ เราสามารถควบคุมได้ แต่วินัยผู้ขับขี่เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งรถยนต์ จักรยานยนต์ ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรเป็นเรื่องสำคัญมาก
    "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ได้สั่งการให้ปฏิบัติแบบนี้ตลอดไปด้วยซ้ำ และให้ไปประชุมแต่ละภาค ให้สรุปแต่ละภาคจะมีมาตรการอย่างไรต่อ และให้ออกคำสั่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น ไม่เฉพาะเทศกาลต่างๆ เพราะยอดการเสียชีวิตจะอยู่ที่ถนนรอง และถนนชนบท ดังนั้นแต่ละภาคต้องร่วมประชุมหารือร่วมกัน" พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าว
    ผบ.ตร.กล่าวว่า ในส่วนตำรวจในวันที่ 19 เม.ย. ตนจะมีคำสั่งให้ตำรวจระดับผู้บังคับการ 3 จังหวัด มาช่วยราชการ แต่จะตั้งกรรมการสอบหรือไม่ จะพิจารณาอีกที เพราะได้สั่งกำชับการปฏิบัติงานไปแล้วกลับไม่สนองตอบหรือหย่อนยานปล่อยปละละเลย 
    "ชีวิตประชาชนสำคัญ เป็นผู้การจังหวัด เป็นหัวหน้าหน่วย การดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่สำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็ทำงานอยู่ในพื้นที่ แต่มีส่วนน้อยเท่านั้นเอง" ผบ.ตร.กล่าว
    ส่วน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า หลังจากนี้จะนำปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาปรับปรุงและแก้ไข เพื่อเพิ่มมาตรการในการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลอื่นต่อไป โดยเฉพาะในส่วนของการเกิดอุบัติเหตุบนถนนสายรองที่มีการสูญเสีย และเกิดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุเป็นจำนวนมาก ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีแนวคิดจะเพิ่มด่าน จุดสกัด และเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการปกครอง ศูนย์ความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเพิ่มมาตรการลดการสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนต่อไปในอนาคต
    วันเดียวกัน พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร. แถลงสรุปผลการปฏิบัติงานตามมาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และโครงการประชารัฐร่วมใจ ดูแลความปลอดภัยบ้านประชาชน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2561 ว่า ห้วงวันที่ 11-17 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา มีประชาชนสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 8,348 หลัง คืนแล้ว 6,598 หลัง คงเหลือ 1,750 หลัง   โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 2,421 หลัง หรือคิดเป็นร้อยละ 40.8 อยู่ระหว่างการคืนบ้านให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดูแลความปลอดภัย ไปจนกว่าจะคืนบ้านหลังสุดท้ายให้กับเจ้าของบ้าน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานจากสถานีตำรวจพื้นที่ที่รับผิดชอบตามโครงการว่ามีเหตุการณ์ไม่ปกติกับบ้านที่เข้าร่วมโครงการแต่อย่างใด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"