ทหารวอน‘ม็อบนักศึกษา’ อย่ามองเป็นฝ่ายตรงข้าม


เพิ่มเพื่อน    

  “บิ๊กลือ” ไม่สบายใจม็อบ นศ.เรียกร้อง 10 ข้อ แนะอย่ามองเป็นฝ่ายตรงข้าม เปรียบครอบครัวเดียวกันมีความเห็นต่างต้องทำความเข้าใจ "แรมโบ้-ส.ส.พปชร." จวกคนอยู่เบื้องหลังให้ยุติหนุนม็อบ เตือนคนไทยส่วนใหญ่จะออกมาปกป้องสถาบันฯ  แบบมืดฟ้ามัวดิน นายกสภา มธ.เรียกถกด่วน 13 ส.ค.นี้ 105 คณาจารย์ออกโรงหนุน นศ. อ้างข้อเสนอ 10 ข้ออยู่ในกรอบกฎหมายไม่ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ขณะที่ "ก๊วนปลดแอก" ไม่หยุด ปลุกชุมนุม 16 ส.ค. ด้าน กมธ.กฎหมายชงสภาออก กม.นิรโทษกรรมคดีการเมือง ตั้ง ส.ส.ร.-ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ จี้เหล่านายกฯขอโทษสังคม "ชวลิต" ยันไม่ได้เกี๊ยะเซียะคู่ขัดแย้งพร้อมขอโทษสังคม  

    เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ที่กองดุริยางค์ทหารเรือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวถึงการชุมนุมของนักศึกษาที่มีข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่ล่อแหลมว่า เป็นความไม่สบายใจ ไม่ใช่แค่เฉพาะทหาร แต่เชื่อว่าประชาชนทั่วไปก็ไม่สบายใจเช่นกันที่มีการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะที่มีเยาวชนมาทะเลาะกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควร ทั้งนี้ ตนไม่เคยเห็นว่าเยาวชนเป็นฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ และจากที่ตนเคยลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยต่างๆ ก็พูดให้โอวาทเสมอ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ว่าอย่าคิดว่าเขาเป็นฝ่ายตรงข้าม ต้องคิดว่าเขาเป็นครอบครัว ซึ่งความคิดอาจจะแตกต่างกันบ้าง ก็ต้องให้เหตุผลและชี้แจงกันไป เมื่อเขาเข้าใจก็ร่มเย็นเอง
    "เช่นเดียวกับเยาวชนที่มีความรุนแรงและมีความเห็นที่แตกต่างถือเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนกับการมีลูกหลายคน ก็อาจจะมีที่แตกแถวบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราก็เป็นครอบครัว เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่เป็นครอบครัวใหญ่ อาจมีคนนอกลู่นอกทางและต่างความคิดบ้าง แต่เมื่อเข้าใจ พูดจารู้เรื่อง ก็ทำเพื่อประเทศชาติของเรา"
    เมื่อถามว่าจะใช้วิธีไหนเพื่อสร้างความเข้าใจ พล.ร.อ.ลือชัย กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าทหารเรือไม่ใช่เอกเทศ มีผู้บังคับบัญชา ดังนั้นต้องฟังผู้บังคับบัญชา อีกทั้งกองทัพเป็นเครื่องมือรัฐบาล เมื่อรัฐบาลว่าอย่างไรเราก็ต้องทำตามรัฐบาล หากเราไปอีกทางก็จะขัดนโยบายรัฐบาล และ ผบ.ทร.ก็ต้องโดนก่อนเพื่อน
    นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามการชุมนุมมาโดยตลอด พร้อมแสดงความเป็นห่วงและไม่สบายใจในเรื่องนี้ และได้ย้ำเตือนตลอดว่าอย่าทำผิดกฎหมาย แม้ว่าการเคลื่อนไหวต่างๆ จะสามารถทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย แต่จากการได้เห็นการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาแล้ว รู้สึกไม่สบายใจ และไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการก้าวล่วงสถาบันเบื้องสูง ทั้งนี้ยังไม่อยากให้นิสิตนักศึกษาเบี่ยงประเด็นข้อเรียกร้องก่อนหน้านี้ ซึ่งในขณะนี้นายกฯ อยู่ระหว่างการเตรียมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นนักศึกษา และให้ทางสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว.พูดคุยกัน เพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามขั้นตอนที่เหมาะสมต่อไป
    "อยากให้คณะอาจารย์ได้ออกมาเตือนนิสิตนักศึกษาที่กำลังเคลื่อนไหวในขณะนี้ด้วยว่า การปราศรัยต่างๆ มีความเหมาะสมหรือไม่ มีการปราศรัยกระทำผิดกฎหมายชัดเจน ยังไม่อยากให้นิสิตนักศึกษาที่บริสุทธิ์ตกเป็นเครื่องมือคนที่คิดล้มล้างสถาบันฯ และจะทำให้เกิดความขัดแย้งบ้านเมืองวุ่นวาย"
    นายสุภรณ์ตั้งข้อสังเกตถึงการจัดการชุมนุมในครั้งนี้ว่า จะต้องมีผู้อยู่เบื้องหลัง เพราะจากการจัดงานต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากมีคนอยู่เบื้องหลังจริง ก็ขอให้ยุติการกระทำดังกล่าว เพราะไม่เกิดผลดีกับประเทศเลย สถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทยทั้งชาติ อย่าได้ก้าวล่วงเด็ดขาด เพราะจะทำให้คนไทยส่วนใหญ่ทนไม่ไหวกับกลุ่มคนที่ออกมาล่วงละเมิด จนต้องออกมาแสดงพลังปกป้องสถาบันฯ กันมากมายทั่วบ้านทั่วเมืองแบบมืดฟ้ามัวดินอย่างแน่นอน ซึ่งตนไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น
เตือนไอ้โม่งยุติหนุนหลัง
     นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นขณะนี้นั้นเป็นที่ทราบกันว่าใครอยู่เบื้องหลัง และทำไปเพราะต้องการอะไร ซึ่งการชุมนุมก็ควรอยู่ในกรอบของกฎหมาย ตามสิทธิและเสรีภาพ อย่ากระทำการใดๆ ที่เกินกรอบอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่าก้าวล่วงสถาบันอันเป็นที่รักและเคารพของคนไทยทั้งประเทศ คนที่ให้การสนับสนุนควรที่จะหยุดพฤติกรรมดังกล่าวเสียที เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่ามีใครบ้าง ทั้งนี้อีกไม่นานก็จะถึงวันเลือกตั้งใหม่ ดังนั้นเมื่อครบกำหนดและมีการกำหนดวันเลือกตั้ง ทุกคนก็สามารถกระทำการใดๆ ได้ตามกรอบของกฎหมาย และต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตยตามที่เรียกร้องมา
    "ดังนั้นถึงเวลาสำหรับคนที่หนุนหลังและพยายามที่จะยุยงและสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้น ที่วันนี้ชัดเจนว่าได้ให้เด็กและเยาวชนนั้นอยู่แนวหน้า แต่ตัวเองนั้นกลับมาอยู่แถวหลัง จึงอยากให้คนที่หนุนหลังและกระทำการสนับสนุนการชุมนุมนั้นเปิดหน้าออกมาสู้ตามระบอบประชาธิปไตย และสิ่งที่สำคัญ ห้ามก้าวล่วงสถาบันฯ เด็ดขาด" นายเอกราชกล่าว
    นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากให้การชุมนุมของนิสิตนักศึกษาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่สร้างเงื่อนไขใดๆ ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคม ขอให้มุ่งมั่นในเป้าหมายข้อเรียกร้องของการชุมนุม 3 ข้อที่เคยประกาศไว้ และเชื่อว่าถ้าการชุมนุมของนิสิตนักศึกษายังอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และยังมุ่งมั่นในข้อเรียกร้อง 3 ข้อเดิม ก็จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่รักประชาธิปไตยอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น และเชื่อว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการจัดตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่     
    นายพิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ อดีตโฆษกกระทรวงมหาดไทย และแกนนำ นปช. กล่าวว่า อยากขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายตั้งสติให้ดี อย่าเชียร์จนออกนอกหน้า และอย่าแช่งชักจนหักกระดูก เพราะต้องยอมรับ ว่าสถานการณ์นี้มันคือวิกฤติทางความคิดในสังคมคนรุ่นหนึ่ง ต้องเข้าใจคนอีกรุ่น คนอีกรุ่นก็ต้องเข้าใจคนอีกรุ่น ทุกคนต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน ถ้ายึดถือว่าความคิดของกลุ่มตนถูก ของอีกกลุ่มผิด มันจะเดินต่อไม่ได้ สุดท้ายก็มีการประหัตประหารกัน ยืนยันว่าขอเรียกร้องให้รัฐบาลต้องแก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน และต้องไม่คุกคามประชาชน อะไรที่ดูล่อแหลมแต่ไม่ผิดกฎหมายก็ต้องปล่อยให้เขาแสดงสิทธิของเขา และอะไรที่ล่อแหลม น้องๆ เราก็พึงต้องระวัง ท่านอาจต้องการการเปลี่ยนแปลงทั้งกระดาน
     นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ตำรวจเร่งจับกุมและดำเนินคดีแกนนำกลุ่มผู้โจมตีและหมิ่นสถาบันฯ ที่ ม.ธรรมศาสตร์โดยเร็ว พฤติการณ์และการกระทำของกลุ่มดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และ ม.116 โดยชัดแจ้งถือว่าเป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของสังคม เพราะเป็นการก้าวล่วงศูนย์รวมจิตใจของคนไทย ทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะเจ้าของสถานที่ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้ใช้มหาวิทยาลัยมุ่งให้ร้ายโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ย่อมมีความผิดตามไปด้วยในฐานะ “ผู้สนับสนุน” แม้มีการขอโทษของรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ไม่เพียงพอสำหรับความผิดที่ได้กระทำการสำเร็จไปแล้วนี้ ควรรีบแสดงสปิริตประกาศลาออกจากตำแหน่ง และเดินไปมอบตัวที่ สถานีตำรวจย่อย มธ.ศูนย์รังสิต เสียโดยพลัน
นายกสภามธ.นัดถก13สค.นี้
    นอกจากนั้น ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งจับกุมแกนนำหรือบุคคลที่ปรากฏรายชื่อรวม  31 คนให้ครบโดยเร็ว ที่ได้กระทำการยุยงปลุกปั่นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน รวมทั้งให้ตั้งข้อหากบฏตามประมวลกฎหมายอาญา  ม.113 ด้วย เพราะปรากฏหลักฐานข้อความบนเวทีอย่างชัดเจนที่ว่า “เราไม่ต้องการปฏิรูป แต่เราต้องการปฏิวัติ” จึงเป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะต้องเร่งรีบรวบรวมพยานหลักฐานและจับกุม เพื่อนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายอาญาแผ่นดินเสีย
    มีรายงานว่า นายนรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกประชุมด่วนสภามหาวิทยาลัยฯ เพื่อปรึกษาหารือถึงเหตุการณ์การชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่เกิดขึ้นบริเวณลานพญานาค ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยนัดหมายหารือกันที่ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ ตึกโดม ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 13 ส.ค. เวลา 13.00 น.
     นายคณิต ลิมปิพิชัย นายกสมาคมสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ แสดงจุดยืนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกสมาคมฯ และกรรมการคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา พร้อมระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดกระแสความไม่สบายใจแก่ชาวไทยในวงกว้าง ตนรู้สึกไม่สบายใจและรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ในฐานะศิษย์เก่า และผู้ที่สนับสนุนกิจกรรมของมหาวิทยาลัย การกระทำทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้คนต่อสมาคมฯ จึงขอแสดงจุดยืนต่อเหตุการณ์นี้ด้วยการลาออกจากตำแหน่งนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
    ขณะเดียวกัน คณาจารย์จำนวน 105 คน จาก หลายมหาวิทยาลัย อาทิ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ม.เชียงใหม่, ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์,   รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม. ธรรมศาสตร์, ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, อาจารย์อุเชนทร์ เชียงเสน สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์, ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม, รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล ม.พะเยา ฯลฯ ได้ออกแถลงการณ์กรณีข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของผู้ชุมนุม
    โดยแถลงการณ์ระบุว่า สืบเนื่องจากการจัดเวทีชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน และการปราศรัยในวันที่ 10 ส.ค.ที่ มธ. ศูนย์รังสิต การปราศรัยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่มีการพูดถึงบทบาทและปัญหาของสถาบันกษัตริย์และสังคมไทยอย่างเปิดเผย เป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างสุจริตและเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย ข้อเสนอทั้งสิบประการของผู้ชุมนุมมิได้เป็นการละเมิดกฎหมายอาญาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ไม่ปรากฏข้อความใดที่ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม ข้อเสนอเหล่านี้คือข้อเสนออย่างตรงไปตรงมาในการธำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
         มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันทางวิชาการซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการแสวงหาทางออกเพื่อความก้าวหน้าของสังคมไทย ควรแสดงให้เห็นและสนับสนุนให้สังคมไทยเผชิญหน้ากับปัญหาอันท้าทายนี้ ด้วยความอดทนอดกลั้น แม้ว่าอาจจะมีความเห็นมากมายที่เราไม่ได้ถูกใจ แต่ตราบใดที่ความเห็นนั้นไม่ได้ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงขึ้นในสังคม การยอมรับความเห็นต่าง และการเปิดพื้นที่เพื่อพูดคุยต้องเป็นทางออกที่สังคมอารยะเลือกใช้ การประณามความคิดเห็นแตกต่างว่าเป็นการก้าวล่วงหรือจาบจ้วงนั้นไม่ได้ทำให้สังคมของเราเติบโตทางปัญญา การถกเถียงพูดคุยทั้งหมดจะถูกลดทอนคุณค่าว่าเป็นเพียงความคิดเห็นที่ก้าวร้าว
ปลดแอกปลุกม็อบ16ส.ค.
        ด้านองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกแถลงการณ์ระบุว่า กรณีเหตุการณ์การชุมนุมในวันที่ 10 สิงหาคม ไม่ใช่เรื่องที่ขัดต่อกฎหมาย แต่เป็นการแสดงออกซึ่งสามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในส่วนของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบตามที่สังคมกดดัน เราพร้อมยืนหยัดอยู่เคียงข้างนักศึกษาดั่งคำมั่นที่เรามีให้ต่อทุกคน และพร้อมจะเผชิญปัญหาเพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย ความถูกต้อง และเป็นธรรมให้อยู่คู่กับเราธรรมศาสตร์และประเทศชาติต่อไป "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน"
     เพจเฟซบุ๊ก “คณะประชาชนปลดแอก -  Free People” คณะประชาชนปลดแอกได้ประกาศนัดหมายการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ในวันอาทิตย์ที่ 16 ส.ค.2563 ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เวลา 15.00-21.00 น. และเพื่อเป็นแนวทางที่ชัดเจนในการเคลื่อนไหว รวมถึงสร้างความเข้าใจให้กับสาธารณชน จึงแถลงหลักการผ่าน 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1  ความฝัน ดังนี้ 3 ข้อเรียกร้อง ประกอบด้วย 1.รัฐบาลต้อง “หยุดคุกคามประชาชน” ที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตย 2.รัฐบาลต้อง “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ที่มาจากเจตจำนงของประชาชน 3.รัฐบาลต้อง “ยุบสภา” บนหลักของ 2 จุดยืน คือ 1.ต้องไม่มีการทำรัฐประหาร 2.ต้องไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และอีก 1 ความฝัน ที่หวังให้เกิดขึ้นในประเทศไทย คือการมี  “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” อย่างแท้จริง
    "ความฝันนี้มิใช่ความฝันอันเลื่อนลอย แต่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ตามกระบวนการรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย ความต้องการที่แท้จริงของประชาชนจะถูกพูดถึงอย่างเป็นรูปธรรม และไม่ว่าจะเป็นใครที่อยู่ในประเทศนี้ จะต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเสมอหน้ากันโดยไม่มีข้อยกเว้น" คณะประชาชนปลดแอกระบุ
    ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 13 ส.ค.นี้ มีวาระสำคัญการประชุมคือ รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องแนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ ตามที่คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน ได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีการเสนอแนวทางสร้างความปรองดองและสมานฉันท์คนในชาติ เพื่อขจัดความขัดแย้งในสังคม โดยมีการเสนอแนวทางการนิรโทษกรรม เพื่อสร้างความปรองดอง มีเงื่อนไขคือการนิรโทษกรรมเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548-ปัจจุบัน โดยเป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเท่านั้นคือ การกระทำต่างๆ ของประชาชนที่ทำไปเพื่อแสดงออกถึงความคิดทางการเมือง หรือมีเหตุจูงใจทางการ เมือง ไม่รวมถึงการทำผิดคดีอาญา ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคดีทุจริตคอร์รัปชัน โดยเสนอให้ตราเป็นกฎหมายพิเศษ เช่น การออก พ.ร.ก. หรือการออก พ.ร.บ.
     ขณะเดียวกัน กมธ.ยังเสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ถูกออกแบบวางกติกาไว้เพื่อการสืบทอดอำนาจ โดยเสนอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และให้นายกรัฐมนตรีระบุรายละเอียดเรื่องกรอบเวลาของกระบวนการแก้ไขให้ชัดเจน เมื่อแก้ไขเสร็จควรยุบสภาทันทีแล้วจัดเลือกตั้งใหม่ หากปล่อยเวลาให้นานไปเท่าใด การแก้ปัญหาความขัดแย้งจะเป็นไปได้ยาก ขณะที่เรื่องการทำหน้าที่ของสื่อเสนอให้สื่อปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่นำเสนอข้อมูลหรือถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง ยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงต่อคู่ขัดแย้ง ส่วนเรื่องการเยียวยานั้น รัฐบาลต้องเยียวยาอย่างจริงจัง เป็นระบบ ทั่วถึง และต่อเนื่อง ครอบคลุมความเสียหายทางร่างกายและจิตใจ และชดเชยให้กลับคืนสู่สภาเดิมมากที่สุด โดยไม่จำกัดการเยียวยาด้วยตัวเงินเท่านั้น
ชงนิรโทษกรรมไม่เกี๊ยะเซียะ
     ในรายงานดังกล่าวยังมีการเสนอแนวทางให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความขัดแย้งทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน พรรคการเมือง ผู้นำชุมนุม ฝ่ายความมั่นคง สื่อมวลชน ขอโทษต่อสาธารณชน โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศในช่วงสถานการณ์รุนแรงหรือนายกฯ ที่บริหารประเทศในสถานการณ์ปัจจุบัน ควรแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฐานะผู้นำรัฐบาล เนื่องจากรัฐมีความบกพร่อง ขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการบริหารความขัดแย้งทางการเมืองให้ดำเนินไปตามครรลองสันติวิธี
    นอกจากนี้ กมธ.ยังเสนอถึงการทำหน้าที่ของกองทัพ ควรทำภารกิจของกองทัพ งดเว้นการทำรัฐประหารหรือแทรกแซงทางการเมือง เช่น การใช้อิทธิพลกดดันนโยบายรัฐบาล การข่มขู่ใช้กำลังหรือยึดอำนาจ กองทัพต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องปลูกฝังจิตสำนึกทหารให้ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย ในการถวายสัตย์ปฏิญาณของเหล่าทัพควรกำหนดว่าจะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่ทำการปฏิวัติรัฐประหาร รวมถึงยังมีข้อเสนอไปยังผู้นำการชุมนุมว่า แม้เสรีภาพการชุมชุมจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย แต่การใช้สิทธิเสรีภาพใช่ว่าจะทำได้โดยไม่มี ขอบเขตจำกัด การชุมนุมจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญคือ โดยสงบ ปราศจากอาวุธ
    ด้านนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธาน กมธ.การกฎหมายฯ กล่าวว่า รายงานการศึกษาเรื่อง แนวทางการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ ที่ กมธ.จะนำเข้าสภาในวันที่ 13 ส.ค.นั้น ได้เชิญฝ่ายต่างๆ ที่เป็นคู่ขัดแย้งกันมาให้ข้อมูลต่อ กมธ. เพื่อหาข้อสรุปการสร้างความปรองดอง ยุติความขัดแย้งคนในชาติที่ยาวนานมา 16 ปี ข้อสรุปหนึ่งในนั้นคือการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ไม่รวมการกระทำผิดคดีอาญา ความผิดตามมาตรา 112 และคดีทุจริต การนิรโทษกรรม
    "ครั้งนี้ไม่ใช่การเกี๊ยะเซียะระหว่างผู้กระทำผิด แต่ผู้กระทำผิดต้องมีสำนึกรับผิด ออกมาขอโทษต่อสังคม ทั้งผู้นำรัฐบาลในอดีตและรัฐบาลปัจจุบัน เท่าที่ได้ฟังข้อมูลจากคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายต่างพร้อมขอโทษต่อสังคม การ นิรโทษกรรมครั้งนี้จะสำเร็จได้ ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความสามัคคี ให้บ้านเมืองพ้นจากวิกฤติหลังจากนี้  เพราะวิกฤติเศรษฐกิจโควิดถือว่าสาหัสแล้ว ถ้ายังมีเรื่องความแตกแยกอีก จะยิ่งไปกันใหญ่ ดังนั้นอยากให้นายกรัฐมนตรีนำเรื่องการสร้างความปรองดองที่ กมธ.เสนอไปสานต่ออย่างจริงจัง" นายชวลิตกล่าว
    ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2563 เพื่อมาบังคับใช้ โดยมีรายละเอียดทั้งหมด 5 มาตราคือ มาตรา 1 ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และให้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาใช้บังคับแทนไปพลางก่อน จนกว่าจะได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับถาวรต่อไป มาตรา 2 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทำใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญให้บัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
    มาตรา 3 ให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ  มาตรา 4 ให้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่นำมาใช้ไปพลางก่อนภายใน 60 วัน นับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และมาตรา 5 การร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 โดยให้แล้วเสร็จและประกาศใช้ภายใน 120 วัน นับแต่วันจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
    ทั้งนี้ เชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้จะช่วยลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และสร้างความชอบธรรมให้กับประชาชน รวมถึงเป็นทางออกให้กับประเทศไทย ได้ทางออกให้กับประเทศไทย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"