ตั้งศูนย์เรียนรู้ 'ขยะเหลือศูนย์' บ้านดอนกลอย ด่านขุนทด ชุมชนปลอดขยะรางวัลถ้วยพระราชทานฯ


เพิ่มเพื่อน    

17 ส.ค.63 - กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) ชุมชนบ้านดอนกลอย จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นชุมชนปลอดขยะ รางวัลถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2562 นับเป็นชุมชนแห่งที่ 2 ของจังหวัดนครราชสีมา ที่ได้รับการยกระดับให้เป็นศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อการศึกษาดูงานให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรชุมชน โดยมีนางภาวินี ณ สายบุรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นประธานพิธีเปิด

นางภาวินี กล่าวว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้นำแนวคิดการจัดการขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) โดยใช้หลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) มาส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานชุมชนปลอดขยะ เป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี โดยได้พัฒนาและยกระดับขึ้นเป็น "ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะเหลือศูนย์" ในชุมชนมาแล้ว 19 แห่ง เพื่อเป็น “ชุมชนต้นแบบ” ร่วมขยายผลการดำเนินงานจัดการปัญหาขยะของชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งในปีนี้ จัดตั้งเพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง ได้แก่ 1.ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะเหลือศูนย์ ชุมชนบ้านดอยกลอย จ.นครราชสีมา 2.ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะเหลือศูนย์ชุมชนบ้านโนนกล้วยหอม จ.ขอนแก่น และ 3.ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะเหลือศูนย์ชุมชนบ้านรางพลับ จ.ราชบุรี โดยทั้งหมดเป็นชุมชนปลอดขยะ ที่ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2562 ประเภทชุมชนขนาดเล็ก ชุมชนขนาดกลาง และชุมชนขนาดใหญ่ ตามลำดับ

บ้านดอนกลอย เป็นชุมชนขนาดเล็กแห่งแรกใน ต.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานฯ ประเภทชุมชนปลอดขยะ และนับเป็นชุมชนปลอดขยะแห่งที่ 2 ของจังหวัดที่ได้รับการยกระดับให้เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะเหลือศูนย์ ต่อจากชุมชนหนองโจด ต.โนนแดง ซึ่งเป็นชุมชนปลอดขยะ รางวัลถ้วยพระราชทานฯ ประเภทชุมชนขนาดกลาง เมื่อปี 2558

โดยชุมชนบ้านดอนกลอย ได้ยึดหลัก “ผู้ก่อขยะ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ” จึงร่วมกันดำเนินโครงการ “ชุมชนปลอดขยะ”มาตั้งแต่ปี 2555 ด้วยกระบวนงาน 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1.เริ่มต้นที่ความรู้ไปสู่ความเข้าใจ อบรมให้ความรู้ชาวบ้านในการจัดการขยะที่ถูกต้อง 2. หารือ วางแผน และกำหนดแนวทางในการจัดการขยะในชุมชนร่วมกัน เน้นการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ตามหลัก 3Rs ตั้งเป้าลดปริมาณขยะในปี 2562 ให้เหลือวันละ 3 กิโลกรัมต่อวัน และ 3. ลงมือ จัดการ ตาม Roadmap ที่กำหนด

ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการฯ สามารถลดปริมาณขยะในชุมชนได้จำนวนมาก จาก 45 กิโลกรัมต่อวัน ในปี 2555 เหลือเพียง 4 กิโลกรัมต่อวัน ในปี 2561 โดยเฉพาะขยะอินทรีย์ที่มีมากถึง 64% ของชุมชน แต่สามารถจัดการและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เกือบ 100% เช่น นำมาเป็นอาหารสัตว์ ทำปุ๋ยอินทรีย์ ทำน้ำหมักชีวภาพ ทำถังขยะเปียก ส่งผลให้แต่ละวัน มีขยะอินทรีย์เหลือเพียง 2.46 กิโลกรัม จากเดิมที่เหลือมากถึง 28.8 กิโลกรัม

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการคัดแยกขยะในครัวเรือน จัดตั้งกองทุนขยะรีไซเคิล ใช้ QR CODE แทนการแจกเอกสาร จัดกิจกรรมลดใช้ถุงพลาสติกและโฟมในร้านค้าส่งเสริมให้ใช้ปิ่นโต หิ้วตะกร้าไปทำบุญ จัดเลี้ยงอาหารแบบไม่ให้เหลือทิ้ง ทำสิ่งประดิษฐ์จากขยะ และนำขยะอันตรายส่ง อปท.กำจัด ที่สำคัญ ยังได้สร้างผลผลิตธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชน ทั้งตู้เย็นหลังบ้าน สวนผลไม้ข้างบ้าน รวมถึงการเลี้ยงไก่เพื่อนำมาประกอบอาหาร หากผลิตเหลือก็จะนำมาวางขายที่ร้านค้าของชุมชน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"