พลเอกอนันตพร รัฐมนตรี พม. มอบบ้านมั่นคง จ.นครสวรรค์-อุทัยธานี 330 ครอบครัว


เพิ่มเพื่อน    

จ.นครสรรค์-อุทัยธานี / พลเอกอนันตพร รัฐมนตรีกระทรวง พม. ลงพื้นที่ จ.นครสวรรค์และอุทัยธานี เพื่อมอบบ้านมั่นคง  2 ชุมชน  รวม 330  ครอบครัว เผยแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี  ตั้งเป้าแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศกว่า 1 ล้านครัวเรือน  ขณะที่ภาคประชาชนยื่นข้อเสนอผ่าน รมว.พม.ขอใช้ที่ดินรัฐในรูปแบบการเช่าระยะยาวสร้างบ้านเพื่อให้คนจนทั่วประเทศมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  

วันนี้ (19 เมษายน)  เวลา  9.30 น.  พลเอกอนันตพร  กาญจนรัตน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และคณะ ได้เดินทางมาที่ชุมชนรณชัยและชุมชนสวรรค์เมืองใหม่  เขตเทศบาลนครนครสวรรค์  อ.เมือง  จ.นครสวรรค์  เพื่อเป็นประธานในพิธีมอบบ้านมั่นคงชุมชนสวรรค์เมืองใหม่  จำนวน  102 ครัวเรือน  รวมทั้งเป็นสักขีพยานในการมอบทะเบียนบ้าน  สัญญาเช่าที่ดินจากธนารักษ์จังหวัดให้ทั้ง 2 ชุมชน  และการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมของหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยใน จ.นครสวรรค์  โดยมีนายธนาคม  จงจิระ  ผู้ว่าราชการ จ.นครสวรรค์  ตัวแทนส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัด และนายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ให้การต้อนรับ  มีประชาชนเข้าร่วมงานประมาณ 500 คน

นางอร่ามศรี  จันทร์สุขศรี  ประธานเครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัยจังหวัดนครสวรรค์  กล่าวว่า  จากการสำรวจข้อมูลของเครือข่าย พบว่า  ในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์มีชุมชนทั้งหมด  71 ชุมชน  รวม 16,319 ครัวเรือน  ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในที่ดินราชพัสดุ  ที่ดินวัด/สำนักงานพระพุทธศาสนา  เทศบาล  เช่าที่ดินเอกชน  ฯลฯ  มีปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย  ดังนั้นเครือข่ายฯ จึงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดทำโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชน  โดยใช้กระบวนการแก้ปัญหาทั้งเมือง  และยึดหลักการ  ”ชุมชนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา  หน่วยงานต่างๆ มีบทบาทเป็นผู้สนับสนุน”  เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน

 ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา  ในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์แก้ไขปัญหาไปแล้ว  จำนวน  26 ชุมชน  รวม 2,785 ครัวเรือน  แยกเป็น  ซ่อมแซมแล้วเสร็จ21 โครงการ รวม 2,551 ครัวเรือน, รื้อสร้างบ้านใหม่ในที่ดินเดิม 4 โครงการ  156  ครัวเรือน   (ก่อสร้างบ้านใหม่แล้วเสร็จ 99 ครัวเรือน  และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 57 ครัวเรือน) และสร้างใหม่ในที่ดินใหม่ 1 โครงการ จำนวน 102 ครัวเรือน(ชุมชนสวรรค์เมืองใหม่)

นอกจากนี้ยังดำเนินการในเมืองต่างๆ อีก 6 เมือง  เช่น  ตาคลี  ตากฟ้า  ท่าตะโก ฯลฯ รวม 10  ชุมชน  จำนวน  695  ครัวเรือน  ซึ่งส่วนใหญ่จะดำเนินการในรูปแบบการซ่อมแซม-ปรับปรุงบ้าน  และก่อสร้างบ้านใหม่ในที่ดินเดิมและที่ดินใหม่  รวมทั้งหมด 7  เมืองใน จ.นครสวรรค์  จำนวน  36 ชุมชน  รวม 3,480 ครัวเรือน 

“การจัดงาน ‘มอบบ้านในพื้นที่โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงและพัฒนาคุณภาพชีวิตจ.นครสวรรค์’ ในครั้งนี้  เพื่อตอกย้ำแนวคิดในเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนเป็นแกนหลัก โดยมีภาคี หน่วยงานต่างๆ เป็นหุ้นส่วนร่วมในการพัฒนา  ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนที่มากกว่าคำว่าบ้าน และเป็นตัวอย่างรูปธรรมความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาทั้งเมือง  โดยใช้โครงการบ้านมั่นคงแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนที่บุกรุกในที่ดินรัฐ” ประธานเครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัย จ.นครสวรรค์กล่าว

นอกจากนี้ประธานเครือข่ายฯ ยังกล่าวสนับสนุนนโยบายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย 20 ปีของรัฐบาล  โดยเสนอให้มีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องและมีกลไกขับเคลื่อนระดับต่างๆ ที่มีองค์ประกอบจากหลากหลายฝ่าย รวมทั้งชุมชนที่เดือดร้อนเข้าร่วมแก้ไขปัญหา  และเสนอให้รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สนับสนุนให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในรูปแบบ  “การใช้ที่ดินของรัฐเพื่อแก้ไขปัญหา ในรูปแบบการเช่าที่ดินระยะยาว” เพื่อให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศได้มีโอกาสนำที่ดินของรัฐทุกประเภทมาสร้างที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  รวมทั้งขอให้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านอื่นๆ ที่มากกว่าบ้าน

หลังจากนั้น  พลเอกอนันตพรและคณะได้เดินทางไปที่ชุมชนอริโยทัย  ต.ระบำ  อ.ลานสัก  จ.อุทัยธานี  เพื่อเป็นประธานพิธีมอบบ้านมั่นคงที่สร้างเสร็จแล้วจำนวน 228  หลังให้แก่ชาวชุมชน   ทั้งนี้ที่ดินที่ชาวบ้านอยู่อาศัยนั้น  เดิมเป็นที่ดินที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เช่าจาก สปก. (สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) เพื่อปลูกยูคาลิปตัส  เนื้อที่  3,239 ไร่  เมื่อหมดสัญญาเช่า  สปก.จึงนำที่ดินมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ขาดแคลนที่ดินทำกินตามนโยบายของรัฐบาล   โดยให้บริหารจัดการที่ดินในรูปแบบสหกรณ์ มีเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์รวมทั้งหมด  486  ราย  ได้รับที่ดินปลูกสร้างบ้านครอบครัวละ 150  ตารางวา  และที่ดินทำกินครอบครัวละ 4.5 ไร่  (สปก.ให้อยู่อาศัยและทำกินโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ ) โดยมีหน่วยงานต่างๆ  ร่วมสนับสนุน  ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรย้ายออกจากพื้นที่เดิมมาอยู่ในชุมชนใหม่แล้ว  รวม 6 ชุมชน  318 ครอบครัว   สร้างบ้านเสร็จแล้ว 228  ครอบครัว  

"บ้านมั่นคงในที่ดิน สปก. ตำบลระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี

รมว.พม.มอบบ้านมั่นคงในที่ดิน สปก. ตำบลระบำ จ.อุทัยธานี

นายแสนสุข  ป้องสนาม  ประธานกรรมการสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินตำบลระบำ จำกัด  กล่าวว่า  เดิมชาวชุมชน   อริโยทัยส่วนใหญ่อพยพมาจากภาคอีสานเพื่อมาบุกเบิกที่ดินทำกินในจังหวัดอุทัยธานีตั้งแต่เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว  โดยเข้าไปทำกินในที่ดินของรัฐ  เช่น  ที่ดินในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำ  ที่ดินในเขตวนอุทยาน  ฯลฯ  เมื่อรัฐบาลมีโครงการจัดสรรที่ดิน สปก.ให้แก่เกษตรกรที่ขาดแคลนที่ดิน  โดยนำที่ดินที่ ออป.เคยเช่าจำนวน  3,239  ไร่  มาจัดสรรให้แก่เกษตรกร  เกษตรกร โดยให้บริหารจัดการที่ดินในรูปแบบสหกรณ์ มีเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์รวมทั้งหมด  486  ราย  ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรย้ายออกจากพื้นที่เดิมมาอยู่ในชุมชนใหม่แล้ว  รวม 6 ชุมชน  318 ครอบครัว  ส่วนอีก 2 ชุมชน  จำนวน 168 ครอบครัวยังไม่ได้ย้ายเข้ามา

ส่วนเกษตรกรที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับสิทธิ์  คือ  1. ผู้ที่ถูกผลักดันและอพยพออกจากพื้นที่ป่าต้นน้ำและป่าอนุรักษ์ที่สำคัญ 2. ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามโครงการของทางราชการที่สูญเสียที่ดินทำกิน  3. เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกินที่ขอรับการจัดที่ดินที่มีถิ่นที่อยู่ในท้องที่ที่จะจัดที่ดินและได้ขึ้นทะเบียนกับ สปก. หรือหน่วยงานอื่นๆ 

ส่วนการก่อสร้างบ้านนั้น  นายแสนสุขกล่าวว่า  เริ่มก่อสร้างบ้านเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา  โดยได้รับงบสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ครัวเรือนละ 40,000 บาท  ส่วนใหญ่จะสร้างบ้านชั้นเดียว  สร้างด้วยอิฐบล็อค  ใช้วัสดุและไม้เก่า  รวมทั้งช่วยกันก่อสร้างแบบเอาแรง  ไม่เสียค่าจ้าง  ทำให้ใช้งบประมาณไม่มาก  ขณะนี้สร้างบ้านเสร็จแล้วรวม 228 หลัง  และจะสร้างเสร็จอีก 90หลังภายในเดือนกรกฎาคมนี้  รวมทั้งหมด 318 หลัง   

พลเอกอนันตพร  กาญจนรัตน์  รมว.พม.  กล่าวว่า  รัฐบาลพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม  โดยเฉพาะเรื่องบ้านซึ่งเป็นปัจจัย 4 ที่สำคัญของประชาชนทุกคน   ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีครัวเรือนทั้งหมดประมาณ  21.32 ล้านครัวเรือน  มีผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการที่อยู่อาศัยประมาณ  3.5 ล้านครัวเรือน   รัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ  20 ปี’ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 ถึงปี 2579  รวม  1,053,702 ครัวเรือนทั่วประเทศ  

“โครงการบ้านมั่นคงในจังหวัดนครสวรรค์และอุทัยธานีถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปีของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ20 ปีด้วย  ซึ่งกระทรวง พม. และ พอช.  รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ  ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่นจะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน  โดยจะทำทั้งประเทศ  และไม่ใช่จะทำแต่เฉพาะเรื่องบ้านเท่านั้น  แต่จะต้องทำทุกเรื่อง  เช่น  เรื่องเด็กและเยาวชน  สตรี  ผู้สูงอายุ  เรื่องสิ่งแวดล้อม  การสร้างอาชีพ  สร้างรายได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  และมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายในปี 2579”   รมว.พม.กล่าว

พลเอกอนันตพรกล่าวด้วยว่า  ตนจะรับข้อเสนอของเครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัย จ.นครสวรรค์เรื่องการขอใช้ที่ดินของรัฐเพื่อเช่าระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย  โดยเฉพาะที่ดินของกรมธนารักษ์  ซึ่งตนจะนำไปเจรจากับกรมธนารักษ์เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งประเทศ  รวมทั้งประเด็นอัตราค่าเช่าที่ดินด้วย  เพราะถึงแม้กรมธนารักษ์จะให้ประชาชนเช่าในราคาถูกแล้ว  แต่สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยก็ถือว่าเป็นภาระ  เพราะต้องผ่อนชำระเงินกู้สร้างบ้านด้วย  โดยอาจะเจรจาให้ลดจากตารางวาละ 3 บาทเศษ  ให้เหลือประมาณ 1 บาทเศษ

พลเอกอนันตพรกล่าวด้วยว่า  ในการประชุมคณะกรรมการที่อยู่อาศัยแห่งชาติในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบดังนี้ 1.นโยบายและแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับจังหวัด  เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับจังหวัดให้บรรลุเป้าหมาย 2.ให้การเคหะแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมจัดทำข้อมูลเพื่อการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล หรือ Big data ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน  รวมทั้งเป็นการยกระดับประสิทธิภาพของการจัดสวัสดิการสังคมและการช่วยเหลือของภาครัฐเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน  และ 3.เห็นชอบการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยภายใต้การเคหะแห่งชาติ  ตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี  ตามนโยบายรัฐบาล  เพื่อบรรลุเป้าประสงค์  รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างโอกาสให้แก่ผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยตามแนวทางประชารัฐเพื่อสังคมต่อไป

นายสมชาติ  ภาระสุรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า  พอช.ได้ร่วมกับ สปก. นำที่ดินที่ สปก.ยึดมาจากผู้ที่ครอบครองไม่ถูกต้อง  รวมทั้งพื้นที่ที่หมดสัญญาเช่า  เช่น  ที่ดิน สปก.ตำบลระบำ  มาจัดสรรให้เกษตรกรที่ขาดแคลน  โดย พอช.มีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย  เริ่มดำเนินการในปี 2560  ซึ่งขณะนี้ได้ทำโครงการนำร่องไปแล้วทั้ง 5ภาค  7 จังหวัด  คือ  อุทัยธานี  กาญจนบุรี  ชลบุรี   สระแก้ว  นครราชสีมา  กาฬสินธุ์  และสุราษฎร์ธานี  รวมทั้งหมด 982 ครัวเรือน  ใช้งบประมาณทั้งหมด 46.9 ล้านบาท  ขณะนี้สนับสนุนการก่อสร้างบ้านเสร็จแล้วประมาณ 500 ครัวเรือน (รวมตำบลระบำ จ.อุทัยธานี)

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"