หุ้นกู้การบินไทยกับสหกรณ์ออมทรัพย์ไทย: การปรับโครงสร้างให้ยั่งยืน


เพิ่มเพื่อน    

 

ในอดีตบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) –THAI นับเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีความมั่นคงสูง ทั้งด้านกิจการ ความเชื่อมั่น เป็นที่ใฝ่ฝันของแรงงานคุณภาพที่จะทำงานในองค์กรแห่งนี้ เป็นแหล่งลงทุนของนักลงทุนทั้งในตลาดหลักทรัพย์ และตลาดการเงิน แม้ว่าปัจจุบัน THAI จะไม่มีสถานะรัฐวิสาหกิจเนื่องจากการขายหุ้นสามัญของกระทรวงการคลังให้กับกองทุนวายุภักษ์ และ THAI กำลังอยู่ในการพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง ว่าจะมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการหรือไม่ จึงเป็นที่น่าสนใจว่า หากดูองค์ประกอบของเรื่อง คือ หุ้นกู้การบินไทย องค์กรการบินไทย และองค์กรสหกรณ์ออมทรัพย์ จะร่วมกันฝ่าวิกฤติอย่างไร และทำอย่างไรให้ยั่งยืนในอนาคต

          หุ้นกู้การบินไทย คือ "ตราสารหนี้" ที่การบินไทยออกมา เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในกิจการต่างๆ ของบริษัท มูลหนี้ในส่วนนี้ มีมูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาทในยอดหนี้รวมกว่า 300,000 ล้านบาทของการบินไทย ผู้ลงทุนในหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ในขณะที่ THAI จะมีสถานะเป็นลูกหนี้ ที่มาขอยืมเงินพร้อมสัญญาว่าจะจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้คืนให้ผู้กู้ในอัตราที่แน่นอน ตามระยะเวลาของสัญญาการกู้เงิน เจ้าหนี้ในส่วนนี้ กลุ่มที่ใหญ่ที่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ สถาบัน (การเงิน บริษัท องค์กร) กลุ่มประกันภัย ประกันชีวิต และผู้ซื้อหุ้นกู้ทั่วไปผ่านธนาคารที่จัดจำหน่าย ผลตอบแทนของหุ้นกู้ จะอยู่ในรูปของดอกเบี้ย และดอกเบี้ยที่ได้รับจากหุ้นกู้ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ 15% เช่นเดียวกับรายได้จากดอกเบี้ยชนิดอื่นๆ ยกเว้นผู้ซื้อที่เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ ไม่เสียภาษีดังกล่าว

          สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ไปลงทุนในหุ้นกู้นั้น เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานของกรมส่งเสริมสหกรณ์ มีสมาชิกจำนวนมาก สร้างประโยชน์ทางการเงินให้กับสมาชิกที่มีกว่า 3 ล้านคน มีการกำกับดูแลที่ดี และลงทุนตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มูลค่าการลงทุนในหุ้นกู้การบินไทยของกลุ่มสหกรณ์มีมากกว่า 40,000 ล้านบาท

          การลงทุนในหุ้นกู้การบินไทยนั้น กลุ่มสหกรณ์ลงทุนภายใต้เงื่อนไขมีการจัดอันดับตราสารหนี้ไม่ต่ำกว่า A- .ในกรณีการบินไทยหากย้อนหลังไปดูนั้น พบว่าเครดิตของหุ้นกู้บางรุ่น เป็น A และ A+ และก่อนที่ศาลจะรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในเดือนพฤษภาคมนั้น เครดิตของหุ้นกู้การบินไทย เมื่อเทียบกับหุ้นกู้เอกชนต้องบอกว่าอยู่ในระดับเฉลี่ย A

          วิกฤติการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 นั้น ได้ทำการปั่นป่วนอุตสาหกรรมบริการอย่างหนัก โดยเฉพาะบริการขนส่งคนระหว่างประเทศ เช่น อุตสาหกรรมการบินให้เกิดภาวะชะงักงัน และถดถอยอย่างหนัก สายการบินชั้นนำต้องปรับแผนธุรกิจ และบางสายการบินจำต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ในขณะที่ THAI นั้น ประสบ ปัญหาแฝด ทั้งโครงสร้างที่เป็นปัญหา และการเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการที่ต้องเร่งเจรจาเจ้าหนี้ และหาแหล่งทุนเพิ่ม พร้อมทั้งปรับกระบวนการและแผนธุรกิจขนานใหญ่

          ในแง่หนึ่ง THAI ต้องเร่งฟื้นฟูองค์กรด้วยการ Lean for New Shape—LNS แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงลดขนาดองค์กรแต่อย่างใด แต่หมายถึงปรับกลยุทธ์ธุรกิจขนานใหญ่ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ และเสริมกำลังด้วยพันธมิตรใหม่ ที่พร้อมให้โอกาส THAI กลับมายืนแถวหน้าขององค์กรธุรกิจชั้นนำอีกครั้ง ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าว ประกอบด้วย (1) การฝ่าวิกฤติไวรัสสร้างรายได้ (2) พันธมิตรที่ยั่งยืน (3) แผนดี ทำดี

          กลยุทธ์ที่หนึ่ง ฝ่าวิกฤติไวรัสสร้างรายได้ นั้น คือ การพิจารณามองหากระแสเงินสดเข้าบริษัทด้วยทรัพยากรที่มี การใช้ประโยชน์จากครัวการบิน ร้านเบเกอรี่ (Puff and Pie) ในรูปของโรงเรียนสอนทำอาหาร การบริการจัดเลี้ยง เป็นหนึ่งในสิ่งที่ควรทำภายใต้การลงทุนเพิ่มไม่มากนัก อาศัยเครือข่ายธุรกิจ ที่พร้อมร่วมเป็นหุ้นส่วนธุรกิจใหม่และการกระจายสินค้า การใช้ประโยชน์จากฝ่ายฝึกอบรมลูกเรือ ในการสร้างคอร์สอบรมผนวกกับการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา โดยอาจจัดคอร์สที่เทียบหน่วยกิต เป็นต้น นอกจากนั้น ในเครือข่ายการขนส่งนั้น การขนส่งสินค้าในภาพรวมของโลกเพิ่มขึ้นในภาวะวิกฤติ การมีบริการขนส่งสินค้าที่มีการรับรองกระบวนการ COVID19 Free Process จะทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมีจุดเด่นชัดจากการที่ประเทศไทยมีชื่อเสียงจากการจัดการวิกฤติไวรัสได้อย่างดี กลยุทธ์นี้เป็นกลยุทธ์ระยะสั้น ที่ต้องเติมกระแสเงินสด เลี้ยงองค์กรในช่วงเวลาที่ธุรกิจหลักยังเดินได้ยาก สำหรับประเด็นปรับโครงสร้างองค์กร เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงยาก แต่ต้องทำ และกำลังทำได้ดีในเบื้องต้น

          กลยุทธ์ที่สอง พันธมิตรที่ยั่งยืน นั้น ต้องไม่ลืมว่า หัวใจของการฟื้นฟูกิจการ คือ กระแสเงินสดใหม่ และการประกอบธุรกิจภายใต้แผนดำเนินการใหม่ที่มีโอกาสทางธุรกิจสูง ในกรณีนี้ทำให้ ผู้เขียนไม่เชื่อว่า การเจรจาลดหนี้อย่างเดียวจะทำให้การบินไทยมีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น เพราะเจ้าหนี้ของการบินไทย คือ ผู้ให้โอกาสทางธุรกิจด้วย ดังนั้น การเดินไปด้วยกันระหว่าง THAI กับเจ้าหนี้ที่พร้อมสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการจะทำให้เกิดความยั่งยืนได้มากกว่า

          กลยุทธ์ที่สาม แผนดี ทำดี นั้น การบินไทยที่กำลังทำแผนฟื้นฟูกิจการจำเป็นต้องมีแผนที่ดี แผนที่บอกเจ้าหนี้ว่า THAI จะรอดมรสุมปัญหาแฝดอย่างไร และเมื่อมีแผนที่ดีเจ้าหนี้เห็นชอบแล้ว กระบวนการทำให้ดี ก็ยังใช้เวลาไม่น่าจะต่ำกว่า 7 ปี ดังนั้น ผู้บริหารจึงต้องมุ่งมั่นและอดทนอย่างมาก หากเอาองค์กร THAI และประเทศเป็นตัวตั้ง

          สำหรับประเด็นเรื่อง หุ้นกู้ นั้น หากมองในด้านเสถียรภาพของตลาดการเงิน เครดิตของตราสารทางการเงินมีความจำเป็นและต้องส่งสัญญาณได้เป็นอย่างดี กรณีหุ้นกู้การบินไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเรียนรู้และปรับปรุงให้หน่วยงานนั้นๆ ทำหน้าที่ที่ควรจะเป็นโดยสมบูรณ์ เช่น บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสาร ที่ต้องส่งสัญญาณต่างๆ จากงบการเงินประกอบเพื่อให้ข้อมูลผู้ซื้อหุ้นกู้ หรือ การสร้างระบบประกันความเสี่ยงของตราสารหุ้นกู้ในภาพรวมโดยหักผลตอบแทนบางส่วนเข้ากองทุนประกันความเสี่ยง ซึ่งผู้ดูแลตราสารหนี้สมควรริเริ่มขึ้น เป็นต้น

          ในฐานะอดีตผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ออมทรัพย์ในกลุ่มที่มีสภาพคล่องล้น จำเป็นต้องไปลงทุน ดังนั้น การมีกองทุนประกันความเสี่ยงของสหกรณ์ ก็มีความจำเป็นที่ผู้กำกับดูแลจะจัดให้มีเพื่อบริหารความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของสหกรณ์ภายใต้กฎหมายกำหนด

          ท้ายที่สุด ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ มูลค่าแฝงที่อยู่ใน องค์กรที่ชื่อ “การบินไทย” นั้น มีเรื่องความผูกพันของสายการบินของประเทศไทยอยู่ มีเรื่องเส้นทางการบิน มีเรื่องชื่อเสียงและความภาคภูมิใจอยู่ ดังนั้น การกลับมาของการบินไทยจึงมิใช่ธุรกิจทั่วๆไป ที่ผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการ และความร่วมมือของคนในองค์กร พันธมิตรธุรกิจ เจ้าหนี้ และการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาลจึงเป็นหัวใจสำคัญ

 

บทความ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ 
ดร ประชา คุณธรรมดี
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมภิบาล


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"