ลุ้นฟันตร.4กลุ่มอุ้มคดีบอส


เพิ่มเพื่อน    

  "กมธ.กฎหมาย" เชิญ "สมยศ" แจงคดีบอสครั้งที่ 2 "สิระ" ขู่เบี้ยวอีกใช้ พ.ร.บ.ออกคำสั่งเรียกมาแน่ ถามกลัวอะไรไม่ยอมมา "วิชา" นัดคณะทำงานประมวลผลสอบ 23 ส.ค.นี้ "ศตวรรษ" ชี้มีตำรวจ 4 กลุ่ม บกพร่องคดีทายาทกระทิงแดง ชง "บิ๊กแป๊ะ" ตั้ง คกก.พิจารณาลงโทษ เผยมี "2 อดีต ผบช.น." โดนด้วย

    ที่รัฐสภา วันที่ 21 ส.ค. มีรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นประธาน วันที่ 26 ส.ค.นี้ ทาง กมธ.กฎหมายฯ จะยังคงพิจารณาศึกษาปัญหาของกระบวนการทางกฎหมาย กรณีคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง โดยจะมีการเชิญ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร.และนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้ามาชี้แจงกรณีที่ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น นักวิทยาศาสตร์สำนักงานพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พาดพิงว่า พล.ต.อ.สมยศเป็นผู้พา ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มาในประเด็นการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถ ซึ่งเป็นการเชิญครั้งที่ 2
    นายสิระกล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค. พล.ต.อ.สมยศมาชี้แจงกับชุดทำงานของนายวิชา แต่กลับไม่ได้ตอบรับการเข้ามาชี้แจงกับ กมธ.กฎหมาย ซึ่งส่วนตัวไม่ได้ติดใจอะไร แต่ถือว่าเป็นการไม่ยอมรับความเป็นสภาผู้แทนราษฎร ถือว่าขัดขืน ซึ่งจะใช้ พ.ร.บ.ออกคำสั่งเรียกเพื่อให้เข้ามาชี้แจงข้อมูล
    "ฟังคำสัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.สมยศ แตกต่างจากคำให้การของ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์โดยสิ้นเชิง ทำให้มองคดีนี้มีเงื่อนงำและมีข้อพิรุธขึ้นมาอีก หลังจากนี้ต้องมีการตรวจสอบว่าใครเป็นคนให้ข้อมูลเท็จ โดย พล.ต.อ.สมยศก็เป็นอดีต สนช.เหมือนกัน คงทราบดีว่าต้องทำอย่างไร และที่ไม่มาชี้แจงกับ กมธ.เป็นเพราะกลัวอะไรหรือกลัวโดนซักถามจากคณะกรรมาธิการ" ประธาน กมธ.กฎหมายกล่าว
    มีรายงานด้วยว่า ในวันที่ 23 ส.ค. เวลา 14.00 น. นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ได้เรียกประชุมคณะกรรมการเต็มคณะ ที่สำนักงานกฤษฎีกา ถนนพระอาทิตย์ เพื่อประเมินและประมวลข้อกฎหมาย หลังจากที่รับฟังคำชี้แจงของผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคนที่ผ่านมา ในคดีนายวรยุทธ
    ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) หลังคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงคดีนายวรยุทธ ที่มี พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร.เป็นประธาน ได้ขอขยายเวลาการสอบสวนเพิ่มอีก 10 วัน โดยครบกำหนดการขยายเวลาสอบสวนวันนี้ (21 ส.ค.) นั้น มีรายงานว่า คณะกรรมการได้เร่งสรุปผลการสอบสวน และส่งให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อสั่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อบกพร่อง และชี้มูลความผิดที่ปรากฏ
    มีรายงานว่า พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รอง ผบ.ตร. ได้ส่งเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร 3-4 หน้ากระดาษ ชี้แจงต่อคณะกรรมการ กรณี พ.ต.อ.ธนสิทธิ์พาดพิงมีการใช้ห้องประชุมกองพิสูจน์หลักฐานพบกับ พ.ต.อ.วิรดล ทับทิมดี ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม และ พล.ต.อ.สมยศ เพื่อพูดคุยสูตรคำนวณความเร็ว ซึ่ง พล.ต.อ.มนูยืนยันมีการพบกันในห้องประชุมของ พฐ.จริง แต่ พล.ต.อ.สมยศไม่ได้เดินทางมาด้วย รวมทั้ง พล.ต.อ.มนู ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผบช.สพฐ. ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข ผบก.กองพิสูจน์หลักฐานในขณะนั้น พร้อมด้วย พ.ต.อ.วิวัฒน์ สิทธิวรเดช ในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรงของ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ เข้าร่วมรับฟังด้วย ส่วน พล.ต.อ.มนูไปประชุมและทำภารกิจตามปกติ คณะกรรมการได้เก็บข้อมูลการชี้แจงนี้เสนอต่อ ผบ.ตร.ด้วย
    นอกจากนี้มีการเสนอพิจารณาข้อบกพร่องออกเป็น 4 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 จำนวน 11 นาย เป็นพนักงานสืบสวนสอบสวน ซึ่งมีจำนวน 2 ชุด บางนายเคยถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดไปแล้ว เช่น พ.ต.อ.วิรดล ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในวันเกิดเหตุ ผกก.สน.ทองหล่อ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนในขณะนั้น และรอง ผกก.สน.ทองหล่อ ในฐานะที่กำกับดูแล พ.ต.อ.วิรดล ข้อบกพร่องที่พบ เช่น ไม่ตรวจปัสสาวะผู้ต้องหา ซึ่งเป็นประเด็นที่ ป.ป.ช.ยังไม่ได้ชี้มูลความผิด หรือกรณีผู้ต้องหามอบตัวแล้วกลับให้ประกันตัวออกไป
    กลุ่มที่ 2 จำนวน 9 นาย โดย 6 นายเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาระดับรองผู้บังคับการ ถึง ผู้บัญชาการ ในช่วงปี 2559-2560 ได้แก่ อดีต ผบช.น. ในช่วงกลางปี 2559, อดีต ผบช.น. ในช่วงต้นปี 2560, อดีตรอง ผบช.น.คุมงานสอบสวน, อดีตรอง ผบช.น.คุมงาน บก.น.5, อดีต ผบก.น.5, อดีตรอง ผบก.น.5 ในข้อบกพร่อง ฐานเป็นผู้บังคับบัญชา ปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจ เนื่องจากพนักงานอัยการมีหนังสือเร่งรัดให้ออกหมายจับ และส่งตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี แต่อดีตผู้บังคับบัญชาในกลุ่มนี้กลับไม่ดำเนินการออกหมายจับนายวรยุทธ ข้อหาชนแล้วหนี จนเป็นหมายเหตุให้นายวรยุทธเดินทางออกนอกประเทศ เมื่อ 25 เม.ย.2560 และอีก 3 นาย คือ พ.ต.อ.วิรดล ผกก.สน.ทองหล่อ (ในขณะนั้น) รอง ผกก.คุมงานสอบสวน (ในขณะนั้น) ข้อบกพร่องคือ ไม่ส่งตัวผู้ต้องหาไปตรวจปัสสาวะในทันทีหลังเกิดเหตุ
    กลุ่มที่ 3 จำนวน 4 นาย ได้แก่ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น, พ.ต.อ.วิวัฒน์ ผู้บังคับบัญชาของ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์, พล.ต.ท.ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข, รอง ผบก.พฐ. (กำกับดูแล พ.ต.อ.ธนสิทธิ์) ข้อบกพร่องคือ กลับคำให้การเรื่องความเร็วรถยนต์ จนเป็นจุดพลิกคดี และกลุ่มที่ 4 จำนวน 4 นาย คือ พ.ต.อ.วิรดล ผกก.สน.ทองหล่อ (ปี 2559-2560) รอง ผกก.สน.ทองหล่อ (ปี 2559-2560) พนักงานสอบสวน (ลงนามในหนังสือที่ส่งถึงอัยการแทนผู้กำกับ) ข้อบกพร่อง คือปรากฏหลักฐานว่ามีการลงวันที่สอบสวน พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ 2 วัน แต่ข้อเท็จจริงคือมีการสอบสวนเพียง 1 วัน
    "แม้นายตำรวจที่เกี่ยวข้องหลายนายจะเกษียณราชการไปแล้ว เช่น ผบช.น. หาก ผบ.ตร.มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงขึ้นมาแล้วสอบสวนพบมูลความผิดจริง ก็สามารถสั่งลงโทษย้อนหลังได้ ส่วน พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ก่อนหน้านี้สอบสวนไม่พบข้อบกพร่องกรณีไม่แย้งคำสั่ง ไม่ฟ้องเด็ดขาดของอัยการคณะกรรมการมีความเห็นไม่เสนอ ผบ.ตร.ตั้งกรรมการสอบแล้วเช่นกัน เนื่องจากเห็นว่า พล.ต.ท.เพิ่มพูนได้ใช้ดุลยพินิจโดยสมบูรณ์รอบคอบตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนขณะนั้น กรณี พล.ต.ท.เพิ่มพูนจึงจบแค่ชั้นสอบสวนของชุด พล.ต.อ.ศตวรรษ" แหล่งข่าวระบุ
    ด้าน ว่าที่ พ.ต.ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการบริหารเนติบัณฑิตยสภา กล่าวถึงข้อเสนอให้นำ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์มาเบิกความเกี่ยวกับคดีนายวรยุทธก่อนฟ้องคดีว่า ถึงเวลาที่ต้องนำพยานปากนี้มาเบิกความไว้ก่อนฟ้องคดี ซึ่งเหตุที่สมควรเอาพยานบุคคลมาเบิกความก่อนฟ้องคดีเคยพูดไปแล้ว แต่ก็มีกระแสแนวคิดแตกประเด็นออกมากว้างขวาง
    "ผมขอสรุปว่าการนำมาสืบล่วงหน้ามีประโยชน์ และมีเหตุผลที่ควรสืบ คือพยานให้การเกี่ยวกับการคำนวณอัตราความเร็ว ร่องรอยต่างๆ ในที่เกิดเหตุ คำให้การมีความต่างกันมาก่อน ดังนั้นก็ควรเอามาเบิกความในศาลให้ยุติเลยว่าจะให้การอย่างไร เพื่อให้ปรากฏในสำนวน ฝ่ายจำเลยก็ส่งทนายความมาซักค้านหักล้าง ฝ่ายที่ถูกกระทบกระเทือนก็ขอคัดค้านพยานได้" กก.บห.เนติบัณฑิตยสภากล่าว.

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"