จังหวะตั้งรับ "บิ๊กตู่-พรรค รบ." ในสถานการณ์สู่จุดเสี่ยง กองทัพยุค "บิ๊กบี้" อีกหนึ่งตัวแปร


เพิ่มเพื่อน    

        ไม่ต้องรอถึงเดือนตุลาคมกันแล้ว สำหรับนัดชุมนุมใหญ่ทางการเมืองของม็อบนักศึกษา-ประชาชน-คนรุ่นใหม่ ที่เรียกร้องเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและยุบสภาฯ เพราะเบื้องต้นมีการเผยแพร่นัดหมายจัดชุมนุมใหญ่ วันเสาร์ที่ 19 กันยายน 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อันเป็นความเคลื่อนไหวที่ กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม แจ้งไว้ในเพจทางการของ กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม อันเป็นกลุ่มเดียวกับที่จัดกิจกรรมชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อ 10 ส.ค. จนสร้างเสียงฮือฮาไปทั่ว กับ 10 ข้อเสนอที่ระบุตรงถึง สถาบันเบื้องสูง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั่วประเทศ

        หากเป็นไปตามนี้ เท่ากับจากเดิมที่มีการประเมินกันว่า จะมีการนัดชุมนุมใหญ่ม็อบนักศึกษาช่วงเดือนตุลาคม หลังมีความชัดเจนว่าภายในเดือนกันยายน ข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ประกาศบนเวทีหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เมื่อ 16 สิงหาคม โดยเฉพาะเรื่อง

        การแก้ไขรัฐธรรมนูญ-การโละทิ้ง ส.ว. 250 คน

        เกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งดูจากสถานการณ์ในปัจจุบัน แม้ต่อให้พรรคร่วมรัฐบาลขยับกันอย่างรวดเร็วในการเดินหน้ายื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่า สุดท้ายการแก้ไข รธน.จะเกิดขึ้นจริงหรือสะดุดล้มตั้งแต่การโหวตในวาระแรก หรือหากว่าสุดท้ายเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมร่วมรัฐสภาเกิดลงมติเห็นชอบด้วยในวาระแรก โดยมี ส.ว.ร่วมลงเสียงด้วยระดับ 84 คนขึ้นไปจนผ่านวาระแรก แล้วที่ประชุมรัฐสภามีการตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็น กมธ.ร่วมระหว่าง ส.ว.-ส.ส. แล้ว กมธ.ไปเขียนรายละเอียดต่างๆ เช่น โครงสร้างที่มาของสมาชิกสภาร่าง รธน. แล้วสุดท้าย รายละเอียดต่างๆ ที่ออกมาจากสภาฯ จะตรงกับสิ่งที่กลุ่มเคลื่อนไหวต้องการหรือไม่ เพราะหากผลที่ออกมาไม่ตรงกับสิ่งที่กลุ่มคณะประชาชนปลดแอก-แกนนำม็อบนักศึกษา ที่เป็นหัวหอกหลักในการจัดชุมนุมต้องการ ก็อาจยกมาเป็นเหตุในการนัดเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่อไปเรื่อยๆ  

        สถานการณ์ข้างหน้าต่อจากนี้จึงยังเป็นเรื่องที่เหนือการคาดหมาย เพราะยังต้องรอดูอีกหลายตัวแปร โดยเฉพาะท่าทีของพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล และที่สำคัญท่าทีของ สมาชิกวุฒิสภา-สภาสูง ว่าจะเอาอย่างไรกับเรื่องการแก้ไข รธน. เพราะหาก ส.ว.ตั้ง กำแพงเหล็กสกัดกั้น กระบวนการแก้ไข รธน.ก็ไม่สามารถเดินหน้าได้ตั้งแต่การโหวตในวาระแรกแล้ว

        ซึ่งเรื่องท่าทีของฝ่าย ส.ว.ต่อการแก้ไข รธน. คาดว่าแกนนำสภาสูงหลายคนอาจกำลังรอดูสัญญาณบิ๊กๆ ในรัฐบาลจะส่งสัญญาณมายัง ส.ว.อย่างไร จะให้ แตกหัก กันไปเลย คือโหวตไม่เอาการแก้ไข รธน.ตั้งแต่วาระแรก เพื่อล้มกระดานการแก้ไข รธน. แบบพร้อมจะแตกหักกับฝ่ายม็อบนอกรัฐสภา รวมถึงฝ่ายค้านในสภาฯ หลังแนวโน้มการแก้ไข รธน.ตามร่างฯ ของทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างออกมาสูตรเดียวกันคือ จะให้แก้ไขมาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ

        โดยที่สูตรดังกล่าวก็ไม่มีหลักประกันว่า สมาชิกสภาร่าง รธน.จะเขียน รธน.ฉบับใหม่ โดยไม่มีการแตะ-รื้อบทเฉพาะกาล ในมาตรา 269-272 ที่เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องที่มาและอำนาจของ ส.ว.ชุดปัจจุบัน เช่น อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่นั่นหมายถึง สภาสูงชุดนี้สุ่มเสี่ยงจะโดน เซตซีโร  ซึ่งหาก ส.ว.ไม่มั่นใจในจุดนั้น ไม่อยากตีเช็คเปล่าให้ ส.ส.ร.ที่ไม่รู้จะเขียนอะไรออกมา ดังนั้นก็อาจถอดปลั๊กแก้ไข รธน.ตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการพร้อมจะลงมติไม่เห็นชอบกับญัตติขอแก้ไข รธน.ตั้งแต่วาระแรกเลยก็ได้

        เว้นเสียแต่มีข้อตกลงหรือมีการทำดีลระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่าย ส.ว. ว่าให้ ส.ว.ร่วมโหวตลงมติเห็นชอบร่างแก้ไข รธน. ที่จะมีทั้งร่างของพรรคร่วมรัฐบาล-ฝ่ายค้านในวาระแรกไปก่อน จากนั้นพอไปถึงขั้นตอนการพิจารณาในชั้น คณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภา ที่มีทั้ง ส.ส.-ส.ว. ซึ่งสัดส่วนกรรมาธิการร่วมดังกล่าว ตัวแทนที่จะมาจากฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล-ส.ว.รวมกัน ยังไงก็ต้องมากกว่าฝ่ายค้านอยู่แล้ว ก็จะใช้วิธีใช้เสียงข้างมากในคณะกรรมาธิการ

        "พิมพ์เขียว-ล็อกสเปก"

         โครงสร้าง-ที่มาของสมาชิกสภาร่าง รธน. ในลักษณะที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาล-ส.ว.เข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดตัวบุคคลเป็น ส.ส.ร.ได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม บนเป้าหมายคือ ให้มี ส.ส.ร.ในสัดส่วนที่จะมาจากฝ่ายรัฐบาล-ส.ว. ที่สามารถคุยกันได้ เช่น สัดส่วน ส.ส.ร.สายผู้ทรงคุณวุฒิ-นักวิชาการ ที่ให้มีสัดส่วนคนของฝ่ายรัฐบาล ที่มากกว่าสัดส่วนที่มาจากการเลือกของประชาชนในระดับจังหวัด 74 คน จนทำให้เชื่อมั่นว่า แม้รัฐบาล-ส.ว.จะยอมให้มีการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อนำไปสู่การร่าง รธน.ฉบับใหม่ แต่ก็จะเป็นการร่าง รธน.ที่ไม่ทำให้อำนาจที่เคยมีอยู่ของฝ่ายรัฐบาล-พรรคพลังประชารัฐ-ส.ว.จาก รธน.ฉบับปัจจุบัน หายไปจนหมด เช่น การล็อบบี้ให้ ส.ส.ร.เขียนบทเฉพาะกาลให้ ส.ว.ชุดปัจจุบัน อย่างน้อยยังมีอายุอยู่จนครบวาระในปี 2567 เป็นต้น

        โดยหากฝ่ายแกนนำรัฐบาลให้ความมั่นใจดังกล่าวกับ ส.ว.ได้ โดยอ้างเหตุผลเรื่อง กระแสการเรียกร้องให้แก้ไข รธน. กำลังเริ่มก่อตัวเป็นฉันทามติทางการเมือง อันเป็นกระแสที่ยากจะทัดทานได้ ยังไงก็ต้องแก้ เพื่อถอดสลักระเบิดเวลาทางการเมือง เพราะหากไม่แก้ อาจทำให้การเมืองในรัฐสภาถึงทางตัน จนการเมืองนอกรัฐสภาเป็นตัวบีบให้ต้องยอมแก้ไข รธน.แบบหลังชนฝา ที่รัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดสภาพนั้น สู้ใช้วิธีรับบทเป็นเจ้าภาพแก้ไข รธน.ไปเลย จะดูสง่างามกว่า ก็อาจทำให้สุดท้าย ส.ว.บางส่วนยอมร่วมลงมติเห็นชอบกับการแก้ไข รธน.ในวาระแรก เพื่อไม่ให้ถูกมองว่า ส.ว.ขวางแก้ไข รธน.เพราะหวงอำนาจ-ห่วงสถานะตัวเอง

        จากนั้น ส.ว.ทั้งหลายไปรอลุ้นอีกทีในชั้นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาญัตติขอแก้ไข รธน. ที่หากรายละเอียดต่างๆ ที่จะออกมาจากชั้นกรรมาธิการร่วมฯ โดยเฉพาะเรื่องที่มาของ ส.ส.ร.ไม่เป็นอย่างที่ต้องการ แล้วก็ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงถ้อยคำได้ในการลงมติเรียงรายมาตราในวาระ 2 ส.ว.ก็ยังมียกสุดท้าย คือการลงมติวาระ 3 ที่ยังสามารถผนึกเสียงไม่เห็นชอบกับการแก้ไข รธน.ดังกล่าวได้ เพราะการโหวตวาระ 3 มีการเขียนล็อกต้องใช้เสียง ส.ว. 84 เสียงเห็นชอบอยู่ดี ซึ่งหากวาระ 3 เสียง ส.ว.โหวตเห็นชอบ ไม่ถึง 84 เสียง การแก้ไข รธน.ดังกล่าวก็ล้มครืนอยู่ดี

        ซึ่งหากผลลัพธ์ทางการเมืองออกมาแบบนี้ คือกระบวนการแก้ไข รธน.ถูกล้มกระดานเพราะ ส.ว.ไม่เอาด้วย เสียงโหวตเห็นชอบไม่ถึง 84 เสียง

        เชื่อได้ว่าสถานการณ์ที่จะตามมาก็คือ กระแสไม่พอใจนอกรัฐสภาจะร้อนแรงมาก เพราะแม้รัฐบาลและ ส.ว.จะอ้างว่า ต่างฝ่ายต่างเป็นอิสระต่อกัน แต่ยังไงฝ่ายค้าน-ม็อบนักศึกษา ก็ต้องมีการเชื่อมโยงไปว่า ส.ว.ชุดนี้ 250 คน มาจากการเลือก-ทำรายชื่อของ คสช. และส่วนใหญ่ก็มีความสัมพันธ์กับคนในรัฐบาลอยู่แล้ว หากฝ่ายรัฐบาลจริงใจในการแก้ไข รธน.จริง ก็ต้องประสานกับ ส.ว.ให้ร่วมลงมติแก้ไข รธน.ได้ แต่ที่ ส.ว.ไม่เอาด้วย เพราะรับสัญญาณมาจากรัฐบาลให้โหวตคว่ำ

        ด้วยเหตุนี้ สถานการณ์การเมืองทั้งในและนอกรัฐสภาหลังจากนี้ โดยเฉพาะม็อบต่างๆ ที่กำลังรุกไล่รัฐบาล มองดูแล้วก็เห็นชัดว่า ศูนย์กลางความร้อนแรงจะอยู่ที่เรื่อง การแก้ไข รธน. โดยมีตัวแปรสำคัญก็คือ ส.ว.-สภาสูง ว่าจะเอาอย่างไรกับเรื่องการแก้ไข รธน. หลังซุ้มเสียง ส.ว.โดยรวมจนถึงขณะนี้พบว่า ยังไม่เด่นชัดแบบเป็นเอกภาพว่า เสียงส่วนใหญ่จะลงมติไปในทางไหน

        ขณะเดียวกันเมื่อโฟกัสไปที่พรรคร่วมรัฐบาล ในเรื่องการยื่นญัตติขอแก้ไข รธน.นั้น ล่าสุดแนวโน้มจะใช้วิธีเสนอญัตติเป็นร่างเดียวกันในนามพรรคร่วมรัฐบาล โดยมีประเด็นหลักคือ แก้ไขมาตรา 256 และให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่คาดว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอญัตติดังกล่าว ต่อชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา วันที่ 26 ส.ค.นี้

        และในช่วงจังหวะนี้ ที่สถานการณ์การเมืองบีบรัดพลเอกประยุทธ์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหว-การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง ที่ยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องในสถานศึกษาต่างๆ รวมถึงในพื้นที่โซเชียลมีเดีย ซึ่งการแสดงความเห็นทางการเมืองบางเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับ สถาบันเบื้องสูง ที่แกนนำนักศึกษา-นักวิชาการ-นักเคลื่อนไหวการเมืองบางกลุ่ม ยังคงนำเสนอชุดความคิดดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ประชาชนอีกบางฝ่ายที่ก็มีจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งเดิมก็ไม่ชอบพวกม็อบนักศึกษาและนักการเมืองอย่างคณะก้าวหน้าของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล และพรรคก้าวไกล เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งรู้สึกชิงชังกลุ่มแกนนำม็อบนักศึกษาและนักการเมืองในซีกคณะก้าวหน้า-พรรคก้าวไกลมากขึ้นเรื่อยๆ 

        สภาพการณ์รอวันปะทุกันดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายเริ่มเป็นห่วงว่า หากสถานการณ์สุกงอม เช่น การแก้ไข รธน.-การยุบสภาฯ หลังแก้ไข รธน.เสร็จสิ้น สุดท้ายไม่เกิดขึ้น ตามที่ม็อบนักศึกษาเรียกร้อง จนมีการยกระดับการเคลื่อนไหว-ยกระดับข้อเรียกร้อง เช่น นัดชุมนุมบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องกดดันรัฐบาลบิ๊กตู่แบบหนักๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากสถานการณ์ไหลไปถึงจุดนั้น หลายฝ่ายก็เกรงกว่าจะเกิดการเผชิญหน้าของคน 2 ฝ่ายหรือไม่ แล้วหากเกิดขึ้น ฝ่ายที่คุมกำลังหลักอย่าง กองทัพ-ทหาร จะวางตัวอย่างไร โดยเฉพาะหลัง 30 ก.ย. ที่จะมีการเปลี่ยนผ่าน ผู้บัญชาการทหารบก จากบิ๊กแดง พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ มาเป็น "บิ๊กบี้" พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ว่าที่ ผบ.ทบ.คนใหม่ ตามกระแสข่าว 

        อันมีรายงานว่า บุคลิกส่วนตัวของ ว่าที่ ผบ.ทบ.คนใหม่ ที่เป็น นายทหารพิเศษประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (รอง ผบ.ฉก.ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904) ที่ว่ากันว่า ดุดัน-เฉียบขาด แต่นิ่งสุขุม ที่เมื่อเข้ามาเป็น ผบ.ทบ.คนใหม่พร้อมกับเป็น สมาชิกวุฒิสภา โดยตำแหน่ง ที่สำคัญเข้ามาในช่วงสถานการณ์ม็อบนอกรัฐสภากำลังก่อตัว-ขยายวง และบางเวทีอาจยังไม่เลิกพูดถึงเรื่องสถาบันเบื้องสูง

        ท่ามกลางกระแสข่าวลือ-การวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในหลายบริบท หากสุดท้ายการเมืองถึงทางตัน คนไทยสุ่มเสี่ยงเผชิญหน้ากันเอง บทบาทกองทัพบกในยุค พล.อ.ณรงค์พันธ์ จะมีบทบาทอย่างมากเมื่อถึงสถานการณ์นั้น เพียงแต่ จะเป็นบทบาทแบบไหน จะเป็นแค่ตัวแปร หรือจะเป็นตัวหลักยุติปัญหา  สถานการณ์นับจากนี้ คาดการณ์ฉากไคลแมกซ์ได้ยากยิ่ง.....


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"