ดาหน้าล้ม'เรือดำน้ำ' โจ้พท.ปูดใบสั่งบิ๊ก'ป.'


เพิ่มเพื่อน    


    ฝ่ายค้านดาหน้าจมเรือดำน้ำ หลังอนุ กมธ.ครุภัณฑ์ฯ โหวตให้ช็อปต่อ 2 ลำ มูลค่า 22,500 ล้านบาท "ยุทธพงศ์" อ้างใบสั่งจาก "บิ๊ก ป." "เจี๊ยบ ก้าวไกล" เอาขี้ปากคนอื่นมาขยายต่อ ทอ.ต้องซื้อเพิ่มเพื่อความเกรียงไกรของกองทัพและให้ทันช่วงราคาโปรโมชั่น ส่วนเพื่อไทยรอลับปากในสภา อ้างเพื่อปากท้องประชาชน
    เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 22 สิงหาคม ที่โตโยต้า ยูเนียน เซ็นเตอร์ จ.ฉะเชิงเทรา ในเวทีสัมมนาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สวัสดิการสังคม เรื่อง "รัฐสวัสดิการ ฝันที่ศิวิไลซ์ ทำอย่างไรจะไปถึง" นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และที่ปรึกษา กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2564 ร่วมบรรยายในหัวข้อ "ประเทศไทยมีศักยภาพในการสร้างรัฐสวัสดิการหรือไม่" โดยเริ่มต้นด้วยการแจกแจงงบประมาณด้านสวัสดิการสังคมต่างๆ ตามช่วงอายุที่คนไทยจะได้รับ พร้อมยืนยันว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการสร้างรัฐสวัสดิการอย่างแน่นอน
    นายธนาธรกล่าวว่า การจะทำให้สวัสดิการประชาชนดีขึ้นกว่านี้ ทำให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้ ไม่ใช่ว่าประเทศไทยไม่มีศักยภาพ หากแต่อยู่ที่เจตจำนงของผู้มีอำนาจว่าจะทำหรือไม่ ทั้งนี้จะเป็นได้ต้องทำอย่างน้อย 4 เรื่อง ได้แก่ เรื่องที่ 1 ปฏิรูปส่วนราชการ หน่วยงานที่ซ้ำซ้อนต้องยุบให้เป็นหน่วยเดียว เพราะนั่นหมายถึงการลดค่าใช้จ่ายประจำอย่างบุคลากร ครุภัณฑ์ต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก, เรื่องที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้เงิน เป็นต้นว่าสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของข้าราชการที่ผ่านมา มีทหารเพิ่มขึ้นเยอะกว่าพยาบาล นี่คือการจัดทรัพยากรที่ไม่เหมาะสมกับการพัฒนาประเทศ ถามถึงสามัญสำนึก วันนี้เราต้องการทหารหรือพยาบาลมากกว่ากัน เงินที่เท่ากันนี้จะเพิ่มให้กับทหารหรือพยาบาล นี่เป็นเรื่องเดียวกัน
    ประธานคณะก้าวหน้ากล่าวว่า เรื่องที่ 3 ลดการใช้งบประมาณที่ไม่เหมาะสม ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือกรณีอนุมัติซื้อเรือดำน้ำอีก 2 ลำ มูลค่า 22,500 ล้านบาท และไม่จบแค่นี้ ยังมีงบประมาณที่เกี่ยวข้องอีก 8,400 ล้านบาท สำหรับท่าเรือจอด โรงงานเก็บตอร์ปิโด เรือยกพลขึ้นบก อาคารข้าราชการต่างๆ เป็นต้น คำถามคือสถานการณ์แบบนี้มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะซื้อเรือดำน้ำ
    และเรื่องที่ 4 ยุติการเอื้อกลุ่มทุน ซึ่งที่ผ่านมาโครงการต่างๆ ของรัฐเข้าทำนองว่านายทุนต้องมาก่อน ส่วนประชาชนรอไปก่อน ยกตัวอย่างการให้ประโยชน์กับบริษัทปลอดภาษีในสนามบิน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากเหตุการณ์โควิด-19 บริษัทดังกล่าวได้รับการเยียวยาด้วยความรวดเร็ว แต่ประชาชนกว่าจะได้เยียวยาต้องรอนานมาก ถ้าเราทำทั้ง 4 เรื่องนี้ได้สำเร็จ ผมเชื่อว่าสวัสดิการของประชาชนในประเทศนี้จะดีขึ้นได้ งบประมาณด้านสวัสดิการปี 2564 กว่า 4 แสนล้านบาท เชื่อว่าถ้าทำตามที่กล่าวมาได้ การจัดการงบประมาณแบบใหม่จะสามารถเพิ่มขึ้นได้อีก 50 เปอร์เซ็นต์ คือเพิ่มขึ้นอีกราว 2 แสนล้านบาท ผมกล้ายืนยันว่าจากประสบการณ์ กมธ.งบประมาณฯ ที่ผ่านมา มั่นใจว่าใน 2-3 ปีนี้สามารถทำได้อย่างแน่นอน
    "บันไดขั้นแรกที่จะไปสู่รัฐสวัสดิการได้ ผมคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเอาทหารออกจากการเมือง แล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาใช้ ทำให้การเมืองเป็นปกติ เมื่อถึงตรงนั้นแล้ว ต้องปฏิรูประบบราชการ ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ กระจายอำนาจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ต้องปฏิรูปกองทัพให้อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ลดขนาดกองทัพลง ทำให้เป็นกองทัพที่ทันสมัย ต้องปฏิวัติระบบการศึกษา ลงทุนเพิ่มขึ้นในโรงเรียนกับครู กับเทคโนโลยีและอุปกรณ์การเรียนการสอน เป็นต้น สิ่งที่ผมพูดไม่ใช่ทางเลือก เป็นทางออกทางเดียวของประเทศที่เหลืออยู่ และเป็นบันไดขั้นแรกที่จะได้มาซึ่งรัฐสวัสดิการ" นายธนาธรกล่าว
อ้างใบสั่ง"บิ๊กป."
    วันเดียวกันนี้ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 กล่าวว่า ทาง อนุกมธ.ครุภัณฑ์ฯ โดยนายสุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานอนุ กมธ.ครุภัณฑ์ฯ จะเข้ารายงานการพิจารณางบจัดซื้อเรือดำน้ำ จากประเทศจีนของกองทัพเรือ จำนวน 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาท ต่อ กมธ.งบชุดใหญ่ ให้พิจารณาในวันที่ 26 ส.ค. เวลา 13.00 น. โดยตนในฐานะที่เป็นโฆษก กมธ.งบชุดใหญ่ จะขอให้ กมธ. พิจารณาทบทวนมติของอนุ กมธ.ที่มีมติให้จัดซื้อเรือดำน้ำใหม่ เพราะจริงๆ การลงคะแนนในที่ประชุมอนุ กมธ.เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา คะแนนออกมาเท่ากัน 4 ต่อ 4 แต่ประธานอนุ กมธ.กลับลงคะแนนด้วย
    “ความจริงแล้วประธานอนุ กมธ.ต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่ใช่ลงมติช่วยฝั่งรัฐบาล ซึ่งผมนั่งเป็นรองประธานอยู่ข้างๆ นายสุพล ทราบว่ามีคนในรัฐบาลระดับนายพล เป็นบิ๊ก “ป.” โทรศัพท์มาสั่งให้นายสุพลลงมติอีกเสียงหนึ่งให้กับฝั่งรัฐบาล เพราะโดยปกติแล้ว หากคะแนนเท่ากันตัดสินไม่ได้ ก็ต้องเสนอให้ กมธ.ชุดใหญ่เป็นผู้พิจารณาก็จบ” 
    นายยุทธพงศ์กล่าวต่อว่า จะเสนอให้ กมธ.ชุดใหญ่ทบทวนมติของอนุ กมธ. ถ้า กมธ.ชุดใหญ่เห็นชอบตามมติของอนุ กมธ. ตนก็จะขอให้ที่ประชุม กมธ.ชุดใหญ่ลงมติแบบเปิดเผย จะได้เห็นว่า ส.ส.ที่อยู่ใน กมธ.คนไหนเห็นว่าเรือดำน้ำสำคัญกว่าปัญหาปากท้องของประชาชน จะได้ให้ประชาชนสั่งสอนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
    เมื่อถามว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่า กมธ.ชุดใหญ่จะกลับมติของอนุ กมธ. ทั้งที่เสียงของรัฐบาลมากกว่า นายยุทธพงศ์ตอบว่า ส.ส.ส่วนใหญ่ใน กมธ.ต้องคิดถึงประชาชน ประชาชนต้องมาก่อนเรือดำน้ำ ถ้าไม่ซื้อเรือก็ไม่มีใครตายสักคน แต่ตอนนี้ประชาชนกำลังฆ่าตัวตายเยอะ เพราะปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้อง ถ้ารัฐบาลยังเดินหน้าจัดซื้อเรือดำน้ำ ตนก็จะได้เชิญชวนประชาชนออกไปเดินขบวนไล่รัฐบาล จะรอดูว่านายกฯ ไทยจะรักประชาชนคนไทยหรือรักเรือดำน้ำของจีน 2 ลำ
เพื่อไทยรอสับในสภา
    ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับการตัดสินใจของอนุกรรมาธิการเสียงข้างมาก เพราะสภาพเศรษฐกิจภายหลังโควิด รัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบอย่างตรงเป้ามีประสิทธิภาพ การลงทุนที่ทำให้เกิดรายได้กับประเทศถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ถือว่ายังไม่มีความจำเป็นในขณะนี้ และถือเป็นการใช้จ่ายที่ไม่เหมาะสม ตอนนี้ยังมีโครงการอื่นๆ อีกมากที่จำเป็นมากกว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำ แต่ก็ถือเป็นการตัดสินใจขั้นต้นอยู่
    "พรรคเพื่อไทยยังหวังว่าในคณะกรรมาธิการงบฯ ชุดใหญ่ ที่มีตัวแทน ส.ส.จากทุกพรรคจะพิจารณาเรื่องดังกล่าว และเห็นด้วยกับอนุฯ เสียงข้างน้อยของพรรคเพื่อไทย ที่ขอให้ชะลอจัดซื้อเรือดำน้ำไปก่อน เอางบมาใช้ในโครงการอื่นที่มีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่า"
    เมื่อถามว่า หากคณะกรรมาธิการงบฯ ชุดใหญ่ยืนยันซื้อเรือดำน้ำ น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่เชื่อว่ากรรมาธิการส่วนใหญ่ที่เป็น ส.ส.ซึ่งตัวแทนจากประชาชนจะไม่ฟังเสียงของประชาชนที่ออกมาคัดค้าน แต่หากดื้อดึงแบบพวกมากลากไป เชื่อว่าประเด็นนี้จะทำให้ประชาชนทั้งประเทศหันหลังให้รัฐบาล ที่แย่ไปกว่านั้น อาจเป็นเงื่อนไขทำให้ประชาชนทนไม่ไหวออกมาชุมนุมกันมากขึ้น เพราะสภาพเศรษฐกิจวันนี้เข้าสู่สภาวะวิกฤติ และคนทั้งประเทศรอคอยความช่วยเหลือ การใช้เงินซื้อเรือดำน้ำไม่มีเหตุผลใดที่ทำให้ประชาชนยอมรับ วันที่ 26 ส.ค. หากกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ยังยืนยันซื้อเรือดำน้ำ คิดว่าในการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ คงมีการนำเรื่องนี้ไปอภิปรายอย่างเข้มข้นแน่นอน 
    นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ในฐานะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ในการพิจารณาของอนุ กมธ.ที่ผ่านมากว่า 10 วัน พิจารณาด้วยดีมาตลอดไม่มีปัญหา การลงมติเรามีทิศทางใช้หลักเหตุผลกับเรื่องของเม็ดเงินในการพิจารณา แม้กระทั่งงบประมาณกองทัพบกในบางเรื่องที่มีความจำเป็น เรายังอนุโลมให้
    ทั้งนี้ การพิจารณาเรื่องเรือดำน้ำ เราเห็นว่าเรามีอยู่ลำหนึ่งแล้ว โดยอนุ กมธ.ได้มีความเห็นเป็น 2 แนวทาง คือ 1.ยกเลิกไปเลย 2.ชะลอไว้ก่อน ส่วนตัวมองว่าควรยกเลิก เพราะด้วยสถานการณ์ของประเทศในขณะนี้ บริบทประเทศยังไม่เหมาะ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งปัญหาโควิด-19 หากเมื่อไหร่เศรษฐกิจกลับมาดี ประชาชนอยู่กินดี กินอิ่มนอนหลับ จะซื้อ 4-5 ลำตนก็ไม่ขัดข้อง แต่ในขณะนี้ยังไม่ใช่ ถ้าไม่ยกเลิกก็ขอให้ชะลอออกไปก่อน
    "เรื่องนี้ผมไม่ยุติ แม้จะโหวตแพ้โหวต แต่ผมตั้งข้อสังเกตไว้ในบันทึกการประชุม จะขอใช้สิทธิในวาระที่ 2 ขออภิปรายต่อ และหากมีโอกาสจะขอไปชี้แจง กมธ.งบฯ คณะใหญ่ และการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติที่กำลังจะเกิดขึ้นแน่นอน" นายครูมานิตย์กล่าว 
ให้ทันช่วงโปรโมชั่น
    ขณะที่นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Amarat Chokepamitkul อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล" ได้เผยข้อมูลจากนางวรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.พรรคก้าวไกล หนึ่งในคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาการจัดซื้อเรือดำน้ำ ระบุว่า "กองทัพเรืออ้างความจำเป็นต้องซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2,3 มูลค่า 22,500 ล้าน ว่าทำตาม MOU เมื่ออนุ กมธ.ขอให้นำ MOU มาเปิดดู ปรากฏว่าไม่มีระบุตามที่อ้าง" กองทัพเรือจึงอ้าง 2 เหตุผลใหม่ต่ออนุ กมธ.ว่า 1.ต้องซื้อเพิ่มเพื่อความเกรียงไกรของกองทัพ 2.จะซื้อให้ทันช่วงราคาโปรโมชั่น
    ด้านนายสุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ในฐานะประธานคณะอนุ กมธ. ชี้แจงว่า โครงการจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 เป็นโครงการต่อเนื่อง ซึ่งได้อนุมัติเห็นชอบโครงการจำนวน 3 ลำนี้ไว้แล้วเมื่อปีงบประมาณ 2560 และ ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2558 ให้กองทัพเรือดำเนินการจัดหาเรือดำน้ำในรูปแบบของรัฐบาลต่อรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่โครงการอนุมัติใหม่แต่เป็นโครงการผูกพันเดิม ซึ่งได้รับอนุมัติไปแล้ว เพียงแต่เมื่อปีงบประมาณ 2563 ทางกองทัพเรือได้คืนงบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำส่วนนี้ให้รัฐบาลนำไปช่วยสถานการณ์โควิด-19 และขอความเห็นใจจากทางการจีนเลื่อนมาดำเนินการในปีงบประมาณ 2564 นี้แทน ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้มีมติเพื่อที่จะยืนยันให้กองทัพเรือได้ปฏิบัติตามตามข้อตกลงเดิมที่ทำไว้กับทางการจีนเท่านั้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ
    เขากล่าวว่า ด้านความมั่นคงของประเทศ การจัดซื้อเรือดำน้ำนั้นต้องใช้เวลาต่อเรือถึง 6 ปีกว่าจะส่งมอบ และไม่ได้จ่ายเงินก้อน 22,500 ล้านบาทในทีเดียว หากแต่เป็นการผ่อนจ่ายเป็นงวดตามงบประมาณแต่ละปีของกองทัพเรือเอง ซึ่งกองทัพเรือยอมตัดลดงบประมาณของตัวเองในด้านอื่นๆ เพื่อเอามาจัดซื้อเรือดำน้ำไว้คานอำนาจต่อรองในน่านน้ำทะเลเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีข้อพิพาทกันอยู่ในปัจจุบัน และเพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศ มีไว้เพื่อไม่ต้องรบ หากไม่มีก็อาจจะต้องรบ  เพราะไม่มีคนเกรงใจ และการจัดซื้อก็ไม่ได้มีผลต่องบประมาณที่จะดูแลประชาชน เนื่องจากเป็นงบของกองทัพเรือเอง และเป็นงบผูกพันจ่ายเป็นงวดๆ ใช้เวลาหลายปี ไม่ได้ใช้เงินก้อนในการจัดซื้ออย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณส่วนใหญ่ดูแลประชาชนผ่านโครงการของรัฐบาลในด้านต่างๆ ดังที่ผ่านมา
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณด้านหน้ากองเรือยุทธการ ถ.สุขุมวิท อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มีการก่อสร้างป้ายของหน่วยใหม่ โดยมีขนาดใหญ่อลังการ นำรูปแบบเรือหลวงนเรศวรมาเป็นพื้นหลัง พร้อมเฮลิคอปเตอร์บนเรือ ส่วนบริเวณโดยรอบมีการจำลองยุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือมาไว้ด้วยกัน
    เช่น เครื่องบินแฮริเออร์ เอวี-8 อากาศยานประจำเรือหลวงจักรีนฤเบศร ที่ปลดประจำการแล้ว แต่ไฮไลต์สำคัญคือมีการสร้างเรือดำน้ำจำลองบริเวณด้านหน้า ซึ่งขณะนี้ช่างกำลังเร่งมือก่อสร้าง คาดว่าจะให้แล้วเสร็จก่อนที่ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ จะเกษียณอายุราชการ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"