'ปิยบุตร'ย้ำข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯคือทางเดียวที่จะธำรงอยู่คู่กับประชาธิปไตย


เพิ่มเพื่อน    

23 ส.ค.63-นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวในระหว่างจัดการบรรยายสาธารณะ Common School On Tour ในหัวข้อ “หนึ่งความฝัน: รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ของคณะก้าวหน้า ที่ห้องประชุม LB1201 คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนหนึ่งระบุว่า สิ่งที่เราต้องยอมรับ คือธรรมชาติของสถาบันพระมหากษัตริย์คือสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้วกับโลกสมัยใหม่ ความล้าสมัยคือ 1.การเอาอำนาจสูงสุดไปอยู่ไว้ที่คนๆเดียว 2.คนๆนั้นสืบทอดมาตามสายเลือด 3.การไม่แบ่งแยกเรื่องสาธารณะกับเอกชนออกจากกัน แต่เหตุใดหลายๆประเทศยังคงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ได้อยู่ หากเราไปดูในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงจากระบอบกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายเกิดขึ้นเพียงสองทางเท่านั้น คือกลายมาเป็นระบอบกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย (Constitutional Monarchy) หรือกลายมาเป็นสาธารณรัฐ สุดท้ายถ้ากษัตริย์ไม่ปรับตัว หน่วยอำนาจใหม่ชนะก็จะกลายเป็นสาธารณรัฐ แต่ถ้าไปดูประเทศที่เปลี่ยนมาเป็น Constitutional Monarchy ได้ ก็เพราะกษัตริย์ยอมลดทอนอำนาจตัวเองลงให้มาอยู่ใต้ระบอบประชาธิปไตยเพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้

นายปิยบุตร กล่าวว่า เมื่อกลับมามองประเทศไทย เรารู้จักคำว่า Constitutional Monarchy ครั้งแรกก็เมื่อการอภิวัฒน์สยาม 2475 หน่วยอำนาจเดิมกับหน่วยอำนาจใหม่ก็ขัดแย้งกันเป็นปกติ ตัวบทที่เขียนในรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 ก็มีการมองต่างกัน ว่าพระองค์จะมีส่วนในอำนาจบริหารด้วย หรืออำนาจทั้งหมดควรอยู่ที่รัฐบาล ความเห็นต่างในส่วนนี้ขับเคลื่อนมาเรื่อยๆจนกระทั่งพัฒนาการมาเป็นคำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในปัจจุบัน และหลังรัฐประหารปี 2549 ก็ถูกผลิตซ้ำมากขึ้นทุกวัน

ความเห็นต่างนี้ ยังสะท้อนให้เห็นในการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ ในเรื่องของการจะเปิดให้มีการแก้ หมวด 1, หมวด 2 ได้ด้วยหรือไม่ด้วย ซึ่งตนก็ต้องยืนยันว่าหมวด 1, หมวด 2 มีการแก้ไขมาโดยตลอด ต่อให้แก้อย่างไรก็แก้โดยเปลี่ยนระบอบไม่ได้ มันล็อคเอาไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ ถ้าวันหนึ่งเกิดมีความจำเป็นต้องแก้จะต้องทำอย่างไร อย่างเช่นในรัฐธรรมนูญปี 2560 หลังผ่านการประชามติ ก็มีพระราชกระแสรับสั่งให้มีการแก้หมวด 2 มาจากในหลวงรัชกาลที่ 10 ทำให้รัฐบาลต้องไปหาทางที่จะแก้ไขในส่วนนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 เองก็ระบุไว้ว่าแก้ได้แต่ต้องไปผ่านประชามติ คำถามจึงมีอยู่ว่าถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้อีกแล้วมีการล็อคไปห้ามไม่ให้แก้แล้วจะต้องทำอย่างไร?

“บางทีผมก็อึดอัดคาใจว่าคนที่ด่าผมเรื่องไม่จงรักภักดี ผมพยายามหาวิธีการมันไม่มีการปะทะขัดแย้งกัน เขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้จะทำให้ไปสู่ทางตัน เขียนนล็อคไว้ว่าหมวด 1, หมวด 2 แก้ไม่ได้ แล้วถ้าเกิดมีความจำเป็นต้องแก้จริงๆคุณจะทำอย่างไร? เขียนรัฐธรรมนูญคุณบอกหมวด 2 ต้องไปประชามติ แลวถ้าเกิดมีการแก้รัฐธรรมนูญหมวด 2 เหมือนเหตุการณ์ที่ผ่านมาตามพระราชกระแสรับสั่งแล้วคุณเอาไปประชามติ แล้วคุณคุมได้เหรอประชามติ? กลายเป็นว่าคนเขียนรัฐธรรมนูญเป็นพวกวิธีคิดแบบล้นเกิน คุณล้นเกินไปหมดทุกเรื่องตั้งแต่คำว่า “อันมีฯ” ใครไม่พูด “อันมีฯ” กลายเป็นคนที่คิดอะไรอยู่ เป็นเรื่อง เท่ากับล้มล้าง ไม่ห้ามแก้หมวด 1, หมวด 2 เท่ากับจะแก้ มันล้นเกินไปหมด ป้องกันตัวเองจนกลัวไปหมด ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาอย่างยิ่ง” 

นายปิยบุตรกล่าวว่า ถ้าเราลองไปดูประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญมา การถกเถียงกันถึงตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องปกติที่ทำกันมาโดยตลอด ผู้ที่ถกเถียงก็เป็นระดับเจ้าพระยา ขุนนางระดับสูง เป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นกลุ่มกษัตริย์นิยม เคยมีการพูดชัดเจนถึงขั้นว่าเราจะจัดวางสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไรให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย เรื่องนี้เราเคยมีการพูดกันในสภามาโดยตลอด มาระยะหลังจึงเริ่มไม่พูดกัน ทุกวันนี้กลายเป็นว่าใครพูดเป็นเรื่องแหลมคม ทั้งๆที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องพูดด้วยซ้ำ หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อเราต้องพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ

"สิ่งที่ผมเรียกร้องมาเสมอต่อฝ่ายอนุรักษ์นิยม คือขอนิยามที่ชัดเจนแท้จริงของคำว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหน่อย แต่ก็ไม่เคยมีใครนิยามให้เราเห็นได้เลย ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหลีกเลี่ยงไม่เคยพูดถึงเลย แต่กลับทำให้มันคลุมเครือจนกลายเป็นว่าใครพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้เลย พัฒนาการไปจนถึงขั้นว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไม่ต้องนิยามอะไรเลย" 

เลขาฯคณะก้าวหน้ากล่าวว่า สำหรับตนแล้วถ้าเกณฑ์ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเอาไว้ คือการธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย ให้ธำรงอยู่ต่อไปในโลกสมัยใหม่ เราจะต้องสร้าง Constitutional Monarchy และ Parliamentary Monarchy ขึ้นมาให้ได้ ในประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2475 จนถึง 2563 มีการเปลี่ยนแปลงตัวบทกฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์อย่างมีนัยสำคัญอยู่ 4 ครั้ง 

"เมื่อเรามาพิจารณาดู ว่ามีกฎเกณฑ์ในทางรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เรื่องใดบ้างที่อาจจะไม่สอดคล้องกับหลักการ Constitutional Monarchy ซึ่งตนรวบรวมมาเห็นว่ามี 6 ประการด้วยกัน 1.อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ก็คืออำนาจในการเขียนและกำหนดรัฐธรรมนูญ อำนาจก่อตั้งระบอบการปกครอง ในยุคประชาธิปไตยเรายืนยันว่าอำนาจต้องเป็นของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติของรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงฉบับนี้ เรื่องนี้เป็นปัญหาคลุมเครือมาโดยตลอด ฝ่ายกษัตริย์นิยมก็ยืนยันมาโดยตลอดว่าเป็นของพระมหากษัตริย์ รวมถึงศาลรัฐธรรมูญชุดที่ผ่านมา ก็เคยวินิจฉัยลงไปอย่างชัดเจนว่าเป็นของพระมหากษัตริย์ ประกอบกับพระราชกระแสรับสั่งให้แก้ร่างรัฐธรรมนูญ 60 ที่ผ่านประชามติมาแล้ว ทั้งหมดนี้เสมือนยืนยันไปแล้วว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของไทยเป็นของพระมหากษัตริย์

2.ความคลุมเครือในการแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (The Crown) กับส่วนพระองค์ (The Person) โดยเฉพาะเมื่อมีการแก้ไข พ.ร.บ.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในปี 2560-2561 ต่อเนื่องกัน ทำให้การแบ่งทรัพย์สินระหว่างส่วนพระมหากษัตริย์กับส่วนพระองค์คลุมเครือปนกัน ที่ผ่านมามีการแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกจากกัน แต่กฎหมายใหม่ปี 2561 รวมเอาทั้งทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เอามาไว้ด้วยกัน ในชื่อของ “ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” โดยปกติแล้ว รัฐสมัยใหม่ต้องยึดหลักการในการแยกสองส่วนนี้ออกจากกัน และยังมีการแก้ไขส่วนสำคัญอีก คือในมาตรา 5 การหมดสถานะความเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ต้องได้รับพระบรมราชานุญาติจากพระมหากษัตริย์เท่านั้น และยังมีการเปลี่ยนในมาตรา 7 ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นหน่วยงานในพระมหากษัตริย์ 

3.เรื่องของผู้สำเร็จาชการในพระองค์ สุภาษิตกฎหมายมีการกล่าว่า ราชบัลลังก์ไม่ใช่เก้าอี้ที่ว่างเปล่าได้ นั่นหมายความว่าตำแหน่งประมุขของรัฐเป็นหมุดที่ประกันความต่อเนื่องของรัฐ ตำแหน่งประมุขของรัฐคือภาพแทนของรัฐหนึ่งๆ มีความสำคัญในทางสัญลักษณ์เช่นนี้ รัฐจะขาดประมุขของรัฐไม่ได้ จึงเป็นที่มาของการเขียนบทบัญญัติว่าในกฎหมายไว้ว่าถ้าประมุขของรัฐถ้าไม่ประทับอยู่ในประเทศต้องมีคนมารักษาการแทน ประเทศไทยก็เป็นแบบนี้มาโดยตลอด แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ได้แก้กฎเกณฑ์เรื่องนี้ไปเสีย ในมาตรา 16 ในกรณีพระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร จะแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ 

4.มีความคลุมเครือในเรื่องสถานะของหน่วยงาน ตามปกติแล้วองค์กรของรัฐองค์กรใดก็ตาม มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีการใช้งบประมาณแผ่นดิน เราจะเรียกกันรวมๆว่าหน่วยงานของรัฐ แต่ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ปี 2560 ที่มีการแก้ไข ได้กำหนดไว้ว่าส่วนราชการในพระองค์ไม่เป็นส่วนราชการ และไม่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ก็ไม่ใช่เอกชนด้วย เพราะคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้ จึงกลายเป็นองค์กรที่ยังจัดประเภทสถานะให้ไม่ได้ 5.หลักการ The King Can Do No Wrong ที่ต้องให้มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ รับผิดชอบในทางการเมือง พระมหากษัตริย์ต้องไม่ทรงกระทำอะไรด้วยพระองค์เอง เป็นอำนาจของรัฐบาลเท่านั้น เพื่อไม่ให้พระมหากษัตริย์ต้องรับผิดทางการเมือง แต่กฎหมายหลายฉบับที่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจโดยแท้ในเรื่องสาธารณะหลายประการ แต่ทว่าความคุ้มกันนี้ก็ยังคงอยู่ 

6.ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หลายๆประเทศมีอยู่แต่ไม่ใช้ บางประเทศออัตราโทษต่ำมาก บางประเทศก็ไม่มีแล้ว ส่วนประเทศไทยที่มีการเพิ่มโทษในปี 2519 ให้โทษสูงขึ้นเป็น 3-15 ปี และกำหนดโทษขั้นต่ำเอาไว้เป็นการจำคุก 3 ปี ซึ่งเป็นโทษที่สูงยิ่งกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียอีก
ที่สำคัญคือการเอามาตรา 112 ไปอยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ และให้บุคคลใดร้องทุกข์กล่าวโทษได้ทั้งสิ้น ที่ผ่านมาการตีความของศาลได้เกินตัวบทกฎหมายไปมากแล้วด้วย เช่น ครอบคลุมไปถึงพระมหากษัตริย์องค์ก่อนๆ หรืออย่างคดีล่าสุดขยายความรัชทายาทให้รวมถึงสมเด็จพระเทพฯ ด้วย 

"ทั้งหมด 6 ประการล้วนเป็นกฎเกณฑ์ตามรัธรรมนูญและกฎหมาย ที่มีปัญหาไม่สอดคล้องกับหลักการ Constitutional Monarchy"


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"