ทัพเรือเต้น!แจงมติซื้อเรือดำนํ้า


เพิ่มเพื่อน    


    กองทัพเรือเปิดแถลงชนฝ่ายค้านจันทร์นี้ หลังโดนกระแสสังคมถล่มแหลก ประชาชนใกล้อดตายแต่ซื้อเรือดำน้ำอีก 2 ลำ 22,500 ล้านบาท กมธ.งบฯ เพื่อไทยอ้างจับเท็จ ทร. พบไม่ใช่สัญญาจีทูจี ชี้ต้องเป็นโมฆะ "สุพล" ฉุน อัดยุทธพงศ์ปั้นน้ำเป็นตัว รอวัดใจที่ประชุมใหญ่ กมธ.พุธนี้ให้เปิดชื่อรายบุคคลใครลงมติเอาด้วย-ค้าน ปชป.มาแล้ว โดดขวางสุดตัว 
    ภายหลังคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 64 สภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบงบจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือจากประเทศจีน ตามกรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 2 ลำ มูลค่ารวมทั้งหมด 22,500 ล้านบาท 
    อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าวต่อเนื่องโดยเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ และรองประธานคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ฯ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า จากเดิมที่อนุกรรมาธิการฯ มีมติเท่ากัน 4 ต่อ 4 แต่นายสุพล ฟองงาม ประธานอนุกรรมาธิการฯ กลับลงมติเห็นชอบ ทั้งที่ตำแหน่งประธานไม่ควรลงมติ เนื่องจากต้องวางตัวเป็นกลาง แต่นายสุพลกลับมาลงอีกเสียงหนึ่งเสียง ทำให้มติเป็น 5 ต่อ 4 ที่เห็นชอบการจัดซื้อเรือดำน้ำ ต่อมาก็มีการตั้งคำถามว่า มีการล็อบบี้ในอนุ กมธ.หรือไม่ เพราะมี กมธ.คนหนึ่งที่ออกเสียงไม่ซื้อเรือดำน้ำถึงกับบอกในห้องประชุมว่า ลองให้ทหารถอดเครื่องแบบแล้วถามชาวบ้านในต่างจังหวัด ก็จะพบว่าชาวบ้านไม่ยอมให้ซื้อเรือดำน้ำแน่นอน แต่สุดท้ายการลงมติอีกครั้งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กมธ.คนดังกล่าวนี้ก็โหวตให้ซื้อเรือดำน้ำ ดังนั้นจึงเชื่อว่ามีการล็อบบี้จากผู้ใหญ่ในรัฐบาลอย่างแน่นอน
    นายยุทธพงศ์ยังได้แสดงเอกสารบันทึกข้อตกลงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือต่อสื่อมวลชน ที่มีการระบุว่าเป็นสัญญาจีทูจีพร้อมกล่าวว่า เมื่อมาตรวจสอบกลับพบว่าไม่ใช่สัญญาจีทูจี แต่เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงและสัญญาที่เซ็นไป ก็เป็นเพียงแค่การจัดซื้อเรือดำน้ำ 1 ลำเท่านั้น ไม่มีลำที่ 2 หรือ 3 ไม่มีข้อผูกพันอะไร เอกสารที่ลงนามสัญญาฝั่งไทยคือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ที่ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ในปี 2560 และฝั่งจีนที่ลงนามด้วยคือบริษัทเอกชน ไม่ใช่รัฐบาลจีน ซึ่งจุดนี้จะนำไปสู่หนังม้วนยาว 
    "ขอตั้งข้อสังเกตว่าทำไมปกปิดเอกสารมาโดยตลอด หากเป็นสัญญาแบบจีทูจีจริง ผู้ลงนามฝั่งไทยก็ไม่มีอำนาจลงนามแทนรัฐบาลไทย เพราะผู้มีอำนาจคือนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อีกทั้งยังไม่มีหนังสือมอบอำนาจจากรัฐบาลไทยด้วย และตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือก็ไม่สามารถรับมอบอำนาจได้ คนที่รับมอบอำนาจได้คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเท่านั้น ดังนั้นสัญญาดังกล่าวจึงต้องเป็นโมฆะ เพราะกองทัพเรือไม่สามารถชี้แจงได้เลย อ้างแต่เรื่องความมั่นคงทางทะเล ทั้งที่ความอดอยากของประชาชน ทั้งภัยพิบัติน้ำท่วมในขณะนี้  สำคัญกว่าเรือดำน้ำ" ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าว 
    นายยุทธพงศ์กล่าวอีกว่า แนวทางต่อไปที่จะต่อสู้คือ ในวันพุธที่ 26 สิงหาคม เวลา 13.00 น. คณะ กมธ.งบประมาณชุดใหญ่จะให้อนุ กมธ.ชี้แจงเรื่องเรือดำน้ำ จะเสนอให้ กมธ.
    ชุดใหญ่ทบทวนเรื่องนี้ ขอให้กองทัพเรือนำหนังสือสัญญามาแสดง หากแสดงไม่ได้สัญญาจะต้องเป็นโมฆะ เนื่องจากไม่มีความโปร่งใส มีความไม่ชอบมาพากล ทั้งนี้ หากคณะ กมธ.ดึงดันให้ผ่าน จะเสนอให้มีมติในคณะ กมธ.งบฯ ชุดใหญ่ โดยให้ กมธ.ลงชื่อเป็นรายบุคคลแบบเปิดเผยชื่อ เพื่อดูว่าใครเห็นความสำคัญของเรือดำน้ำมากกว่าความอดอยากของประชาชน แต่หากโหวตแล้วยังแพ้เสียงส่วนใหญ่ในซีกรัฐบาล ก็จะเดินหน้าต่อไปเพื่อฟ้องกับประชาชน เพราะเรื่องนี้มีความไม่ชอบมาพากลอย่างมาก ส่วนที่พล.อ.ประยุทธ์เคยประกาศว่าเลือกเรือดำน้ำจีนเพราะได้คุณภาพดีในราคาประหยัด อีกทั้งยังซื้อ 2 แถม 1 นั้น แล้วทำไมวันนี้กลายเป็นว่าซื้อเรือดำน้ำทั้งหมด 3 ลำ แปลว่าอะไร
    นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า เรื่องนี้เหมือนเป็นใบสั่ง ตอนแรกทุกคนอภิปรายไม่เห็นด้วย แต่สุดท้ายก็โหวตเห็นด้วย  
    “ผมไปนอนคิด 2 วัน ผมว่ารัฐบาลป่วยแล้วลืมประชาชน ลืมสิ่งที่พูดไว้ว่าพี่น้องประชาชนต้องรัดเข็มขัด ต้องประหยัด แต่ก็มาดันเรื่องนี้ รัฐบาลไม่ได้เป็นง่อย แต่ป่วย เรื่องนี้ยืนยันว่าวาระ 2 เชื่อว่าเพื่อนร่วมฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่ไม่ได้เป็นกรรมาธิการจะมาร่วมแจมด้วย เพียงแต่วันนั้น 4 ท่านในอนุกรรมาธิการคือโทร.มาประสานได้ง่าย เดี๋ยวได้พิสูจน์กันว่าคนเป็นผู้แทนในภาวะวิกฤติ หากยังแบกหามรัฐบาลอยู่ ก็เชิญตามสบาย หากเห็นว่าพร้อมยุบสภาไหม ผมพร้อม วันนี้คนไทยกำลังโดนต้ม 2 แถม 1 บ้าง ทำเอ็มโอยูบ้าง ทั้งที่จริงๆ ไม่มีอะไรเลย เรื่องนี้ไม่จบแน่ ผมเดินหน้าเตรียมฟ้องประชาชน” นายครูมานิตย์กล่าว
    นายยุทธพงศ์กล่าวเสริมอีกว่า หากนายกรัฐมนตรียังดึงดันที่จะซื้อเรือดำน้ำ เชื่อว่าจะเป็นจุดจบของรัฐบาล และหากรัฐบาลเดินหน้าต่อ จะขอเชิญชวนประชาชนให้ออกไปร่วมการชุมนุมกับนิสิตนักศึกษาเพื่อขับไล่รัฐบาล ขอถามนายกรัฐมนตรีว่าหัวใจทำด้วยอะไร นายกฯ ไทยหัวใจเรือดำน้ำจีน
    เมื่อถามว่า มีบุคคลใกล้ชิดรัฐบาลเป็นนายหน้าใช่หรือไม่ นายยุทธพงศ์กล่าวว่า จะต้องเจาะลึกในรายละเอียดต่อไป
    ด้านนายสุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทย ว่าไม่เคยรับโทรศัพท์จากผู้ใหญ่ในรัฐบาลระดับนายพลที่มีชื่อว่าบิ๊ก ป. เพื่อให้ลงมติเห็นชอบการจัดซื้อเรือดำน้ำตามที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ระบุ เพราะในขณะประชุมตนปิดโทรศัพท์ ตนเป็นประธานในที่ประชุม จะเปิดโทรศัพท์เพื่อพูดคุยกับใครได้อย่างไร มองว่าคนพูดเป็นคนไม่มีมารยาท ปั้นน้ำเป็นตัว เห็นแต่นายยุทธพงศ์โทรศัพท์ตลอด ไม่รู้โทรศัพท์หาใครในที่ประชุม
    ส่วนที่ต้องลงมติเห็นชอบการจัดซื้อเรือดำน้ำทั้งที่อยู่ในตำแหน่งประธานอนุกรรมาธิการฯ นั้น นายสุพลกล่าวว่า วางตัวเป็นกลางมาโดยตลอด แต่เมื่อข้อบังคับการประชุมกำหนดว่า หากคะแนนเสียงเท่ากัน ประธานจะต้องเป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งในขณะที่เจ้าหน้าที่ของสภาชี้แจงเรื่องข้อบังคับการประชุมข้อนี้ นายยุทธพงศ์ก็นั่งอยู่ตอนนั้น ก็ต้องได้ยินเต็มสองหูว่าเมื่อคะแนนเท่ากันประธานจะต้องชี้ขาด แล้วจะชี้ขาดให้ฝ่ายค้านได้หรือ เพราะเป็นรัฐบาล
    นายสุพลกล่าวว่า การชี้แจงของกองทัพเรือมีเหตุผล เพราะถ้าไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเดิม จะทำให้เกิดความเสียหายระหว่างประเทศ การลงทุนและการเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพเรือให้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซียและเวียดนาม ก็มีเรือดำน้ำหลายลำ แม้กระทั่งกัมพูชาก็มีเรือดำน้ำ 2 ลำ ประเทศเมียนมาก็มีเรือดำน้ำ เพื่อเป็นการรักษาประโยชน์ทางทะเลของชาติ ทั้งการปิโตรเลียม การประมง การเดินเรือทางทะเลต่างๆ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือ ดังนั้นกองทัพเรือต้องพัฒนาขีดความสามารถ
    นายสุพลกล่าวว่า ส่วนเรื่องความเสียหายที่จะไปกระทบต่อประชาชนนั้น กองทัพเรือได้ชี้แจงต่อกรรมาธิการว่าไม่กระทบ  เพราะเป็นงบประมาณในส่วนของกองทัพเรือ ไม่ได้ขอเพิ่มจากส่วนอื่น ไม่ได้กระทบกับส่วนที่ช่วยเหลือประชาชน ที่สำคัญคือแบ่งจ่ายเป็นงวด สั่งเรือดำน้ำวันนี้ อีก 7 ปีถึงจะได้ ไม่ได้จ่ายทีเดียวกว่า 20,000 ล้านบาท เมื่อเขามีเหตุผลก็เป็นการใช้ดุลพินิจและเป็นสิทธิ์ของกรรมาธิการแต่ละคนที่จะลงมติ หากใครไม่เชื่อไม่เห็นด้วยก็เป็นสิทธิ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงมันเท่ากันก็เป็นสิทธิ์ของประธานตามข้อบังคับที่จะต้องชี้ขาด
    นายสุพลกล่าวว่า หากไม่เดินตามข้อตกลงเดิมก็จะเสียหายต่อประเทศ เป็นข้อตกลงเดิมไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเก่า เป็นโครงการเก่า งบประมาณปี 2563 ทางกองทัพเรือนำเงินที่ได้จัดสรรงบประมาณเมื่อปี 2563 ไปให้รัฐบาลแก้ปัญหาโควิด-19 จึงได้ไปขอเจรจากับจีน และจีนก็เลื่อนให้ ว่าปี 2564 ค่อยจ่ายเงินในส่วนของปี 2563 และปี 2564 ก็ตั้งงบประมาณเพื่อไปใช้หนี้จ่ายงวดของปี 2563 ซึ่งหลังจากจบเรื่องนี้ในชั้นอนุกรรมาธิการแล้วก็สามารถไปขอทบทวนได้ในคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ ส่วนที่นายยุทธพงศ์ระบุว่า เอกสารสัญญาการจัดซื้อเรือดำน้ำอาจจะเป็นโมฆะ เนื่องจากไม่ใช่สัญญาแบบจีทูจี และผู้ลงนามในขณะนั้นไม่มีอำนาจในนามรัฐบาล นายสุพลกล่าวว่า นายยุทธพงศ์จะเอาความเห็นของตัวเองไปตัดสินว่าไม่เป็นจีทูจีและเป็นโมฆะไม่ได้ ต้องให้ผู้ที่มีหน้าที่เป็นคนตัดสิน มองว่าวันนี้ยังเป็นจีทูจีอยู่ แล้วก็ยังมีผลอยู่ เพราะเป็นกฎหมายงบประมาณปี 2563 
    ขณะที่ความเคลื่อนไหวจากฝ่ายกองทัพเรือนั้น ทางผู้บัญชาการทหารเรือ พล.ร.อ.ลือชัย รุษดิษฐ์ ได้มอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องของกองทัพเรือ เปิดแถลงข่าวเรื่องดังกล่าวต่อสื่อมวลชนในวันจันทร์ที่  24 ส.ค. เวลา 13.30 น. ที่ห้องชมวัง อาคารราชนาวิกสภา โดยประเด็นที่กองทัพเรือเตรียมชี้แจง ได้แก่ ความจำเป็นในเชิงยุทธศาสตร์ การจัดสรรงบประมาณของกองทัพเรือที่เลื่อนโครงการจัดหาเรือผิวน้ำ-โครงการจัดหาอากาศยานแล้วนำงบดังกล่าวมาเป็นผูกพันงบประมาณในการจัดหาเรือดำน้ำ พร้อมทั้งเรื่องเอกสารข้อกฎหมายในการทำสัญญาโครงการดังกล่าว เพื่อตอบโต้ว่าข้อมูลของพรรคเพื่อไทยเป็นการบิดเบือนและตัดตอน 
    นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ไม่เห็นด้วยที่จะใช้เงินจำนวนมากไปซื้อเรือดำน้ำในขณะที่บ้านเมืองกำลังมีปัญหาเรื่องโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบกับเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนจำนวนมาก
    เราควรยอมรับความจริงว่า ขณะนี้เศรษฐกิจฝืดเคือง คนหาเช้ากินค่ำมีชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก ชักหน้าไม่ถึงหลัง คนจำนวนมากวิตกกังวลเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าอะไรจะเกิดขึ้น ตราบใดที่สถานการณ์โควิด-19 ยังต้องอยู่กับเราไปอย่างไม่มีกำหนดแน่นอนว่าจะคลี่คลายเมื่อไหร่ ขณะที่ในประเทศไทยก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีวัคซีนใช้ได้เมื่อไหร่ รวมถึงอาจมีโควิด-19 ระบาดรอบสอง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนมากขึ้นไปอีก การใช้จ่ายเงินทุกบาททุกสตางค์ของภาครัฐ จึงควรใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดในการรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจ ถึงแม้กองทัพเรือจะอ้างว่าการมีเรือดำน้ำเป็นความจำเป็นทางด้านความมั่นคง แต่ในขณะที่บ้านเมืองยังมีปัญหาโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ สังคม ซ้ำเติมประเทศชาติและประชาชนอยู่แบบนี้ ควรนำงบประมาณไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนจะดีกว่า จนกว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะคลี่คลายเข้าสู่สภาวะปกติค่อยพิจารณากันใหม่ได้
    นายองอาจย้ำว่า    ส่วนที่มีความกังวลว่าจะกระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนนั้น ไม่น่าจะกังวลแต่อย่างใด เพราะจีนก็ทราบดีว่าไทยได้รับผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด-19 อย่างไร จีนน่าจะเข้าใจและเห็นใจประเทศไทยมากกว่า จึงขอเรียกร้องให้ทบทวนชะลอการซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาทออกไปก่อน เพื่อนำงบประมาณไปใช้จ่ายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนที่กำลังประสบปัญหาอย่างมากอยู่ขณะนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"