'เพนกวิน-อานนท์'สุดช้ำ พท.-กก.เลิกแก้หมวด1-2


เพิ่มเพื่อน    


    กมธ.ศึกษา รธน.สรุปความเห็นให้สภา 2-3 ก.ย. ส.ส.ร. 40 ร่อนแถลงการณ์บี้ ครม.-ส.ส.-ส.ว.เร่งแก้รัฐธรรมนูญสยบขัดแย้ง ก้าวไกลปัดกลับลำไม่ยื่นญัตติแก้หมวด 1-2 ย้ำจุดยืนต้องให้อิสระ ส.ส.ร.แก้ได้ทุกหมวดภายใต้มาตรา 255 แกนนำม็อบผิดหวังฝ่ายค้านเมินแตะสถาบัน เตือนระวังโดนยุบพรรคซ้ำอีก
    เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กล่าวถึงความคืบหน้าในการส่งสรุปรายงานความคิดเห็นและข้อเสนอแนะการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาว่า คาดว่าจะส่งให้ที่ประชุมสภาฯ พิจารณาได้ในช่วงวันที่ 2-3 ก.ย. โดยเนื้อหาหลักๆ อาทิ ควรแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ระบบการเลือกตั้ง กฎหมายว่าด้วยการกระจายอำนาจ องค์กรอิสระ วิธีงบประมาณ และวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยเฉพาะระบบการเลือกตั้งนั้น เห็นควรให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเหมือนเดิม ส่วนที่มาของ ส.ว.นั้น จะต้องยึดโยงกับประชาชนให้มากขึ้นกว่านี้ และไม่ควรที่จะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้
    นายสุทินยังกล่าวถึงการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของพรรคเพื่อไทยว่า ในส่วนของพรรคเพื่อไทยนั้นจะยังไม่ยื่นร่างใดๆ ทั้งสิ้นในขณะนี้ เพราะได้มีการยื่นร่างในส่วนของพรรคร่วมฝ่ายค้านไปแล้ว จะขอรอดูท่าทีไปก่อนว่าจะเป็นอย่างไร
    นายคํานูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "ไม่ว่าจะชอบหรือชัง 250 ส.ว. ความจริงที่ต้องยอมรับคือ ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญกันในระบบ ก้าวแรกก็ต้องอาศัยเสียง ส.ว. 84 คน ทั้งในวาระ 1 และ 3 ส่วน 250 ส.ว.จึงต้องคงอยู่ ผมเชื่อว่า ส.ว.ทุกคนพร้อมจะให้ความร่วมมือในการพิจารณา และพร้อมจะตัดสินใจลงมติที่ถูกต้องเสมอ เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้ ไม่ว่าการลงมตินั้นในที่สุดแล้วจะกระทบต่อสถานภาพการเป็น ส.ว.ของทุกคนหรือไม่ก็ตาม"
    กลุ่มสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2540 รวม 17 คน อาทิ นายเดโช สวนานนท์ นายพนัส ทัศนียานนท์ นางสุนี ไชยรส นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ได้ออกแถลงการณ์เรื่องเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและข้อคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนี้ 1.ขอสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามที่ทุกพรรคทุกฝ่ายเรียกร้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน โดยถือเอากระบวนการคัดเลือก ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน การรับฟังความเห็นประชาชน การร่างรัฐธรรมนูญ และเนื้อหาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นแบบ
    2.ระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ใช้บัตร 2 ใบ ส่วน ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในแต่ละจังหวัด อันจะทำให้ได้รับการยอมรับในความชอบธรรมและการเป็นประชาธิปไตย 3.นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดของฝ่ายบริหารให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 4.ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่เพียงเฉพาะการวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น ทั้งนี้ กระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน
    5.คณะกรรมการในองค์กรอิสระต่างๆ ให้ที่มาของกระบวนการสรรหาทุกขั้นตอนยึดโยงกับประชาชน ไม่ให้อำนาจตกอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อีกทั้งกำหนดบทบาทหน้าที่อย่างเหมาะสม ไม่ให้มีมากเกินไปจนกลายเป็นอำนาจเหนืออำนาจ มีการตรวจสอบถ่วงดุลในการใช้อำนาจหน้าที่และการบริหารงานที่สุจริต เที่ยงธรรม โปร่งใส มีประสิทธิภาพ 6.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ พื้นฟูความเชื่อมั่นของสังคมที่กำลังเกิดวิกฤติศรัทธาให้กลับคืนมา  
เร่งแก้ รธน.สยบขัดแย้ง
    7.ปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนกล้าคิดกล้าแสดงออกให้เหมาะสมกับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการจัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องประชาธิปไตยที่เป็นสากล 8.มีบทบัญญัติในระยะเปลี่ยนผ่านจากการสืบทอดอำนาจมาเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ คืนความเป็นธรรม การเยียวยา สร้างความกลมเกลียวเป็นปึกแผ่นให้กับประชาชนในชาติภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 9.มีบทบัญญัติที่เป็นมาตรการและกลไกอย่างถาวรสำหรับป้องกันมิให้มีการก่อรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญและล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้อีกต่อไปในอนาคต
    "ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 ผู้เกี่ยวข้องทั้งคณะรัฐมนตรี พรรคการเมือง ส.ส.และ ส.ว.ต้องร่วมมือผนึกกำลังกันด้วยความจริงใจต่อประชาชนแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จโดยไม่ชักช้า เพราะยิ่งช้าเท่าไรก็จะยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับเยาวชนและประชาชนมากขึ้นเท่านั้น ดังสำนวนไทยที่ว่า "กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้" ทั้งนี้ ผู้ปกครองและผู้มีอำนาจควรแสดงออกถึงการไม่เป็นผู้ยึดติดหรือหวงแหนอำนาจ ซึ่งจะนำพาบ้านเมืองไปสู่ทิศทางที่ทุกฝ่ายมุ่งหวังต้องการ นั่นคือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเดินหน้าพัฒนาไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองโดยไม่เสียเลือดเนื้อ ไม่ต้องเจ็บปวดครั้งแล้วครั้งเล่าเหมือนในอดีตที่ผ่านมา" แถลงการณ์ระบุ
    นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวระหว่างลงพื้นที่ จ.ระยอง ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของพรรคฝ่ายค้านที่จะร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังยืนยันว่าการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากการร่างของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จะเป็นทางออกให้กับความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทย
    ที่ห้องประชุม LB1201 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะก้าวหน้า โดยโครงการ Common School ได้จัดการบรรยายสาธารณะ Common School On Tour ในหัวข้อ “หนึ่งความฝัน : รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” โดยมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และ รศ.ดร.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมบรรยายในหัวข้อดังกล่าว 
    โดยนายปิยบุตรกล่าวว่า ความเห็นต่างนี้ยังสะท้อนให้เห็นในการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ ในเรื่องของการจะเปิดให้มีการแก้หมวด 1, หมวด 2 ได้ด้วยหรือไม่ด้วย ซึ่งตนต้องยืนยันว่าหมวด 1, หมวด 2 มีการแก้ไขมาโดยตลอด ต่อให้แก้อย่างไรก็แก้โดยเปลี่ยนระบอบไม่ได้ เพราะล็อกเอาไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ 
    "นี่คือช่วงเวลาแห่งการต่อสู้ช่วงชิงกันในทุกๆ มิติ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย มีทั้งการต่อสู้ในเรื่องความคิดอุดมการณ์ และการต่อสู้กันในเรื่องของอำนาจรัฐด้วย เป็นช่วงยามที่กำลังจะขยับกันว่าตัวบทจะอยู่ตรงไหน เหตุปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่ตัวบทจะอยู่ตรงไหน เพื่อที่จะออกแบบให้สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นสอดคล้องกับประชาธิปไตย ธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” นายปิยบุตรระบุ
ปัดกลับลำไม่แตะสถาบัน
    นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล​ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่าพรรคก้าวไกลกลับลำจะไม่ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 และ 2 ของรัฐธรรมนูญว่า ไม่ได้กลับลำ เพราะพรรคไม่ได้จะเสนอญัตติประเด็นนี้ แต่จุดยืนของพรรคคือควรให้ ส.ส.ร.ที่จะตั้งขึ้นมีอิสระในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นทางออกของประเทศ ดังนั้นจึงไม่ควรไปล็อกว่าห้ามแก้หมวด 1 และ 2 ซึ่ง ส.ส.ร.มีสิทธิ์แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรา 255 ที่กำหนดว่า​ ราชอาณาจักรไทยเป็นราชอาณาจักรเดียว จะแบ่งแยกมิได้ รวมถึงธำรงไว้ในกรอบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 
    "ไม่ได้มีมติพรรคให้แก้หมวด 1 หมวด 2 แต่ให้เป็นภารกิจของ ส.ส.ร. และไม่ได้เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่วนร่างญัตติที่จะเตรียมยื่นนั้นจะเป็นเรื่องการปิดสวิตช์ ส.ว.เท่านั้น" โฆษกพรรคก้าวไกลระบุ
    ด้าน นายอานนท์ นำภา แกนนำม็อบเยาวชนปลดแอก โพสต์ข้อความผ่านเพซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า "พรรคก้าวไกลก็ถอยไม่แก้รัฐธรรมนูญหมวด 1 หมวด 2 กลายเป็นว่านักการเมืองล้วนผลักนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนลงถนนเผชิญอำนาจมืดโดยลำพัง น่าเสียดายไฟฝันที่ถูกจุดโดยไม่มีรัฐสภารับไม้ต่อ น่าเสียดายเสรีภาพที่พวกเรายอมสละไป"
    นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแกนนำเยาวชนปลดแอก โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "วันนี้ผมเสียใจมากที่ทราบว่าทุกพรรคการเมือง รวมถึงเพื่อไทยและก้าวไกลด้วยนั้นจะไม่แก้รัฐธรรมนูญในหมวดสอง หรือหมวดพระมหากษัตริย์ ทั้งที่เป็นหมวดที่มีปัญหามาก และเป็นรากเหง้าของปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในหลายสิบปีที่ผ่านมา ดังนั้นผมขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลให้ไม่ละเลยการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 2 เพราะนี่คือต้นตอของปัญหาการเมืองไทย ถ้าพวกคุณไม่สู้ในประเด็นนี้ คุณก็จะแก้ปัญหาไม่จบเบ็ดเสร็จ และถ้าคุณไม่แก้ไขที่ต้นตอ คุณก็อาจจะโดนยุบพรรคซ้ำแล้วซ้ำอีก"
    นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงจุดยืนของพรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ว่า พรรคประชาธิปัตย์ยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรค ที่ประกาศไว้ตั้งแต่วันก่อตั้งพรรค วันที่ 6 เมษายน 2489 ข้อ 4 ระบุว่า "พรรคจะไม่สนับสนุนระบบ และวิธีการแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใดๆ” จึงกำหนดท่าทีต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ 1.ประกาศไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะก่อปัญหาความขัดแย้งในสังคม ตอนทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2.ประกาศเป็นเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยโดยเร่งด่วน 3.ได้ยื่นญัตติศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากรัฐบาลบริหารประเทศได้ครบ 1 ปีแล้วตามสัญญา และ 4.ได้ประกาศแก้ไขมาตรา 256 และมาตราอื่นๆ ที่สามารถทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น
    “เมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านมาเป็นเวลา 3 ปี พบจุดบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากมาย เป็นกับดักของประเทศ และสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคม จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขโดยด่วนที่สุด เพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลายไปสู่ภาวะวิกฤติของบ้านเมืองที่กำลังเกิดแฟลชม็อบหรือการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน เกิดขึ้นรายวัน ถ้าฝ่ายการเมือง ทั้งรัฐบาลและทุกพรรคไม่จับมือกันเพื่อแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด บ้านเมืองก็จะเจอปัญหาวิกฤติทางการเมืองอย่างแน่นอน” นายเทพไทระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"