เปิดผลสอบเจ้าจำปีเจ๊ง ซื้อเครื่องบิน-สินบนอื้อ


เพิ่มเพื่อน    

 "ถาวร” เปิดผลสอบบินไทยเจ๊ง บริหารผิดพลาด-โกงสารพัด! เหตุซื้อเครื่องบิน 10 ลำปี 46-47 เจอสินบนเอื้อประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง โยงถึงผู้บริหารระดับสูงหลายสิบคน อึ้งตั้งกองทุนเถื่อนงาบค่าตั๋ว ทุจริตค่าโอที จ่อร้อง ป.ป.ช.-ป.ป.ท.-นายกฯ-คลังฟันแพ่งและอาญา "7 สายการบิน" ยิ้มออก “บิ๊กตู่” รับข้อเสนอเยียวยาโควิด

    ที่กระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แถลงสรุปผลการตรวจสอบการขาดทุนของการบินไทย โดยพบว่า การบินไทยประสบปัญหาขาดทุนเรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2551 จากการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ ภายใต้แผนรัฐวิสาหกิจและโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ ช่วงปี 46-47 ไม่ต่ำกว่า 62,803 ล้านบาท  จากการขาดทุนในทุกเส้นทางบิน ตั้งแต่เที่ยวบินปฐมฤกษ์ กรุงเทพฯ-นิวยอร์ก ในเดือน ก.ค.2548 จนปลดระวางลำสุดท้ายในปี 2556   
    โดยเป็นผลมาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.การบินไทยไม่ให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2.ปัญหาการจ่ายสินบนของบริษัทโรลส์-รอยซ์ ผ่านนายหน้าคนกลางให้เจ้าหน้าที่รัฐ และพนักงานการบินไทย วงเงินกว่า 245 ล้านบาท เพื่อเอื้อประโยชน์ในการจัดซื้ออะไหล่ 7 เครื่องยนต์และการซ่อมบำรุงแบบเหมาจ่าย และ 3.มีข้อมูลการจ่ายเงินสินบนไม่ต่ำกว่า 5% หรือประมาณ 2,652 ล้านบาท ผ่านนายหน้าคนกลาง ให้กับนักการเมือง เจ้าหน้าที่และพนักงานการบินไทย แลกกับการจัดซื้อเครื่องบิน 10 ลำดังกล่าว  
    นายถาวรกล่าวว่า พบการบริหารงานมีการเอื้อประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง โดยระหว่างปี 2560-2562 การบินไทยขาดทุนรวม 25,659 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงมาก เช่น ค่าโอที ที่มีการเบิกเกินความเป็นจริง, การบริหารงานผิดพลาด เช่น การเช่าเครื่องบิน B787-800 จำนวน 6 ลำ มีส่วนต่างถึง 589 ล้านบาท, มีการจ่ายค่าชดเชยคืนสภาพเครื่องบินแบบเช่าดำเนินงาน รุ่น A330-300 จำนวน 2 ลำ สูงถึง 1,458 ล้านบาท, รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษ เดือนละ 200,000 บาท ผ่านไป 9 เดือน เพิ่มเป็น 600,000 ทั้งนี้ มีผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยหลายสิบคนมีส่วนเกี่ยวข้อง ?
    นอกจากนี้ยังพบว่าบริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกด้าน ทั้งที่พนักงานลดลง อาทิ หนี้หุ้นกู้เพิ่มขึ้น 13,173 ล้านบาท, ค่าล่วงเวลา (โอที) นักบิน และลูกเรือเพิ่มขึ้น 638 ล้านบาท ค่าโอทีฝ่ายช่างเพิ่มขึ้น 530 ล้านบาท ค่าตอบแทนเฉลี่ยพนักงานที่เป็นตัวเงินต่อคนต่อเดือนอยู่ที่ 129,134 บาท โดยปี 62 ขาดทุนมากที่สุดถึง 12,017 ล้านบาท มีค่าโอทีฝ่ายช่างสูงถึง 2,022 ล้านบาท ทุจริตทำโอทีเกินกว่าวันที่มีอยู่จริง โดยมีผู้ทำโอทีสูงสุดถึง 3,354 ชั่วโมง เป็นเงินปีละ 2.95 ล้านบาท
    ทั้งนี้ ยังพบว่าในปี 60-62 สายการพาณิชย์ไม่มีการจัดทำงบประมาณ แต่ใช้วิธีการกำหนดเปลี่ยนแปลงงบประมาณเองโดยผ่านบอร์ดบริษัทเท่านั้น และมีการขายตั๋วโดยสารในราคาต่ำมาก เฉลี่ยใบละ  6,081 บาท แต่มีจำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยวบินเกือบ 80% และมีผู้โดยสารถึง 24.51 ล้านคน แต่กลับมีรายได้จากการขายตั๋วโดยสาร 149,000 ล้านบาท สาเหตุจากการเอื้อประโยชน์ใหักับตัวแทนจำหน่ายตั๋วโดยสาร และผู้บริหารสายการพาณิชย์ได้แต่ตั้งบุคคลใกล้ชิดให้ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไปในต่างประเทศ (AA) และกำหนดเป้าหมายรายได้จากการขายเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนพิเศษตามที่ต้องการ เพื่อให้ AA ส่งรายได้จำนวน 10% ของค่าอินเซนทีฟ เข้าบัญชีกองทุนของผู้บริหารสายงานพาณิชย์ และนำเงินในกองทุนดังกล่าวไปจัดสรรและแบ่งปันกันเอง ซึ่งกองทุนดังกล่าวไม่มีระเบียบ ประกาศ หรือกฎหมายของบริษัทรองรับ  
    "การตรวจสอบครั้งนี้ใช้เวลา 43 วัน จะเป็นเครื่องมือในการแก้ไข ไม่มีการกลั่นแกล้งใคร โดยในวันที่ 31 ส.ค.นี้ ผมพร้อมคณะทำงานจะนำเอกสารรายงานการตรวจสอบและข้อมูลต่างๆ ที่ตรวจพบรวมกว่า 10 ลัง พร้อมทั้งรายชื่อผู้บริหารทั้งที่เป็นอดีต และที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน ที่มีส่วนทำให้บริษัทขาดทุน เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), กระทรวงการคลัง และนายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไป ซึ่งความผิดมีทั้งทางแพ่งและทางอาญา” นายถาวรระบุ
    ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล คณะผู้บริหารสายการบินในประเทศไทย 7 สายการบิน ประกอบด้วย สายการบินไทยแอร์เอเชีย, สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์, สายการบินไทยไลอ้อนแอร์, สายการบินไทยเวียตเจ็ท, สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส และสายการบินนกแอร์ เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เพื่อยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจการบินของประเทศไทย อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
     ภายหลังการหารือ นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยว่า นายกฯ รับข้อเสนอของ 7 ผู้ประกอบการสายการบิน ซึ่งได้ยื่น 3 ข้อเสนอ คือ 1.ขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงินรวม 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งนายกฯ รับปากและมอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลังไปประสานกับสถาบันการเงินของรัฐในการหาแหล่งเงินกู้ โดยได้หารือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยไว้เบื้องต้นแล้ว คาดว่าจะได้เงินกู้ในเดือน ต.ค.นี้ 2.การต่ออายุการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้่อเพลิงเครื่องบิน ซึ่งกระทรวงการคลังขอกลับไปพิจารณาก่อน และ 3.ขอให้ขยายเวลาการลดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ของสายการบินในประเทศ จนถึงเดือน ธ.ค.2564 แต่นายกฯ รับปากว่าจะขยายให้จนถึงเดือน มี.ค.2565  
     “วันนี้เป็นวันที่ยิ้มได้ เพราะนายกฯ รับข้อเสนอที่จะช่วยพวกเราให้มีสภาพคล่องดำเนินธุรกิจจนถึงปีหน้าที่ธุรกิจฟื้นตัว ทำให้สามารถคงการจ้างงานพนักงานไว้ได้กว่า 2 หมื่นคนโดยไม่ต้องปลดออก” นายธรรศพลฐ์ระบุ.

   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"