จัดซื้อเรือดำน้ำ กมธ.งบฯชี้ขาดหรือยื้อ?


เพิ่มเพื่อน    

      หลังเจอโรคเลื่อนถึงสองครั้ง เพราะยังเคลียร์กันไม่ลงตัวระหว่างกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ในปีกกรรมาธิการฯ พรรคร่วมรัฐบาล เลยทำให้การพิจารณางบ "โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ" 2 ลำ มูลค่า 22,500 ล้านของกองทัพเรือต้องเลื่อนพิจารณามาสองรอบ คือเมื่อวันพุธที่ 26 สิงหาคม และวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม

      ที่ก็ยังไม่รู้ว่า สุดท้ายแล้ววงประชุมของที่ประชุมใหญ่ กมธ.งบฯ วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคมนี้ ที่จะมีตัวแทนกองทัพเรือมาชี้แจงต่อที่ประชุมใหญ่ กมธ.งบฯ จะได้ข้อสรุปเลยหรือจะเลื่อนออกไปอีก เพราะถึงตอนนี้ก็ยังพบว่ากระแสไม่เห็นด้วยก็ยังมีสูงไม่ใช่น้อย

      อย่างไรก็ตาม ก่อนถึงวันประชุม กมธ.งบฯ 31 ส.ค. ทาง กมธ.งบฯ ปีกฝ่ายค้านก็ยังเดินหน้าตรวจสอบคัดค้านโครงการเรือดำน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 ส.ค.

        "ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย-รองประธานอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในก มธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564" ให้ข้อมูลว่า การประชุม กมธ.งบฯ ชุดใหญ่จันทร์นี้จะเริ่มตั้งแต่ 09.00น. ที่ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายจะเลื่อนออกไปอีกหรือไม่ ซึ่งในรายงานของคณะอนุ กมธ.ครุภัณฑ์ฯ มีสาระสำคัญที่ไม่กล้าให้ชี้แจง โดยเฉพาะหน้า 17 ที่ระบุว่าสัญญาการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และบันทึกการเจรจาไม่มีข้อผูกมัดในการเลื่อนการจัดซื้อเรือดำน้ำ หมายความว่าสามารถเลื่อนได้ แต่มีความพยายามบอกว่าเลื่อนไม่ได้เพราะจะโดนค่าปรับ แต่ผลสรุปของคณะอนุ กมธ.ครุภัณฑ์ฯ มีความชัดเจนว่าไม่เกิดความเสียหาย ซึ่งแนวทางคัดค้านโครงการดังกล่าวจะนำรัฐธรรมนูญมาต่อสู้ถ้ารัฐบาลดึงดันจะผ่านเรือดำน้ำให้ได้ เพราะมาตรา 55 บอกว่ารัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพทั่วถึง ถามว่าขณะนี้รัฐบาลดูแลสาธารณสุขและโรคโควิด-19 ได้แล้วหรือ ทำไมไม่เอาเงินที่จะซื้อเรือดำน้ำมาให้ประชาชนตรวจโควิด-19 อีกทั้งมาตรา 62 บอกว่ารัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดนั้น ถามว่าจะจัดระบบภาษีให้ความเป็นธรรมต่อสังคมอย่างไร เพราะเงินซื้อเรือดำน้ำมาจากภาษีประชาชน ทำไมไม่นำเงินมาช่วยประชาชนก่อน

      "โครงการเรือดำน้ำ ถ้าเป็นจีทูจีจริงจะเข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 178 ที่ระบุว่า สัญญาที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม และความมั่นคงของรัฐ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาภายใน 60 วันนั้น ตรวจสอบแล้วยังไม่เคยมีเรื่องดังกล่าวทั้งจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง จึงส่อขัดมาตรา 178 เมื่อไปดูสัญญาการจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรก มีการจ่ายเงินให้บริษัท China Shipbuilding & Offshore International (choc) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ทำไมไม่มีการโอนเงินไปให้กระทรวงการคลังหรือกระทรวงกลาโหมของจีน และบริษัทดังกล่าวก็ไม่มีใบมอบอำนาจจากรัฐบาลจีน จึงมีความผิดปกติ" ยุทธพงศ์ย้ำ

      ในส่วนของ กมธ.งบฯ จากปีกพรรคฝ่ายค้าน ก็แน่ชัดว่าต้องลงมติไม่สนับสนุนโครงการดังกล่าว แต่ที่ถูกจับตามองก็คือท่าทีของ "กมธ.งบฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ 7 เสียง" จะเอาอย่างไร หลังก่อนหน้านี้พรรคมีมติให้ กมธ.งบฯ ของพรรคลงมติไม่สนับสนุนโครงการดังกล่าว ทำให้หาก กมธ.งบฯ จากพรรคประชาธิปัตย์จะพลิกท่าทีไปโหวตสนับสนุนโครงการดังกล่าวก็คงเสียหายทางการเมืองแน่นอน วิธีการ หากสุดท้ายฝ่ายรัฐบาลส่งสัญญาณให้ กมธ.งบฯ เดินหน้าต่อไป ไม่มีการเลื่อนหรือชะลอโครงการ อาจทำให้ กมธ.งบฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ต้องหาทางออกให้กับตัวเอง หากเลือกที่จะใช้วิธีการประนีประนอม ไม่ถึงกับแตกหักโหวตสวน เช่น ใช้วิธี "งดออกเสียง" หรือไม่ก็ "วอล์กเอาต์" ออกจากห้องประชุม หรือไม่ก็ใช้วิธีไม่อยู่ในห้องประชุม ซึ่งแม้จะทำได้ แต่ในทางการเมือง ถึง กมธ.งบฯ จากประชาธิปัตย์ทำแบบนี้ แม้จะเป็นการรักษามารยาททางการเมืองในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็ต้องถูกมองว่าไม่กล้าแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของพรรคกันแบบซึ่งๆ หน้าไปเลย 

      หลายคนจึงจับจ้องท่าทีของ กมธ.งบฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะเอาอย่างไร ซึ่ง 7 เสียงของ ปชป.ก็ประกอบไปด้วย

      1.นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี 2.ชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช 3.นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.ตรัง 4.นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี 5.นางสาวพิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 6.ธีรภัทร พริ้งศุลกะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี 7.จุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมฯ ที่เป็นรัฐมนตรีคนเดียวของประชาธิปัตย์ที่เข้าไปเป็น กมธ.งบฯ ในโควตารัฐบาล

      โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 ส.ค. "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์-หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ให้ กมธ.งบฯ ของพรรคทั้ง 7 คนไปหารือในคณะ กมธ.งบฯ ชุดใหญ่ ที่ต้องรอผลว่าเป็นอย่างไร คิดว่าที่ประชุม กมธ.งบฯ ชุดใหญ่จะหาทางออกได้ ซึ่งต้องไม่ลืมสถานภาพของพรรคว่าขณะนี้ประชาธิปัตย์เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ และต้องมาคิดว่าเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องความมั่นคงต่างมีความสำคัญ

      ทั้งนี้ กมธ.งบฯ ที่ตั้งตามความเห็นชอบจากที่ประชุมสภามีด้วยกัน 72 คน แต่ปัจจุบันเหลือ 71 เสียง หลัง อุตตม สาวนายน อดีต รมว.การคลัง ลาออกไป ซึ่งเมื่อแยกเสียงกันแล้ว ฝ่ายรัฐบาล-คณะรัฐมนตรีเหลือ 17เสียง-พรรคร่วมรัฐบาล 30 เสียง รวมแล้วฝ่ายรัฐบาล หาก กมธ.ทุกคนเข้าประชุมพร้อมเพรียงและโหวตไปทางเดียวกัน ไม่มีแตกแถว เช่น งดออกเสียง หรือหายตัวไป ก็จะมีด้วยกัน 47 เสียง ขณะที่ฝ่ายค้านมี 24 เสียง โดยหากใน 47 เสียงของรัฐบาล กมธ.งบฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ออกเสียง ทำให้เสียงหายไป 7 เสียง แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ยังกุมเสียงข้างมากไว้อยู่ คือประมาณ 40 เสียง

      เพียงแต่ฝ่ายวิปรัฐบาล-กมธ.งบฯ จากรัฐบาลต้องการให้เสียงโหวตออกมามีความเป็นเอกภาพ อีกทั้งคงจะรอ "สัญญาณสุดท้าย" จากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่าจะเอาอย่างไร จะเดินหน้าหรือจะชะลอโครงการเอาไว้ก่อน คือยังไม่ยกเลิกโครงการ แต่ขอให้เจรจากับจีนเพื่อเลื่อนการจ่ายเงินออกไป ซึ่งถ้าถึงตอนประชุม กมธ.งบฯ ช่วงเข้าด้ายเข้าเข็ม หากสัญญาณชัดก็คาดว่าเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุม กมธ.งบฯ คงเคาะแล้วว่าจะเอาอย่างไร

      เพราะหาก กมธ.งบฯ ยังยืดเยื้อ ไม่ตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง คงไม่เป็นผลดี ยังไงสุดท้ายก็ต้องชี้ขาดลงมติอยู่ดีว่าจะชะลอ-ยกเลิกหรือเดินหน้า ได้เวลาต้องตัดสินใจแล้ว

      ซึ่งล่าสุดมีรายงานข่าวจากคณะ กมธ.วิสามัญฯ ว่าตั้งแต่เกิดกระแสสร้างความไม่สบายใจแก่หลายฝ่าย ทางกองทัพเรือได้ประสานไปยังจีนเพื่อร่วมหาทางออกอย่างดีที่สุด ซึ่งจีนได้ตอบกลับมาว่าให้เลื่อนการจัดซื้อออกไป 1 ปี โดยคาดว่าประธาน กมธ.งบประมาณฯ จะแจ้งเรื่องดังกล่าวในที่ประชุม กมธ.งบประมาณฯ. 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"