ส.ว.ถอย!ไม่ขวางแก้ไขมาตรา256


เพิ่มเพื่อน    


    สภาสูงมีแววยอมถอย ไม่ขวางลำแก้ รธน.มาตรา 256 เปิดทางตั้งสภาร่าง รธน. "วันชัย" บอกไปคุยมาแล้วหลายวง   ส.ว.คงไม่ขวาง มาหล่อเลย บอกต้องเอาผลประโยชน์ชาติเป็นหลัก ไม่ใช่เอาบุญคุณที่จะต้องทดแทนกับคนที่แต่งตั้ง "ปชป." เผยโมเดล ส.ส.ร.ให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร.ได้ 
    ความเคลื่อนไหวเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงมีต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า พรรคมีจุดยืนชัดเจนในเรื่องแก้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น และร่วมผลักดันมาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งได้ระบุไว้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้จัดเตรียมไว้เรียบร้อย ให้มีการแก้มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ง่ายขึ้น พร้อมกันนี้ได้มีการเพิ่มเติมให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญ และจะไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด โดยมีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน 150 คน รวมถึงให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ตัวแทนนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมถึงตัวแทนพรรคการเมืองอีก 50 คน รวมเป็นจำนวน 200 คน เพื่อร่วมกันยกร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน และต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปและประชาชนในทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง
    โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อไปว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น ในร่างแก้ไข รธน.มีระบุไว้ชัด ส.ส.และ ส.ว.ไม่สามารถเป็น ส.ส.ร.ได้ แต่ประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร.ได้ เพราะต้องถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีส่วนร่วม และให้กรรมการรการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดหลักเกณฑ์การแนะนำตัวโดยไม่ให้มีการใช้ความเป็นพรรคการเมืองหาเสียง ส่วนรายละเอียดก็เชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาก็จะมีการแปรญัตติกันอีกครั้ง โดยจุดเริ่มต้นในเรื่องแก้รัฐธรรมนูญนี้ อยากให้ทุกฝ่ายได้ใช้ระบบรัฐสภาเดินหน้าให้มากที่สุด เมื่อมีการตั้ง ส.ส.ร.แล้ว ทุกเรื่องสามารถนำไปพูดคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ระบบเลือกตั้ง ระบบการตรวจสอบการทุจริต รวมไปถึงอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา ที่อยู่ในบทเฉพาะกาล หากใช้แนวทางในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยผ่านครรลองของระบบ บ้านเมืองก็จะสามารถเดินไปได้ 
    นายราเมศกล่าวว่า วันที่ 31 สิงหาคม ที่ประชุม ส.ส.ของพรรคก็จะมีการพูดคุยกันถึงตัวร่างที่ได้ข้อยุติแล้ว ต่อจากนั้นพรรคร่วมรัฐบาลจะยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในวันที่ 1 กันยายนนี้ต่อไป
    นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงเรื่องการแก้ไข รธน. ว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาที่บทเฉพาะกาล ในส่วนของอำนาจ ส.ว.ตามมาตรา 269, 270, 271, 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.ยังคงอยู่ และยังสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้หากมีอุบัติเหตุทางการเมือง ดังนั้นมาตรา 272 จะต้องเป็นญัตติด่วนที่เราจะต้องเปิดอภิปรายให้ได้ก่อนปิดสมัยประชุมนี้ เราจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ สำหรับเรื่องของสมาชิกสภาร่าง รธน.นั้น ส.ส.ร.ไม่มีสิทธิ์ที่จะเป็นที่ผูกขาดความคิดทางการเมืองใดการเมืองหนึ่ง โดย ส.ส.ร.ให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ไม่จำกัดอาชีพและวุฒิการศึกษา สิ่งนี้คือข้อเสนอของพรรคก้าวไกล เพราะเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ถกเถียงกัน สามารถไปเริ่มต้นกันที่ ส.ส.ร. โดยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนจริงๆ หลีกเลี่ยงความรุนแรง เอาความเห็นที่ไม่ตรงกันไปคุยกันที่นั่น หวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่มาจากประชาชนจริงๆ จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายของประเทศไทย
    นายพิธายังกล่าวต่อว่า พอยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็บอกว่าพอไม่มีธนาธร-ปิยบุตร เป็นไปไม่ได้ที่จะขับเคลื่อนไปต่อได้ แต่ทั้งหมดนี้เราพิสูจน์มาหมดแล้วว่าเป็นไปได้ พรรคเรายังมีดาวกระจายอีกหลายคน ที่เมื่อรวมตัวกันเมื่อไหร่ ส่องสว่างไม่แพ้ดาวฤกษ์ของพรรคอนาคตใหม่แน่นอน 
     ที่สถานีโทรทัศน์พีซทีวี  มีการจัดรายการลมหายใจ พีซทีวี เวทีทัศน์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ปัญหาระหว่างทางที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันเรื่องการแก้ไขมาตรา 256 และยกเว้นการแก้ไขหมวด 1 และ 2 กับการแก้ไขมาตรา 272 ปิดสวิตช์ ส.ว.นั้น อยากบอกว่าต้องคิดได้มากในแต่ละเรื่องราว เพราะมีบทเรียนมาในอดีต ทั้งเรื่องร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย การตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงที่ นปช.ส่วนกลางไม่เห็นด้วย และตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เราก็อยู่ในสนามรบมาโดยตลอด ดังนั้นการต่อสู้วันนี้ หากยึด 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืนและ 1 ความฝัน ก็จะไม่มีปัญหา และต้องไม่เอาสถาบันฯ มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ดังนั้นการต่อสู้ครั้งนี้ต้องเป็นเรื่องของประชาชนกับประชาชน โดยเฉพาะเรื่องของรัฐธรรมนูญ ที่ตนบอกว่าเราต้องเอาผลในทางปฏิบัติ ทุกคนใช้เสรีภาพในทางความเชื่อ ใครเชื่ออย่างไรก็ไปอย่างนั้น 
    ส่วนท่าทีของสมาชิกวุฒิสภา นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ให้ความเห็นว่า กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญคงเริ่มตั้งแต่ 23-24 กันยายนนี้เป็นต้นไป โดยเรื่องที่มีการพูดกันมากว่า ส.ว.คงไม่กล้าตัดอำนาจของตัวเอง และก็คงจะไม่กล้าขัดคนที่ตั้งตัวเองมา ขอบอกว่าเท่าที่มีการหารือกันในหลายกลุ่มหลายฝ่าย เห็นพ้องต้องกันว่าสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน สร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ ส.ว.คงไม่ขวางแน่นอน ประโยชน์ของตนกับประโยชน์ของประเทศชาติ ส่วนใหญ่เลือกประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่า และระหว่างบุญคุณที่จะต้องทดแทนกับคนที่แต่งตั้งกับบุญคุณของประเทศชาติและความถูกต้องของสังคมก็สำคัญมากกว่า เรื่องส่วนตนกับเรื่องของประเทศชาติ เชื่อว่าทุกคนเห็นแก่ประเทศชาติมากกว่า ดังนั้นข้อที่กล่าวหาหรือโจมตีกันนั้น จะพิสูจน์ให้เห็นเป็นประจักษ์ในไม่ช้า
    "รัฐธรรมนูญจะแก้ตรงไหนอย่างไรก็ว่ากันไป แต่สิ่งหนึ่งที่ถกเถียงและเป็นมาตลอดคือประชาธิปไตยกับเผด็จการ ตกลงเราจะเอาอย่างไรกันแน่ มีประชาธิปไตยเเล้วทุจริต วุ่นวาย มีเผด็จการแล้วยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ หมุนเวียนเปลี่ยนกันไปอย่างนี้ อยากฝากส.ส.ร. ทำอย่างไรเราจะปิดสวิตช์ประชาธิปไตยที่ทุจริตวุ่นวายและเผด็จการที่ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จได้ ยิ่งปิดสวิตช์ได้เร็วเท่าใด เชื่อเหลือเกินว่าเราไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญกันไปกันมา และก็ไม่ต้องถกเถียงกันว่าจะเอาประชาธิปไตยหรือเผด็จการ รีบปิดสวิตช์ความชั่วร้ายของระบอบทั้งสองให้ได้ แค่นี้บ้านเมืองก็จะเดินไปได้ด้วยดี ไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่เหมือนที่เป็นเช่นทุกวันนี้" นายวันชัยกล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"