ลุ้นเศรษฐกิจไทยรุ่งหรือร่วง!


เพิ่มเพื่อน    

 

         ปี 2563 เป็นปีแห่งมรสุมของเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี เริ่มที่ปัญหาสงครามการค้า ระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐและจีน ที่หลายครั้งเหมือนจะหาข้อสรุปลงเอยด้วยดี แต่ก็บานปลายมาเรื่อยๆ ต่อเนื่องมาถึงทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ช่วงขาลง จนในที่สุด “การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19” ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยลบที่รุนแรงที่สุดกับเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก เพราะหลายประเทศต้องออกมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดต้องหยุดชะงัก ขณะที่การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสหลายประเทศทำได้ดี แต่ในอีกหลายประเทศก็ยังเผชิญกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

                หลายฝ่ายหวังว่าการค้นพบวัคซีนโดยเร็ว น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของปัญหาใหญ่ระดับโลกนี้ แต่กระบวนการ ขั้นตอนการผลิต และการทดสอบวัคซีนยังต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร ดังนั้นหลายประเทศแม้จะมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายส่วนกลับมาเดินหน้าได้บ้าง แต่อีกหลายประเทศ และหลายกิจกรรมก็ยังถูกจำกัดอยู่

                โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลายประเทศ รวมถึง “ไทย” ยังใช้มาตรการล็อกดาวน์ในส่วนนี้อยู่ นั่นเพราะผู้เกี่ยวข้องเห็นว่าน่าจะเป็นแนวทางในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี การแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวจากภายในประเทศให้คลี่คลายก่อนจะเป็นประเด็นสำคัญที่สุด แต่! สิ่งที่ตามมาคือ “รายได้จากภาคการท่องเที่ยว” ซึ่งไทยมีรายได้จากส่วนนี้อย่างมหาศาลต้องหายวับไปกับตา

                ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวต่อเนื่องที่ระดับ 100% จากระยะเดียวกันของปีก่อน สืบเนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามแก้ปัญหาส่วนนี้ แม้ว่าจะทดแทนกันไม่ได้ แต่ก็เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบ ด้วยการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ก็ต้องมารอลุ้นผลความสำเร็จของมาตรการที่ได้ออกมาว่าจะมีผลต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยได้ดีในระดับใด

                และจากผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 หลายหน่วยงานมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า ตัวเลขเศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวในลักษณะ “ติดลบ” อย่างแน่นอน โดยล่าสุดศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกมาปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ มาอยู่ที่ติดลบ 10% จากคาดการณ์เดิมที่ติดลบ 6% เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากทั้งสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 การแข็งค่าของเงินบาท รวมถึงประเด็นทางการเมือง

                โดยประเมินว่าความไม่แน่นอนดังกล่าว จะทำให้เห็นการฟื้นตัวในรูปแบบยูเชฟ (U-Shaped) ซึ่งการจะประคองเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นช่วงฐานตัว U ได้เร็วเพียงใดนั้น กลายเป็นโจทย์ยากของทางการไทยที่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการออกมาตรการเศรษฐกิจเพิ่มเติมในขนาดที่เพียงพอและทันเหตุการณ์ในสภาวะการณ์ที่ไม่นิ่ง กับต้นทุนจากการออกมาตรการนั้น เช่น หนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงความเสี่ยงในการแพร่ระบาดอีกครั้งของไวรัส เมื่อทยอยเปิดประเทศ เป็นต้น

                ทั้งนี้ แม้รัฐบาลมีแผนการใช้จ่ายรออยู่อีกมากในระยะข้างหน้า แต่ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายที่จำเป็นในการฟื้นเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงาน จึงยังไม่กังวลระดับหนี้สาธารณะในขณะนี้ ส่วนด้านนโยบายการเงิน คาดว่า กนง.คงจะยังไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายและเลือกติดตามสถานการณ์ก่อน โดยเฉพาะช่วงหลังจากสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ ในช่วงปลายไตรมาส 3/2563

            อย่างไรก็ตาม ความน่าเป็นห่วงเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอาจไม่ได้เกิดขึ้นแค่ปี 2563 อาจจะยังต้องลุ้นต่อในปีหน้าว่า ที่หลายฝ่ายประเมินว่า ปี 2564 เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้จริงหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าปีนี้ปัจจัยเสี่ยงค่อนข้างรุนแรง และมีผลอย่างหนักต่อการเติบโตในระยะยาว บางส่วนมีผลในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ ต้องมาลุ้นกันต่อว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ตามคาด หรือจะยังซึมต่อเนื่องจากปี 2563.

ครองขวัญ รอดหมวน

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"