ผลงานศก.รัฐบาลห่วย! 46%มอง3เดือนแรกแย่


เพิ่มเพื่อน    

    "กรณ์" ห่วงเปิดรับ "แจ็ก หม่า" ไทยเสียเปรียบ ชี้ดาต้าอยู่ในมือต่างชาติเกือบหมด จี้รัฐบาลออกยุทธศาสตร์อุดช่องโหว่ "อนุสรณ์" แนะห้าง-โชห่วยเร่งปรับตัว ก่อนยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซโกยเกลี้ยง นิด้าโพลเผยประชาชนมองเศรษฐกิจ 3 เดือนแรกแย่ลง
    เมื่อวันที่ 22 เมษายน นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีที่รัฐบาลเปิดรับแจ็ก หม่า ประธานกรรมการบริหารของกลุ่มอาลีบาบาว่า มีคนตั้งคำถามเยอะว่ารัฐบาลอ้าแขนรับแจ็ก หม่าขนาดนี้ จะส่งผลอย่างไรต่อผู้ประกอบการไทย ลองดูสัมภาษณ์สั้นๆ แต่ได้ใจความ โดยผู้บุกเบิกอีคอมเมิร์ซไทย นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ว่าเรื่องนี้มีทั้งข้อดีและประเด็นพึงระวัง
    ทั้งนี้ ขอเสริมว่าประเทศไทยเป็นประเทศขนาดกลางที่พึ่งพาการค้าขายระหว่างประเทศมากกว่าประเทศอื่นส่วนใหญ่ ในขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตขนาดเล็กและขนาดกลางซึ่งไม่มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมของตนเอง จึงต้องพึงระวังทุกเรื่องที่ทำให้คู่แข่งที่ใหญ่กว่า และต้นทุนต่ำว่า สามารถเจาะตลาดไทยได้ง่ายขึ้น
    "นอกจากนี้แล้ว วันนี้ data (ข้อมูล) ของเราอยู่ในมือต่างชาติเกือบหมดแล้ว (Facebook, Google etc.) ทำให้งบโฆษณาเกือบทั้งหมดถูกโอนไปที่บริษัทเหล่านี้ ในอนาคต data การใช้จ่ายทั้งหมดของไทยจะอยู่ในมือต่างชาติอีกด้วย การบริการทางการเงินจะย้ายตามไป  รัฐบาลต้องมียุทธศาสตร์ลดความเสียเปรียบในจุดนี้ให้กับผู้ประกอบการไทย" นายกรณ์ระบุ
    ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นต่อผลกระทบของอาลีบาบาและยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซอื่นๆ อย่าง JD.com, Amazon, Shoppee, 11Street, Lazada ต่อเศรษฐกิจว่า จะส่งผลให้เกิดการเติบโตและขยายตัวเพิ่มขึ้นของธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบก้าวกระโดด การที่แพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลกขยายการลงทุนมาประเทศไทย หวังจะใช้ความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ไปสู่การขยายตลาดในภูมิอาเซียน จะทำให้ไทยพัฒนาเป็นศูนย์กลางของการกระจายสินค้าและบริการในภูมิภาคได้ผ่านดิจิทัลฮับต่างๆ 
    "ด้านหนึ่งจะเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคและช่องทางในการกระจายสินค้าให้กับผู้ผลิตของไทยสู่ตลาดโลก อีกด้านหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ของไทย และที่มีผลกระทบหนักคือธุรกิจค้าปลีกออฟไลน์ทั้งหลาย โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าขนาดกลางและร้านค้าปลีกรายย่อยและโชห่วยของไทย หากธุรกิจไทยทั้งออฟไลน์และออนไลน์ไม่สามารถปรับตัวให้แข่งขันได้ โอกาสและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นย่อมตกแก่ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมเข้ามาลงทุน" นายอนุสรณ์ระบุ
    สำหรับการประกาศลงทุนของอาลีบาบาด้วยเม็ดเงิน 11,000 ล้านบาทในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปตื่นเต้นจนเกินเหตุ เพราะเป็นเงินเพียงแค่ 5% ของกำไร 200,000 ล้านบาทของอาลีบาบาเมื่อปีที่แล้ว หากหวังว่าอาลีบาบาจะมาช่วยเกษตรกรรายย่อยของไทย ขายข้าว ขายผลไม้โดยเขาไม่ได้กำไรหรือไม่ได้ผลประโยชน์ที่จูงใจเพียงพอน่าจะเป็นการเล็งผลเลิศมากเกินไป สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ ทำให้ผู้ผลิตของไทย โดยเฉพาะเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย มีอำนาจต่อรองและได้รับแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมมากขึ้น ภายใต้โครงสร้างตลาดที่ถูกครอบงำจากทุนยักษ์ใหญ่
    ขณะที่ธนาคารและกิจการธุรกิจทางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ต้องปรับตัวด้วย เพราะจะได้ผลกระทบ เนื่องจากการลงทุนของอาลีบาบาและยักษ์ใหญ่ค้าปลีกออนไลน์จะมาพร้อมกับระบบขนส่งและระบบการจ่ายเงินออนไลน์แบบครบวงจร เช่น Alipay, E-Wallet, E-Finance จะแย่งส่วนแบ่งตลาดของการบริการทางการเงินจากธนาคาร ขณะที่การท่องเที่ยวของชาวจีนอาจเพิ่มขึ้นจากระบบการจองผ่าน Digital Platform ของ อาลีบาบา กระทบต่อกิจการท่องเที่ยวที่ทำหน้าที่เป็นเอเยนต์หรือคนกลางของไทย 
    ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “เศรษฐกิจไทยดีขึ้นหรือไม่ ใน 3 เดือนแรกของปี พ.ศ.2561?” จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.92 ระบุว่าเศรษฐกิจแย่ลง รองลงมาร้อยละ 37.52 เท่าเดิม, ร้อยละ 16.24 เศรษฐกิจดีขึ้น และร้อยละ 0.32 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
    ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายหรือโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละด้านที่รัฐบาลปัจจุบันกำลังดำเนินอยู่ พบว่า ด้านเพิ่มรายได้ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.08 ระบุว่าเท่าเดิม รองลงมาร้อยละ 25.28  แย่ลง ร้อยละ 21.76 ดีขึ้น, ด้านลดค่าครองชีพ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.76 ระบุว่าเท่าเดิม รองลงมาร้อยละ 33.76 แย่ลง ร้อยละ 18.08 ดีขึ้น, ด้านลดภาระหนี้สิน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.32 ระบุว่าเท่าเดิม รองลงมาร้อยละ 25.92 แย่ลง ร้อยละ 10.08 ดีขึ้น, ด้านเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.80 ระบุว่าเท่าเดิม รองลงมา ร้อยละ 39.84 แย่ลง ร้อยละ 14.72 ดีขึ้น, ด้านเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.60 ระบุว่าเท่าเดิม รองลงมาร้อยละ 37.52 ดีขึ้น ร้อยละ 14.16  แย่ลง 
    สำหรับระดับความสุขจากนโยบายหรือโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.92 ระบุว่ามีความสุขเท่าเดิม รองลงมา ร้อยละ 21.12 มีความสุขลดลง และร้อยละ 20.96  มีความสุขเพิ่มขึ้น เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อนโยบายและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ร้อยละ 49.44 ระบุว่าไม่เชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 42.24 เชื่อมั่น และร้อยละ 8.32 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคาดหวังต่อเศรษฐกิจไทยหลังจากที่มีการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ร้อยละ 58.96 คาดว่าจะดีขึ้น รองลงมาร้อยละ 16.88  เหมือนเดิม ร้อยละ 5.92 คาดว่าจะแย่ลง. 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"