“12 ปีสภาองค์กรชุมชนตำบล”   และการประชุมระดับชาติประจำปี 2563 ข้อเสนอจากท้องถิ่นสู่การแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย


เพิ่มเพื่อน    

 (การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กรุงเทพฯ)

     สภาองค์กรชุมชนตำบลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 เพื่อเป็นเวทีประชุมปรึกษาหารือการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ในตำบล  หรือนำข้อมูลไปเสนอแนะการแก้ไขปัญหาและแนวทางการพัฒนาต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง 
     นอกจากนี้ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มาตรา 32  ระบุว่า “ให้ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลดำเนินการเรื่องต่างๆ  ดังต่อไปนี้.....(3) สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ”
     โดยจะมีการจัดประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง  ซึ่งในปี 2563 นี้จะมีการจัดประชุมในระดับชาติ  ระหว่างวันที่ 9 -10 กันยายนนี้  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  โดยมีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประมาณ  450  คน  
     ที่สำคัญก็คือการรวบรวมความเห็น  ข้อเสนอแนะ  และสรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ  เช่น
     การจัดการปัญหาฝุ่นควันและไฟป่าภาคเหนือ   แผนยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงทางอาหารของคนอีสาน   การส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์-พื้นที่วัฒนธรรมพิเศษกะเหรี่ยงและชาวเล   การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  ข้อเสนอทบทวนโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรม  การแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย  ฯลฯ

พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551  ‘สภาของประชาชน’
     สุวัฒน์ คงแป้น  ที่ปรึกษาสภาองค์กรชุมชนตำบล (ภาคใต้) ซึ่งมีส่วนในการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้  เล่าว่า พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551  สมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์  จุลานนท์  โดยก่อนหน้านั้นมีกลุ่มและองค์กรที่ประชาชนจัดตั้งขึ้นทั่วประเทศ  เช่น  กลุ่มออมทรัพย์  สัจจะสะสมทรัพย์  กลุ่มเกษตรกร  กลุ่มเกษตรอินทรีย์  กลุ่มแก้ไขปัญหาที่ดิน-ป่าไม้  กลุ่มประมงพื้นบ้าน  กลุ่มชาวสวนยาง  กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพ  กลุ่มฌาปนกิจ  กองทุนหมู่บ้าน   ฯลฯ  ซึ่งกลุ่มต่างๆ เหล่านี้กระจายอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 1 แสนกลุ่ม
     “แต่กลุ่มเหล่านี้ต่างก็ทำงานไปตามเป้าหมายของตัวเอง  หรือตามเป้าหมายขององค์กรที่สนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชน  ไม่ได้มีการเชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดพลัง  หรือแม้แต่กลุ่มต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นภายในหมู่บ้านหรือตำบลบางแห่งก็ไม่ได้มีการเชื่อมโยงเพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนกัน   เรียกว่าต่างกลุ่มต่างทำ  ไม่ได้มองเห็นปัญหาหรือแนวทางการพัฒนาร่วมกันทั้งตำบล  หรือหากจะมีแผนพัฒนาก็เป็นแผนงานที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม  เป็นแผนงานที่มาจากข้างนอก  หรือหากชาวบ้านจะนำแผนงานไปเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  หน่วยงานภาครัฐก็มักจะมองว่า  กลุ่มองค์กรของชาวบ้านเป็นกลุ่มเถื่อน  เพราะไม่ได้มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง  หรือไม่มีกฎหมายรองรับ” สุวัฒน์เล่าถึงสภาพของกลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้น
     ในปี 2549  มีกระแสการปฏิรูปประเทศไทย  แกนนำองค์กรชุมชนทั่วประเทศที่ทำงานร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  ได้จัดประชุมเพื่อทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อเสนอต่อรัฐบาล  โดยที่ประชุมได้ข้อเสนอจำนวน 8 เรื่อง  และ 1 ในนั้นก็คือ ข้อเสนอเรื่อง “การยกระดับให้การทำงานขององค์กรชุมชนเป็นอิสระ”  เพื่อทำให้เกิดสิทธิชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาจากปัญหาและความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง  
     จากข้อเสนอดังกล่าว  แกนนำองค์กรชุมชนทั่วประเทศ  เช่น  ครูสน  รูปสูง (ปัจจุบันเสียชีวิต)  ผู้นำจากตำบลท่านางแนว  อ.แวงน้อย   จ.ขอนแก่น   จินดา บุญจันทร์  ผู้นำจาก  อ.พะโต๊ะ  จ.ชุมพร  ชาติชาย  เหลืองเจริญ  ผู้นำจาก อ.แกลง จ.ระยอง ฯลฯ  จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง ‘สมัชชาสภาองค์กรชุมชนแห่งประเทศไทย’ หรือ ‘สอท.’  ขึ้นมา  เพื่อเป็นองค์กรขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายความเป็นอิสระขององค์กรชุมชน 
     ในปี 2550 แกนนำ สอท.ได้ร่วมกันร่าง ‘พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.........’ ขึ้นมา  และนำเสนอต่อรัฐบาลผ่านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีนายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (ปัจจุบันเสียชีวิต)
     แม้ว่าในระยะแรกจะมีแรงเสียดทานจากหลายฝ่ายในการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้  แต่ในที่สุด  พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551  โดยเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้  มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า....
     “ด้วยชุมชนเป็นสังคมฐานรากที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์  มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมแตกต่างและหลากหลายตามภูมินิเวศน์  แต่การพัฒนาประเทศที่ผ่านมาก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม  เศรษฐกิจและการเมืองอย่างรวดเร็ว  ส่งผลให้ชุมชนอ่อนแอ  ประสบปัญหาความยากจน  เกิดปัญหาสังคมมากขึ้น  ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชนถูกทำลาย...จึงเห็นสมควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ  จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
     ในเดือนพฤษภาคมถัดมา  มีการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งแรกของประเทศไทยที่ตำบลศรีสว่าง  อ.โพนทราย  จ.ร้อยเอ็ด   หลังจากนั้นขบวนองค์กรชุมชนในตำบลต่างๆ ทั่วประเทศจึงได้จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลขึ้นมา จากหลักสิบกลายเป็นร้อย  จากร้อยเพิ่มเป็นพัน 
     จนถึงปัจจุบัน (กันยายน 2563) พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนมีอายุย่างเข้า 12 ปี   มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้วจำนวน  7,825 แห่ง   มีกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ร่วมจัดตั้งสภาฯ กว่า 140,000  กลุ่ม  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ มีหน้าที่ในการส่งเสริมกิจการของสภาองค์กรชุมชนตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้  (ดูรายละเอียด พ.ร.บ. และขั้นตอนการจัดตั้งสภาฯ ได้ที่ http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%CA77/%CA77-20-2551-a0001.pdf)
ภารกิจของสภาองค์กรชุมชนตำบล 

(ชาวตำาบลรับร่อ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ใช้เวทีประชุมสภาองค์กรชุมชนตำาบลแก้ไขปัญหาที่ดินที่ทับซ้อนกับที่ดินหน่วยงานรัฐ)


    วิริยะ  แต้มแก้ว  หัวหน้าสำนักประสานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนตำบลฯ   คือการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ  รวมทั้งส่งเสริมให้องค์กรชุมชนในตำบลเกิดความเข้มแข็ง  สมาชิกองค์กรชุมชนและประชาชนทั่วไปในตำบลสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน  โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเวทีในการประชุมเพื่อปรึกษาหารือ   หรือวางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาในชุมชนท้องถิ่น
     ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนฯ  (มาตรา 21) กำหนดให้สภาฯ มีภารกิจต่างๆ  เช่น  (1) ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกองค์กรชุมชนอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของชุมชนและของชาติ
     (2) ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกองค์กรชุมชนร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐในการจัดการ การบํารุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน
รูป 3 บรรยาย /  ชาวตำบลรับร่อ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร  ใช้เวทีประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลแก้ไขปัญหาที่ดิน
     (3) เผยแพร่และให้ความรู้ความเข้าใจแก่สมาชิกองค์กรชุมชน  รวมตลอดทั้งการร่วมมือกันในการคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
     (4) เสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไขและการพัฒนาต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เพื่อนําไปประกอบการพิจารณาในการจัดทําแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 
     (5) เสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไขหรือความต้องการของประชาชนอันเกี่ยวกับการจัดทําบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 
     (7) จัดให้มีเวทีการปรึกษาหารือกันของประชาชนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความคิดเห็นต่อการดําเนินโครงการหรือกิจกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่มีผลหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ  สุขภาพอนามัย  คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน  ทั้งนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้ดําเนินการหรือเป็นผู้อนุญาตให้ภาคเอกชนดําเนินการต้องนําความเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย   ฯลฯ  
รูปธรรมการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่น
     วิริยะ  กล่าวด้วยว่า   สภาองค์กรชุมชนตำบลแต่ละแห่งจะต้องจัดประชุมอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง  ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่   การลงมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก   ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน  ให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงชี้ขาด  ที่ผ่านมาสภาฯ มีบทบาทในด้านต่างๆ  เช่น  
     จังหวัดน่าน  ประชาชนส่วนใหญ่มีปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน  เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนฯ   ป่าต้นน้ำ    สภาองค์กรชุมชนตำบลในจังหวัดน่าน 34 ตำบล ได้ร่วมกับ อบต. กำนัน   ผู้ใหญ่บ้าน  จัดทำข้อมูลเรื่องปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย  เพื่อนำไปสู่การวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้งจังหวัด  โดยเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต่อทางผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหา
     จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ที่ตำบลป่าร่อน  อ.กาญจนดิษฐ์  ชาวบ้านใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนเชื่อมโยงกำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน และทุกหน่วยงานในพื้นที่  นำปัญหาเรื่องปากท้องมาพูดคุยและวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้งตำบล  เช่น  การแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำด้วยการปลูกข้าวไร่ในสวนยาง  ร่วมกันรับซื้อยางพาราเพื่อนำไปขาย  ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการทำระบบตลาดในหมู่บ้านและตำบล ฯลฯ  ไม่ต้องรอให้รัฐช่วยพยุงราคาเพียงอย่างเดียว
     จังหวัดระยอง  ที่ตำบลเนินฆ้อ  อ.แกลง  ใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเวทีกลางสร้างความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน นำไปสู่การวางแผนพัฒนาทั้งตำบล  โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน  เช่น  ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์  แปรรูปอาหาร  ผลไม้ จัดตั้งตลาดในชุมชน  และเป็นแหล่งเรียนรู้ ‘มหาวิทยาลัยบ้านนอก’ รองรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่มาศึกษาดูงานตลอดทั้งปี ประมาณปีละ 1 แสนคน  ทำรายได้เข้าชุมชนประมาณปีละ 20 ล้านบาท
     จังหวัดมุกดาหาร สระแก้ว ตาก ฯลฯ  ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ  สภาองค์กรชุมชนฯ ในแต่ละจังหวัดได้ร่วมกับเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ศึกษาข้อมูลและผลกระทบจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ  เช่น  ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ  ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร  แหล่งน้ำ  ป่าไม้  ที่ดิน  แรงงาน  ฯลฯ  เพื่อนำข้อมูลต่างๆ มาวางแผน  นำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน ฯลฯ
     “จะเห็นได้ว่า  สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเวทีหรือเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นด้วยตัวเอง  โดยยึดหลักการประชาธิปไตยจากฐานรากที่แท้จริง  เพราะสมาชิกจะมาจากตัวแทนของแต่ละกลุ่มในตำบลที่ร่วมกันจัดตั้งสภาฯ  และใช้เสียงข้างมากป็นมติของที่ประชุม  นำไปสู่การแก้ไขปัญหา  หรือเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ มาพัฒนาชุมชนร่วมกันได้”  วิริยะยกตัวอย่างบทบาทของสภาองค์กรชุมชนตำบล

จากข้อเสนอท้องถิ่นสู่การแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย

(การประชุมสภาองค์กรชุมชนตำาบลในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศจะใช้สถานที่ประชุมที่มีอยู่แล้วในตำาบล เช่น โรงเรียน อบต. เทศบาล หรือศาลาประชาคมประจำาหมู่บ้าน)

     ชูชาติ  ผิวสว่าง  ประธานที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล  กล่าวว่า  นอกจากสภาองค์กรชุมชนตำบลแต่ละแห่งจะมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นต่างๆ  แล้ว  พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มาตรา 32  ยังระบุว่า “ให้ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลดำเนินการเรื่องต่างๆ  ดังต่อไปนี้
     (1) กําหนดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งและการพัฒนาสภาองค์กรชุมชนในระดับตําบลให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้  เพื่อเสนอให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ
     (2) ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกําหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ  สังคมและกฎหมาย รวมทั้งการจัดทําบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ  หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัด  ทั้งด้านเศรษฐกิจ  สังคม  คุณภาพชีวิต  และสิ่งแวดล้อม
     (3) สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบ  และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ”
     โดยในปีนี้จะมีการจัดประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล  ระหว่างวันที่ 9 -10 กันยายนนี้  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  โดยมีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประมาณ  450  คน  
     “ที่สำคัญก็คือในการประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนในแต่ละปี  จะการรวบรวมความเห็น  ข้อเสนอแนะ  และสรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบ  เสนอต่อหน่วยงานรัฐและคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการตาม พ.ร.บ.สภาฯมาตรา 32  (2) และ (3)  เช่น  ในปี 2562 ที่ผ่านมา  มีการนำข้อเสนอจากที่ประชุมสภาฯ ระดับชาติเข้าสู่คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร  13 คณะ   เช่น  ปัญหาเรื่องสุขภาพ  สังคมสูงวัย  สิ่งแวดล้อม  การศึกษา  การลดความเหลื่อมล้ำ  เป็นต้น” ชูชาติกล่าว
     นอกจากนี้ยังรวบรวมข้อเสนอแนะและแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จากเครือข่ายประชาชน  และภาคประชาสังคมทั่วประเทศ  เช่น  ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE)  คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ฯลฯ  โดยมีประเด็นสำคัญในการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ 10 ด้าน  นำเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ คือ  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กระทรวงพลังงาน 
     เช่น  นโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม   นโยบายป่าไม้   เช่น ยุติ/ยกเลิกนโยบายและกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน,  ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่าและแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้  
     การกระจายอำนาจ  มีข้อเสนอ  เช่น  ปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น  และสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม   นโยบายเศรษฐกิจชุมชน  เช่น ให้รัฐบาลสนับสนุนการดำเนินงานและงบประมาณกับสภาองค์กรชุมชนตำบลกว่า 7,000 สภาฯ ให้จัดทำแผนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก หรือแผนธุรกิจชุมชน  ฯลฯ
     นโยบายภัยการบริหารจัดการน้ำ  มีข้อเสนอ  เช่น  รัฐบาลควรทบทวนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน  ให้ดําเนินการให้มีความเป็นธรรม โปร่งใส และมีส่วนร่วมของประชาชน   นโยบายการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการประมง/การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  มีข้อเสนอ  เช่น  จัดทำแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแบบมีส่วนร่วม  ฯลฯ
     “ส่วนในปี 2563 นี้  จะมีการรวบรวมประเด็นปัญหาที่สำคัญต่างๆ  ทั่วทุกภูมิภาค  เช่น  การจัดการปัญหาฝุ่นควันและไฟป่าภาคเหนือ   แผนยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงทางอาหารของคนอีสาน   การส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์-พื้นที่วัฒนธรรมพิเศษกะเหรี่ยงและชาวเล   การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  ข้อเสนอทบทวนโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรม  การแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย  ฯลฯ  เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป”  ชูชาติ  ประธานที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลกล่าว
     ทั้งนี้ในการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลระหว่างวันที่ 9 -10 กันยายน จะมีการจัดเวทีวิชาการ  เช่น  การปาฐกถาพิเศษ  เรื่อง ‘สถานการณ์สังคมไทยกับความท้าทายสภาองค์กรชุมชนต่อการขับเคลื่อนหลังสถานการณ์โควิด-19’  โดย ดร.เดชรัต  สุขกำเนิด  การประชุมวิชาการ  เรื่อง ‘ทางเลือก  ทางตัน  กับ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ’  มีนายธนพร  ศรียากูล  ที่ปรึกษาสำนักงานบริหารนโยบายของรัฐมนตรีร่วมพูดคุย
     นอกจากนี้ในวันที่ 10 กันยายน  นายจุติ  ไกรฤกษ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะเดินทางมารับมอบข้อเสนอเชิงนโยบายจากที่ประชุมฯ  และมอบโล่ให้แก่ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลดีเด่น  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 
       รวมทั้งมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ‘การสนับสนุนเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรชุมชน’  ระหว่างผู้แทนสภาองค์กรชุมชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 9 หน่วยงาน  เช่น  สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)  สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)  ฯลฯ
     ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารและชมการถ่ายทอดสดได้ทาง face book  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  และเว็บไซต์ www.codi.or.th

ข้อเสนอเชิงนโยบายการประชุมระดับชาติสภาองค์กรชุมชนฯ ปี 2563 แก้ปัญหาน้ำ-ที่ดินการรถไฟ-ขยะสารพิษ-เมืองอุตสาหกรรมจะนะ  ฯลฯ

     การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลทุกปีจะมีการรวบรวมข้อเสนอจากที่ประชุมสภาฯ ในระดับจังหวัดมานำเสนอในที่ประชุมระดับชาติ  เพื่อรวบรวม  สังเคราะห์  พัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย  และนำไปจัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐ  องค์กรปกครองท้องถิ่น  และสรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบ  และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ  โดยในปี 2563 มีข้อเสนอต่างๆ   เช่น
ข้อเสนอแนะ :  เรื่องน้ำ  เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ
    1. ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำด้วยตนเอง  อาทิ  การขุดสระน้ำประจำครอบครัว (สระครอบครัว) การทำธนาคารน้ำใต้ดิน
    2. เกษตรต้องปรับเปลี่ยนการใช้น้ำเพื่อการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ  อาทิ  ลดการใช้น้ำในพืชเกษตรที่ได้ผลผลิตเท่าเดิม  ปลูกป่าเพื่อเป็นพื้นที่ในการซับน้ำ
    3. กรมชลประทาน  และ สทนช. จัดสรรน้ำให้กับภาคเกษตรกรรมอย่างเป็นธรรมและเพียงพอก่อนผันน้ำไปยังพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  (EEC)
    4. เพิ่มประสิทธิภาพการชลประทานในภาคเกษตรกรรม  ลดการสูญเสียน้ำจากแหล่งน้ำถึงแปลงเกษตร
    5. บริหารจัดการด้านอุปสงค์ในภาคอุตสาหกรรม  เช่น  การส่งเสริมการใช้น้ำในลักษณะไม่มีการะบายน้ำเสีย หรือมีการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ 100 % (Zero Discharge)   ฯลฯ
ข้อเสนอแนะ : เรื่องการพัฒนาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
     1.หยุดการไล่รื้อ และการดำเนินคดีความกับชุมชนในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย
     2.ควรเปิดเผยข้อมูล  ข้อเท็จจริงของโครงการพัฒนาในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน และควรมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
     3.จัดตั้งกองทุนกลางสำหรับดูแลที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต  โดยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีส่วนในการบริหารจัดการ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบรวมไว้ในมูลค่าของโครงการอย่างเป็นธรรม  สอดคล้องสภาพความเป็นจริงทางกายภาพ สังคม  และเศรษฐกิจของพื้นที่
     4.จัดหาที่ดิน ที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบที่สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิต  ทั้งลักษณะการแบ่งปันที่ดินโดยรอบพื้นที่พัฒนา  และการจัดหาที่อยู่อาศัยรองรับในรัศมี 5 กิโลเมตรโดยรอบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ  ฯลฯ
ข้อเสนอแนะ :  เรื่องสิ่งแวดล้อม  ขยะสารเคมี  สารพิษ
    1. การกำจัดขยะสารเคมี  สารพิษ ที่ต้นทาง  อาทิ  อุตสาหกรรมใดที่ก่อให้เกิดขยะสารพิษ ควรมีการจัดการและรับผิดชอบในการกำจัดขยะที่มาจากโรงงานของตน  ไม่ควรนำออกจากเขตอุตสาหกรรมโดยเด็ดขาด
    2.หากต้องการกำจัดนอกเขตพื้นที่อุตสาหกรรม  ควรมีกฎหมายอย่างเคร่งครัด  โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วน
    3. แก้ไขกฎหมายที่เอื้อต่อนายทุนในการประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนโดยรอบ
    4. ควรตรวจสอบโรงงานเดิมที่เกิดขึ้นแล้วได้โดยง่าย  เข้าถึงข้อมูลในการตรวจสอบขบวนการโดยประชาชน
    5. ควรมีกฎหมายฟื้นฟูกิจการขยะพิษที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม  โดยกำหนดค่าใช้จ่ายจากผู้ประกอบการ
    6.  ห้ามนำเข้าขยะทุกประเภทจากต่างประเทศโดยถาวร

ข้อเสนอแนะ :  โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต
    ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการ ‘โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต’ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562  และอนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการ  18,000 ล้านบาท  เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563     บนพื้นที่ 16,700 ไร่  ใน 3 ตำบลของอำเภอจะนะ  จ.สงขลา  โดยมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการนี้
    โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต  เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ  คุณภาพสิ่งแวดล้อม  สุขภาพอนามัย  คุณภาพชีวิต  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในวงกว้าง  ผลกระทบของสภาพอากาศจากมลพิษที่โรงงานอุตสาหกรรมจะปล่อยออกมา  ปัญหาน้ำเสียที่จะลงสู่ทะเล  จะทำลายระบบนิเวศน์โดยรวมของทะเลจังหวัดสงขลาซึ่งเป็นแหล่งสัตว์น้ำทางทะเลที่สำคัญของประเทศ  ฯลฯ  
     แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ทำการศึกษาผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนและชุมชน  และไม่ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นก่อนอนุมัติโครงการแต่อย่างใด  ฯลฯ
     ข้อเสนอต่อรัฐบาล  1. ขอให้รัฐบาลทบทวนโครงการนี้  โดยต้องยกเลิกมติ ครม.วันที่ 7 พฤษภาคม 2562  และมติวันที่ 21 มกราคม 2563  ทั้งนี้ปัจจุบัน  จังหวัดสงขลามีนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว 2 แห่ง   คือ  นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ (ฉลุง) และเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดา  ซึ่งรัฐบาลควรจะสร้างมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทั้ง 2 แห่งให้เต็มพื้นที่เสียก่อน
     2.หากรัฐบาลจะเดินหน้าพัฒนาอำเภอจะนะต่อไป  ต้องมีการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA)  และการศึกษา EHIA  ตามมาตรา 58  เพื่อเป็นข้อมูลนำมากำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่  โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่  เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่อาจจะเกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเพียงด้านเดียว  ฯลฯ
ข้อเสนอจากเวทีสาธารณะในการจัดการอ่าวบ้านดอน  จ.สุราษฎร์ธานี  
     อ่าวบ้านดอน  มีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร  ครอบคลุมพื้นที่ 6 อำเภอของ  จ.สุราษฎร์ธานี  คือ ไชยา            ท่าฉาง   พุนพิน   เมือง   กาญจนดิษฐ์  และดอนสัก  มีพื้นที่ชายฝั่งใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจได้ประมาณ  300,000 ไร่    มีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ  10,000 ล้านบาทต่อปี  ถือเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญ   หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านมาเนิ่นนาน
     ตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่อ่าวบ้านดอน  โดย  อนุญาตพื้นที่เพาะเลี้ยงประมาณ  40,000 ไร่  ต่อมาจึงมีการขยายตัวการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจนเกินขีดจำกัด  ไม่สามารถบริหารจัดการควบคุมได้  จนนำไปสู่การบุกรุกพื้นที่สาธารณะทางทะเลกว่า 200,000  ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล  และสร้างความขัดแย้งในพื้นที่   เกิดผลกระทบต่อการทำประมงชายฝั่ง  ประมงพื้นบ้าน  เนื่องจากไม่มีพื้นที่ทำกิน
     ก่อนหน้านี้เครือข่ายภาคประชาสังคม  เครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง  แต่สถานการณ์ไม่ดีขึ้น  เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้เลี้ยงหอยนอกพื้นที่อนุญาต  เช่น  กลุ่มผู้เลี้ยงหอยขับเรือชนเรือประมงพื้นบ้านที่ไปเก็บหอย  การลักลอบเผาขนำเฝ้าคอกหอย  ใช้ปืนยิงขู่กลุ่มประมงพื้นบ้าน   เป็นต้น 
    ข้อเสนอเชิงนโยบาย  1.ให้มีนโยบายการมีส่วนร่วมเพื่อบูรณาการในการจัดการอ่าวบ้านดอนที่นำไปสู่เป้าหมายความยั่งยืน  สมดุล  เสมอภาค  และเป็นธรรม  ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในระยะยาว  โดยการทำให้ทะเลคือพื้นที่สาธารณะตามที่กฎหมายกำหนด  มีการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่โดยรวมในระยะยาว  ทั้งด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟู  การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน  และการกระจายประโยชน์อย่างเป็นธรรม  
    2.เสนอให้รัฐบาลตั้งคณะทำงานที่มีความเป็นกลางและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย   เพื่อจัดระบบการจัดการร่วมในอ่าวบ้านดอน  โดยมุ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน  เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาลในทุกด้าน  เช่น  แนวทางการการยุติปัญหาเฉพาะหน้า  เพื่อนำไปสู่การการแก้ไขปัญหาในระยะยาว  การปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรค แผนพัฒนา  และการบริหารจัดการพื้นที่  ฯลฯ
ข้อเสนอแนะ :  เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
    1.  ขอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  โดยมีผู้แทนภาคประชาชนและชุมชน  ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ  นักวิชาการ  ร่วมเป็นกรรมการ   เพื่อร่วมดำเนินการกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  รวมทั้งเสนอแนะ  ให้ความคิดเห็น  ติดตามประเมินผล  หรือจัดให้มีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยกระบวนการมีส่วนร่วม
     2. ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) สนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก   ฯลฯ
     ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างข้อเสนอแนะจากภาคประชาชนต่อหน่วยงานรัฐ  องค์กรปกครองท้องถิ่น  และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551  ที่ระบุเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้เอาไว้ตอนหนึ่งว่า...
     “ด้วยชุมชนเป็นสังคมฐานรากที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์  มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมแตกต่างและหลากหลายตามภูมินิเวศน์  แต่การพัฒนาประเทศที่ผ่านมาก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม  เศรษฐกิจและการเมืองอย่างรวดเร็ว  ส่งผลให้ชุมชนอ่อนแอ  ประสบปัญหาความยากจน  เกิดปัญหาสังคมมากขึ้น  ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชนถูกทำลาย...จึงเห็นสมควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ  จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

สภาองค์กรชุมชน MoU ร่วมกับหน่วยงานภาคีสร้างความเข้มแข็งองค์กรชุมชน  
จับมือ ป.ป.ส. นำร่อง ‘พืชกระท่อม’ ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์-สร้างเศรษฐกิจชุมชน

    ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน-เจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ร่วมประชุมกับนายนิยม  เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. เมื่อเร็วๆ นี้  เพื่อขับเคลื่อนเรื่องการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อม
    การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลขึ้นมาทั่วประเทศกว่า 7,825 แห่ง   นอกจากจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาท้องถิ่น  รวมถึงการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่นอย่างสร้างสรรค์แล้ว  หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งยังเห็นพลังของสภาองค์กรชุมชนฯ ที่ขับเคลื่อนเต็มแผ่นดิน  จึงใช้วาระการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลประจำปี 2563  ในวันที่ 10 กันยายนนี้  ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding - MoU) กับสภาองค์กรชุมชน  รวม  10 หน่วยงาน 
    ประกอบด้วย 1.สำนักงานบริหารนโยบายของรัฐมนตรี (สบนร.)  2.สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)  3.สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)  4.สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)  5.สถันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  6.กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า  สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า  กระทรวงพาณิชย์  7.สำนักประสานสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย (สป.สว.)  8.ศูนย์วนศาสตร์เพื่อคนกับป่า (RECOFTC)  9.มูลนิธิการพัฒนาที่ยั่งยืน  ภาคเหนือ   และ 10.สภาเกษตรกรแห่งชาติ
สภาองค์กรชุมชนจับมือ ป.ป.ส.ขับเคลื่อนพืชกระท่อมในพื้นที่นำร่อง
     ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)  และกระทรวงสาธารณสุข  มีความพยายามที่จะ  ‘ปลดล็อกพืชกระท่อม’  ออกจากพืชยาเสพติด   เพื่อนำมาเป็นพืชสมุนไพร  ใช้ทางการแพทย์  การพาณิชย์  อุตสาหกรรม  และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่างประเทศ  เช่นเดียวกับกัญชาที่มีการปลด ล็อกไปก่อนหน้านี้แล้ว
     โดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม  2563  เห็นชอบในหลักการให้ปลดกระท่อมออกจากพืชยาเสพติด  โดยมีการจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ...) พ.ศ..... (การยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษ) เพื่อให้ผ่านเป็นกฎหมายออกมาใช้
     ดังนั้น ป.ป.ส.จึงบันทึกความร่วมมือกับสภาองค์กรชุมชนและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสภาองค์กรชุมชน ในการขับเคลื่อนนโยบายพืชกระท่อม  การบริหารจัดการพืชกระท่อมอย่างเป็นระบบ   การศึกษาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์   สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และสร้างรายได้แก่ประชาชน  รวมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการนำไปใช้ในทางที่ผิด   มิให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน  สังคม  และความมั่นคงของชาติ  
     โดยมีวัตถุประสงค์  1.เพื่อสร้างกลไกการขับเคลื่อนงานร่วมกัน   2.เพื่อสร้างการขับเคลื่อนกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกัน  เช่น  การป้องกัน  การเฝ้าระวัง และการบำบัด  3.สนับสนุนงานวิชาการและการวิจัยเพื่อสร้างความเข้มแข็งชุมชนทุกมิติ  เช่น  การเก็บข้อมูลสารพันธุกรรม

ใช้พื้นที่ 130 หมู่บ้านนำร่องพืชกระท่อม
     การลงนาม MoU ครั้งนี้  สภาองค์กรชุมชนตำบล  มีหน้าที่ ดังนี้   1.สร้างความร่วมมือกับภาคีในพื้นที่  ทำระบบฐานข้อมูล  ค้นหาสายพันธุ์พืชกระท่อมที่เหมาะสมกับท้องถิ่น  2.ใช้สมัชชาตำบลสร้างข้อตกลงร่วมกันในการนำไปสู่ธรรมนูญตำบลปลอดยาเสพติด -3.ร่วมเฝ้าระวัง  ขึ้นทะเบียน  หรือจดแจ้งกลุ่ม  พร้อมจัดทำทะเบียนตามแนวทางการจัดระเบียบพืชกระท่อม  เพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชุมชน
     สำนักงาน ป.ป.ส. มีหน้าที่  ดังนี้  1.เป็นศูนย์กลางการประสานหน่วยงานของรัฐ  รวมทั้งกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาร่วมกัน  ในลักษณะบูรณาการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น   ทั้งระดับนโยบาย  และระดับพื้นที่ตำบล  2.สนับสนุนการพัฒนาแกนนำสภาองค์กรชุมชนตำบล  เพื่อสร้างความเข้าใจ  วางแผนการขับเคลื่อน   การเชื่อมโยง  ประสานงานความร่วมมือทุกภาคส่วน  ฯลฯ
     สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  มีหน้าที่  ดังนี้  1.สนับสนุนสภาองค์กรชุมชนตำบล  เพื่อสร้างความร่วมมือความเข้มแข็งของชุมชน  2.สนับสนุนข้อตกลงร่วมกันในการสร้างธรรมนูญตำบลปลอดยาเสพติด ฯลฯ
     ตามแผนงานหลังจากมีการลงนามบันทึกความร่วมมือดังกล่าว  รวมทั้งการปรับปรุงและแก้ไขกฏหมายแล้ว  จะมีการขยายพื้นที่นำร่องการขึ้นทะเบียนตามแนวทางการจัดระเบียบพืชกระท่อม  ในพื้นที่ 130   หมู่บ้าน  รวม 10 จังหวัด  เช่น  นนทบุรี  ปทุมธานี    ชุมพร  ระนอง  สุราษฎร์ธานี  นครศรีธรรมราช  ฯลฯ
     ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562  มาตรา 26/5  (4) กำหนดว่า  ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน  หรือสหกรณ์การเกษตร  ซึ่งดำเนินการภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ศึกษาวิจัย  หรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์  เภสัชศาสตร์  วิทยาศาสตร์  ฯลฯ  สามารถร่วมผลิตและพัฒนาสูตรตำรับยาแผนโบราณหรือยาสมุนไพรได้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์    

บ้านน้ำพุ  จ.สุราษฎร์ธานี  ต้นแบบ ‘น้ำพุโมเดล’
     สงคราม  บัวทอง  กำนันตำบลน้ำพุ  และประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลน้ำพุ  อ.บ้านนาสาร  จ.สุราษฎร์ธานี  เล่าว่า  เมื่อทางรัฐบาลมีนโยบายที่จะปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด  ตนจึงได้เสนอให้ใช้พื้นที่ตำบลบ้านน้ำพุเป็นพื้นที่ศึกษา  อีกทั้งชาวบ้านก็มีความพร้อมอยากจะให้มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังว่ากระท่อมเป็นยาเสพติด  หรือเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์กันแน่ ?
     “ผมเห็นว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ในตำบลปลูกกระท่อม  ใช้กระท่อมในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว  และใช้กันมานานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ  แต่ก็ไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นจากการใช้กระท่อม  ทั้งเรื่องอาชญากรรม  การลักขโมย  การทะเลาะวิวาท  หรือวัยรุ่นมั่วสุมเสพน้ำกระท่อมก็ไม่มี  จึงอยากให้ตำบลน้ำพุเป็นต้นแบบในการจัดการเรื่องกระท่อม” กำนันสงครามเล่าความเป็นมาของการศึกษาวิจัยกระท่อมที่บ้านน้ำพุ    เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี  2559  มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ศึกษาด้านผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย   และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาผลกระทบด้านสังคมและชุมชน
     การศึกษาวิจัยเรื่องกระท่อมที่ตำบลน้ำพุนี้   มีโจย์ร่วมกันว่า  “หากมีการผ่อนปรนให้เคี้ยวกระท่อมในวิถีดั้งเดิมได้   จำนวนใบที่เคี้ยวต่อคน  ต่อวัน  กี่ใบจึงจะเหมาะสม  และจำนวนต้นกระท่อมกี่ต้นจึงจะเหมาะสมต่อครัวเรือน  รวมทั้งการควบคุมโดยชุมชนมีส่วนร่วม  จะมีแนวทางหรือกระบวนการใดที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาครัฐ  หากมีการปลดล็อกกระท่อม”
    ในปี 2560  จึงเริ่มจัดเวทีประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน  โดยมีข้อตกลงร่วมกันของชาวบ้านว่า  ให้ชาวบ้านปลูกหรือมีกระท่อมได้ครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน 3 ต้น  หากเกินให้ตัดทิ้ง  แต่ถ้ามีไม่ถึง 3 ต้น   ไม่ให้ปลูกเพิ่ม  หลังจากนั้นจึงขยายผลไปทั้งตำบล   โดยมีวิธีการสำรวจและศึกษา  คือ 1.ใช้อากาศยานไร้คนขับจับพิกัด GPS ครัวเรือนที่ปลูกกระท่อม   2.ใช้แบบสอบถามครัวเรือน  3.สำรวจต้นกระท่อม  วัดเส้นรอบวง  วัดความสูงของต้น  ใช้อากาศยานฯ จับพิกัด GPS  ต้นกระท่อม  4.ติดตั้ง Mobile  App / QR- code  ที่ต้นกระท่อมเพื่อเก็บข้อมูล  และขึ้นทะเบียนผู้ปลูกกระท่อมฯลฯ

  (ติด QR- code  ที่ต้นกระท่อม)

    จากการสำรวจข้อมูลพบว่า  ตำบลน้ำพุมี 6 หมู่บ้าน  จำนวน  1,920  ครัวเรือน   มีครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียนปลูกกระท่อม  655 ครัวเรือน (ร้อยละ 34.11)  ต้นกระท่อมที่สำรวจพบ  1,912  ต้น   ต้นกระท่อมติด QR-code จำนวน 1,578  ต้น  (ร้อยละ 82.53)  ต้นกระท่อม (เกินครัวเรือนละ 3 ต้น) ที่ตัดทำลาย  334 ต้น  (ร้อยละ 17.47) 

ใช้ ‘ธรรมนูญตำบล’ ควบคุมกระท่อม-สร้างเศรษฐกิจชุมชน
     กำนันสงคราม  อธิบายว่า  ธรรมนูญตำบล  คือข้อตกลงร่วมกันของชาวบ้านในตำบลน้ำพุ   เพื่อสร้างกฎ  กติกาขึ้นมาควบคุมการใช้กระท่อม  โดยมีการสอบถามความคิดเห็นหรือทำประชาคมจากชาวบ้านในตำบล  แล้วนำมาร่างเป็นธรรมนูญตำบล  เรียกว่า ‘ธรรมนูญตำบล  เพื่อการควบคุมพืชกระท่อมและสร้างชุมชนเข้มแข็งปลอดยาเสพติดพืชกระท่อม  พื้นที่ตำบลน้ำพุ  อำเภอบ้านนาสาร  จังหวัดสุราษฎร์ธานี’  
     มีสาระสำคัญ  เช่น  มีคณะกรรมการระดับหมู่บ้านและตำบลควบคุมการใช้ธรรมนูญตำบล  มีข้อห้าม  เช่น  1.ห้ามครัวเรือนที่ไม่ปลูกกระท่อมปลูกใหม่โดยเด็ดขาด  2.ห้ามบุคคลในครัวเรือนซื้อขายพืชกระท่อม  3.ห้ามนำพืชกระท่อมออกจากตำบล  4.ห้ามเด็กเยาวชนนั่งมั่วสุมและมีพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการเสพพืชกระท่อม  5.ห้ามมีการผลิต  ปรุงน้ำกระท่อม  ฯลฯ 
     การปฏิบัติของผู้เสพพืชกระท่อม  1.ต้องลงทะเบียนประวัติกับผู้ใหญ่บ้าน   2.ต้องเข้าร่วมประชุมทุกครั้งที่มีวาระเกี่ยวกับพืชกระท่อม  3.ต้องตรวจสุขภาพประจำปีตามแผนของ รพ.สต.  4.ผู้ที่มีใบรับรองจากกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านให้พกพาพืชกระท่อมในพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธรท่าชีได้ไม่เกิน 30 ใบ   5.ผู้ใดหรือครอบครัวใดฝ่าฝืนให้คณะกรรมการฯ ตัดทำลายพืชกระท่อมทั้งหมดโดยไม่มีข้อยกเว้น
    ศุภวัฒน์  กล่อมวิเศษ  ชาวบ้านตำบลน้ำพุ  ในฐานะผู้ใช้พืชกระท่อมและศึกษาเรื่องกระท่อมมายาวนาน    กล่าวว่า  จากการศึกษาเบื้องต้นของสถาบันการศึกษาหลายแห่ง  เช่น  คณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  พบว่า          มีการใช้พืชกระท่อมบำบัดรักษาโรคต่างๆ  เช่น  เบาหวาน  ความดันโลหิตสูง  และใช้ทดแทนมอร์ฟีนแก้ปวด  ซึ่งหากผลการศึกษายืนยันว่าพืชกระท่อมมีสรรพคุณในการรักษาโรคต่างๆ  ดังกล่าว  จะสามารถนำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าได้สูง  เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของชาวบ้าน   ทดแทนยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ราคาตกลงทุกวัน  
    “หากมีการปลดล็อกพืชกระท่อมแล้ว  ผมอยากให้ชาวบ้านได้ประโยชน์   โดยการปลูกกระท่อมเพื่อส่งใบจำหน่ายให้แก่องค์การเภสัชกรรม  หรือมหาวิทยาลัยเพื่อนำไปผลิตเป็นยารักษาโรค  รวมทั้งทดแทนการนำเข้ามอร์ฟีน  เพราะประเทศไทยนำเข้ามอร์ฟีนทางการแพทย์ประมาณปีละ 9,000 ล้านบาท  โดยจะเสนอให้ชาวบ้านตำบลน้ำพุ 1 ครัวเรือน  ปลูกกระท่อมได้ครัวเรือนละ 100 ต้น  ในพื้นที่ 1 ไร่  โดยปลูกแบบควบคุมในตาข่ายหรือกระโจม”  ศุภวัฒน์บอกถึงข้อเสนอ
    กำนันสงคราม  กล่าวเสริมว่า  ถ้าปลูกกระท่อม 1 ไร่  ชาวบ้านจะมีรายได้มากกว่าปลูกยางพาราอย่างน้อย 10 เท่า  เพราะขณะนี้ยางพาราราคาไม่เกินกิโลฯ ละ 40  บาท   ส่วนกระท่อม 1 กิโลกรัม   จะมีใบประมาณ  700  ใบ   ราคาประมาณกิโลฯ ละ 1,000 บาท   ถ้าปลูกกระท่อม 1 ต้น  จะมีรายได้ประมาณเดือนละ 3,000 บาท/ต้น
    “กระท่อมเป็นพืชท้องถิ่นที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์มาตั้งแต่รุ่นปู่ทวดจนถึงปัจจุบัน  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิจัยด้านสุขภาพและอวัยวะต่างๆ  พบว่ามีผลกระทบน้อย  จุฬาลงกรณ์ฯ ก็มาวิจัยด้านสังคมที่ตำบลน้ำพุแล้ว  พบว่ากระท่อมไม่ได้ทำลายสังคม  แต่ทำให้เกิดความรัก  ความสามัคคี  ไม่เหมือนกับสุราที่ทำให้ทะเลาะกัน  แต่ก็ต้องมีการควบคุมการใช้  เช่น  ไม่ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีใช้  ไม่ให้ผสมแบบ 4 คูณ 100   และหากปลดล็อกพืชกระท่อมแล้ว  ผมก็อยากให้พืชกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ  ปลูกเพื่อทำยารักษาโรคต่างๆ  โดยใช้ตำบลน้ำพุเป็นต้นแบบ  และขยายไปในพื้นที่ที่มีความพร้อม”  กำนันสงครามกล่าวทิ้งท้าย 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"