'ทส.' ขยับมาตรการ 'ส่งคืนขยะคนอื่น ห้ามนำเข้าบ้าน'


เพิ่มเพื่อน    

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ปัญหามลพิษใหญ่ของประเทศไทย      

 

 

     ขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าจัดเป็นวัตถุอันตรายชิ้นส่วนต่างๆ ของโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า คอมพิวเตอร์ หรือมือถือ มีโลหะหนักเป็นส่วนประกอบ ถ้าจัดการไม่เหมาะสมและเกิดการรั่วไหลปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนในพื้นที่และระบบนิเวศจากสารพิษตกค้าง

      ภาพรวมไทยยังเผชิญปัญหาการจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งไม่มีระบบการบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ครบวงจรตั้งแต่การเก็บรวบรวม คัดแยกหรือถอดแยกการขนส่งรีไซเคิล และกำจัด มีการทิ้งปะปนกับขยะมูลฝอยและขายให้เหล่าซาเล้งหรือร้านรับซื้อของเก่า นอกจากนี้มีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบการคัดแยกซากขยะพิษ

      ที่สำคัญประชาชนยังไม่มีความตระหนักว่าซากผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นของเสียอันตราย ต้องจัดการอย่างถูกวิธีเท่านั้นถึงจะปลอดภัย ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกซากผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ปัญหาใหญ่ อปท.ส่วนใหญ่ยังไม่มีระบบการคัดแยก เก็บขนและกักเก็บขยะพิษ

 

เศษพลาสติกจำนวนมากกองทิ้ง ขาดการจัดการอย่างถูกหลักวิชาการ ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม 

 

      ไม่พูดถึงปัญหาการลักลอบนำเข้า-ส่งออกซากขยะอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามือสองจากต่างประเทศ และนำมารีไซเคิลอย่างไม่ถูกต้อง ขยะพิษจึงเป็นวาระระดับประเทศ เพราะเป็นระเบิดเวลา ก่อความเสียหายด้านมลพิษอากาศ ดินและน้ำ การบริหารจัดการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหายังต้องเดินหน้าต่อไป 

      เหตุนี้ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ครั้งที่ 2/2563 ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เมื่อวันก่อน โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นประธาน

      นายวราวุธกล่าวว่า คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์แต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะมาตรการ แนวทาง และติดตามประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศและที่นำเข้าจากต่างประเทศ ติดตามงานและความคืบหน้าแผนบริหารจัดการขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งและขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศให้ลดลงตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งแนวทางจะไม่มีการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศไทยอีก หลังการประชุมครั้งแรกช่วงต้นปีได้ตั้งคณะทำงาน 3 คณะมาสนับสนุนการทำงานของอนุกรรมการ

 

การประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ครั้งที่ 2/2563

 

      สำหรับการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ครั้งที่ 2/2563 มีวาระเพื่อพิจารณามาตรการการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศและที่นำเข้าจากต่างประเทศ, มาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก, (ร่าง) แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติก และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป      วราวุธ กล่าวว่า ในที่ประชุมได้ตั้งเป้าจะไม่นำเข้าซากพลาสติกหรือซากอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศอีกต่อไปเพราะพบว่ามีการนำเข้าซากพลาสติกเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2561 นำเข้าในปริมาณ 552,912 ตัน และปี 2562 นำเข้าในปริมาณ 323,167 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งนำเข้าในปริมาณ 152,738 ตัน และมีการส่งออกพลาสติกไปยังต่างประเทศด้วย จึงจำเป็นต้องลดปริมาณขยะเหล่านี้ลงเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งส่งตัวเลขปริมาณการนำเข้าเศษพลาสติก ประเภทของเศษพลาสติก เพราะพบว่าไม่ได้มีการนำเข้าเศษถุงพลาสติกเพียงอย่างเดียว มีเศษพลาสติกอื่นด้วย รวมถึงข้อมูลความต้องการอุปโภคพลาสติกของผู้ประกอบการภายในประเทศ เศษพลาสติกในประเทศมีวัตถุดิบเพียงพอกับกลุ่มธุรกิจในประเทศหรือไม่

 

วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ประกาศเป้าหมายการผลักดันขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกนอกประเทศ

 

      ส่วนสถานการณ์ขยะอิเล็กทรอนิกส์ รมว.ทส.กล่าวว่า การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2560 นำเข้าในปริมาณ 54,260 ตัน และในปี 2561 ในปริมาณ 38,404 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่มีปริมาณนำเข้า 1,986 ตัน ก่อนที่จะมีนโยบายห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ตกค้างในตู้คอนเทนเนอร์ ที่ประชุมครั้งนี้ได้หารือกรมศุลกากรเพื่อปรับปรุงแนวทางจัดการแทนที่จะจัดประมูล สามารถส่งกลับประเทศต้นทางเลยได้หรือไม่  รวมถึงกรณีส่งสินค้ามาอย่างไม่ถูกต้อง ให้ส่งกลับเพื่อไม่ให้กลายเป็นว่าหน่วยงานของไทยต้องมาเก็บขยะของคนอื่น   จะต้องมีการวางแผนบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบมากขึ้น นอกจากนี้ต้องมีการจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์จากครัวเรือนซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดที่ใหญ่ที่สุดด้วย

      สำหรับมาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกนั้น  ก่อนหน้านี้กรมควบคุมมลพิษจัดประชุมหารือถึง 4 ครั้ง มีข้อเสนอจากที่ประชุม โดยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  อย่างกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอห้ามนำเข้าเศษพลาสติก PVC ในทุกกรณี สำหรับเศษพลาสติกชนิดอื่นๆ เห็นควรให้อนุญาตนำเข้าได้ไม่จำกัดปริมาณ เฉพาะผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตและอยู่ในเขตประกอบการเสรีของ กนอ. และต้องเป็นการนำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น

 

จุดรับทิ้งจากซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า กรมควบคุมมลพิษ

 

      ส่วนสถาบันพลาสติกเสนอห้ามนำเข้าขยะพลาสติกเด็ดขาด เนื่องจากเป็นการนำขยะจากต่างประเทศมาทิ้งในประเทศ การนำเข้าเศษพลาสติกต้องเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกเท่านั้น ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศ โรงงานที่ได้รับอนุญาตนำเข้าต้องผ่านการรับรอง EIA หรือ EHIA การนำเข้าเศษพลาสติกต้องกำหนดว่าเป็นเศษที่สะอาด ด้านสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าเสนอภาครัฐห้ามนำเข้าเศษพลาสติก เพราะนำเข้าในปริมาณมากส่งผลต่อความต้องการใช้เศษพลาสติกในประเทศลดน้อยลง แรงจูงใจในการรีไซเคิลลดลง เพราะราคารับซื้อเศษพลาสติกในประเทศตกต่ำขัดกับนโยบายของรัฐบาลรณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะ อีกทั้งภาครัฐควรสนับสนุนใช้พลาสติกรีไซเคิลภายในประเทศในการผลิตสินค้า

      ด้านกรมควบคุมมลพิษเสนอไม่อนุญาตให้นำเข้าเศษพลาสติกกรณีที่มีเศษพลาสติกในประเทศเพียงพอ ถ้าอนุญาตให้นำเข้าต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยพิจารณาอนุญาตนำเข้าในปริมาณที่เหมาะสมและใช้เศษพลาสติกในประเทศร่วมด้วย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการส่งเสริมการใช้เศษพลาสติกภายในประเทศ ภายใต้โรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 ซึ่งมี 2 เป้าหมาย คือ ลดและเลิกใช้พลาสติกเป้าหมายด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 โดยมีพลาสติกเป้าหมาย 7 ชนิด ประกอบด้วย ถุงพลาสติก, บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว, ขวดพลาสติกทุกชนิด, ฝาขวด, แก้วพลาสติก, ถ้วย ถาด กล่อง และช้อน ส้อม มีดพลาสติก

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"