ไม่พบโควิดในประเทศเพิ่ม


เพิ่มเพื่อน    

    สธ.เผยยอดผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ต้องขังติดโควิดเพิ่ม 708 คน เป็นผู้มีความเสี่ยงสูง 140 ราย โล่งร้านถนนข้าวสารเป็นไข้ 1 คน สุดท้ายไม่ติดเชื่้อ ขณะที่ ศบค.แจ้งมีผู้ติดเชื้อใหม่ 7 ราย มาจากต่างประเทศทั้งหมด ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,438 ราย 
    เมื่อวันที่ 5 กันยายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 7 ราย ในสถานที่กักตัวของรัฐ ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,438 ราย ยอดหายป่วยสะสมรวม 3,279 ราย มีผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 101 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 58 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ จากอินโดนีเซีย 1 ราย เป็นชาย สัญชาติบราซิล อายุ 40 ปี เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 20 ส.ค. เที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 1 ราย เข้าพัก Alternative State Quarantine (ASQ) ใน กทม. และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ในวันที่ 2 ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ
    จากสหรัฐอเมริกา 1 ราย เป็นนักเรียนหญิง สัญชาติอเมริกัน อายุ 16 ปี เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 27 ส.ค. เข้าพัก Alternative State Quarantine (ASQ) ใน กทม. และตรวจหาเชื้อในวันที่ 3 ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ, จากรัสเซีย 2 ราย เป็นนักเรียนชาย สัญชาติรัสเซีย อายุ 18 ปี และหญิง สัญชาติรัสเซีย อายุ 45 ปี เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 31 ส.ค. เข้าพัก Alternative State Quarantine (ASQ) ใน กทม. และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 ในวันที่ 3 ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อ ทั้งหมดไม่มีอาการ
    มาจากอินเดีย 2 ราย เป็นชาย สัญชาติอินเดีย อายุ 43 ปี เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 31 ส.ค. และนักเรียนหญิง สัญชาติอินเดีย อายุ 14 ปี เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 1 ก.ย. ทั้งหมดเข้าพัก Alternative State Quarantine (ASQ) ใน กทม. และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 ในวันที่ 1 ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อ ทั้งหมดไม่มีอาการ และมาจากบังกลาเทศ 1 ราย เป็นชาย สัญชาติบังกลาเทศ อายุ 24 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 2 ก.ย. เข้าพัก Alternative State Quarantine (ASQ) ใน กทม. และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 ในวันที่ 3 ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อ ทั้งหมดไม่มีอาการ
    สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 26,784,017 ราย อาการรุนแรง 60,985 ราย รักษาหายแล้ว 18,894,659 ราย เสียชีวิต 878,765 ราย อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 6,389,057 ราย 2.บราซิล จำนวน 4,091,801 ราย 3.อินเดีย จำนวน 4,020,239 ราย 4.รัสเซีย จำนวน 1,015,105 ราย 5.เปรู จำนวน 670,145 ราย ส่วนประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 121 จำนวน 3,438 ราย ขณะที่เที่ยวบินนำคนไทยที่ตกค้างกับประเทศ วันที่ 5 ก.ย. จำนวน 348 คน จากสหรัฐอเมริกาและซาอุดีอาระเบีย ส่วนวันที่ 6 ก.ย. จำนวน 51 คน จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอินเดีย
    นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าการติดตามผู้สัมผัสหนุ่มดีเจ ผู้ต้องโทษป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นรายแรกในประเทศในรอบ 101 วันว่า จากข้อมูลล่าสุดวันที่ 5 ก.ย. ผู้ป่วยยังไม่มีอาการอะไรน่าเป็นห่วง อยู่ในการดูแลของ รพ.ราชทัณฑ์ ส่วนการสอบสวนเพิ่มเติม พบผู้สัมผัสเพิ่มขึ้นสะสมอยู่ที่ 708 ราย แบ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 140 ราย สัมผัสเสี่ยงต่ำ 568 ราย
ยังไม่พบเชื้อในคุก
    ทั้งนี้ เมื่อแยกเป็นรายกลุ่ม แบ่งเป็น 1.ที่พำนักพักที่คอนโดฯ มีผู้สัมผัส 6 ราย ทั้งหมดตรวจแล้วไม่พบเชื้อ 2.กลุ่มที่ไปศาลเมื่อวันที่ 26 ส.ค. มีผู้สัมผัส 493 ราย แบ่งเป็นเสี่ยงสูง 15 ราย ตรวจแล้ว 11 ราย ไม่พบเชื้อ เสี่ยงต่ำ 478 ราย ตรวจแล้ว 146 ราย ไม่พบเชื้อ ที่เหลืออยู่ระหว่างรอผลตรวจ และอยู่ระหว่างเฝ้าระวัง 14 วัน 3. กลุ่ม รพ.ราชทัณฑ์ มีผู้สัมผัส 6 ราย ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ อยู่ระหว่างเฝ้าระวัง 14 วัน
    4.กลุ่มทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง มีผู้ต้องขังที่อยู่ร่วมระหว่างต้องกัก 36 คน ตรวจแล้วไม่พบเชื้อฯ รอกักตัวให้ครบตามกำหนด 14 วัน และต้องตรวจซ้ำอีก 2 ครั้ง และอีกกลุ่มที่เป็นเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครเรือนจำ ซึ่งมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 24 ราย แยกกักแล้ว อยู่ระหว่างเก็บตัวอย่างส่งตรวจ และเสี่ยงต่ำ 52 ราย ให้เฝ้าระวัง 14 วัน โดยปฏิบัติตามมาตรการทางด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด 5.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มีผู้สัมผัส 8 ราย เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมด โดยเป็นผู้ต้องขังที่นั่งรถโดยสารร่วมกัน ตรวจแล้วไม่พบเชื้อ
    6.ที่ทำงานร้าน “3 วัน 2 คืน” สาขาพระราม 3 ซึ่งมีผู้สัมผัส 14 ราย เสี่ยงสูงทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลแล็บ ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ติดต่อเข้ามารับการคัดกรองที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือประเมินความเสี่ยงได้ที่แอปพลิเคชัน “BKKCOVID19” หากมีความเสี่ยง ทาง กทม.จะประสานกลับไป ส่วนร้าน “3 วัน 2 คืน” สาขาพระราม 5 มีผู้สัมผัสทั้งหมด 55 ราย เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 23 ราย ตรวจแล้ว 22 ราย ไม่พบเชื้อ อีก 1 ราย ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่มีรายงานข่าวว่าหลบหนีนั้นขณะนี้ติดตามตัวได้แล้ว ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 32 ราย ต้องเฝ้าระวัง 14 วัน
    ส่วนที่ร้านเฟิร์ส คาเฟ่ ที่ถนนข้าวสาร มีผู้สัมผัส 14 ราย เสี่ยงสูงทั้งหมด ได้รับการตรวจแล้ว 13 ราย ไม่พบเชื้อ ส่วนอีก 1 ราย พบว่ามีอาการเข้าเกณฑ์ PUI (มีไข้) ได้นำส่งไปรักษาที่ รพ.กลางแล้วเพื่อตรวจและดูแลรักษา อยู่ระหว่างรอผล ส่วนผู้มารับบริการอื่นๆ ที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ก็จะดำเนินการประชาสัมพันธ์ว่าท่านใดที่มีข้อสงสัย หรือคิดว่าตัวเองมีความเสี่ยงต่ำ สามารถมาขอรับบริการหรือว่าสอบถามเข้ามายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้
    นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนมีคำถาม 4 คำถาม 1.ข้อสงสัยว่าติดเชื้อจากที่ไหน ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวน ส่วนที่ 2 มีความกังวลว่าผู้ต้องขังรายนี้จะไปแพร่โรคให้ใครหรือไม่ ยืนยันว่า รายนี้ไม่มีอาการมาก ประกอบกับเป็นดีเจ ทำงานกลางคืนไม่ได้ ทำงานบริการโดยตรง คนที่สัมผัสโรคจึงมีจำกัดในระดับหนึ่ง และด้วยความทำงานกลางคืน กลางวันจึงพัก ถ้าจะไปไหนคงมีแค่กิจวัตรประจำวันเท่านั้น ความเสี่ยงความกังวลว่าจะมีการแพร่เชื้อแบบซูเปอร์สเปรดเดอร์หรือไม่นั้นจะไม่มาก 
ยืนยันคุมการระบาดได้
    ส่วนที่ 3 เมื่อเราตรวจในส่วนของผู้สัมผัสใกล้ชิด ซึ่งถ้าจะแพร่โรคให้ใครก็คงเป็นคนในครอบครัวก่อน แต่จากการตรวจคนในครอบครัวทั้งหมดตอนนี้ยังไม่มีใครติดเชื้อฯ และตามต่อคนใกล้ชิดคือผู้ต้องขังที่อยู่ร่วมกัน 36 คนก็ไม่เจอ ที่ศาลก็ไม่เจอ พนักงานที่ทำงานด้วยกันก็ไม่พบเชื้อ นั่นหมายความว่าโอกาสที่จะไปแพร่เชื้อให้คนอื่นหรือผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำโอกาสก็ยิ่งน้อยไปอีก ที่เป็นแบบนี้ได้ส่วนหนึ่งคือมาตรการการควบคุมป้องกันโรคที่เราทำกันอยู่ แม้ว่าจะหละหลวมไปบ้าง แต่อย่างน้อยก็ได้ทำ เพราะฉะนั้นคำแนะนำสำหรับประชาชนตอนนี้จึงแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 ประชาชนที่คิดว่าตัวเองไปอยู่ในสถานที่ หรือวันเวลาที่ผู้ติดเชื้ออาจจะไปนั้นก็ไม่ต้องตกใจหรือกังวล ให้โทร.สอบถาม 1422 หรือเดินไปขอรับคำปรึกษา ตรวจคัดกรองได้ แต่ต้องมีการให้ประวัติก่อน และถ้าจุดไหนที่มีรถเก็บตัวอย่างเชื้อชีวนิรภัย ก็สามารถไปขอรับบริการได้ และปฏิบัติตัวตามมาตรการควบคุมโรคไปก่อน
    นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า กลุ่มที่ 2 สำหรับประชาชนทั่วไป โอกาสที่จะเจอผู้ติดเชื้อหรือมีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ก็จะเหมือนกับต่างประเทศที่มีการควบคุมได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะมากับแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมือง หรือผู้ติดเชื้อในชุมชนที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อยๆ แต่ประชาชนไม่ต้องตกใจ ตื่นกลัว อันดับแรกคือคงมาตรการควบคุมป้องกันโรคเข้มข้นเอาไว้ จากที่ก่อนหน้านี้ คร.ได้สำรวจทุก 14 วัน พบว่าประชาชนการ์ด ตอนนี้ก็ขอให้ยกสูง โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า การเว้นระยะห่าง และการล้างมือ อีกส่วนหนึ่งคือสถานประกอบการต่างๆ หรือผู้ที่ดำเนินกิจกรรมทางสังคม ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการหลักและมาตรการเสริมของ ศบค.อย่างเคร่งครัด รวมถึงกำชับผู้ใช้บริการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ดีกว่าปล่อยให้เกิดการติดเชื้อหรือระบาด
    “ขอยืนยันว่าเราพบผู้ติดเชื้อและรายงาน แต่สามารถควบคุมไม่ให้เกิดการระบาด และทำมาตรการเชิงรุกให้ครอบคลุม ดังนั้นจะพยายามค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำให้มาก และนำมาดูแลตามมาตรการเพื่อสร้างความมั่นใจว่าถึงแม้จะเจอผู้ติดเชื้อ แต่เราจะควบคุมไม่ให้เกิดการระบาด” นพ.สุวรรณชัยกล่าว
    ส่วนความคืบหน้ากรณีสาวลาว พนักงานของร้าน 3 วัน 2 คืน ย่านพระราม 3 ที่ได้หลบหนีการกักตัว ขณะที่ทางร้านต้องปิดบริการชั่วคราว และทำความสะอาดพ่นยาฆ่าเชื้อเป็นการใหญ่นั้น นพ.สฤษดิ์เดช เจริญไชย รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี เปิดเผยว่า สาวลาวคนดังกล่าวได้กลับมารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะมีการดำเนินการส่งตัวไปกักตัวตาม กระบวนการต่อไป
"อนุทิน"หนุน"ภูเก็ตโมเดล"
    ทั้งนี้ นพ.สฤษดิ์เดชเผยว่า เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. หญิงสาวชาวลาวที่หลบหนีไปนั้นได้เดินทางกลับมาที่ร้าน ผู้ดูแลร้านจึงประสานเจ้าหน้าที่ไปรับตัวนำส่ง รพ.บางกรวย 2 แล้ว ส่วนสาเหตุที่หลบหนีก็เนื่องมาจากบัตรที่อนุญาตเข้ามาทำงานหมดอายุ เกรงว่าจะมีความผิด เลยหลบหนีไป
    ขณะนี้มีพนักงานร้าน 3 วัน 2 คืนมาเข้ากักตัวที่ รพ.บางกรวย 2 รวมจำนวน 25 คน ผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของกลุ่มที่เข้ากักตัว เบื้องต้นพบว่าทั้ง 25 ไม่พบเชื้อ แต่ในจำนวนนั้นพบว่า 5 คน มีไข้แต่ไม่สูงมาก เจ้าหน้าที่จึงต้องแยกกักตัว 5 คนนี้ต่างหาก และจะมีการตรวจรอบสองทั้งหมดอีกครั้ง 
    วันเดียวกันนี้ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลการตรวจหาเชื้อในรายผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ต้องขังที่ติดชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไข้ เข้าข่าย PUI ว่าผู้ต้องสงสัยรายนี้เป็นคนไทย เพศชาย ทำงานที่ร้านเฟิร์ส คาเฟ ถนนข้าวสาร กรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการออกแล้ว พบว่าไม่ติดเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 กระทบกับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทย เป็นรายได้หลักของประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะใน จ.ภูเก็ต สิ่งที่ชาวภูเก็ตกำลังประสบคือภาพสะท้อนของประชาชนที่ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยวที่มีจำนวนมหาศาล ตอนนี้เราต้องคิดเรื่องของการควบคุมโรคควบคู่ไปกับการเดินหน้าทางเศรษฐกิจ เป็นที่มาของแนวคิดเรื่องภูเก็ตโมเดล ซึ่งได้ประชุมกันหลายรอบ และใกล้จะตกผลึก แต่ดูเหมือนว่ายังมีเสียงคัดค้านอยู่ ก็ต้องไปคิดไปวางแผนกันใหม่
    “ผมไม่ขวางแนวคิดเรื่องนี้ เพราะกระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนรับมือสถานการณ์ไว้หมดแล้ว มีทั้งคน ทั้งยา ทั้งแผนการต่างๆ และถ้าได้เดินหน้าประสบความสำเร็จภูเก็ตโมเดล จะกลายเป็นทางออกหนึ่งสำหรับฟื้นเศรษฐกิจไทย แต่จะนับหนึ่งอย่างไรตอนไหน ต้องขอให้คนพื้นที่ตกผลึกร่วมกันด้วย” นายอนุทินกล่าว
    ทั้งนี้ โครงการ “ภูเก็ตโมเดล” เป็นแนวคิดในการนำนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศที่มีมาตรฐานการควบคุมโรคโควิด-19 ดีเยี่ยม เข้ามาท่องเที่ยวในไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวทั้งหมดต้องผ่านการตรวจเข้มตั้งแต่สนามบิน กักตัวในที่พัก 14 วัน ตรวจหาเชื้อซ้ำ จนครบกำหนดจึงเปิดให้ท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ตได้ และหากต้องการออกนอกภูเก็ตต้องอยู่อีก 7 วันให้ครบ 21 วันก่อน จึงจะได้รับอนุญาตให้ออกนอกพื้นที่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"