'หน่อย'หยาม! กู้มายังแจกมั่ว แนะโปรยเงิน


เพิ่มเพื่อน    

    "เจ๊หน่อย" หยามรัฐบาล กู้เงินมาแจกก็ยังแจกไม่เป็น ประชาชนต้องชดใช้หนี้อีกเกือบ 100 ปี แนะแจกเงินสดให้คนจนดีกว่า ไม่ต้องผ่านแอปฯ ขณะที่โฆษกรัฐบาลแจง แจก 3 พัน 15 ล้านคน เป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้น ยังไม่สรุป "ธนวรรธน์" แนะถ้าให้ได้ผลต้องทุ่มเงินลงไปกลุ่มหาบเร่แผงลอย ร้านค้าขนาดเล็กก่อน
    เมื่อวันที่ 5 กันยายน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นถึงมาตรการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ศบศ. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยแจกเงิน 3,000 บาทให้คนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 15 ล้านคน ให้เวลาใช้ 3 เดือน โดยกำหนดให้ใช้วันละ 100-250 บาท ผ่านร้านค้าที่ขึ้นทะเบียน ว่า ทำให้มีความเป็นห่วงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น
    เธอบอกว่า ถ้ายังจำกันได้ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.กู้เงินจำนวน 1.0 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งนับเป็นการกู้เงินจำนวนมากที่สุดของประเทศ แต่จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 5 เดือน รัฐบาลก็ยังคงวนเวียนกับการแจกเงินแบบที่เคยทำมาก่อนเกิดโควิด และทำมาตลอด 6 ปีกว่าที่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี แปลว่ารัฐบาลยังคิดมาตรการอื่นที่ดีกว่าการแจกเงินไม่ออก ปัญหาคือจะมีปัญญาแจกเงินไปได้อีกนานเท่าไร
    ผลของความล้มเหลวของการแจกเงินดังกล่าว แสดงออกมาในรูปของการจัดเก็บภาษี ปรากฏว่าสิ้นสุดเดือนกรกฎาคม 2563 รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าประมาณการถึง 267,810 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 2563 การจัดเก็บภาษีอากรน่าจะติดลบเกินกว่า 300,000 ล้านบาท แสดงว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่กู้เงินมาใช้เงินอย่างมโหฬารไม่ได้ผล คาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 2564 หนี้สาธารณะจะสูงเกินร้อยละ 60 ที่เป็นกรอบความยั่งยืนทางการคลังซึ่งจะทำให้รัฐบาลก่อหนี้ไม่ได้อีก แปลว่ารัฐบาลประยุทธ์จะล้มละลายทางการคลัง ความหายนะจะบังเกิดกับประชาชน
    คุณหญิงสุดารัตน์ระบุว่า ความน่าเป็นห่วงของมาตรการแจกเงินครั้งนี้คือ เงินที่แจกที่มาจากการกู้และเป็นหนี้ที่ประชาชนต้องชดใช้ ซึ่งกว่าจะใช้หนี้หมดคงใช้เวลาเกือบ 100 ปี แต่จะไม่เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย หรือเอสเอ็มอี เพราะรัฐบาลไม่ได้มีมาตรการอะไรที่จะทำให้พ่อค้าแม่ค้ารายเล็กรายน้อยได้ประโยชน์จากเงินที่แจก โดยทำกระบวนการแจกยุ่งยาก ต้องใช้ผ่านแอปฯ ซึ่งเอื้อกิจการรายใหญ่ทั้งสิ้น ถ้าคิดจะแจกให้คนจนได้ประโยชน์ก็แจกเป็นเงินสดเลยดีกว่า
    "ที่รัฐบาลคิดว่าคนไทยไม่มีกำลังซื้อจึงต้องแจกเงินแล้ว ทำไมจึงคิดว่าพ่อค้าแม่ค้าที่หมดตัวไปแล้วยังมีทุนไปซื้อของมาขายเพื่อรับเงินที่รัฐบาลแจกคน 15 ล้านคน ผลคือเงินที่กู้มาแจกจะไหลไปสู่กระเป๋าเจ้าสัวเพียงไม่กี่ราย ทำให้ความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก กู้เงินมาแจก ก็ยังแจกไม่เป็น”
    คุณหญิงสุดารัตน์ยังชี้ว่าปัญหาของรัฐบาลนี้คือ การที่นายกฯ มาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจ และที่สำคัญที่สุดคือ ไม่มีความจริงใจต่อประชาชน คิดแต่จะอุ้มคนรวย โดยอ้างคนจนบังหน้า
    ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ตามที่ได้มีข่าวเรื่องมาตรการที่รัฐบาลจะช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยการช่วยค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน 15 ล้านคน ในวงเงิน 3,000 บาทต่อคน เพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอย เป็นการลดค่าครองชีพ และเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ส่งเสริมการบริโภค และช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยนั้น
    มาตรการดังกล่าวเป็นเพียงหลักการในเบื้องต้น ที่ทางกระทรวงการคลังได้นำเสนอในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ.เท่านั้น ยังไม่ได้เป็นข้อสรุปที่จะอนุมัติให้ดำเนินการโครงการแต่อย่างใด ข้อสรุปของที่ประชุม ศบศ.คือ ได้มีมติให้กระทรวงการคลังจัดทำรายละเอียดโครงการเพิ่มเติม เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ศบศ.ในครั้งต่อไปภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งจะมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
    นายอนุชากล่าวว่า “มาตรการช่วยค่าใช้จ่ายประชาชนที่มีสิทธิ์จำนวน 15 ล้านคน ในวงเงินคนละ 3,000 บาทนั้น เป็นเพียงข้อเสนอในหลักการเบื้องต้นที่กระทรวงการคลังนำเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการประชุม ศบศ. เมื่อวันพุธที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ที่ประชุม ศบศ.ได้มีมติให้กระทรวงการคลังดำเนินการจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นในส่วนของประชาชนที่จะลงทะเบียนได้รับสิทธิ์ 
    รวมถึงร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยขอให้ครอบคลุมผู้ประกอบการรายย่อยให้ได้มากที่สุด และเมื่อกระทรวงการคลังได้ข้อสรุป และนำเสนอเพื่อขอมติจาก ศบศ.ในรายละเอียดแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการนำเสนอมาตรการดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนที่จะดำเนินการต่อไป จึงขอให้ประชาชนได้มั่นใจว่ารัฐบาลจะดำเนินการโครงการช่วยเหลือประชาชนด้วยความรอบคอบ และให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนทั่วไป
    โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า เงินช่วยเหลือดังกล่าวนี้รัฐบาลตั้งใจที่จะให้ประชาชนสามารถนำไปใช้จ่ายได้ที่ร้านค้าทั่วไป ร้านหาบเร่แผงลอย ร้านโชห่วยต่างๆ รวมถึงการซื้อสินค้าในตลาดสดและตลาดนัด เพื่อให้ผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้า สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ให้ได้มากที่สุด และเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลได้อย่างเต็มที่
    ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า มาตรการนี้เป็นมาตรการที่ดี เพราะสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนได้ทุกกลุ่ม และจะทำให้เกิดการใช้จ่ายจริง แต่ที่ยังต้องติดตามคือเงื่อนไขของการเปิดให้ร้านค้าเข้าร่วมมาตรการนี้ ส่วนตัวมองว่าหากจะช่วยเหลือให้ถูกจุด ควรเปิดโอกาสให้หาบเร่แผงลอย ร้านค้าขนาดเล็ก มีโอกาสเข้าถึงได้ก่อน เพราะตามหลักเศรษฐศาสตร์ หากจะกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภค ก็จะต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ได้อยู่ในระบบฐานภาษี ซึ่งมันจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจทันที.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"