เตรียมเคลื่อนงานความมั่นคงทางอาหารภาคอีสาน 20 จังหวัด สร้างพื้นที่รูปธรรมเกษตรยั่งยืน-เพาะเมล็ดพันธุ์-แหล่งอาหารปลอดภัย


เพิ่มเพื่อน    

 การจัดเวทีเสวนาความมั่นคงทางอาหาร

 

อีสาน/ สภาองค์กรชุมชนตำบลภาคอีสาน  เตรียมเคลื่อนงานสร้างความมั่นคงทางอาหาร 20 จังหวัดภาคอีสาน  เน้นการปกป้องแหล่งอาหารของชุมชน   สร้างพื้นที่รูปธรรมเกษตรยั่งยืน  เพาะเมล็ดพันธุ์ใช้เอง  สร้างคนรุ่นใหม่ที่ถูกเลิกจ้างหรือได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19  ใช้พื้นที่ชนบทเป็นแหล่งสร้างความมั่นคงทางอาหาร  การพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานราก  เชื่อมตลาดท้องถิ่น  สร้างแหล่งอาหารปลอดภัย  ฯลฯ  โดยจะนำข้อเสนอต่างๆ ไปขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี  และนำเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับชาติในวันที่ 9-10 กันยายนนี้

             

ตามที่เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสานร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และภาคีเครือข่ายจัดงาน “สมัชชาสภาพลเมืองอีสาน ตุ้มโฮม  ฮักแพง  แบ่งปัน ไทอีสานหนึ่งเดียว” ระหว่างวันที่ 3-5 กันยายนที่ผ่านมาที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  จังหวัดมหาสารคาม  โดยมีประเด็นสำคัญคือ   ความมั่นคงทางอาหาร  คือความมั่นคงของมนุษย์”  เพื่อระดมความคิดเห็น  รวบรวมข้อเสนอของพี่น้องเกษตรกรในภาคอีสานนำไปขับเคลื่อนเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร  รวมทั้งนำข้อเสนอและแนวทางการแก้ไขผลกระทบจากโครงการของรัฐไปเสนอต่อที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 9-10 กันยายนนี้  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ

 

 นายอุบล  อยู่หว้า

               

นายอุบล  อยู่หว้า  เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน  กล่าวว่า  ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเมืองไทย  ทำให้เห็นภาพของประชาชนที่ต้องไปเข้าคิวยาวเหยียดเพื่อรับแจกอาหาร  ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์  เป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก  แต่ในขณะเดียวกันประชาชนในชนบทยังสามารถเลี้ยงชีพอยู่ได้  เพราะ 1. ชนบทยังมีทรัพยากรที่หลากหลาย  2.มีอาหารต่างๆ ให้เก็บหา  เก็บกิน  3.สังคมชนบทยังมีความเกื้อกูลช่วยเหลือกัน

             

“แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ  การทำลายความมั่นคงทางอาหาร  การทำลายพื้นที่ที่ผลิตอาหาร  โดยการทำเกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่  การปลูกพืชเชิงเดี่ยว  เช่น  ปลูกอ้อยป้อนโรงงาน  การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์โดยโครงการขนาดใหญ่  เช่น  การขุดลอกบึงหรือแหล่งน้ำ  ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน  เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและพืชผักต่างๆ ที่ขึ้นอยู่ตามชายเฟือย  ทำให้แหล่งอาหารเหล่านี้ถูกทำลาย  ดังนั้นโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบหรือทำลายแหล่งอาหารของชาวบ้าน  จะต้องฟังเสียงของชาวบ้าน  และให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการออกแบบโครงการ”  นายอุบลกล่าว

 

             

เขาเสนอด้วยว่า  รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ  เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร  เช่น 1.ไม่ควรจะมีหรือส่งเสริมพื้นที่เกษตรอุตสาหกรรมเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่  เพราะมีการใช้สารเคมีมาก  เป็นการทำลายแหล่งอาหาร 2.ชุมชนจะต้องมีการสำรองอาหารในระดับครัวเรือนและชุมชน  เพราะจากการศึกษาพบว่า  หมู่บ้านที่ทำหัตถกรรมต่างๆ เช่น  ทอผ้าเป็นอาชีพ  มีรายได้  แต่ไม่มีอาหาร  ต้องไปซื้อกิน  หากขายสินค้าไม่ได้  ภายใน 3 วันก็จะอยู่ไม่ได้  แต่หมู่บ้านที่ทำเกษตรอินทรีย์  ปลูกข้าวกิน  แม้จะไม่มีเงิน  แต่จะมีอาหารเลี้ยงครอบครัวได้อย่างน้อย 2 ปี

             

“มีตัวอย่างที่บ้านนาคำ  อำเภอคำเขื่อนแก้ว  จังหวัดยโสธร  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมบ่อยๆ  ในแต่ละปีชาวบ้านทั้งหมู่บ้านจะเอาข้าวเปลือกมารวมกัน  เป็นการออมข้าว  ครัวเรือนละ 40 กิโลกรัม  หากเกิดน้ำท่วม  ปลูกข้าวไม่ได้  ชาวบ้านก็ยังมีข้าวสำรองเอาไว้กิน  หากไม่เกิดน้ำท่วม  จะรวบรวมเอาข้าวไปขาย  เอาเงินมาแบ่งกัน  เป็นอย่างนี้ทุกปี  และชาวบ้านที่นี่ร่วมกันออมข้าวมานานนับสิบปีแล้ว  ถือเป็นตัวอย่างของการสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับชุมชน  ส่วนในครัวเรือนแต่ละครอบครัวก็จะมีข้าวและอาหารสำรองอยู่แล้ว”  นายอุบลยกตัวอย่างพื้นที่รูปธรรม

 

 นายชูชาติ  ผิวสว่าง

 

นายชูชาติ  ผิวสว่าง   ประธานที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล   กล่าวว่า  ข้อเสนอจากการจัดงาน “สมัชชาสภาพลเมืองอีสาน ตุ้มโฮม  ฮักแพง  แบ่งปัน  ไทอีสานหนึ่งเดียว” ในครั้งนี้จะนำไปขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี  เริ่มตั้งแต่ปี 2564  โดยใช้กลไกสภาองค์กรชุมชนตำบลในภาคอีสาน 20   จังหวัดขับเคลื่อน  คือ 1.การปกป้องแหล่งอาหารของชุมชน   สร้างพื้นที่รูปธรรมเกษตรกรรมยั่งยืน 

 

2.การพัฒนาศักยภาพผู้นำ  โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ถูกเลิกจ้างหรือได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19  ให้ใช้พื้นที่ชนบทเป็นแหล่งสร้างความมั่นคงทางอาหาร  โดยมีคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจแล้วประมาณ 500   คน  แต่ในเบื้องต้นจะจัดอบรมเพื่อพัฒนาได้ 50 คน  3.เชื่อมกับภาคีเครือข่ายเพื่อทำงานร่วมกัน  และ 4.การพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานราก  โดยใช้เกษตรกรรมเป็นตัวตั้ง  เชื่อมตลาดท้องถิ่น  สร้างแหล่งอาหารปลอดภัย

 

นอกจากนี้จะขับเคลื่อนเรื่องกองทุนเมล็ดพันธุ์พืช  ซึ่งในการจัดงานครั้งนี้มีการทอดผ้าป่าเมล็ดพันธุ์พืช  ได้เงินกองทุนประมาณ 40,000 บาท  จะนำไปใช้ในการเพาะและขยายเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ  เช่น  ข้าว  พืช  ผักสวนครัว  และกระจายให้สภาองค์กรชุมชนในระดับจังหวัดนำไปขยายพันธุ์ต่อเพื่อแจกจ่ายให้แก่พี่น้องเกษตรกรภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด

 

 

“เมล็ดพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความมั่นคงทางอาหาร  หากเราซื้อเมล็ดพันธุ์จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น  และเมล็ดพันธุ์ที่ขายในตลาดจะต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมี  และนำไปเพาะพันธุ์ต่อไม่ได้  นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์  ดังนั้นเราจะส่งเสริมและฟื้นฟูระบบเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมขึ้นมา  เพราะเป็นเรื่องภูมิปัญญา  การถ่ายทอดวิถีชีวิตและวัฒนธรรม  โดยรวบรวมเมล็ดพันธุ์  นำมาคัดเลือก  ปรับปรุงพันธุ์  และกระจายไปสู่พี่น้องทั่วภาคอีสาน  เพราะการที่เราจะสร้างความมั่นคงทางอาหารได้  เราจะต้องเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต  และมีเมล็ดพันธุ์เป็นของตัวเอง”  นายชูชาติกล่าว

 

ส่วนข้อเสนออื่นๆ จากการประชุมครั้งนี้  นายชูชาติกล่าวว่า  ผลกระทบจากโครงการรถไฟรางคู่  รถไฟความเร็วสูงในภาคอีสานที่จะส่งผลต่อชุมชนริมทางรถไฟที่จะต้องมีการรื้อย้ายชุมชน  ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำโขงขึ้นลงไม่ปกติ  เนื่องจากมีการสร้างเขื่อนในประเทศจีนและลาว  รวมทั้งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้การสำรวจการถือครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติต้องแล้วเสร็จภายใน 240 วัน (ภายใน 21 กรกฎาคม 2563) ที่จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน  รวมทั้งข้อเสนอเรื่องการสร้างความมั่นคงทางอาหารนั้น

 

ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงที่  อ.เมือง  จ.ขอนแก่น

 

“จะรวบรวมข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่างๆ ทั้งหมดนี้ไปนำเสนอในที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 กันยายน  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กรุงเทพฯ  เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”  นายชูชาติกล่าวทิ้งท้าย

 

ทั้งนี้การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล  ระหว่างวันที่ 9 -10 กันยายน  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  จะมีการจัดเวทีวิชาการ  เช่น  การปาฐกถาพิเศษ  การจัดประชุมนำเสนอปัญหาด้านต่างๆ  การรวบรวมข้อเสนอแนะ  และสรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบ  เสนอต่อหน่วยงานรัฐและคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 โดยจะมีนายจุติ  ไกรฤกษ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เดินทางมารับมอบข้อเสนอเชิงนโยบายจากที่ประชุมฯ เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"