โพลยี้'รัฐบาลแห่งชาติ'


เพิ่มเพื่อน    


    สวนดุสิตโพลชี้เสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอน เหตุเศรษฐกิจตกต่ำ กระแสต่อต้านมากขึ้น แนะเร่งแก้ปัญหาปากท้อง  ซูเปอร์โพลตอกย้ำมีการใช้ต่างชาติปั่นกระแส “สู้เป็นไท ถอยเป็นทาส" ในโซเชียลมีเดียผู้ใช้งานในไทยเพียง 11% นิด้าโพลระบุไม่เห็นด้วยรณรงค์ผ่านสื่อออนไลน์ต่อต้านโจมตีผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง "สุภรณ์" เตือนผู้ชุมนุมอย่าก้าวล่วงสถาบันฯ เบรกนักการเมืองอย่าขนแนวร่วมมาหนุนม็อบ สนท.ชุมนุมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทำกิจกรรมทุบศาลพระภูมิไม้จำลองประชดกระบวนการยุติธรรม จี้ปล่อยตัว "อานนท์-ไมค์" 
    เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "เสถียรภาพรัฐบาล ณ วันนี้” จำนวน  1,768 คน ระหว่างวันที่ 1-4 กันยายน 2563 สรุปผลได้ดังนี้  “5 จุดแข็ง” ที่ทำให้รัฐบาลเข้มแข็ง/มั่นคง อันดับ 1 มีเสียง ส.ว.สนับสนุน 64.74%, อันดับ 2 มีอำนาจเบ็ดเสร็จ 54.62%, อันดับ 3 มีเสียงข้างมากในสภา 51.52%, อันดับ 4 พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี  36.81%, อันดับ 5 นโยบายช่วยเหลือประชาชน เช่น บัตรผู้สูงอายุ เราไม่ทิ้งกัน 31.92%
    ส่วน “5 จุดอ่อน” ที่ทำให้รัฐบาลอ่อนแอไม่มั่นคง อันดับ 1ประเทศเผชิญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ 77.49%, อันดับ 2 การบริหารประเทศย่ำแย่/แก้ปัญหาไม่สำเร็จ 67.00%, อันดับ 3 กระแสการต่อต้านรัฐบาลมากขึ้น 63.79%, อันดับ 4 การใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก 59.02%, อันดับ 5 ความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล 57.95%
    เมื่อเปรียบเทียบ “จุดอ่อน” และ “จุดแข็ง” ประชาชนคิดว่ารัฐบาลยังมีความมั่นคงหรือไม่มั่นคง อันดับ 1 ไม่มั่นคง 71.15%, อันดับ 2 มั่นคง 28.85%
    สำหรับ “5 วิธี” ที่จะทำให้รัฐบาลมั่นคง คืออันดับ 1 แก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน 83.73%, อันดับ 2 ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน 69.99%, อันดับ 3    รับฟังความคิดเห็น/เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม 66.00%, อันดับ 4 พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น 64.36%, อันดับ 5 ใช้อำนาจในทางที่ถูกต้อง มีธรรมาภิบาล 59.19%           
     ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล นำเสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง Ban รัฐบาลแห่งชาติ กรณีศึกษา ประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,712 ตัวอย่างในโลกโซเชียล และ “เสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม” ระหว่างวันที่ 1- 5 ก.ย.ที่ผ่านมา เมื่อถามถึงประเทศที่มีรัฐบาลแห่งชาติ นึกถึงประเทศอะไร พบว่า จำนวนมากที่สุดหรือร้อยละ  35.5 นึกถึงประเทศจีน รองลงมาคือร้อยละ 24.0 นึกถึงประเทศสหรัฐอเมริกา,  ร้อยละ 17.2 นึกถึงรัสเซีย และร้อยละ 23.3 นึกถึงประเทศอื่นๆ โดยผลสำรวจพบด้วยว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.2 ระบุรัฐบาลแห่งชาติเป็นรัฐบาลที่มั่นคงมากถึงมากที่สุด, ร้อยละ  67.6 ระบุรัฐบาลแห่งชาติเป็นรัฐบาลที่จะมีความมั่งคั่งมากถึงมากที่สุด และร้อยละ  66.0 ระบุรัฐบาลแห่งชาติจะเป็นรัฐบาลที่ยั่งยืนมากถึงมากที่สุด
    อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าจะเอารัฐบาลแห่งชาติหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.7 ระบุไม่เอา ในขณะที่ร้อยละ 31.9 เอา และร้อยละ 3.4 ระบุอื่นๆ 
     ดร.นพดลกล่าวด้วยว่า ผลการสำรวจ “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice) ผ่านระบบ Net  Super Poll ในการศึกษาแนวโน้มความเคลื่อนไหว “สู้เป็นไท ถอยเป็นทาส” เปรียบเทียบกับ “ถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส” พบข้อมูลกระแสในโลกโซเชียลที่น่าพิจารณาคือ กระแสตอบรับ ข้อความการเมือง ระหว่างวาทกรรมทั้งสองมีความแตกต่างกันในหลายประเด็นที่ค้นพบในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ จำนวนกลุ่มผู้ใช้งานที่ค้นพบในความเคลื่อนไหวต่อข้อความการเมืองว่า ถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส ที่เคยปั่นยอดสูงสุดในวันที่ 8 สิงหาคม มีมากถึง  12.4 ล้านผู้ใช้งาน แต่ข้อความการเมือง “สู้เป็นไท ถอยเป็นทาส” ที่เพิ่งรณรงค์ออกมา ล่าสุดมีเพียง 1,684,542 ผู้ใช้งานในโลกโซเชียล แต่พบว่ามาจากประเทศไทยเพียงร้อยละ 11.6 หรือประมาณกว่าแสนคนเท่านั้น ที่เหลือมาจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เช่นเดียวกันในช่วงที่ปั่นกระแสยอดสูงสุดของข้อความการเมืองที่ว่า ถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส อยู่ในประเทศไทยเพียงร้อยละ 11.3 เท่านั้น
ใช้ต่างชาติปั่นกระแส
    นอกจากนี้ ช่องทางการใช้โซเชียลมีเดียสามอันดับแรกสำหรับข้อความการเมือง สู้เป็นไท ถอยเป็นทาส เปลี่ยนไปจากข้อความการเมืองที่ว่า ถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส โดยพบว่า ข้อความการเมือง สู้เป็นไท ถอยเป็นทาส ใช้ Facebook มาเป็นอันดับแรก คือร้อยละ 39.4 รองลงมาคือ Twitter ร้อยละ 37.0, สำนักข่าวออนไลน์ ร้อยละ 10.9 ในขณะที่ข้อความการเมือง ถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส ใช้ Twitter มากถึงร้อยละ 77.3  รองลงมาคือวิดีโอ ร้อยละ 11.3 และสำนักข่าวออนไลน์ ร้อยละ 5.7 ตามลำดับ 
    ที่น่าสนใจคือข้อความการเมือง สู้เป็นไท ถอยเป็นทาส พบว่าผู้ใช้งานส่วนใหญ่หรือร้อยละ  89.4 เป็นตัวบุคคลผู้ใช้งาน เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ข้อความการเมือง ถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส พบผู้ใช้งานส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.6 เป็นองค์กร
    ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เสรีภาพในการโจมตีผู้เห็นต่าง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1-3 กันยายน 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้น ไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,326 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการรณรงค์ผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อต่อต้าน/โจมตีผู้แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 51.58 ระบุว่าเป็นสิทธิและเสรีภาพที่กระทำได้ในระบอบประชาธิปไตย รองลงมา ร้อยละ 13.20 ระบุว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมือง, ร้อยละ  12.14 ระบุว่าเป็นแค่การทำตามกระแส, ร้อยละ 8.90 ระบุว่าผู้ถูกต่อต้าน/โจมตีผ่านสื่อออนไลน์ก็มีสิทธิตอบโต้กลับ, ร้อยละ 8.37 ระบุเป็นแค่กิจกรรมทางการเมืองทั่วๆ ไปอย่างหนึ่ง ไม่เสียหายอะไร และเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่สร้างความแตกแยกในสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน, ร้อยละ 4.37 ระบุว่าเป็นการรณรงค์ที่มีกลุ่มการเมือง/พรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง, ร้อยละ 4.15 ระบุว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย, ร้อยละ 2.87 ระบุว่าเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่บังคับให้คนในสังคมเลือกข้าง 
    ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการรณรงค์ผ่านสื่อออนไลน์เพื่อต่อต้าน/โจมตีผู้แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมือง พบว่า ร้อยละ 17.19 ระบุว่าเห็นด้วยมาก เพราะเป็นสิทธิและเสรีภาพที่สามารถกระทำได้, ร้อยละ 17.65 ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ เป็นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่างทางการเมืองผ่านสื่อออนไลน์ และเป็นช่องทางที่แสดงความคิดเห็นง่ายที่สุด,  ร้อยละ 20.36 ระบุว่าไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะเป็นการละเมิดสิทธิผู้แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน, ร้อยละ 37.18 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการเเสดง  ความคิดเห็นที่ต่างกัน ควรเคารพความคิดเห็น ไม่ควรโจมตีคนที่เห็นต่างทางการเมือง 
    ส่วนความกลัวของประชาชนหากมีการแสดงความคิดเห็นต่างทางการเมือง แล้วจะถูกต่อต้าน/โจมตีผ่านสื่อออนไลน์ พบว่า ร้อยละ 10.48 ระบุว่ากลัวมาก เพราะทุกเพศทุกวัยมีสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่าย สามารถรับรู้ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว, ร้อยละ 20.67 ระบุว่าค่อนข้างกลัว เพราะเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่ออาชีพการงาน เรื่องส่วนตัว และครอบครัว, ร้อยละ 17.35 ระบุว่าไม่ค่อยกลัว เพราะทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ แต่อยู่ในกรอบของกฎหมาย, ร้อยละ 46.30 ระบุว่าไม่กลัวเลย เพราะเป็นสิทธิและเสรีภาพที่สามารถแสดงความคิดเห็นต่างทางการเมืองในพื้นที่ส่วนตัวของตนเองโดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น 
เบรกขนมวลชนหนุนม็อบ
    เมื่อถามถึงผลกระทบต่อการตัดสินใจในการบริโภคของประชาชน พบว่า ร้อยละ 11.16 ระบุว่ามีผลกระทบมาก เพราะมีผลทางด้านจิตใจ กับผู้สนับสนุนหรือผู้แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมืองทำให้แบนสินค้านั้นๆ ตามไปด้วย, ร้อยละ 15.31 ระบุว่า ค่อนข้างมีผลกระทบ เพราะผู้สนับสนุนหรือผู้แสดงความคิดเห็น ต่างทางการเมืองไม่มีใจเป็นกลาง ทำให้ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้านั้นๆ ด้วย, ร้อยละ 12.90 ระบุว่าไม่ค่อยมีผลกระทบ เพราะ การบริโภคสินค้าจะดูจากสรรพคุณ  คุณภาพ และคุณสมบัติมากกว่าปัจจัยอื่นๆ, ร้อยละ 57.46 ระบุว่าไม่มีผลกระทบเลย เพราะดูที่ตัวสินค้าเป็นหลักในการบริโภค และขึ้นอยู่กับความพึงพอใจหรือความชอบส่วนตัวมากกว่าพรีเซนเตอร์หรือยี่ห้อสินค้า  
    นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงม็อบปลดแอกรวมทั้งเครือข่ายเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ชุมนุมวันที่ 19 ก.ย.นี้ว่า ฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาลเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับกลุ่มที่เข้ามาชุมนุม โดยเฉพาะสิ่งที่จะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดความรุนแรงหรือเกิดการกระทบกระทั่งโดยบุคคลที่สาม แต่เรายังยืนยันว่าการชุมนุมนั้นเป็นไปตามสิทธิ์ของกฎหมาย วันนี้บ้านเมืองเกิดภาวะเศรษฐกิจที่มาจากผลกระทบโควิด-19 เราควรเอาบ้านเมืองมาก่อน การออกมาชุมนุมเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทางนายกรัฐมนตรีและทางรัฐบาล และสภาผู้แทนฯ ก็ได้ดำเนินการขับเคลื่อนไปแล้ว ทาง รมว.ศึกษาธิการก็ได้พูดคุยกับกลุ่มนักเรียนนักศึกษา กลุ่มรัฐบาลก็เปิดเวทีรับฟังข้อคิดเห็นเช่นเดียวกัน และข้อเรียกร้องต่างๆ เราก็ไม่ปฏิเสธ เรายินดีที่จะรับฟัง และทางสภา และพรรคการเมืองต่างๆ ก็ดำเนินการตามขั้นตอนของระบบรัฐสภาอยู่แล้ว  
    "แต่สิ่งที่เราไม่เห็นด้วยคือการก้าวล่วงสถาบันฯ วันนี้ ชาติ  ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเราจะต้องช่วยกันปกป้องและรักษาเอาไว้ ไม่ใช่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มาคิดที่จะล้มล้างสถาบันฯ การ ชุมนุมในวันที่ 19  ก.ย.นี้ ขอให้เป็นไปอย่างสงบ สันติ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตามสิทธิเสรีภาพที่สามารถชุมนุมได้ แต่อย่าฝ่าฝืนหรือทำผิดกฎหมาย และสำคัญเรื่องการที่จะปราศรัยที่จะแตะต้องหรือก้าวล่วง จาบจ้วงสถาบันฯ ก็ไม่ควรจะทำ"
     นายสุภรณ์กล่าวว่า ในฐานะที่มีประสบการณ์ในอดีต เรารู้ว่าการชุมนุมที่ผ่านมาในอดีตตั้งแต่ปี 2552-2553 และอีกหลายครั้งจนถึงการชุมนุมในปี 2557 ของ กกปส.ทุกกลุ่ม เรามั่นใจว่ามีพรรคการเมืองหนุนหลัง มีกลุ่มการเมืองหนุนหลัง ดังนั้นการชุมนุมของน้องนิสิตนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตยโดยบริสุทธิ์ใจ เราไม่ห้าม แต่ก็ต้องไม่ทำผิดกฎหมาย ฝากถึงบรรดากลุ่มก้อนการเมืองทั้งพรรคฝ่ายค้านและพรรคฝ่ายแค้น ขอให้หยุดพฤติกรรมในสิ่งที่จะขนคนสนับสนุนด้านการเงินหรือขนคนขนแนวร่วมเข้ามาชุมนุมในการชุมนุมครั้งนี้ ขอร้องอย่าได้ทำพฤติกรรมอย่างนั้น ไม่เหมาะ ไม่ควรอย่างยิ่ง ขอให้เบรกไว้ก่อนว่าอย่าได้ทำพฤติกรรมอย่างนั้นเลย อย่าทำให้บ้านเมืองเกิดความชุลมุนวุ่นวาย หรือเกิดความเสียหายย่อยยับไปกว่านี้ อดีตหลายปีที่ผ่านมาก็เป็นบทเรียนที่เราควรจะนำมาเป็นบทเรียน ว่าการชุมนุมแต่ละครั้งมันสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติบ้านเมืองและระบบเศรษฐกิจ ไม่มีใครแพ้ ไม่มีใครชนะ แต่สิ่งที่เสียหายย่อยยับคือประเทศชาติและประชาชน 
    นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงวันหยุดยาว 4 วัน ประชาชนเดินทางออกไปท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต กระบี่ สมุย เชียงใหม่ ฯลฯ ตนเห็นด้วยที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้คนไทยได้เที่ยวเมืองไทย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในภาวะที่ประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพราะประเทศกำลังประสบปัญหาต่างๆ มากมาย จึงอยากจะวิงวอนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง หรือกลุ่มนักศึกษา ให้เห็นแก่ประเทศและประชาชน ขอให้ทำความเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกฝ่ายรักประเทศ เพราะฉะนั้นน่าจะหาทางออกร่วมกันเพื่อประเทศได้ ประชาชนส่วนใหญ่ต่างไม่อยากให้ประเทศขัดแย้งอีก เพราะจะเป็นการซ้ำเติมประเทศ จึงอยากให้ทุกฝ่ายเจรจาถอยกันคนละก้าว เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้
จี้ปล่อยอานนท์-ไมค์ ระยอง
    เย็นวันเดียวกัน ที่บริเณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ติดถนนงามวงศ์วาน กลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมชุมนุมเรียกร้องเรียกร้องให้ "ปล่อยตัวนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์ ระยอง” แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก โดยไม่มีเงื่อนไข"  เพื่อยืนยันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง 
    โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา เนื่องจากเรือนจำไม่เปิดให้เยี่ยมญาติในช่วงวันหยุดราชการตั้งแต่วันที่ 4-7 กันยายน จะเปิดอีกครั้งในวันทำการปกติ  
    โดยมีผู้ร่วมชุมนุมส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ประมาณ 200 คน มาร่วมกิจกรรม และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ประชาชื่น ประมาณ 5 นาย มาร่วมดูแลความปลอดภัยและการจราจร
    ขณะที่บนเวทีที่ตั้งหน้ารั้วเรือนจำฝั่งบ้านสวัสดี มูลนิธิพิบูลสงเคราะห์ ยังคงมีโบขาวที่ผู้ชุมนุมนำมาผูกติดอยู่  
    เวลา 17.00 น. น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ แกนนำกลุ่มประชาชนปลดแอก ขึ้นเวทีปราศรัยเพื่อแสดงจุดยืนทวงความยุติธรรมให้นายอานนท์ และนายภาณุพงศ์ หลังถูกจับกุมขังในเรือนจำ ด้วยกฎหมายอาญา 116  ที่มองว่าทำเกินกว่าเหตุ และเป็นการรังแกผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง
    จากนั้นเวลา 17.15 น. ได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการนำศาลพระภูมิไม้จำลอง 3 หลัง มาตั้งหน้าเวที และให้แกนนำที่ถูกดำเนินคดีอาญามาตรา 116 จำนวน 3 คน นำโดย น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หรืออั๋ว ประธานสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.), น.ส.สุวรรณา ตาลเหล็ก แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนา เพื่อประชาธิปไตย และนายนายกรกช แสงเย็นพันธ์ หรือ ปอ ใช้ค้อนทุบศาลพระภูมิไม้จำลอง เพราะไม่เชื่อในกระบวนการยุติธรรม
    นอกจากนี้ ระหว่างการจัดกิจกรรมยังสลับกับการเปิดเพลงเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และปราศรัยกล่าวหาว่าประเทศปกครองในระบบเผด็จการ และไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่รังแกผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง
    ต่อมาเวลา 18.00 น. น.ส.สุวรรณา ตาลเหล็ก แกนนำกลุ่ม 24มิถุนา เพื่อประชาธิปไตย ได้ขึ้นเวทีกล่าวว่า จะทำกิจกรรมเช่นนี้ทุกวัน จนกว่าจะเยี่ยมนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์ ระยอง” แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอกได้ หลังถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. พร้อมนัดหมายจะจัดปาร์ตี้กินลาบก้อยสักหนึ่งวัน ส่วนจะเป็นวันไหนจะแจ้งให้ทราบ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"