เงินหมื่นล้านแก้รธน. 99สส.ฮือปิดสวิตช์สว./‘ประยุทธ์’กางงบฯดักคอ


เพิ่มเพื่อน    

 

99 ส.ส.จาก 13 พรรคฝ่ายค้าน-รัฐบาล ยื่นแล้วร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปิดสวิตช์ ส.ว. เชื่อชงญัตติทัน 23-24 กันยา. เพื่อไทยลุยเดี่ยวเพิ่มอีก 4 ญัตติ ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ยกเลิกบทนิรโทษกรรม คสช. ขณะที่ "ส.ว." วงแตก ยังแสวงหาจุดร่วมไม่ได้ ด้านนายกฯ มาเหนือเมฆ กางงบประมาณจัดประชามติต้องใช้เงินครั้งละ 4-5 พันล้าน แก้ รธน.ต้องทำอย่างน้อย 2 รอบ
    เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมกันนำรายชื่อ ส.ส. 99 คน ยื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 272 ว่าด้วยการยกเลิกการให้ ส.ว.ร่วมลงมติในที่ประชุมรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี
    นายชวนกล่าวว่า ตามขั้นตอนจะต้องมีการตรวจสอบองค์ประกอบของญัตติเพื่อพิจารณาความชอบด้วยกฎหมาย หากไม่มีปัญหาจะสามารถบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาได้ใน 15 วัน ซึ่งขณะนี้ได้มีการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านไปก่อนหน้านี้ โดยจะมีการพิจารณาในระหว่างวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ หากไม่มีปัญหาใดๆ จะสามารถพิจารณาได้พร้อมกัน
    นายพิธากล่าวว่า ส.ส.ที่ร่วมลงชื่อมีจำนวน 99 คน มาจาก 13 พรรคการเมือง โดยไม่มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐร่วมลงชื่อ แต่มี ส.ส.พรรคภูมิใจไทยร่วมลงชื่อด้วย เชื่อว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะได้รับการพิจารณาในวันที่ 23-24 ก.ย.นี้
    "มั่นใจว่าจะไม่มี ส.ว.คนใดขัดขวาง เนื่องจากทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการแก้ไขมาตรานี้จะเป็นทางออกให้กับประเทศ" หัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุ
    ขณะที่นายสาทิตย์กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากความเห็นพ้องร่วมกันที่จะให้มีการแก้ไขในเรื่องการให้ ส.ว.เลือกนายกฯ เพียงประเด็นเดียว ซึ่งการดำเนินการของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เป็นเอกสิทธิ์ที่สามารถทำได้ แม้ว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่ได้ร่วมลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลไปก่อนหน้านี้ โดยการแก้ไขมาตรานี้จะเป็นการยกเลิกการสืบทอดอำนาจ
    "อย่างไรก็ตาม พวกเราจะเข้าไปชี้แจงต่อที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป และคิดว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าใจการดำเนินการในครั้งนี้ เนื่องจากหัวหน้าพรรคเคยแสดงความคิดเห็นสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 272" นายสาทิตย์กล่าว
    นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า หากมีการยกเลิกมาตรา 272 จะทำให้กระบวนการได้มาซึ่งนายกฯ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแบบเดิม คือให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอชื่อและเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อผู้เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพรรคการเมืองที่เสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง และหากสภาผู้แทนราษฎรเลือกไม่ได้ ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้สภาเลือกนายกฯ คนนอกต่อไป
เปิดชื่อ ส.ส.หนุนปิดสวิตช์ ส.ว.
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อ 99 ส.ส. 13 พรรคการเมือง ประกอบด้วย ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ได้แก่ พรรคก้าวไกล จำนวน 54 คน, พรรคประชาชาติ 6 คน, พรรคเพื่อชาติ 5 คน, พรรคเสรีรวมไทย 10 คน และพรรคพลังปวงชนไทย 1 คน
    ขณะที่พรรครัฐบาล ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 16 คน ได้แก่ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี, นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ,  น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม, นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ, น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ,  น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.ตรัง, นายอภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ
    นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช, พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา, นางกันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา, นายสาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่, นายอัศวิน วิภูศิริ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง
    ส่วนพรรคภูมิใจไทย จำนวน 1 คน คือ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ และพรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน 1 คน คือ นายจุลพันธ์ โนนศรีชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ
    นอกจากนั้น ยังมีกลุ่ม ส.ส.พรรคเล็ก ได้แก่ นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย, นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์, นายพีระวิทย์ เลื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม, นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธรรมไทย, นายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปไตยใหม่
    อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้พรรคประชาธิปัตย์ได้ลงชื่อรวม 19 คน แต่ปรากฏว่าได้ขอถอนรายชื่อออกในภายหลังจำนวน 3 คน ประกอบด้วย นายวิวรรธน์ นิลวัชรมณี ส.ส. สุราษฎร์ธานี, นายสมชาติ ประดิษฐพร ส.ส.สุราษฎร์ธานี, นายภานุ ศรีบุศยกาญจน์ ส.ส.สุราษฎร์ธานี และนายสินิตย์ เลิศไกร ส.ส.สุราษฎร์ธานี
'จุรินทร์'ยันต้องยึดมติพรรค
    วันเดียวกัน ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้มีการประชุม ส.ส.พรรค โดยมีนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.พรรค ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยหลังจากพิจารณาวาระการประชุมสภาเพื่ออภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติที่จะเข้าสู่สภาในวันที่ 9 ก.ย.แล้ว นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นกล่าวถึงกรณี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์บางส่วนใช้เอกสิทธิ์ไปร่วมลงชื่อในญัตติร่างขอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 272 เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.ร่วมกับ 12 พรรคการเมืองว่า พรรคมีมติให้ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และการตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งอาจจะมีความคลาดเคลื่อนไปในการประชุมครั้งที่แล้ว
    "แม้ผมจะนั่งในห้องประชุมนี้ เพราะเมื่อพรรคมีมติในที่ประชุมแล้วว่าให้ยื่นในร่างฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่จำเป็นจะต้องบอกว่าจะสามารถไปเซ็นชื่อในร่างที่สองได้อีกหรือไม่ ถ้ามีเรื่องอื่นก็ไม่ได้เป็นหน้าที่ของผมที่จะมาชี้แจงอะไร”
    จากนั้นนายองอาจได้ปิดการประชุม ท่ามกลางความมึนงงของ  ส.ส. 30 คนที่เข้าร่วมประชุม ว่าสิ่งที่นายจุรินทร์พูดนั้นหมายความว่าอะไร โดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง ที่นำทีม 16 ส.ส.ร่วมลงชื่อแก้ไข ม.272 ที่ระบุว่าหลังยื่นญัตติต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ แล้วจะไปชี้แจงให้ที่ประชุมพรรคทราบถึงเหตุผล ก็ไม่สามารถชี้แจงได้ เนื่องจากที่ประชุมพรรคปิดไปก่อน
    มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของสมาชิกวุฒิสภา "กลุ่ม ส.ว.อิสระ 60 คน" ที่นัดประชุมหารือแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลานัด 15.00 น.ของวันที่ 8 ก.ย. มี ส.ว.ในกลุ่มเพียง 2 คนเท่านั้นมายังห้องประชุม คือนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม และนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ขณะที่ ส.ว.คนอื่นไม่มีใครมาประชุม และ ส.ว.เกือบ 30 คนได้ขอถอนตัวออกจากกลุ่มไลน์ จนเหลือสมาชิกในกลุ่มเพียงกว่า 30 คนเท่านั้น ในที่สุดการประชุมนัดดังกล่าวต้องยกเลิกไปก่อน
     นายดิเรกฤทธิ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังถึงสาเหตุที่ยกเลิกการประชุมว่า เนื่องจาก ส.ว.หลายคนในกลุ่มรู้สึกตกใจที่เห็นสื่อมวลชนมาจำนวนมาก จึงไม่กล้ามาประชุม หลังจากนี้อาจจะต้องใช้วิธีการหารือกันภายในหรือหารือผ่านกลุ่มไลน์แทน เพราะหลายคนไม่กล้าที่จะเปิดเผยชื่อตัวเอง เจตนาของการตั้งกลุ่ม 60 ส.ว.อิสระ เพราะต้องการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารภายในกลุ่มเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าทั้งกลุ่มจะคิดแบบเดียวกันทั้งหมด
    "ยอมรับว่าขณะนี้เสียงของ ส.ว.ยังมีความเห็นต่าง เพราะเราไม่ใช่องค์กรที่ถูกจัดตั้ง ทุกคนมีวุฒิภาวะ กลุ่มของเรามีความเป็นอิสระ ใครจะเข้าหรือออกจากกลุ่มก็ได้"
กลุ่ม60ส.ว.อิสระกลัวเจ็บตัว
    ขณะที่นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า ไม่อยากเรียกการประชุมนัดนี้ว่าวงแตก แต่ ส.ว.หลายคนในกลุ่มไม่ถนัดออกสื่อ กลัวเจ็บตัวถ้ามีการเปิดเผยตัวออกไป ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะนัดประชุมกันอีกครั้งเมื่อใด หรือกลุ่มจะล่มสลาย คงต้องหารือภายในอีกครั้งหนึ่งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
    พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้สัมภาษณ์กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะสหรัฐอเมริกาก็มีรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียว ไม่ดีตรงไหนก็แก้เป็นรายมาตรา แต่สำหรับบ้านเรา ถ้าแก้ไขอีกเราก็จะมีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 ฉะนั้นจึงไม่เห็นด้วยให้เขียนใหม่ทั้งฉบับ แต่เห็นด้วยที่ให้มีการแก้ไขรายมาตรา
    ส่วนจะแก้ไขมาตราใดนั้น ก็ต้องมาพูดคุยกันว่าจะแก้อะไร อย่างไร รวมถึงการยกเลิกมาตรา 272 ให้ ส.ว.มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ทั้งหมดขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่เห็นไปในทิศทางใด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ใน ส.ว.มีการจับกลุ่ม 4-5 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 40-50 คน เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยบางคนอยู่หลายกลุ่ม แต่ตนไม่ได้อยู่ในกลุ่มใดเลย
    แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ส.ว. และหนึ่งในกลุ่ม 60 ส.ว.อิสระ กล่าวถึงการตั้งกลุ่มไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันของ ส.ว. ว่าเพื่อเป็นพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ยืนยันว่าทุกคนสามารถมีความคิดเห็นเป็นส่วนตัวในแต่ละคนได้ ส่วนการแก้ไขหรือไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะอยู่ที่สาระของคนที่ขอแก้ และผลของการแก้ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งกระบวนการแก้สามารถทำได้เลยในหลายรูปแบบ เช่น การปฏิรูปตำรวจ ที่รัฐบาลออกเป็นพระราชกฤษฎีกาแทน
    "ส่วนข้อเสนอให้ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นเรื่องดีที่จะได้นายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาปฏิรูปประเทศ แต่มาถึงวันนี้พบว่าไม่ใช่ และไม่ได้ช่วยอะไรเลย ไม่มีประโยชน์ จึงเห็นควรให้ตัดอำนาจนี้ เพราะไม่ได้ช่วยให้มีนายกฯ หรือรัฐบาลที่ดีขึ้น" แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ระบุ
เพื่อไทยยื่นเพิ่มอีก 4 ญัตติ
บ่ายวันเดียวกัน ที่ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ชั้น 2 มีการประชุมส.ส. โดยมีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย, น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย, นายโภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ร่วมทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พร้อมกับ ส.ส.เพื่อไทย ที่เข้าร่วมประชุมอย่างคึกคัก 
นายสมพงษ์แถลงผลการประชุมว่า ประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แม้พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านอีก 4 พรรค ได้ยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ต่อมาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เสนอผลการศึกษาต่อประธานสภาฯ วันที่ 31 ส.ค. และในวันที่ 1 ก.ย. พรรคร่วมรัฐบาลได้ยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เช่นเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ที่ต้องการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อแล้วเสร็จให้มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ขณะเดียวกันก็มีข้อเรียกร้องให้ตัดอำนาจของวุฒิสภาในหลายประเด็น โดยเฉพาะในการให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
"พรรคเพื่อไทยได้ให้ความเห็นทั้งในคณะกรรมาธิการฯ และในทางสาธารณะตลอดมาว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นกติกาที่มีแต่สร้างปัญหาให้แก่ประเทศและประชาชน รัฐบาล นายกรัฐมนตรี วุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่างๆ ล้วนตอบสนองต่อการสืบทอดอำนาจเผด็จการ จึงเห็นว่า ส.ส.ร.เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในทางสันติวิธี จึงเร่งผลักดันเรื่องนี้ ซึ่งจะมีการพิจารณา 23-24 ก.ย. ในวาระที่ 1 และเพื่อเร่งรัดให้เสร็จเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้ ขอเชิญชวนพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว. ร่วมลงชื่อขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ โดยต้องการเสียงประมาณ 250 คน" 
นายสมพงษ์กล่าวอีกว่า พรรคได้เตรียมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในอีกหลายประเด็น พร้อมกับประเด็น ส.ส.ร. โดยเฉพาะในส่วนของบทเฉพาะกาล ได้แก่ 1.การยกเลิกอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 โดยพรรคเสนอเพิ่มเติมว่านายกรัฐมนตรีนอกจากเลือกจากบัญชีของพรรคการเมืองแล้ว สามารถเลือกจาก ส.ส.ได้ด้วย และได้เสนอร่างนี้เช่นเดียวกับร่างแก้ไข ม.256 ไว้ในรายงานของคณะกรรมาธิการฯ
    2.การยกเลิกอำนาจของวุฒิสภา ตามมาตรา 270 เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และมาตรา 271 เกี่ยวกับการไม่เห็นชอบหรือแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายเกี่ยวกับแก้ไขเพิ่มเติมโทษหรือองค์ประกอบความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฯลฯ เฉพาะเมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมีผลให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความผิดหรือโทษ ที่เสนอโดยสภาผู้แทนราษฎร
ชงเลิกบทเฉพาะกาล
3.การยกเลิกมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่ทำให้ประกาศคำสั่งและการกระทำของ คสช. อยู่เหนือกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพ
4.การแก้ไขระบบเลือกตั้งด้วยการยกเลิกมาตรา 88, 83, 85, 90, 91 และ 94 โดยแก้ไขระบบเลือกตั้งให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 คือใช้บัตร 2 ใบ คือเลือกคนและเลือกพรรคการเมือง
พรรคเพื่อไทยขอเรียนว่า ญัตติที่เสนอทั้งหมด สมาชิกพรรคได้ให้ความเห็นชอบและใคร่เชิญชวนพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา ร่วมกันผลักดัน ด้วยการร่วมเสนอญัตติและพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าร่วมกันอย่างสันติ และจะเสนอญัตติที่กล่าวมาโดยเร็วที่สุดภายในวันที่ 9 กันยายน   
     ทางด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติเพื่อซักถามและเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ว่าจะแบ่งเวลาการอภิปรายตามสัดส่วน ส.ส.แต่ละพรรค มีพรรคเพื่อไทยประมาณ 315 นาที, พรรคก้าวไกลประมาณ 150 นาที และพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นตามสัดส่วนจำนวน ส.ส.ที่มี รวมทั้งหมดของฝ่ายค้านคือ 10 ชั่วโมง ส่วนฝ่ายรัฐบาล 5 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เวลา 09.30 น. ถึงเวลาประมาณเที่ยงคืนเศษ
    ที่โรงแรมเซ็นทาราลาดพร้าว กลุ่มอดีตประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา, นายนิคม ไวยรัชพานิช และนายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา นัดประชุมระดมความคิดหาทางออกวิกฤติการเมืองไทย โดยจะมีการหยิบยกประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 รวมถึงข้อเสนอที่ให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งมาหารือ ขณะที่นายอาทิตย์ อุไรรัตน์  และนายอุทัย พิมพ์ใจชน ไม่ได้เดินทางมาร่วมการหารือเนื่องจากติดภารกิจ
จี้'บิ๊กตู่'ไขก๊อกพ้นนายกฯ
นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวก่อนเข้าประชุมว่า หมดเวลาแล้วสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนตัวเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่เห็นว่าขณะนี้รัฐบาลมีปัญหา ทั้งปัญหาเศรษฐกิจและความขัดแย้ง ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ควรเสียสละลาออกจากตำแหน่ง ไม่ควรรอให้สถานการณ์รุนแรงบานปลายไปมากกว่านี้ ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด เหมือนกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ตัดสินใจลาออก ซึ่งถือเป็นทางลงที่ดี สามารถอยู่ต่อในสังคมได้โดยไม่มีปัญหา แต่ขณะเดียวกันก็มีอดีตนายกรัฐมนตรีที่เป็นอดีตผู้นำเหล่าทัพ เช่น จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีอำนาจพรรคการเมืองสนับสนุน แต่ไม่ยอมออกจากตำแหน่ง สุดท้ายต้องหนีไปต่างประเทศ เช่นเดียวกับจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตามข้อเรียกร้องของประชาชน ขณะนี้ถือว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลังยืนอยู่บนทางสองแพร่ง ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นทั้งสองด้าน ควรตัดสินใจและเลือกว่าจะเป็นแบบไหน 
หลังจากการประชุมหารือราวครึ่งชั่วโมง นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา ออกมาแถลงข้อสรุปความเห็นของกลุ่ม โดยเสนอว่า ควรเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกบทเฉพาะกาลมาตรา 272 เกี่ยวกับการให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะแก้ไขมาตรา 256 เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) อาจต้องใช้ระยะเวลานาน ขณะที่นิสิต นักศึกษา และประชาชน ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว โดยเฉพาะการยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี หากมีเหตุการณ์ถึงขั้นยุบสภาหรือนายกรัฐมนตรีลาออก แล้วต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ก็ควรให้นายกรัฐมนตรีมีที่มาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 โดยให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี
นายสุชนกล่าวว่า ทุกฝ่ายควรให้ความร่วมมือกัน และรับฟังข้อเรียกร้องของนักศึกษาและทุกฝ่ายว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน ควรมีการพูดคุยกัน ไม่ควรเผชิญหน้ากัน ต้องหาทางร่วมมือให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ ซึ่งในฐานะที่เป็นกลุ่มคณะเล็กๆ ก็ทำได้เพียงการเสนอความเห็นไม่สามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยจะเสนอความเห็นไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะกลุ่มอดีตประธานสภาฯ และส่งความเห็นไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนายกรัฐมนตรี ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของรัฐสภาที่จะแก้ไขวิกฤติตรงนี้ ยังไม่สายเกินไปหากทุกฝ่ายจะร่วมมือกัน
แก้รธน.ใช้งบเป็นหมื่นล.
    ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณี ครม.เห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอ ว่าวันนี้เรื่องกฎหมายประชามติเราได้เร่งดำเนินการร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ออกมา เท่าที่ทราบจากการที่ กกต.ชี้แจงมาในวันนี้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม หากมีการจัดทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอะไรต่างๆ เหล่านี้มันใช้ประมาณ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย ครั้งที่ 3 ถ้าสภารับรองก็ไม่เป็นไร แต่ต้องมี 2 ครั้ง ซึ่งต้องไปซักถาม กกต.กันเอง
    "ได้ถามทาง กกต.ว่าจะต้องใช้เงินจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งเท่าที่ทราบจากการคำนวณของ กกต.แจ้งว่าปกติใช้ประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นช่วงสถานการณ์โควิด-19 ก็จะใช้เงินประมาณ 4,000 ล้านบาท เพราะการจัดสถานที่ลงคะแนนจะต้องกระจายแต่ละหน่วยน้อยกว่า 1,000 คน จึงทำให้จุดมากขึ้น ต้นทุนก็จะมากขึ้น ทั้งต้นทุนจาก กกต.ด้านเอกสาร ต้นทุนรัฐสภา ตกเฉลี่ยประมาณครั้งละ 4,000 หรือ 5,000 ล้านบาทประมาณนั้น
    ผมไม่ได้ว่าอะไร ผมเล่าให้ฟังเฉยๆ อย่าหาว่าผมไม่สนับสนุนก็แล้วกัน ถ้าไม่สนับสนุนผมก็ไม่ทำกฎหมายประชามติหรอก ปกติมัน 3,000 ล้านบาท ค่าโควิดก็เจออีก 1,000 ล้านบาท ปรากฏว่าตรงนี้เป็นค่าใช้จ่ายของ กกต. อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของสภาและส่วนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการก็ประมาณสัก 5,000 ล้านบาท ครั้งละ 5,000 ล้านบาท” นายกฯ กล่าวพร้อมกับถอนหายใจเป็นระยะ  
    นายกฯ กล่าวย้ำว่า เรื่อง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติก็โอเคอยู่แล้ว เป็นกฎหมายที่อนุญาตให้ทาง กกต.สามารถจัดทำประชามติ ควบคุมการออกเสียงให้เป็นไปตามความเห็นชอบของกฎหมาย  ครั้งที่แล้วก็มีการทำพร้อมไปกับเรื่องของรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการประหยัดงบประมาณ เพราะถ้าทำอีกครั้งก็ต้องใช้งบประมาณถึง 3,000 ล้านบาท ตนไม่ได้อ้างเหตุผลพวกนี้ว่าจะทำหรือไม่ทำ แต่ถ้าอยากจะทำก็ทำกันไป รัฐบาลก็ต้องเตรียมงบประมาณเหล่านี้ไว้.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"