ชงปปช.พัน7วัด หลักฐานโกงชัด


เพิ่มเพื่อน    

     ปปป.ส่งสำนวนเงินทอนวัด 7 วัด 7 สำนวน 7 คดีให้ ป.ป.ช.แล้ว ระบุพยานหลักฐานพระทั้ง 7 รูปชัดเจน มีพฤติกรรมไม่ต่างจากชุด 1 และ 2 "วัชรพล" เผยต้องรอดูพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง  ทั้งข้อมูลการเงิน การจัดสรรงบประมาณ ยันต้องรอบคอบเพราะคดีเกี่ยวพันบุคคลสำคัญ
    พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสำนวนคดีทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม ที่มีพระชั้นผู้ใหญ่เกี่ยวข้อง 5 รูปว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม เพราะข้อมูลในสำนวนที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) ส่งมานั้นยังไม่ครบถ้วน เนื่องจากมีเวลารวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานเพียง 30 วัน ป.ป.ช.เห็นว่ายังไม่ชัดเจนจึงต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม 
    โดยตามระเบียบของ ป.ป.ช.จะมีกรอบเวลาในการแสวงหาข้อมูล 6 เดือน หากยังทำไม่เสร็จเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบสำนวนจะขอขยายเวลาได้อีก 3 เดือน หากยังทำไม่เสร็จอีกจะต้องเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อขอขยายเวลาอีก 3 เดือน แต่หลังจาก 1 ปีแล้วยังรวบรวมพยานหลักฐานไม่เสร็จ จะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อให้คณะกรรมการลงไปดำเนินการ
    "คิดว่าหากรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จเร็ว เจ้าหน้าที่คงจะส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณา คงไม่ชักช้า ส่วนเจ้าหน้าที่จะใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลเต็มกรอบเวลาหรือไม่นั้น จะต้องรอดูพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งข้อมูลทางการเงิน เรื่องการจัดสรรงบประมาณ เราต้องรอบคอบเพราะคดีดังกล่าวเกี่ยวกับบุคคลสำคัญ"
    ผู้สื่อข่าวถามว่าจะต้องเชิญ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) มาให้ข้อมูลด้วยหรือไม่ ประธาน ป.ป.ช.ตอบว่าเป็นดุลยพินิจของผู้รับผิดชอบ อาจจะเป็นการขอข้อมูลไป หรือเป็นการสอบปากคำพยานผู้เกี่ยวข้อง ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของเจ้าหน้าที่  ส่วนจะสามารถใช้หลักฐานเดิมจากคดีเงินทอนวัดที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดไปก่อนหน้านี้มาประกอบการพิจารณาได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานนั้นๆ บางอย่างสามารถใช้พยานหลักฐานเดิมได้
    ด้าน พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผบก.ปปป. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีพระชั้นผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินทอนวัดว่า หลังจากที่ พ.ต.ท.พงศ์พรเข้าแจ้งความดำเนินคดี 3 วัดใหญ่ และพระชั้นผู้ใหญ่อีก 5 รูป โดยเฉพาะงบการศึกษาพระปริยัติธรรมเมื่อช่วงก่อนสงกรานต์ และเมื่อวันที่ 22 ที่ผ่านมา พ.ต.ท.พงศ์พรได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีวัดที่เกี่ยวข้องอีก 7 วัด ซึ่งเป็นวัดแถวจังหวัดปริมณฑลและต่างจังหวัด ส่วนจะเป็นวัดอะไรไม่ขอเปิดเผยเพราะอยู่ในสำนวน หลังจากพนักงานสอบสวนรับแจ้งความได้สอบคำให้การ พ.ต.ท.พงศ์พรตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย และนำเข้าที่ประชุมเพื่อหารือถึงพยานหลักฐานในการดำเนินคดี
    ผบก.ปปป.เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนได้ส่ง 7 สำนวน 7 คดีไปยัง ป.ป.ช.เรียบร้อยแล้ว ต่อไปเป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่จะพิจารณาชี้มูลความผิด ส่วนเวลาในการดำเนินการเท่าไหร่ต้องไปสอบถาม ป.ป.ช.เอง เพราะพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนทุกอย่างไปหมดแล้ว  . 
    ขณะที่ พ.ต.อ.วรายุทธ สุขวัฒน์ รอง ผบก.ปปป.ได้นำสำนวนคดีการทุจริตเงินทอนวัดชุดที่ 3 ยื่นเพิ่มเติมต่อ ป.ป.ช. หลังจากยื่นรอบแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 11 เม.ย. โดยรอบนี้ประกอบไปด้วยสำนวนจำนวน 8 แฟ้ม รวมกว่า 4,000 แผ่น
    โดย พ.ต.อ.วรายุทธกล่าวว่า วันนี้เป็นการนำสำนวนคดีเพิ่มเติมอีก 7 สำนวน โดยเป็นสำนวนจากทุกภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ โดยพบว่าเป็นผู้กระทำผิดชุดเดียวกันกับสำนวนชุดแรกและชุดที่ 2 และมีเพิ่มทั้งฆราวาสและพระผู้ใหญ่ โดยในชุดนี้มีพระสงฆ์เกี่ยวข้องทั้งที่ยื่นก่อนหน้านี้และที่ยื่นเพิ่มเติมวันนี้รวม 7 รูป โดยเป็นการทุจริตในงบประมาณทั้ง 3 ส่วน คือ งบปริยัติธรรม งบการศึกษา  และงบบูรณปฏิสงขรณ์ ส่วนใหญ่เป็นงบปริยัติธรรมทั้งหมด 165 ล้าน งบปริยัติธรรมเกือบร้อยล้านบาท ใน 7 วัดนั้นก็ตามที่เป็นข่าวไป แต่ยังรอตรวจสอบเพิ่มเติม ส่วนสำนวนที่เราได้มาครั้งนี้เป็นทั้งพยานบุคคลและพยานหลักฐานผสมกัน ซึ่งพยานหลักฐานของพระทั้ง 7 รูปนั้นก็ชัดเจน พฤติกรรมไม่ต่างจากชุด 1 และ 2
    ผู้สื่อข่าวถามว่า มีพระผู้ใหญ่บางรูปบอกตำรวจไม่เคยไปสอบปากคำหรือขอข้อมูลจากวัดแต่กลับมากล่าวหา พ.ต.อ.วรายุทธกล่าวว่า เราไม่ขอชี้แจงอะไรเพราะรายละเอียดอยู่ในสำนวนแล้ว แต่ยืนยันว่ากระทำการโดยบริสุทธิ์และพยานหลักฐานที่เรามีเพียงพอ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ที่ทุจริต ในบางส่วนจะมีฆราวาสและมีพระสงฆ์สนับสนุน ต้นเรื่องที่แท้จริงไม่ใช่พระสงฆ์แต่เป็นเจ้าหน้าที่
    เมื่อถามว่า ในชุดใหม่นี้มีเจ้าหน้าที่ของ พศ.ร่วมด้วยหรือไม่ พ.ต.อ.วรายุทธกล่าวว่ามี ซึ่งความเสียหายในชุด 3 รวม 10 วัด มูลค่า 140 ล้านบาท โดยการตรวจสอบทำเป็นช่วงๆ ช่วงละ 3 เดือน ตรวจสอบ 30 วัด เบื้องต้นพบความผิดปกติ 10 วัด
    ขณะที่พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม หรือหลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม  โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ "จะหวั่นอะไรกับผู้ไม่ละอาย" ระบุว่า "ข่าวการเข้าร่วมประชุมของกรรมการมหาเถรสมาคมที่มีผู้ถูก ผอ.สำนักพุทธ โจทด้วยอาบัติปาราชิกถึง 3 คน จากภาพข่าวดูพวกเขาไม่รู้สึกสะทกสะท้านกับสายตาและความรู้สึกของพุทธบริษัทใดๆ เลย ทำให้มีผู้ถามเข้ามาว่า ในครั้งพุทธกาลมีการดำเนินการกับพระที่ถูกโจทด้วยอาบัติปาราชิกอย่างไรบ้าง หลักคิดของพระธรรมวินัยนี้ แม้ในสมัยพุทธกาลท่านรังเกียจความทุจริตผิดศีลถึงขนาดที่ตรัสเอาไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระธรรมวินัยนี้เปรียบดังคลื่นลมในท้องมหาสมุทร จักทำหน้าที่พัดพาเอาสิ่งปฏิกูลพึงรังเกียจเข้าหาฝั่งอยู่เสมออันใด  พระธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น จักทำการคัดกรองทุรชนและภิกษุผู้ทุศีลอยู่ตลอดเวลาฉันนั้น"
    หลวงปู่พุทธะอิสระระบุว่า "ด้วยพุทธพจน์นี้จึงทำให้พุทธบริษัททั้งหลายได้เข้าใจว่า พระธรรมวินัยนี้ต้องไม่มีผู้ทุศีลละเมิดศีล และปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนขององค์พระบรมศาสดาอย่างเคร่งครัด จักเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงนิสัย แก้ไขพฤติกรรมของผู้ปฏิบัติให้ถูกตรง สุจริต มีสติปัญญา สอนให้ภิกษุ บริษัททั้ง 4 มีศีล สมาธิ ปัญญา และละอายชั่วกลัวบาป เมื่อใดที่มีใครมากล่าวร้าย โพนทะนา โจทด้วยอาบัติใดแก่ภิกษุรูปใด พระพุทธเจ้าก็มิได้ทรงนิ่งเฉยปล่อยให้ลืมหายไป แต่จักตรัสสั่งให้เรียกประชุมสงฆ์ เพื่อทำการระงับอาบัติที่มีผู้โจทหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นทันที นี่คือวินัยกรรมในการระงับปัญหา  เรียกว่าระงับอธิกรณ์ ซึ่งก็ทรงวางหลักการในการระงับอธิกรณ์นั้นเอาไว้ถึง ๗ วิธี เรียกว่า อธิกรณสมถะทั้ง ๗     
    แต่หลักคิดของผู้ปกครองสงฆ์และสังคมโลกปัจจุบัน เขาให้เชื่อเอาไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกโจทเป็นผู้บริสุทธิ์ เรียกว่าเอาวิธีคิดทางโลกมาใช้กำหนดถูกผิดของพระธรรมวินัย แทนวินัยกรรมของพระบรมศาสดา มหาเถรสมาคมบอกว่าปล่อยให้ไปว่ากันในชั้นศาลทางโลกให้จบก่อน แล้วจึงมาเปิดศาลสงฆ์พิจารณา จึงกลายเป็นข้ออ้างของพวกอลัชชีปาราชิกทั้งหลายว่า ตราบใดที่ศาลทางโลกยังไม่ตัดสินพวกตนก็ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงลอยหน้าลอยตาไปเข้าร่วมประชุมองค์กรปกครองสงฆ์สูงสุดได้อย่างที่เห็นนี่ไง
    ถามว่าแล้วกรรมการมหาเถรสมาคมที่ถูกโจทด้วยอาบัติปาราชิกทั้ง 3 คนกล้าไหม มีความละอายไหม อันนี้ท่านทั้งหลายต้องเก็บไปคิดกันเอาเอง แต่ขอบอกเอาไว้ตรงนี้เลยว่า หากมหาเถรยังไม่ดำเนินการใดๆ กับภิกษุผู้ถูกโจทด้วยอาบัติปาราชิก แล้วยังปล่อยให้เข้านั่งร่วมประชุมในกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ เมื่อกรรมการชุดนี้มีมติเป็นคำสั่งปกครองใดๆ มา อย่าหวังว่าพุทธะอิสระจะยอมรับคำสั่งนั้นๆ เพราะถือว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยหลักพระธรรมวินัยและกฎหมาย" หลวงปู่พุทธะอิสระระบุ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"