ฝ่ายค้านหนุนใช้โมเดลรธน.40


เพิ่มเพื่อน    

  ผู้นำฝ่ายค้านยกคณะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ญัตติรวด ทั้งปิดสวิตช์ ส.ว. ย้อนกลับไปใช้การเลือกตั้งยุค 2540 “ชวน” เล็งบรรจุวาระ 23-24 ก.ย. “วิษณุ” เผยไทม์ไลน์แก้ รธน.ใช้เวลายาวนานไม่ว่าเลือกฝ่ายไหน บอกมีฉบับใหม่แล้วยุบสภาไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ “พีระพันธุ์” ร่ายยาวแจงยิบรายงานศึกษาแก้ รธน.60 ชงรัฐสภาคานอำนาจองค์กรยุติธรรม-องค์กรอิสระ ตั้ง ส.ส.ร.แก้ทั้งฉบับยกเว้นหมวด 1-2 “ก้าวไกล” พาเหรดแซะทำไมแก้ไม่ได้

    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมหัวหน้าพรรค 6 พรรค และคณะ ได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย 1.การแก้ไขมาตรา 272 และ 159 ว่าด้วยการให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี 2.มาตรา 270 และ 271 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ 3.มาตรา 279 ว่าด้วยการรับรองคำสั่งและประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ 4.การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส.
    โดยนายชวนกล่าวว่า เมื่อมีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาแล้วจะตรวจสอบความถูกต้องว่ามี ส.ส.เข้าชื่อครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่ หากไม่มีอะไรผิดพลาดจะบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาได้ภายใน 15 วัน ซึ่งทันกับการประชุมรัฐสภาในวันที่ 23-24 ก.ย.
    นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรค พท. ในฐานะประธานคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มี ส.ส.ร่วมลงชื่อประมาณ 170 คน ซึ่งการแก้ไขกระบวนการเลือกนายกฯ จะกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นเป็นผู้เลือกนายกฯ จากบัญชีที่พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอ หากไม่สามารถเลือกนายกฯ ตามบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอได้ จะเปิดโอกาสให้ ส.ส.ในสภาเสนอชื่อ ส.ส.ที่มีคุณสมบัติ และไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามให้สภาเลือกเป็นนายกฯ ต่อไป ซึ่งเท่ากับปิดโอกาสนายกฯ คนนอกไปโดยปริยาย
    ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรค พท. กล่าวว่า ในระบบเลือกตั้ง พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอให้นำระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาบังคับใช้ ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. 500 คน แบ่งเป็นระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน โดยระบบแบ่งเขตเลือกตั้งใช้รูปแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ส่วนการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะใช้ระบบการกัน 5% หมายความว่าพรรคการเมืองใดที่จะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้นั้น ต้องมีจำนวนคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5% จากจำนวนคะแนนเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งจะไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองใหญ่หรือทำลายพรรคการเมืองเล็ก ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ยังไม่เป็นที่ยุติ อาจมีการอภิปรายและแก้ไขในชั้นของคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาได้
         ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ยังถกเถียงกันอยู่ว่า ไม่ได้ถกเถียง โดยถ้าใช้ร่างของพรรค พท. ก็จะมี ส.ส.ร. ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายใน 4 เดือน แต่ถ้าใช้ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล จะไม่มี ส.ส.ร. แต่จะทำให้เสร็จภายใน 240 วัน หรือ 8 เดือน ทั้งนี้ เราต้องดูถึงทัศนะของแต่ละฝ่ายที่แสดงออกมาในร่างรัฐธรรมนูญ พรรค พท.มีทัศนะอย่างไร เรารู้จากร่างที่เขายื่น พรรคร่วมรัฐบาลมีทัศนะอย่างไร เราก็รู้จากในร่างของเขา ฉะนั้น คนนั้นพูด คนนี้พูด ก็ไม่รู้ว่าจะฟังใคร
ย้ำแก้รธน.เรื่องยาว
       ผู้สื่อข่าวถามว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาร่างนานใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ยาวนานแน่นอน เพราะต้องมีเวลาก่อนหน้านั้น กับระยะเวลาหลัง เช่น การทำกฎหมายประชามติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 การจัดตั้ง ส.ส.ร. การร่างรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ การประกาศผล การคัดค้าน รอขึ้นศาล เมื่อผ่านทุกอย่างแล้วก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย รวมเวลาทั้งหมดก็เป็นปี
       “ผมเป็นห่วงอยู่นิดเดียวที่มีเสียงพูดออกมาว่า เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้แล้วยุบสภา ยุบแล้วเป็นอย่างไร ยุบแล้วเลือกตั้งใหม่ใช่หรือไม่ ก็ต้องถามว่าแล้วใครทำกฎหมายลูก เพราะรัฐธรรมนูญที่คุณร่างออกมาใหม่ ถ้าเหมือนของเก่าเปี๊ยบ ก็ไม่จำเป็นต้องทำกฎหมายลูก แต่คำถามคือคุณไปร่างใหม่หาอะไร คุณร่างใหม่ก็เพราะคุณต้องการเปลี่ยนวิธีเลือกตั้งใหม่ แล้วถ้าแก้ไม่สำเร็จ คุณก็ต้องมีวุฒิสมาชิกแบบเลือกตั้ง ซึ่งทั้งหมดก็ต้องทำกฎหมายลูกให้หมดอย่างน้อย 3-4 ฉบับ และอาจมีมากกว่านี้ เพราะไม่รู้ว่าเขาจะร่างออกมาอย่างไร ซึ่งตรงนี้ต้องใช้เวลาสภา ฉะนั้นถ้าจะยุบอย่างที่เรียกร้องกันว่ารัฐธรรมนูญประกาศใช้ใหม่แล้วก็ได้ แต่ถ้ายุบแล้วก็ต้องไปเลือก แล้วจะเลือกตามกติกาอะไร เพราะมันไม่มีสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เผลอๆ ตอนนั้น ส.ว.ก็อาจไม่มีด้วย ซึ่งวิธีแก้มันมี แต่ต้องไปคิดให้รอบคอบทั้งหมด ซึ่งก็ต้องให้ ส.ส.ร. 200 คนคิด เรื่องนี้ไม่ได้คิดว่ายุ่งยากอะไร เพียงแต่ต้องคิดเอาไว้ล่วงหน้า มันไม่ยุ่งหรอก เพียงแต่อาจยาวนาน” นายวิษณุกล่าว
        วันเดียวกัน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการประชุมพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ เป็นประธานพิจารณาเสร็จแล้ว
โดยนายพีระพันธุ์กล่าวถึงสาระสำคัญว่า ระบบเลือกตั้งจะกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และควรยกเลิกการเสนอชื่อนายกฯ ไม่ควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ขณะที่การคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 91 ควรยกเลิก ส่วน ส.ว.นั้นมีข้อเสนอให้มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์กรอิสระ และตุลาการ เพื่อไม่ให้กรรมการในองค์กรดังกล่าวใช้หน้าที่ไม่ถูกต้อง ส่วนการเลือกกันเองของ ส.ว.นั้น ต้องแก้ไขประเด็นข้อห้ามเลือก ส.ว.ในกลุ่มอาชีพเดียวกันให้ชัดเจน
    นายพีระพันธุ์ยังกล่าวว่า ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติควรปรับปรุงให้แก้ไขได้ภายในระยะเวลา 2 ปี และให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ขณะที่องค์กรตุลาการศาลนั้น การใช้ดุลยพินิจพิพากษาที่อาจถูกแทรกแซง หรือมีอคติไม่เป็นไปตามระเบียบ หรือกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ควรมีบทบัญญัติการพิจารณาพิพากษาที่เป็นอิสระ ส่วนที่มีผลพิพากษาแทรกแซงนั้นให้ถือเป็นโมฆะ และให้สิทธิผู้ต้องคำพิพากษาที่ถูกแทรกแซงสามารถโต้แย้งได้ ส่วนศาลยุติธรรมนั้นมีข้อเสนอว่าไม่ควรตั้งผู้พิพากษาเป็นกรรมการในหน่วยงานหรือองค์กรอื่นของรัฐ รวมถึงไม่ควรเข้ารับการอบรมของหน่วยงานของรัฐ ขณะที่ศาลไม่ควรตั้งหลักสูตรอบรม เพราะจะเปิดช่องให้เกิดความใกล้ชิด สร้างสัมพันธ์ส่วนตัว ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนได้
ทุกองค์กรตรวจสอบได้
    “ศาลปกครองไม่ควรใช้มติของที่ประชุมใหญ่ของศาลเพื่อแก้ไขกฎหมายเอง ขณะที่ศาลทหารเสนอให้จำกัดกรอบพิจารณาเฉพาะเจ้าหน้าที่ทหาร เว้นกรณีมีศึกสงคราม ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ กมธ.?เห็นว่ามีอำนาจกว้างขวาง และคำวินิจฉัยมีผลกระทบทางการเมือง ดังนั้นควรจำกัดขอบเขต การผูกพันองค์กรต่างๆ และควรให้รัฐสภา ฐานะตัวแทนประชาชนตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด” นายพีระพันธุ์กล่าว
    นายพีระพันธุ์ยังกล่าวว่า การใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญของตุลาการและเรื่องการตรวจสอบนั้น ควรให้ฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบคำพิพากษาของตุลาการในเกณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดการถ่วงดุล ตามระบอบประชาธิปไตยกำหนดให้ผู้พิพากษาตุลาการร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีใช้ดุลยพินิจที่มิชอบได้ ทั้งนี้ การใช้ดุลยพินิจต้องมีกลไกกำกับให้การใช้ดุลยพินิจที่ถูกต้องด้วย
    นายพีระพันธุ์กล่าวด้วยว่า องค์กรอิสระต้องกำหนดกรอบและอำนาจการตรวจสอบเช่นเดียวกันควรให้รัฐสภามีอำนาจตรวจสอบการทำงานองค์กรอิสระได้ นอกจากนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ควรมีหน้าที่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และควรให้ศาลฎีกาพิจารณาแทน ขณะที่ ป.ป.ช.กรณีการชี้มูลความผิดต้องมีพยานหลักฐานแน่ชัด ไม่เพียงเพราะเชื่อได้ว่า ?
นายพีระพันธุ์ระบุอีกว่า บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ?นั้น มีข้อเสนอของ กมธ.หลายแนวทาง แต่ที่เห็นร่วมกันมากที่สุดคือยกเลิกเงื่อนไขที่ใช้เสียง ส.ว.เห็นชอบวาระแรกและวาระสาม ด้วยเสียง 1 ใน 3  เหลือเป็นเสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภา รวมถึงยกเลิกเกณฑ์ที่ใช้เสียง ส.ส.ฝ่ายค้าน 20% และยกเลิกการทำประชามติส่วนที่กำหนดให้ดำเนินการกรณีที่แก้ไขเนื้อหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ ทั้งนี้ กมธ.มีข้อเสนอด้วยว่าหากแก้ไขหลายมาตรา รูปแบบที่ดีคือการตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ยกร่างใหม่ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 จากนั้นให้นำร่างรัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติหลังทำเสร็จ
นายพีระพันธุ์กล่าวว่า หมวดการปฏิรูปประเทศ กมธ.เสนอให้ตัดออกจากรัฐธรรมนูญ เพราะปฏิบัติไม่ได้จริง เป็นอุปสรรค และล่าช้า และควรบัญญัติเป็นกฎหมายระดับรอง ขณะที่มาตรา 272 ว่าด้วยอำนาจ ส.ว.ลงมติเลือกนายกฯ นั้น ที่ประชุมเห็นเป็น 2 แนวทางคือ กมธ.เสียงข้างน้อยเห็นว่าควรแก้ไข ขณะที่ กมธ.เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรยกเลิก เพราะเป็นการทำชั่วคราว ขณะที่มาตรา 279 ว่าด้วยการรับรองประกาศและคำสั่ง คสช.นั้น กมธ.มีความเห็นในสัดส่วนใกล้เคียงกันคือควรยกเลิก เพราะทำให้ไม่สามารถตรวจสอบประกาศ คำสั่งของคณะปฏิวัติได้ อีกความเห็นคือไม่ควรแก้ไข เพราะกังวลว่าจะมีผลกระทบทางกฎหมาย และหากคำสั่งหรือประกาศใดที่ควรยกเลิกควรใช้กลไกของรัฐสภาออกเป็นพระราชบัญญัติ
ต่อมาที่ประชุมได้เปิดให้ ส.ส.อภิปรายสลับกับการชี้แจงของ กมธ.เป็นระยะด้วยความคึกคัก โดยเฉพาะนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า จากที่อ่านรายงานของคณะ กมธ.เขียนไว้เห็นด้วย และถูกใจในข้อสังเกตว่าควรกำหนดให้มีกระบวนการตรวจสอบในใช้อำนาจของผู้พิพากษาและตุลาการพิจารณาคดี ในกรณีที่คดีขัดต่อความสงบเรียบร้อย โดยถ้าเป็นไปตามได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องการถ่วงดุลของศาลและองค์กรอิสระทุกองค์กรต้องมี ไม่ใช่มีอภิสิทธิ์ เป็นผู้ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ หรือเป็นคนที่ไม่รับผิดชอบต่อดุลยพินิจของตัวเองหรือการกระทำของตัวเอง สร้างความเดือดร้อนล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพต่อประชาชน
แซะหมวด 1 และ 2
    จากนั้นเวลา 12.20 น. น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม พรรค ก.ก. อภิปรายว่า รายงานของ กมธ.ไม่มีตรงไหนที่พูดถึงหมวด 1 และหมวด 2 ที่มีถึง 24 มาตรา โดยรายงานข้ามไปเลย เพราะการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 และ 2 ไม่ใช่การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด ในอดีตมีการแก้ไขในหมวด 1 และ 2 อยู่หลายครั้ง รวมถึงในรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นเรื่องปกติ สามารถแก้ไขได้ โดยไม่ส่งผลต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงไม่ส่งผลเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐตามมาตรา 255 ทำไม กมธ.ไม่ใช้โอกาสนี้พิจารณาในหมวด 1 และ 2 เราควรรับฟังเสียงของประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อหาแนวทางร่วมกัน อะไรทำได้หรือไม่ก็ต้องมีการได้พูดคุยชี้แจง
         “ขอย้ำว่าการแก้ไขหมวด 1 และ 2 ไม่ได้เป็นการล้มล้าง ในอนาคตหากมีการตั้ง ส.ส.ร.แล้วไปจำกัดการแก้ไข คิดว่าเป็นทางตัน ควรเปิดโอกาสให้ ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชนพิจารณาทุกเรื่องด้วยเหตุผล รับฟังข้อเสนอของทุกกลุ่มไม่ปิดกั้น สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ดิฉันจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ และต้องการเห็นสถาบันคงอยู่อย่างสง่างาม มั่นคง สมพระเกียรติ สถาบันเป็นของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่จะผู้ขาดความจงรักภักดี และป้ายสีให้คนเห็นต่างเป็นพวกทำลายชาติ” ส.ส.นครปฐมกล่าว
ต่อมาในเวลา 13.15 น. นายปิยบุตร แสงกนกกุล กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า ตามที่รายงานของ กมธ.เกี่ยวกับการแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ระบุไว้ว่าไม่มีประเด็นต้องแก้ไข แต่ตนเองมีความเห็นที่แตกต่างไปจาก กมธ. ซึ่งข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญคือ ห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ และห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง หมายความว่าแก้ได้ทุกหมวดทุกมาตรา แต่ห้ามแก้จนไทยเป็นสหพันธรัฐ ห้ามแก้ประธานาธิบดีเป็นประมุข ห้ามแก้จนไทยเป็นเผด็จการ นี่คือข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 หรือหมายความว่าแก้ได้ทุกมาตรา แต่ห้ามแก้รูปของรัฐและระบอบการปกครอง
    จากนั้น เวลา 13.25 น. นายพีระพันธุ์ ในฐานะประธาน กมธ. ชี้แจงกลับว่า คณะ กมธ.เห็นว่าหมวด 1 หมวด 2 แก้ไขได้ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าจะแก้ไขหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาในชั้น กมธ.ยืนยันไม่มีใครพูดถึงสองหมวดดังกล่าวเลยแม้แต่คนเดียว ดังนั้นคณะ กมธ.จึงเห็นว่าไม่มีประเด็นอะไรที่ต้องแก้ไข ไม่ใช่ว่าแก้ไขไม่ได้ แต่เห็นว่าไม่มีประเด็นต้องแก้ไข เช่นนั้นจึงไม่มีผลการศึกษา ส่วนที่นายปิยบุตรระบุว่าเป็น กมธ.เสียงข้างน้อยนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะการจะเป็น กมธ.เสียงข้างน้อยต้องคุยกันในที่ประชุม และมีการลงมติ แต่ที่ผ่านมาไม่มีการคุยเรื่องนี้เลย
    หลังจากนั้นบรรดา ส.ส.และ กมธ.ก็ยังคงอภิปรายรายงานดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จนถึงเวลา 18.20 น. หลังจากที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านอภิปรายกันอย่างกว้างขวางครบถ้วนทั้ง 33 คนแล้ว หลังใช้เวลานานกว่า 7 ชั่วโมง นายชวนแจ้งว่า แม้จะมีความเห็นแตกต่าง แต่ทุกคนต่างเห็นพ้องให้รับรายงานฉบับดังกล่าว พร้อมกับส่งรายงาน ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไปให้รัฐบาลพิจารณา จึงขอใช้ข้อบังคับการประชุมข้อ 88 ยกเว้นไม่ต้องลงมติ ซึ่งที่ประชุมไม่มีผู้ใดคัดค้าน ทำให้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายงานฉบับนี้ ส่งให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป ก่อนที่นายชวนสั่งปิดประชุมในเวลา 18.25 น.
วันเดียวกัน ที่เดอะสตรีท รัชดา กลุ่มไทยภักดี นำโดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และนางหฤทัย ม่วงบุญศรี พร้อมแกนนำกลุ่มไทยภักดี แถลงข่าว “ไทยภักดีคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ” ภายใต้แฮชแท็ก #ถามประชาชนหรือยัง โดย นพ.วรงค์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัญหา แต่นักการเมืองเป็นปัญหาของสังคม ดังนั้น กลุ่มไทยภักดีจึงเป็นองค์กรกลางในการรวบรวมประชาชนที่มีแนวคิดคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยรวบรวมรายชื่อประชาชนให้มากกว่า 50,000 รายชื่อ เพื่อส่งประธานวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่เห็นด้วย ซึ่งจะทำให้เร็วที่สุดไม่น่าจะเกิน 1 เดือน โดยตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.เป็นต้นไป จะรณรงค์ทั่วประเทศ เริ่มจากจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยจะจัดเสวนาในห้องประชุมหรือสถานที่ปิด และถ่ายทอดสดทาง Social Media พร้อมยืนยันว่าจะไม่มีการจัดม็อบชนม็อบแน่นอนเพราะทางกลุ่มเน้นใช้ Fact สู้กับ Fake หรือใช้ความจริงสู้กับความเท็จ และยึดถือกรอบของกฎหมาย.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"