โพลชี้80%เชื่อมั่น‘บิ๊กตู่’ ยำฝ่ายค้าน‘นํ้าเน่า3นิ้ว’


เพิ่มเพื่อน    

 

ซูเปอร์โพลตอกหน้าฝ่ายค้าน เผยเปิดเวทีอภิปรายรัฐบาลมีแต่เรื่องเดิมๆ เสียดสี ชู 3 นิ้ว ไม่สร้างสรรค์ เพิ่มความแตกแยกในชาติ ซ้ำเติมประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่เกือบ 80% ยังเชื่อมั่น "บิ๊กตู่" ขณะที่ "แรมโบ้อีสาน" ได้ทีซัดแหลก เพื่อไทย-ก้าวไกลเล่นการเมืองน้ำเน่า ไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีต่อเยาวชน ทำให้คะแนนของฝ่ายค้านตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด "ลวรณ" ยืนยัน เงินคงคลังในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง

เมื่อวันที่ 12 กันยายน ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง เชื่อมั่นลุงตู่หลังศึกอภิปราย กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,132 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10-12 กันยายนที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.9 ระบุการอภิปรายรัฐบาลเมื่อ 9 กันยายนที่ผ่านมาเป็นเรื่องเดิมๆ ไม่มีอะไรใหม่ ในขณะที่ร้อยละ 11.1 ระบุเป็นเรื่องใหม่
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.8 ระบุยังเห็นพฤติกรรมนักการเมืองในการอภิปรายแบบเดิมๆ เช่น ใช้คำเสียดสี สร้างความแตกแยกของคนในชาติ ชู 3 นิ้วในสภา ไม่สร้างสรรค์ ในขณะที่ร้อยละ 25.2 ไม่เห็นแล้ว นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.7 ระบุการเพิ่มขยายความแตกแยกของคนในชาติ ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติโควิด คือการซ้ำเติมประเทศไทย ในขณะที่เพียงร้อยละ 3.3 ระบุไม่ใช่การซ้ำเติม
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.1 ยังเชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุดต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังอภิปราย จากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว การจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ 2 แสนอัตรา และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ในขณะที่ร้อยละ 21.9 เชื่อมั่นค่อนข้างน้อย ถึงไม่เชื่อมั่นเลย
ผศ.ดร.นพดลกล่าวว่า ผลโพลครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นในตัว พล.อ.ประยุทธ์ หลังการอภิปรายเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา การอภิปรายไม่มีอะไรใหม่ เป็นเรื่องเดิมๆ ที่เคยอภิปรายรัฐบาลในอดีต หรือเป็นเรื่องที่ประชาชนรู้อยู่แล้ว
"ยิ่งไปกว่านั้น พฤติกรรมของนักการเมืองในการอภิปรายที่เสียดสี สร้างความแตกแยกของคนในชาติ ชู 3 นิ้วในสภา ไม่สร้างสรรค์ ที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าเป็นการเพิ่มขยายความแตกแยกของคนในชาติ ซ้ำเติมประเทศไทย ดังนั้นคนไทยทุกคนในชาติต้องมีสติและรู้เท่าทัน อย่ายอมไหลไปตามกระแสการปลุกปั่นอารมณ์โดยขบวนการทำลายประเทศไทยจากคนในประเทศและต่างชาติ" ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพลกล่าว
ด้านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนของซูเปอร์โพลในครั้งนี้จึงสรุปได้ชัดเจนว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังชื่นชอบเชื่อมั่นในตัวนายกรัฐมนตรีมากที่สุด อันมีสาเหตุหลักในเรื่องของ การเป็นคนที่มุ่งมั่นจริงใจ เสียสละ ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่เพื่อประเทศชาติและประชาชน และมีจุดขายที่เด่นชัดในเรื่องเป็นคนใจซื่อมือสะอาด ไม่มีประวัติในเรื่องทุจริต แสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง
ขณะเดียวกัน นายกฯ ยังได้สั่งการอย่างเด็ดขาดในเรื่องการปราบปรามป้องกันการคอร์รัปชัน ใครโกงกินงบแผ่นดินจากภาษีพี่น้องประชาชนต้องจัดการเอามาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด นี่เป็นจุดเด่นในตัวนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นคนมือสะอาดบริสุทธิ์ไว้วางใจได้ในเรื่องนี้
"ตรงกันข้ามกับพฤติกรรมบรรดา ส.ส.ฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย เป็นที่น่าอับอาย เช่น เลขาธิการพรรคชูสามนิ้วในสภา หรือพรรคก้าวไกลอย่างนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร และ ส.ส.อีกหลายคนของพรรคฝ่ายค้าน ยังใช้พฤติกรรมก้าวร้าว ใช้วาจาไม่สุภาพ หยาบคาย จนทำให้ภาพพจน์สภาและภาพนักการเมืองยังน้ำเน่าเหมือนเดิม ไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีต่อเยาวชน และยังเสียหายในสายตาประชาชน จึงทำให้คะแนนของฝ่ายค้านตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดเจน" ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีกล่าว
รัฐบาลถังแตกละเอียด
    นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่า นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึงความจำเป็นในการเลื่อนการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ออกไปก่อนในรอบเดือนกันยายน 63 นี้ ซึ่งปกติจะจ่ายทุกวันที่ 10 ของทุกเดือน แต่ในเดือนกันยายนนี้จะทำการจ่ายในวันที่ 22 ก.ย.แทน
    โดยนายณัฐชาระบุว่า ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านจำนวนมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตนเห็นว่านี่คือความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐที่รุนแรงที่สุด ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หมายความว่าประชากรส่วนใหญ่ในประเทศ แต่รัฐบาลกลับดูแลไม่ได้ ถังแตกละเอียด ผลกรรมตกอยู่ที่พี่น้องประชาชน รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคยสำรวจหรือไม่ว่าคนชราที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง แต่ละเดือนเพิ่มขึ้นเท่าไร คนชราที่อาศัยอยู่คนเดียวมีจำนวนเท่าไร
    "เมื่อรัฐไม่สามารถจ่ายเงินจำนวนที่เป็นรายได้เดียวของพวกเขาได้ตรงเวลาจะเกิดอะไรขึ้น 1 วันสำหรับคนจนมันนานนะครับ 12 วันที่ต้องอดข้าว 12 วันที่ต้องรอมันนาน อย่าเอาความทุกข์ของพี่น้องประชาชนมาเป็นตัวประกันต่อความห่วยแตกของรัฐบาล ผมขอยืนยันกับพ่อแม่พี่น้องประชาชนว่า หากครบกำหนดที่รัฐบาล กระทรวงมหาดไทย กำหนดว่าจะจ่ายเบี้ยคนชราให้แล้วยังไม่มีความคืบหน้า ผมจะเดินทางไปถามยังกรมบัญชีกลางด้วยตัวเอง" โฆษกพรรคก้าวไกลระบุ
    น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบาย พรรคก้าวไกล วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจไทยผ่านรายการก้าวหน้า Talk ตอน ถอดสลักระเบิดเวลา โดยระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้คือเงินงบประมาณไม่พอจ่ายค่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ-คนพิการ ในช่วงใกล้สิ้นปีงบประมาณ เพราะสำนักงบประมาณไปขอตัดงบประมาณในส่วนนี้ของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) เนื่องจากคิดว่าจะมีการเบิกจ่ายงบประมาณไม่ครบ ด้วยเหตุผลว่า ในระหว่างปีงบประมาณอาจมีผู้สูงอายุเสียชีวิตระหว่างปี สิ่งที่ต้องตั้งข้อสังเกตคือ ทาง สถ.รู้เรื่องนี้ตั้งแต่ต้นปี แต่ไม่ได้มีการแก้ไขแต่อย่างใด รวมทั้งในปีนี้ได้มีการเปลี่ยนระบบโดยให้เป็นการโอนตรงจากกรมบัญชีกลางไปเลย แทนที่จะผ่านท้องถิ่น เหตุการณ์เช่นนี้มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้นอีกในปีงบประมาณ 2564 แต่โชคดีที่ทางกรรมาธิการงบประมาณได้ไปเพิ่มเงินงบประมาณในส่วนนี้คืนให้แล้ว ในส่วนของเบี้ยผู้สูงอายุและเบี้ยโรคเอดส์
อปท.สูญรายได้ 3.4 หมื่นล้าน
    “ในฝั่งของรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่วนกลางบอกว่าในภาพรวมภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น 4 หมื่นล้านบาท แต่ไม่ได้ไปดูว่าแต่ละ อปท.ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง รวมทั้งยังมีกรณีที่เงินงบประมาณควรจะเข้าไปที่ท้องถิ่นแต่ส่วนกลางไปประกาศ พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินลง 90% โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่าส่วนกลางไม่เสียอะไรเลย แต่ยังได้ความดีความชอบจากประชาชน ส่วนคนที่เสียรายได้ในการนำไปพัฒนาพื้นที่ก็คือท้องถิ่น มีการประมาณการกันว่ารวมทุก อปท.จะสูญเสียรายได้ทั้งหมด 34,500 ล้านบาท โดยที่ส่วนกลางก็ไม่ได้มีการตั้งหางบประมาณมาชดเชยให้ อปท.แต่อย่างใด อีกทั้งได้มีการประกาศว่าให้นำเงินสะสมที่ท้องถิ่นมีนำมาใช้ก่อน ข้อเท็จจริงก็คือ การนำเงินสะสมมาใช้ก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก และไม่นับว่าบางท้องถิ่นก็ไม่ได้มีเงินสะสมมากพออีกด้วย”
    น.ส.ศิริกัญญาเผยว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและบางแห่งเกิดขึ้นแล้ว คือ อปท.บางแห่งมีแผนปรับลดเจ้าหน้าที่บุคลากรให้น้อยลงเพราะมีงบประมาณไม่พอจ้าง และปรับลดงบพัฒนาท้องถิ่นลง จึงอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาพื้นที่ และลดศักยภาพของท้องถิ่น ซึ่งก็จะส่งผลกลับไปยังประชาชน
    “ต้องไม่ลืมว่าท้องถิ่นคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและใกล้ชิดต่อประชาชนมากที่สุด วิธีที่จะแก้ไขปัญหางบประมาณของท้องถิ่นในระยะสั้นคือ ต้องจัดงบกลางบางส่วนไปช่วยอุดหนุน แต่ในระยะกลางและระยะยาวต้องส่งเสริมและให้อำนาจให้ให้ท้องถิ่นมีการออกภาษีรูปแบบใหม่ๆ หรือการเก็บภาษีกับห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ ธุรกิจรายใหญ่ในท้องถิ่น ซึ่งก็เคยมีฐานข้อมูลสมัยเก็บภาษีโรงเรือนอยู่แล้ว แต่พอเป็นการเก็บเป็นภาษีที่ดินกลับเก็บภาษีไม่ค่อยได้”
    น.ส.ศิริกัญญาได้ทิ้งท้ายว่า ในทางเศรษฐกิจ เป็นไปได้ว่ามีประเด็นทั้งการเผาจริงและเผาหลอก อย่างกรณีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวถือว่าชัดเจน หากเป็นสภาวะปกติช่วงสิ้นปีเรียกว่าเป็น High Season ก่อนหน้านี้เป็นรายได้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ แต่ตอนนี้สถานะเป็น 0 และต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งเลยที่จะกลับมาได้ แม้ในอนาคตจะมีวัคซีนแล้ว ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ จำเป็นต้องบอกความจริงกับผู้ที่อยู่ในธุรกิจการท่องเที่ยวที่มีสายป่านที่ไม่ยาวเพียงพอ และจำเป็นต้องหาลู่ทางใหม่ๆ เพื่อให้ธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นต่อไป รวมทั้งรัฐบาลจำเป็นต้องช่วยเหลือและส่งเสริมพวกเขาเหล่านี้อย่างเต็มที่
    นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็นการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยความพิการ และเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้าง รวมทั้งประเด็นปัญหาหนี้เสีย (Non-Performing Loans: NPLs) ของสถาบันการเงินดังนี้
    ประเด็นการงดจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการเดือนกันยายน 2563 และกระทรวงการคลังจะสามารถจ่ายเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างได้อีกเพียง 3 เดือนนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด กรณีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการไม่ได้มีการงดจ่าย แต่เป็นเพียงการเลื่อนจ่ายเนื่องจากมีการปรับปรุงยอดงบประมาณให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของการจ่ายเงินดังกล่าวในปีงบประมาณ 2563 โดยขณะนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อมาจ่ายเงินดังกล่าวแล้ว และกรมบัญชีกลางจะได้ดำเนินการจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิ์ต่อไป โดยจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2563 นี้
เงินคงคลังเข้มแข็ง
    สำหรับกรณีเงินเดือนข้าราชการนั้น รัฐบาลได้จัดสรรค่าใช้จ่ายเงินเดือนและค่าจ้างของบุคลากรภาครัฐไว้อย่างเพียงพอแล้ว ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีในแต่ละปี และขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา
    ทั้งนี้ เงินคงคลังในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง เพียงพอเพื่อรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งรวมถึงเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างด้วย นอกจากนี้รัฐบาลยังคงมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรหรือรายได้อื่นๆ เพื่อนำมาใช้จ่ายในการบริหารประเทศได้ตามปกติ และโฆษกกระทรวงการคลังได้ยืนยันว่า กระทรวงการคลังยังมีแหล่งเงินที่เพียงพอ เพื่อรองรับการใช้จ่ายของหน่วยงานภาครัฐและดำเนินนโยบายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป
    นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการคลังได้ชี้แจงเพิ่มเติมถึงประเด็นปัญหา NPLs ของสถาบันการเงินว่า รัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงิน ตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว และได้ดำเนินการโครงการเพื่อแก้ไขปัญหา NPLs ของผู้ประกอบการและประชาชน โดยเน้นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน (Preemptive Debt Restructuring) และรวมหนี้ (Debt Consolidation) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา NPLs
    โดยกลไกดังกล่าวจะเป็นการลดภาระหนี้ของลูกหนี้ อันจะเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จ่ายตลอดระยะเวลาสัญญาจะไม่เพิ่มขึ้น แต่จะทำให้ลูกหนี้มีภาระที่ต้องจ่ายต่องวดลดลง ซึ่งแตกต่างจากการขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ที่ลูกหนี้ยังคงต้องชำระหนี้ในช่วงที่มีการพักชำระหนี้ ซึ่งอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยที่หนี้จ่ายตลอดสัญญาสูงขึ้น ทั้งนี้มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และรวมหนี้มีรายละเอียดดังนี้
    1.โครงการ DR BIZ กำหนดให้มีกลไกบรรเทาและจัดการหนี้ธุรกิจของลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย (Multi-Creditors) ซึ่งเป็นการลดภาระหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพแต่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้อันจะเป็นการรักษาการจ้างงานและส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เต็มศักยภาพ
    2.โครงการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมด้วยวิธีการรวมหนี้ (Debt Consolidation) กำหนดแนวทางให้ลูกหนี้รายย่อยสามารถรวมหนี้ประเภทต่างๆ ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อที่เกิดจากการให้เช่าซื้อ เป็นต้น มาปรับปรุงโครงสร้างหนี้รวมกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อให้ลูกหนี้มีภาระหนี้ลดลง โดยการลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ทำให้ลูกหนี้มีภาระในการผ่อนชำระหนี้ลดลง นอกจากนี้ การขยายระยะเวลาการชำระหนี้หรือการปรับโครงสร้างหนี้ จะเป็นการลดภาระหนี้ของลูกหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยโดยไม่ทำให้ลูกหนี้เสียประวัติข้อมูลเครดิต รวมทั้งยังสามารถใช้วงเงินบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่เหลือได้
    กระทรวงการคลังคาดว่าธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างดี เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และโครงการดังกล่าวจะช่วยรักษาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และป้องกันปัญหา NPLs ในระบบสถาบันการเงิน
แนะ "พิธา" อบรมลูกน้อง
    นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น และมีแผนที่จะดำเนินนโยบายเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ
    สำหรับประเด็นการกันสำรองของสถาบันการเงินกรณีที่ปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs นั้น ในทางปฏิบัติ เมื่อสถาบันการเงินมีการกันสำรองเมื่อลูกหนี้เป็น NPLs สถาบันการเงินจะเป็นผู้เก็บเงินไว้เองโดยไม่ต้องส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยแต่อย่างใด โดยการกันสำรองของสถาบันการเงินเป็นการดำเนินการเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นหากไม่สามารถติดตามหนี้ได้ ซึ่งเป็นกลไกบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาฐานะทางการเงินและกระทบต่อเงินฝากของประชาชน
    ขณะที่ น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ตอบโต้พรรคก้าวไกลว่า นายณัฐชาไม่ควรสร้างประเด็นให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ทั้งผู้สูงอายุและผู้พิการเกิดความเข้าใจผิดและสร้างความตื่นตระหนกว่ารัฐถังแตก ไม่มีงบประมาณจัดสรรให้ ทั้งที่สถานะรัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอ แต่ติดปัญหาขั้นตอนของการพิจารณาตรวจสอบงบประมาณไป-กลับระหว่างกรมบัญชีกลาง กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น "ให้ตรงและเพียงพอต่อการจ่ายทุกคนที่มีสิทธิ์" หรือเรียกว่าให้บัญชีตรงกันกับจำนวนงบประมาณที่จะจ่ายไปยังประชาชน
    น.ส.ทิพานันกล่าวว่า กรมบัญชีกลางและกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นยืนยันว่า เมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้ว จะเร่งจ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุและผู้พิการทันที ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าคนละส่วนกับสถานะงบของรัฐบาล ฉะนั้นโฆษกพรรคก้าวไกลไม่ควรฉกฉวยเอาประเด็นนี้มาดิสเครดิตรัฐบาล ควรอ่านข้อมูลให้แตกฉาน ก่อนสร้างวาทกรรมรัฐถังแตก โดยมองข้ามข้อเท็จจริงและทำให้ประชาชนสับสน
    เธอแนะว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ต้องควบคุมมาตรฐานการสื่อสารต่อสาธารณะของโฆษกพรรค ไม่ให้ผลิตข้อมูลที่เข้าข่ายเฟกนิวส์ สร้างความเข้าใจผิดบิดเบือนเช่นนี้ ประชาชนจะรู้สึกว่าบุคลากรของพรรคก้าวไกลจงใจปลุกปั่นบิดเบือนข้อมูลเพื่อดิสเครดิตรัฐบาล โดยเพิกเฉย ไม่สนใจว่าจะก่อให้เกิดผลเสียต่อประชาชน
    "ดิฉันมีความห่วงใยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และได้ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยต้องเข้าใจว่าสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ควรสร้างบรรยากาศผ่านการสื่อสารให้เกินความเป็นจริง เพราะการให้ข่าวสารที่ไม่ถูกต้องจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมผู้สูงอายุและผู้พิการอย่างยิ่ง ผู้แทนราษฎรไม่ควรกระทำแม้ว่าจะเป็นฝ่ายค้านก็ตาม" น.ส.ทิพานันกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"