พอช.จัดเวทีเชื่อมโยงเครือข่ายเศรษฐกิจและทุนชุมชนระดับชาติ ประจำปี 2563 ‘หมอประเวศ’ เสนอสร้างเศรษฐกิจฐานล่าง 10 ทิศสร้างชุมชนเข้มแข็ง


เพิ่มเพื่อน    

 บรรยากาศตลาดนัดชุมชนที่ พอช.

 

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน/ ระหว่างวันที่ 14 -16 กันยายนนี้  มีการจัดงาน " เวทีเชื่อมโยงเครือข่ายเศรษฐกิจและทุนชุมชนระดับชาติประจำปี  2563 ตลาดนัดแผนธุรกิจเพื่อชุมชน” ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  โดยมีผู้แทนชุมชนทั่วประเทศ  หน่วยงานภาคี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานประมาณ 200 คน

 

พอช.จัดอบรมแผนธุรกิจเพื่อชุมชนแล้ว 1,799  ตำบลทั่วประเทศ

นางฑิฆัมพร  กองสวน ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  กล่าวว่า  ที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ร่วมกับคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ได้สนับสนุนให้กลุ่มองค์กรเศรษฐกิจและทุนชุมชนใน 5 ภาค  จัดทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชน (CBMC : Community Business Model Canvas)  โดยมีกระบวนการ 9 ขั้นตอน  คือ

1.การค้นหาจุดขาย  สร้างแบนด์  2.ค้นหากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย  3.การสื่อสารการตลาด  4.ปิดการขายและบริการหลังการขาย  5.ช่องทางเพิ่มรายได้-ลดค่าใช้จ่ายในการผลิต  6. แผนการดำเนินกิจกรรมหลัก (เพื่อบรรลุผลข้อ 5 4 3 2 1) 7.จากข้อ 6 อะไรที่ทำเองได้  8.จากข้อ 6 อะไรที่ต้องร่วมมือกับภาคีเครือข่าย  และข้อ 9.จากข้อ 6 ใช้เงินเท่าที่จำเป็น

นางฑิฆัมพร  กองสอน 

 

ทั้งนี้ระหว่างปี พ.ศ. 2561-2563  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนในพื้นที่ 1,799  ตำบลทั่วประเทศ  โดยจัดอบรมเพื่อให้ชุมชนจัดทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชน  ครอบคลุมเรื่องการผลิต  การแปรรูป  และการตลาด  การจัดงานครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้แทนเศรษฐกิจและชุมชนทั่วประเทศได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์  ในรูปแบบ  ‘แชร์  โชว์  ชิม    ช้อป’  รวมทั้งร่วมกันกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนงานในช่วง 5 ปีข้างหน้า  เพื่อเดินไปสู่เป้าหมาย  “เศรษฐกิจชุมชนฐานรากมีความเข้มแข็ง  สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน”

 

ธรรมจักรขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็ง  5 ประการ

นพ.ประเวศ  วะสี  ปาฐกถาเรื่อง “การสร้างพลเมืองตื่นรู้สู่การสร้างเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง”  มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า  ที่ผ่านมาประเทศไทยลำบาก  เพราะอะไร ๆ ก็จะทำจากข้างบน  เศรษฐกิจจะบอกว่าต้องทำข้างบนและจะลงข้างล่าง  การศึกษาจะเอาจากข้างบนให้คนได้รับปริญญา แต่ทำอะไรไม่เป็น  ประชาธิปไตยจะทำจากระดับชาติ ประชาธิปไตยที่ฐานคือประชาธิปไตยชุมชน  พระเจดีย์ต้องสร้างจากฐานขึ้นไป  พวกเราสร้างพระเจดีย์จากฐาน 

 

“เศรษฐกิจข้างบนเกี่ยวกับเงินทอง  เงินหมุนเคลื่อนไหวอยู่ในโลก ไม่ใช่ของจริง  มีคนทำให้ผันผวน  แต่เศรษฐกิจจริงมั่นคงเป็นของจริง  กินได้ เศรษฐกิจโลกาภิวัฒน์เป็นเศรษฐกิจเงินทอง  เศรษฐกิจชุมชนเป็นเศรษฐกิจชีวิตและการอยู่ร่วมกัน ระหว่างคนกับคน  คนกับสิ่งแวดล้อม เป็นเศรษฐกิจบูรณาการๆ ชีวิต สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ศาสนธรรม ไม่ใช่เรื่องเงินทองอย่างเดียว  หากชุมชนมีการพัฒนาอย่างบูรณาการน่าจะเป็นชีวิตที่สันติสุข  เปรียบเป็นสวรรค์บนดินก็ได้  มีบ้านอยู่  มีข้าวกิน มีครอบครัวอบอุ่น  มีครอบครัวเข้มแข็ง 4 อย่างนี้เป็นสวรรค์บนดินแล้ว  ประเทศไทยทำได้ เรามีที่ดิน  มีอาหาร”  นพ.ประเวศกล่าว

นพ.ประเวศ  วะสี

 

ส่วนเครื่องมือที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง  สรุปเป็นธรรมจักรขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็ง  มีอยู่ 5 ประการ ที่สำคัญที่สุด คือ     1.องค์กรชุมชน เป็นเครื่องมือจัดการ    องค์กรชุมชนช่วยให้จัดการวิเคราะห์ชุมชนทางเศรษฐกิจ  และมี 2. สถาบันการเงินของชุมชน  จัดการการเงินเพื่อการออม  การอาชีพ  การเรียนรู้  สวัสดิการ เป็นเครื่องมือเชิงสถาบัน  ประชาชนเป็นภาคที่สำคัญที่สุดแต่ไม่มีเครื่องมือเชิงสถาบัน  3.มหาวิชชาลัย  ชุมชนจัดการเรียนรู้เพื่อให้ชุมชนดีขึ้น  4.ระบบสุขภาพ  มีกรณีสถาบันพยาบาล พยายามดำเนินการให้มีในชุมชน  คน 2 หมู่บ้านจะมีหน่วยงานพยาบาล  ดูแลเรื่องสุขภาพ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน  เรียกว่า “พยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจ ดูแลคนในชุมชน”   5.ศาสนธรรม 

 

เศรษฐกิจ 10 ทิศของชุมชน

นพ.ประเวศกล่าวถึงแนวทางเศรษฐกิจชุมชนว่า  1.ผลิตอาหารกินเองเหลือขาย ทำทุกอย่างที่กินได้  เลี้ยงปลา ปลูกผัก  2.ทำพันธสัญญากับชุมชนเมือง  ส่งอาหารปลอดสารพิษ  คนในเมืองได้บริโภคอาหารปลอดสารพิษ  มีกรณีประเทศอเมริกา       ทำพันธสัญญากับเกษตรกร  ๆ  ส่งอาหารปลอดสารพิษ  พลังผู้บริโภคทำให้เกิดการเชื่อมโยงคนในเมืองกับผู้ผลิต  3.อุตสาหกรรมชุมชน  แปรรูปอาหาร  ผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบธรรมชาติ  4.ศิลปะการแสดง สินค้าศิลปะ หัตถกรรม  มีการส่งเสริมอาชีพคนชราให้สานตะกร้า ชะลอมไม้ไผ่ใส่สินค้า  ต้องสร้างค่านิยมการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวด้วย  

5.อาหารอร่อย ขนมอร่อยขึ้นชื่อของชุมชน  แต่ละชุมชนมีเอกลักษณ์กับข้าวและขนมที่อร่อยของตนเอง ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้   6.ธุรกิจชุมชน  มีบริษัทเอกชนอยากร่วมกับชุมชนออกแบบ  7.การท่องเที่ยวชุมชน  8.พลังงานชุมชน  หากทำเต็มที่จะหายจน  ตนเจอวิศวกร ที่มีความชำนาญเรื่องพลังงานชุมชน  ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วย  กรณีประเทศเยอรมัน  มีการผลิตพลังงานและสามารถขายพลังได้ด้วยแม้แสงแดดจะมีน้อยกว่าเรา  พวกเราต้องเชื่อมโยงเรื่องราวต่าง ๆ มาใช้ในชุมชน

9.การช่างชุมชน  การช่างทุกชนิด ถนนผ่านตำบลใด ตำบลนั้นดูแลซ่อมแซม   ชุมชนต้องฝึกวิชาช่างทุกชนิด ซ่อมทีวี วิทยุ  เครื่องสูบน้ำ สะพาน รวมถึงถนน  หากชุมชนมีวิชาช่างทุกชนิด  จะทำให้สามารถกระจายรายได้ให้แก่ชุมชนได้  และคนอยากรักษาชุมชนของตนเอง  ชุมชนปลอดภัยทำให้คนอยากมาเที่ยว  ก่อให้เกิดรายได้เข้ามา 

 

 

10.ทุกตำบลมีศูนย์การแพทย์แผนไทย  ให้บริการ 3 อย่าง 1.นวดแผนไทย 2.ประคบสมุนไพร 3.ขายยาสมุนไพรที่มีประโยชน์  กรณีนวดแผนไทยหากทำดีคนในเมืองก็มา  ลดความเครียด  นอนหลับสบายความดันลดลง  กรณีชายแดน นักท่องเที่ยวประเทศมาเลเซียเข้ามาเที่ยว  คนตาบอดก็สามารถนวดได้  การนวด slow ได้พูดคุย   การประคบสมุนไพร  ให้ผู้สูงอายุเกิดความสบาย 

11.เศรษฐกิจต้นไม้  ไม้ยืนต้น  ผลิตภัณฑ์จากต้นไผ่  ต้นกล้วย (Green Economy)  หากน้ำท่วมและเรามีต้นไม้เยอะเราต่อเรือขาย  ตอนนี้ ธกส.มีธนาคารต้นไม้  ใครปลูกต้นไม้ได้เครดิต  ต้นไม้โตขึ้นทุกวัน มีมูลค่าวันละ 3 บาทต่อต้น  ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ตั้งสถาบันไผ่กู้ชาติ เศรษฐกิจต้องไม้กับไผ่ กับต้นกล้วย หากชาวบ้านรวยขึ้น  เศรษฐกิจข้างล่างจะดี  ฐานข้างล่างจะแข็งแรง เติบโตจากข้างล่าง

 

แผนธุรกิจเพื่อชุมชน 9 ขั้นตอน

การจัดงาน “เวทีเชื่อมโยงเครือข่ายเศรษฐกิจและทุนชุมชนระดับชาติ  ประจำปี 2563 ตลาดนัดแผนธุรกิจเพื่อชุมชน”  ครั้งนี้  มีชุมชนที่มีจุดเด่นในการจัดทำแผนธุรกิจชุมชนจากทั่วประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์  เช่น  กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านถ้ำเสือ  อ.อ่าวลึก จ.กระบี่  นำวิถีชีวิต  วัฒนธรรม  โบราณคดี  อาหารพื้นถิ่น  ผ้ามัดย้อม  สปาโคลนร้อน  ฯลฯ  มาเป็นจุดขาย

 

นายนันทพงศ์  นาคฤทธิ์  ผู้ประสานงานการท่องเที่ยวชุมชนบ้านถ้ำเสือ  ต.อ่าวลึกใต้  อ.อ่าวลึก จ.กระบี่  กล่าวว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนแบบมีส่วนร่วม  ที่คนและชุมชนก้าวไปด้วยกัน  บนบริบทศักยภาพของทุนชุมชนที่มีอยู่  นำไปสู่การสร้างธุรกิจชุมชนเข้มแข็ง  เศรษฐกิจชุมชนมั่นคงด้วย  3 องค์ประกอบ  คือ 1.กระบวนการระเบิดมาจากข้างใน (Mindset) พึ่งตนเอง บริหารจัดการตนเอง  แบ่งปัน  ดูแลสังคม  ธรรมชาติ  2.กระบวนการเพิ่มความสามารถ (Skillset) ที่มองถึงฐานปัจจัยการผลิตรวมพลังกับหนึ่งสมองสองมือ และการร่วมแรงร่วมใจกันของสมาชิก และ 3.กระบวนการเติมเครื่องมือใหม่ๆ (Toolset) ว่าด้วยแผนธุรกิจเพื่อชุมชน (Community Business Model Canvas : CBMC)

 

 CBMC  เป็นเครื่องมือชี้ทิศได้อย่างถูกทาง  การทำธุรกิจของชุมชนไม่ได้ยากอย่างที่ใครๆ คิด  เพราะมันขึ้นอยู่กับการสร้างการเรียนรู้ให้กับคนในชุมชน  ปลูกและปูทางให้ได้รู้  ได้เห็น  ได้ทำตั้งแต่ยังเด็ก  ดังนั้นจึงต้องเชื่อมโยงผู้คน  ทั้งผู้สูงวัย คนทำงาน  เด็กเยาวชน   คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม ให้ลูกหลานคนรุ่นต่อๆ ไปได้อยู่ในชุมชนท้องถิ่นของตนเองอย่างมั่งคั่ง ยั่งยืน และผาสุก”  นายนันทพงศ์กล่าว

 

ทั้งนี้แผนธุรกิจเพื่อชุมชน  มีกระบวนการดังนี้  1.การค้นหาจุดขาย  สร้างแบนด์  2.ค้นหากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย  3.การสื่อสารการตลาด  4.ปิดการขายและบริการหลังการขาย  5.ช่องทางเพิ่มรายได้-ลดค่าใช้จ่ายในการผลิต  6. แผนการดำเนินกิจกรรมหลัก (เพื่อบรรลุผลข้อ 5 4 3 2 1) 7.จากข้อ 6 อะไรที่ทำเองได้  8.จากข้อ 6 อะไรที่ต้องร่วมมือกับภาคีเครือข่าย  และข้อ 9.จากข้อ 6 ใช้เงินเท่าที่จำเป็น

 

นายก้องหล้า ศาลางาม  ต.บ้านปรางค์ อ.คง จ.นครราชสีมา  กล่าวว่า CBMC สามารถใช้ได้ทั้งกับชีวิตประจำวัน และการทำธุรกิจของตัวเอง นำไปใช้สอนลูกให้รู้จักออม รู้จักการทำมาหากิน  ทำมาค้าขายเพื่อให้รู้จักหาเงินและรู้คุณค่าของเงิน เป็นบทเรียนนอกตำราที่ในโรงเรียนไม่มี  CBMC สอนให้คนยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง  รู้จักการปรับแผนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลา

 

“ในเรื่องของธุรกิจส่วนตัว ได้นำ CBMC ไปใช้กับการขายขนมตาล ทำให้มีความรอบคอบขึ้น เปลี่ยนวิธีการทำจากมวยวัด  มาทำการตลาดแบบใหม่ๆ ให้คนทุกวัยซื้อขนมตาลให้ได้  จากเดิมที่ขายได้เฉพาะกับคนสูงอายุ  เดินเร่ขาย  ยังไม่รู้ต้นทุนของตัวเอง เมื่อจัดทำ CBMC ได้พัฒนาเป็นขนมตาลแฟนซีรูปสัตว์ต่างๆ เพื่อให้ดึงลูกค้าเด็กเยาวชน  วัยรุ่น  เพิ่มช่องทางการขายเป็นแบบออนไลน์เพิ่มขึ้น  เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นข้าราชการในพื้นที่สั่งซื้อไปจัดเป็นอาหารว่าง”  นายก้องหล้ากล่าว

 

นายภานุพงศ์ คำทา ต.เวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย  กล่าวว่า CBMC ไม่ใช่กระบวนการที่ใช้เฉพาะกับการทำธุรกิจเท่านั้น  แต่สามารถปรับใช้กับการทำงานได้ทุกอย่างแม้กระทั่งการดำรงชีวิตประจำวัน เพราะ CBMC คือ กระบวนการค้นหาตัวตนของตัวเอง  กลุ่มเป้าหมาย  วิธีการดำเนินงานให้ชัดเจน  แล้วเรียบเรียงให้เป็นขั้นตอน  เกิดการนำไปใช้เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น

 

“ผมได้นำ CBMC ไปขยายต่อในกลุ่มองค์กร อสม. กองทุนหมู่บ้าน  กลุ่มอาชีพระดับหมู่บ้าน  เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน  เมื่อนำแผนการดำเนินงาน 5 ช่องไปสู่การปฏิบัติ  จนเกิดคำถามจากหมู่บ้านใกล้เคียงว่าพวกเราทำอะไร  จึงได้จัดประชุมให้ผมได้มีโอกาสนำเสนอถึงที่มาที่ไปของการเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้าน  เกิดการคล้อยตามอยากเรียนรู้ CBMC ด้วย  จากตำบล สู่ระดับอำเภอ  โดยนายอำเภอแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานขับเคลื่อนของอำเภอ”   นายภานุพงศ์กล่าว

             

นพ.ประเวศกับผู้เข้าร่วมงาน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"