โควิด-19ฉุดเศรษฐกิจร่วง เอดีบีหั่นจีดีพีโตติดลบ8%


เพิ่มเพื่อน    

 “เอดีบี” หั่นจีดีพีไทยปีนี้โตติดลบ 8% หลังโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจหนัก ลุ้นปี 2564 กลับมาฟื้นตัวที่ 4.5% แนะจับตาปัจจัยเสี่ยงของไวรัสระบาดรอบ 2 การกีดกันทางการค้าและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือน ขณะที่ “สรรพากร” จ่อถกคลังปรับเป้าหายจัดเก็บรายได้ปีงบ 2564 ลงจาก 2.08 ล้านล้านบาท

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ได้เปิดเผยในรายงาน Asian Development Outlook 2020 Update โดยคาดการณ์ว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้ (จีดีพี) จะติดลบ 8% ซึ่งหดตัวมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ 4.8%  เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน แม้จะมีแรงสนับสนุนจากนโยบายการคลังและการเงินก็ตาม แม้ว่าผลจากความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทยที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ แต่ผลจากการระบาดดังกล่าวได้ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้
    สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ 4.5% ปรับเพิ่มจากคาดการณ์เดิมที่ 2.5% โดยอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะติดลบในปีนี้อยู่ที่ 1.6% จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงัน การหดตัวสูงของราคาพลังงาน และเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ รวมถึงมาตรการรัฐบาลที่ช่วยลดค่าสาธารณูปโภคด้วย ก่อนจะปรับตัวเป็นบวกที่ 0.8% ในปีหน้า  
    ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงภายนอกยังคงเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทั่วโลก การกีดกันทางการค้า และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่วนปัจจัยเสี่ยงภายใน ได้แก่ การกลับมาระบาดซ้ำของโควิด-19 ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือน
    นอกจากนี้ เอดีบียังคาดการณ์ว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียในปีนี้จะหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 6 ทศวรรษที่ 0.7% แต่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในปี 2564 ที่ 6.8% เนื่องจากภูมิภาคเริ่มฟื้นตัวจากหายนะทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจที่อ่อนแอในปี 2563 แต่ผลผลิตในปีหน้ายังคงต่ำกว่าประมาณการก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยในรายงานได้แนะนำการฟื้นตัวแบบรูปตัว "L" แทนที่จะเป็นตัว "V" และคาดว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคจะติดลบถึง 3 ไตรมาสในปี 2563
    วันเดียวกัน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า เป้าหมายการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในปีงบ 2564 ที่ 2.08 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมีการหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในเร็วๆ นี้ เพื่อปรับเป้าหมายการจัดเก็บลง เนื่องจากเป้าหมายเดิมตั้งไว้ก่อนมีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งยอมรับว่ามีผลกระทบกับการเก็บภาษีของกรมสรรพากรอย่างมาก
    "เป้าหมายการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรจริงๆ ในปีงบประมาณ 2564 จะเหลือเท่าไร ต้องรอหารือกับ สศค.ในเร็วๆ นี้ โดยรอให้จบปีงบประมาณ 2563 เพื่อดูภาษีที่เก็บได้ที่แท้จริง และประเมินภาวะเศรษฐกิจใหม่ทั้งหมด ส่วนในปีงบประมาณ 2563 กรมเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่จะต่ำกว่าเป้าหมายกี่แสนล้านบาท ขอดูตัวเลขเดือนสุดท้าย (เดือน ก.ย.) ก่อน เพราะเป็นเดือนที่นิติบุคคลต้องยื่นแบบและเสียภาษีรอบครึ่งปีของปี 2563" นายเอกนิติกล่าว
    นายเอกนิติกล่าวอีกว่า การเก็บภาษีในเดือน ส.ค.2563 ของกรมสรรพากร เกินเป้าหมายกว่า 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการเลื่อนการเก็บภาษีมาจากเดือนก่อนหน้า เพื่อช่วยลดภาระผู้เสียภาษี โดยกรมสรรพากรได้เร่งคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อให้กระตุ้นเศรษฐกิจ มีการคืนภาษีไปได้แล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท  
    ทั้งนี้ กระทรวงการคลังรายงานการเก็บรายได้รัฐบาลล่าสุด 8 เดือนของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.2562-พ.ค.2563) รัฐบาลเก็บรายได้สุทธิ 1.5 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.89 แสนล้านบาท โดย 3 กรมภาษีเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.18 แสนล้านบาท เป็นกรมสรรพากรเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.39 แสนล้านบาท กรมสรรพสามิตต่ำกว่าเป้าหมาย 7.09 หมื่นล้านบาท และกรมศุลกากรต่ำกว่าเป้าหมาย 8,516 ล้านบาท.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"