ศาลรับฟ้องม็อบมธ. ‘3แกนนำ’ปราศรัยล้มล้างการปกครองเวทีรังสิต


เพิ่มเพื่อน    

  ทำเนียบฯ ประชุมซักซ้อมแผนรับมือม็อบ 19 ก.ย.“วิษณุ” กาง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ห้ามเฉียดเข้าใกล้ทำเนียบฯ 50 เมตร  ตำรวจใช้แผนกรกฎ 52 คุมม็อบ เตรียมพร้อมรับเหตุฉุกเฉิน ส.ส.ก้าวไกลพร้อมลงพื้นที่สังเกตการณ์ "จตุพร" ห่วงม็อบเดินออกนอกเส้นทางจะกลายเป็นจุดเปลี่ยน "กลุ่มประชาชนคนไทย" ยื่นหนังสือผ่านสถานทูตสหรัฐถึง “โดนัลด์ ทรัมป์” ขอคำยืนยันไม่แทรกแซงการเมืองไทย "ศรีสุวรรณ" ร้อง ปปง.สอบรายชื่อ 11 ท่อน้ำเลี้ยง  "ส.ว.สมชาย" เปิดข้อมูลหน่วยข่าวกรอง 10 เครือข่ายขนคนร่วมม็อบจับตาเคลื่อนไปลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อ

     ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เวลา 10.00 น. วันที่ 16 กันยายน นางวิสุนี  บุนนาค รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร เป็นประธานการประชุมหารือข้อราชการเพื่อซักซ้อมแผนรับมือการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในวันที่ 19-20 ก.ย. โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.), กองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
    ภายหลังการประชุม พล.ต.ต.สุรชาติ มณีจักร ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 เปิดเผยว่า เป็นการประชุมซักซ้อมแผนรักษาความปลอดภัย และให้ผู้เกี่ยวข้องมาพูดคุยกัน เพื่อจะได้รู้บทบาทหน้าที่ แต่ขอไม่เปิดเผยรายละเอียด เพราะถือว่ายังอยู่ในชั้นความลับ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นยังไม่มีสิ่งบ่งบอกว่าจะเกิดความรุนแรง จึงยังไม่มีอะไรน่าห่วงใย เราทำเพียงแค่คาดการณ์และเตรียมการไว้
     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในวันที่ 19-20 ก.ย. ที่ประกาศจะเคลื่อนขบวนมาปิดทำเนียบรัฐบาลว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มีมาตรการกำหนดไว้ว่า ห้ามผู้ชุมนุมเข้ามาชุมนุมปักหลักในสถานที่ หรืออาคารสำคัญ โดยเฉพาะทำเนียบรัฐบาล ที่ถือเป็นศูนย์กลางบริหารราชการแผ่นดินของประเทศ โดยกฎหมายระบุไว้ว่า ห้ามเข้าใกล้ในรัศมีไม่เกิน 50 เมตรรอบสถานที่ หากฝ่าฝืนถือว่าผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะทันที
    ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. เปิดเผยถึงการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.นี้ว่า ตำรวจจะจัดกำลังตำรวจให้สอดคล้องกับจำนวนของผู้ที่มาชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ ที่มีการคาดการณ์ว่าจะชุมนุมใน 3 พื้นที่คือ ภายในม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งล่าสุดมีการประกาศห้ามใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัย,  สนามหลวง และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ว่าตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินจำนวนผู้ชุมนุมหรือสถานที่ได้ และยังเป็นห่วงในเรื่องของการเส้นทางจราจรที่ประชาชนอาจจะได้รับผลกระทบ จึงจะมีการประชาสัมพันธ์เส้นทางเลี่ยงต่างๆ ในการสัญจร ส่วนรอบพื้นที่การชุมนุมจะมีการจัดจุดคัดกรองตรวจโรคและจุดคัดกรองตรวจอาวุธ จำนวน  4 จุด โดยรอบพื้นที่การชุมนุม ขอให้ผู้ชุมนุมและผู้จัดการชุมนุมให้ความร่วมมือด้วย
    พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางตำรวจได้มีการระดมกวาดล้างอาชญากรรมตรวจค้นจุดต้องสงสัยต่างๆ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ความไม่สงบหรือมือที่ 3 เบื้องต้นจากการข่าวยังไม่พบความน่าเป็นห่วง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ได้กำชับให้ดูแลความสงบเรียบร้อย ห้ามใช้กำลัง ให้ดูแลผู้ชุมนุมเหมือนลูกเหมือนหลาน ซึ่งตำรวจจะใช้แผนการดูแลการชุมนุมตามแผนกรกฎ 52 ส่วนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะมีการเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลวันที่ 20 ก.ย.นั้น ทางตำรวจจะคอยดูในเรื่องของเส้นทางจราจรและข้อกำหนดของ พ.ร.บ.การชุมนุมที่ห้ามมีการใกล้ทำเนียบรัฐบาลในระยะ 50 เมตร ซึ่งตำรวจจะคอยดูแลและหากพบว่ามีการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุม ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย
เตรียมรับมือเหตุฉุกเฉิน
    มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลจะเข้าประจำการในทำเนียบรัฐบาลจำนวน 3 กองร้อย ขณะนี้มีการติดตั้งกล้องซีซีทีวีเพิ่มตามจุดสูงข่มภายในทำเนียบรัฐบาลทุกตึก รวมทั้งได้นำรถเครื่องปั่นไฟสำรองจำนวน 3 คัน มาประจำการในทำเนียบรัฐบาลกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน พร้อมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย. นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังมีการจัดการทำงานของกลุ่มศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) หรือพีมอกใหม่ โดยมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตรเป็นผู้ดูแลทั้งหมด โดยจะมีการมอนิเตอร์สถานการณ์และบรรยากาศโดยเฉพาะการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง
    นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมตัวของ ส.ส.พรรคก้าวไกล ในการลงพื้นที่สังเกตการณ์ชุมนุมวันที่ 19 ก.ย.นี้ ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ว่าพรรคก้าวไกลจะลงพื้นที่การชุมนุมเพื่อสังเกตการณ์การชุมนุมเป็นหลักว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ มีการทำให้การใช้เสรีภาพในการแสดงออกของคนที่มาชุมนุมตามรัฐธรรมนูญไม่ได้หรือไม่ พรรคก้าวไกลไม่ได้ตั้งคณะทำงาน หากตั้งคงต้องตั้งทั้งพรรค เพราะทุกคนให้ความสำคัญเรื่องของสิทธิมนุษยชน เราสามารถลงพื้นที่แล้วใช้กลไกของกรรมาธิการในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของพี่น้องประชาชนได้ในกรณีที่มีการละเมิด สำคัญที่เราลงไปเพื่อให้เห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนทำได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ หมายความว่าทำได้ตามรัฐธรรมนูญ คาดว่าคงไปกันหลายคน
    นางธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช. กล่าวถึงการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ 19 ก.ย.นี้ว่า ปัญหาคือจากการที่เรามีสภาพการเมืองการปกครองที่ไม่ปกติมาหลายปี การที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพมากเกินไป และการปกครองที่ไม่ใช่ระบอบปกติอันเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร จึงทำให้เป็นแรงกดต่อสังคม และด้วยการทะเลาะเบาะแว้งของคนรุ่นเก่าซึ่งเป็นผู้ใหญ่ การที่มีเยาวชนคนรุ่นใหม่ซึ่งเขาไม่ได้สัมพันธ์อะไรเลยกับความขัดแย้งเดิม แต่เขาต้องการเปลี่ยนอนาคตตามความเข้าใจของเขา มองว่าเป็นเรื่องที่ดี และมันมีเหตุมีผลว่าทำไมเขาจึงต้องทำอย่างนั้น โลกมันเปลี่ยนเร็ว ผู้คนก็เปลี่ยนเร็ว ดังนั้นผู้ที่เป็นผู้สูงอายุหรือเป็นผู้ใหญ่ทั้งหลายต้องปรับตัวและปรับความคิด ก็คือเข้าใจเยาวชน เท่าที่ดูเด็กพวกนี้หลายคนเป็นคนที่อ่านหนังสือ อ่านประวัติศาสตร์ แล้วเรียนเก่ง ถ้าเป็นเด็กมัธยมอย่างโรงเรียนเตรียมฯ ก็เป็นหัวกะทิทั้งนั้นเลย ต้องพูดจากับคนเหล่านี้ด้วยเหตุด้วยผล จะใช้อำนาจไม่ได้ ขอให้เข้าใจมีอย่างเดียวก็คือคนรุ่นก่อนต้องปรับตัวให้ทันโลก คุณถึงจะพูดกับเขารู้เรื่อง
     นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า คนเสื้อแดงมาร่วมชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย. เป็นเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง เพราะจุดยืนคนเสื้อแดงไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ เชื่อว่าคนมาชุมนุมมากกว่า 50,000 คน ตามที่ฝ่ายมั่นคงของรัฐคาดเอาไว้ การชุมนุมจะอยู่ในพื้นที่ธรรมศาสตร์หรือสนามหลวงก็ตาม ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สร้างแรงปะทะให้เกิดการกระทบกระทั่งกันแล้วคงไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงใดๆ แต่ถ้าถูกบีบไม่ให้เข้าที่ธรรมศาสตร์ และยังมาบีบไม่ให้เข้าที่สนามหลวงอีก ผู้ชุมนุมต้องเดินทางไปทำเนียบฯ เมื่อเจ้าหน้าที่ตั้งด่านที่สะพานมัฆวานรังสรรค์จะเป็นจุดปะทะที่สำคัญ สิ่งที่น่ากังวลคือเส้นทางที่อยู่นอกประกาศการเคลื่อนไหว เนื่องจากการชุมนุมแต่ละครั้งนั้นไม่รู้ว่าใครเป็นใครและอาจถูกพวกไม่หวังดีสร้างสถานการณ์แทรกซ้อนขึ้นมาได้
หวั่นม็อบออกนอกเส้นทาง
     "การเคลื่อนไหวไปทำเนียบฯ ต้องประกาศเส้นทางให้ชัดเจนเพราะบ่งบอกว่าถ้าเกิดเหตุการณ์นอกเหนือจากเส้นทางที่ประกาศแล้วผู้กระทำการนั้นๆ ต้องรับผิดชอบ เชื่อว่าการประสานงานที่ชัดเจนของทุกฝ่ายนั้น จะสกัดการแทรกแซงเหมือนกรณี 6 ตุลา 2519 ไม่ให้กระทำการใดๆ ได้ ผู้ผ่านการชุมนุมมาแล้วย่อมรู้ว่าเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดนั้นจะเป็นจุดเปลี่ยนของการชุมนุมทุกครั้งไม่ว่า 14 ตุลา, พฤษภา 2535 หรือเมษา-พฤษภา 2553 เพราะเหตุการณ์ที่ไม่ได้อยู่ในแผน ซึ่งไม่รู้ว่าใครออกแบบจัดการอะไรให้กันนั้น ท้ายที่สุดคือจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ทั้งสิ้น" นายจตุพร กล่าว
    นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง ให้สัมภาษณ์ภายหลังได้รับการปล่อยตัวจากคดีล้มการประชุมอาเซียนเมื่อปี 2552 ว่าการจับคนเข้าคุกด้วยคดีความมั่นคง ไม่ได้ส่งผลดีต่อใคร และจากการที่ตนอยู่ในเรือนจำทราบว่าขณะนี้มีนักโทษรวมกันทั้งหมดเกือบ 4 แสนคน ถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าสังคมเลวร้ายลงทุกวัน ผลต่อเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ คนไม่มีงานทำ ค นตกงานเยอะ เลยต้องมาค้ายา ชิงทรัพย์ คือผลพวงที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารปี 57 ที่มีรัฐธรรมนูญ 60 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้สืบทอดอำนาจแต่งตั้ง ส.ว.มาเลือกตัวเองเป็นนายกฯ นักเรียนนักศึกษาที่ออกมาชุมนุมเขาทนไม่ไหว ต้องออกมาสู้เพื่อวันนี้และอนาคตของเขา ดังนั้นรัฐบาลและผู้มีอำนาจต้องรับฟังด้วยเหตุด้วย    
    ที่บริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำ ประเทศไทย กรุงเทพฯ นายพิชิต ไชยมงคล พร้อมด้วยนายธวัชชัย จรูญชาติ ตัวแทนกลุ่มประชาชนคนไทย (ปค.) ไปยื่นหนังสือถึงนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โดยมีนายเควิน เอ็ม แมคคาวน์ เลขานุการฝ่ายการเมืองของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เป็นตัวแทนมารับหนังสือ
     สำหรับหนังสือมีใจความว่า ตามที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯออกแถลงการณ์ยืนยันไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย กลุ่มประชาชนคนไทยขอขอบคุณในความปรารถนาดีต่อประเทศไทย ที่ประกาศยืนยันว่าจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยเพื่อให้การดำเนินการของสถานทูตสหรัฐฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง ข้าพเจ้าฯ มีความปรารถนาขอคำยืนยันจากท่านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดให้เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาฯ ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามคำแถลงอันจะมีผลทำให้การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
         ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ถนนพญาไท นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อเลขาธิการ ปปง. เพื่อขอให้ไต่สวน สอบสวนบุคคลที่เป็นท่อน้ำเลี้ยง หรือเป็นผู้สนับสนุนให้กับการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา การขับเคลื่อนโดยการจัดชุมนุมในพื้นที่จังหวัดต่างๆ และการประกาศว่าจะมีการจัดการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19-20 ก.ย.นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มทุนอยู่เบื้องหลัง หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ท่อน้ำเลี้ยง” เพราะการจัดชุมนุมสาธารณะแต่ละครั้งจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอย่างมากมาย ทั้งค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าเวที ค่าเครื่องเสียง ค่ารถสุขา ค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งค่าแรงคนงานจิปาถะมากมาย ฯลฯ ลำพังนักเรียน นักศึกษานำเงินมากมายมาใช้จ่ายเพื่อการจัดชุมนุมเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
จี้ปปง.ฟันท่อน้ำเลี้ยง
     ทั้งนี้ การจัดชุมนุมที่ผ่านมาปรากฏว่ามีบุคคลต่างๆ ที่แสดงตนเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับการชุมนุมดังกล่าวหลายคน อาทิ ศิลปิน ดารา นักธุรกิจ ผู้กำกับภาพยนตร์ รวมทั้งกลุ่มต่างๆ ก็ยังได้เปิดบัญชีธนาคารรับบริจาคเผยแพร่ในสื่อออนไลน์มากมาย ซึ่งการชุมนุมสาธารณะที่ผ่านมาเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายมากมาย จึงเข้าองค์ประกอบในความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 2542 ถือได้ว่าเป็น “ตัวการร่วม” ตามประมวลกฎหมาย อาญา ม.83 และ ม.86 จึงจะนำรายชื่อ ท่อน้ำเลี้ยง 11 คน มาร้องเรียนต่อ ปปง. เพื่อให้ใช้อำนาจตามกฎหมายในการสั่งให้ธนาคารต่างๆ ที่บุคคล หรือกลุ่มต่างๆ รายงานให้กับ ปปง.ทราบว่ามีใครบ้างที่บริจาคเข้าบัญชีเหล่านั้นบ้าง เพื่อที่จะได้เรียกมาดำเนินการไต่สวนสอบสวนเอาผิดต่อไป
     นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า ฝากเป็นข้อมูลเพื่อพิจารณาด้วยความหวังดีต่อผู้ที่เตรียมจะเข้าร่วมการชุมนุมด้วยใจบริสุทธิ์และรักประชาธิปไตยในวันที่ 19-20 กันยายน ดังนี้  (1) รายงานลับที่ประมวลจากหลายหน่วยข่าวกรองถึงการเตรียมการเข้าร่วมของมวลชนกลุ่มต่างๆ ดังนี้  1.การจัดหาของ ส.ส.พรรคก...และพรรคพ... ประมาณ 5,000 คน  โดย ส.ส.ที่เข้าร่วมโครงการนี้จากพรรคก...60 คน หาผู้ชุมนุมมาคนละ 50 คน รวม 3,000 คน และเครือข่าย ส.ส.พรรคพ...ในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประมาณ 2,000 คน 2.คนงานในเครือข่ายสหพันธ์แรงงานเกี่ยวกับรถยนต์... และสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมด้านสิ่งทอ...จะเข้ามาร่วมได้ในตอนเย็นวันที่ 19 ก.ย.  ประมาณ 1,000 คน (มีค่าใช้จ่ายเป็นเบี้ยเลี้ยงและรถรับส่ง) 3.การจัดหาผู้ชุมนุมของเครือข่ายพันธมิตรของพรรคก.... และคณะก...(นายธ......) ประกอบด้วย สมัชชาคนจน กลุ่มหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กลุ่มหาเสียงเลือกตั้งสมุทรปราการ
    4.กลุ่มนิสิตนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาที่มีหอพักของ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ม.มหิดล จุฬาลงกรณ์ฯ ม.เกษตรศาสตร์ ฯลฯ ประมาณ 1,000 คน 5.กลุ่มนักเรียนประมาณ 500 คน ผ่านการชักชวนของนิสิตนัก ศึกษารุ่นพี่ ปัจจุบันมีการตอบรับเท่าที่มีรายงานให้ทราบตอนต้นประมาณ 500 คน แต่ทางคณะก....คาดว่าจะมีจำนวนมากขึ้นตามลำดับไม่ต่ำกว่า 1,000 คน 6.กลุ่มนักเรียนเลว นำโดย น.ส.เบญจมาภรณ์ …หรือ “พลอย” เป็นแกนนำประมาณ 1,000 คน 7.เครือข่ายคนเสื้อแดงรอบกรุงเทพมหานคร นายส.... กลุ่มแดงล้มเจ้าเป็นแกนนำ ประมาณ 500 คน 8.ผู้ผ่านการอบรมของพรรคก้าวไกล 4 รุ่น ประมาณ 500 คน 9.เครือข่ายนักศึกษามุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณ  200 คน (นาย ว…เป็นผู้สนับสนุน) 10.ประชาชนที่ชื่นชอบพรรคก....และพรรคพ…ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เข้าร่วมประมาณ 10,000 คน
    (2) กำหนดการชุมนุมจะปักหลักพักค้างคืนใน ม.ธรรมศาสตร์ หรือสนามหลวง หากมหาวิทยาลัยไม่ให้เข้าจัดงาน จะหาทางกดดันบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยและจะปิดประตูมหาวิทยาลัยตั้งแต่ 21.00 น. (3) วันที่ 20 กันยายน มวลชนจะปิดถนนราชดำเนินเพื่อจัดแสดงโปสเตอร์ต่างๆ ที่เคยใช้มาแล้ว รวมถึงภาพที่เขียนขึ้นมาใหม่ตามแนวเสาไฟฟ้าบนนถนนราชดำเนินกลางมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยจะมีภาพนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ติดตามจุดต่างๆ ไว้ให้มวลชนทำความเคารพ (4) ถ้ามวลชนรวมได้ 20,000 คน จะเคลื่อนขบวนบนถนน ราชดำเนินไปทำเนียบรัฐบาล (เป้าหมายลวง)  และกองบัญชาการกองทัพบก (เป้าหมายลวง) เพื่อโจมตีผู้บัญชาการทหารบก โดยจะมีการเชิญตัวแทนทูตต่างประเทศบางประเทศเป็นสักขีพยานและถ่ายทอดสดทาง facebooklive และเพจในเครือข่าย (เป้าหมายลวง) จากนั้นจะนำมวลชนเคลื่อนไปลานพระบรมรูปทรงม้า (เป้าหมายจริง) เพื่อกระทำการ 1...  2...    3...
    วันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารถึงสื่อมวลชนกรณีพิจารณาคำร้องของนายณฐพร โตประยูร ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 โดยอ้างว่าผู้ถูกร้อง ประกอบด้วยคณะบุคคลกลุ่มต่างๆ จัดชุมนุมปราศรัย เมื่อวันที่ 3 ส.ค., 9  ส.ค., 10 ส.ค., 20 ส.ค., 21 ส.ค. และ 30 ส.ค. ซึ่งเมื่อวันที่ 18  ส.ค. นายณฐพรยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสองแล้ว จึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและมีคำสั่งให้คณะบุคคลเลิกการกระทำดัง กล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49
    ทั้งนี้ ผลการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องแล้ว จึงมีคำสั่งรับคำร้องเฉพาะการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสามที่ชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10  ส.ค.ไว้พิจารณาวินิจฉัย และแจ้งให้ผู้ร้องทราบ พร้อมส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องทั้งสามคือ นายอานนท์ นำ ภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เพื่อยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องและเพื่อประโยชน์แก่การพิจารณา มีคำสั่งให้อัยการสูงสุดแจ้งผลการดำเนินการและส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องตามที่ผู้ร้องยื่น เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"