มรสุมเศรษฐกิจ63


เพิ่มเพื่อน    

     ล่าสุด “ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี)” ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้ (จีดีพี) จะติดลบ 8% ซึ่งหดตัวมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ 4.8% เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน แม้จะมีแรงสนับสนุนจากนโยบายการคลังและการเงินก็ตาม รวมถึงผลจากความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทยที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ แต่! ผลจากการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

                ก่อนที่ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นในปี 2564 ที่ระดับ 4.5% ปรับเพิ่มจากคาดการณ์เดิมที่ 2.5% โดยอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะติดลบในปีนี้อยู่ที่ 1.6% จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงัน การหดตัวสูงของราคาพลังงาน และเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ รวมถึงมาตรการรัฐบาลที่ช่วยลดค่าสาธารณูปโภคด้วย ก่อนจะปรับตัวเป็นบวกที่ 0.8% ในปีหน้า ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่ยังหนีไม่พ้น “สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทั่วโลก” รวมถึงสถานการณ์การกีดกันทางการค้า และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่วนปัจจัยเสี่ยงภายใน ได้แก่ การกลับมาระบาดซ้ำสองของโควิด-19 รวมไปถึงความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือน

                เศรษฐกิจไทยจะโตติดลบค่อนข้างมาก เพราะหนีผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ไหว จากมาตรการในการป้องกันและดูแลของรัฐบาล นั่นคือ “ล็อกดาวน์” ที่ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดหยุดชะงัก แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จนส่งผลให้หลายกิจกรรมกลับมาเดินหน้าได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ส่วนใหญ่ก็ “ไม่เป็นปกติ”

                หลายอุตสาหกรรม หลายภาคธุรกิจ จำเป็นต้องลดต้นทุน ปรับลดแรงงาน สะท้อนจากจำนวนผู้ว่างงานที่ปีนี้คาดว่าจะเหยียบหลักล้านคน ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงนี้จะขยายเป็นวงกว้าง จะมีผลสืบเนื่องไปถึงกำลังการใช้จ่ายของประชาชน และเมื่อว่างงาน ไม่มีงานทำ รายได้ไม่สอดรับกับรายจ่าย โอกาสในการกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็มากขึ้น ก็จะมีผลไปถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในระยะให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย

                ส่วนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่เป็นรายได้หลักของประเทศไทย คงไม่ต้องพูดถึง บอบช้ำอย่างหนักจากมาตรการปิดประเทศ แม้ว่าล่าสุดรัฐบาลจะอนุมัติหลักการในการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ โดยการกำหนดคุณสมบัติของนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาอย่างชัดเจน แต่หลายฝ่ายก็ยังกังวล “เรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบสอง”  เพราะแม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยจะควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ดี แต่หากเกิดการระบาดรอบสอง ครั้งนี้ผลกระทบกับภาคเศรษฐกิจ และทุกภาคส่วนคงจะรุนแรงและซ้ำเติมสถานการณ์ในรอบแรกเข้าไปอีก

                ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามออกมาตรการเพื่อประคองเศรษฐกิจ แต่ก็ดูเหมือนว่าอาจจะยังไม่เพียงพอ หรือไม่ตรงจุดเท่าใดนัก โดยภาคเอกชนยังมองว่า มาตรการที่รัฐบาลออกมาเป็นมาตรการแก้ปัญหาแบบรายวันเท่านั้น เพราะการจะรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการระยะยาว มีแบบแผน แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน โดยเฉพาะแนวทางการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ รวมถึงประชาชนรากหญ้า ที่ส่วนหนึ่งไม่เพียงแต่ต้องเผชิญสถานการณ์การว่างงานแล้ว ก็ยังเจอปัญหาหนี้สินซ้ำเติมด้วย

                นี่ถือเป็นปัญหาเศรษฐกิจส่วนหนึ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข ยังไม่นับรวมถึงปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ข่าวลือ ข่าวปล่อยเรื่องถังแตก การไร้เงา รมว.การคลัง ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและศรัทธากับรัฐบาลค่อนข้างมาก การเร่งแก้ปัญหาในแต่ละส่วนอย่างเร็ว ด้วยวิธีที่เหมาะสมน่าจะเป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้.

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"