กองทัพแจงยิบ ช่วยประชาชน รับ'พายุโนอึล'


เพิ่มเพื่อน    


     ปภ.แจงมี 22 จังหวัดได้รับผลกระทบจากพายุโนอึล   ระบุทุกจังหวัดน้ำเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว “ทัพบก” ร่ายยาวผลงาน 3 วันช่วยเหลือชาวบ้านในทุกภูมิภาคจากฝนกระหน่ำ โคราชปลื้มเติมน้ำในเขื่อน
     เมื่อวันที่ 20 ก.ย. นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงอิทธิพลของพายุโซนร้อนโนอึล และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ว่ามีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ 22 จังหวัด ได้แก่ ตาก, เพชรบูรณ์, อุดรธานี, ขอนแก่น, ชัยภูมิ, มุกดาหาร, อุบลราชธานี, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, สุรินทร์, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ, นครราชสีมา, ลพบุรี, ปราจีนบุรี, จันทบุรี, ตราด, ชุมพร, ระนอง, พังงา, ภูเก็ต และตรัง รวม 77 อำเภอ 139 ตำบล 224 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,400 ครัวเรือน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 รายใน จ.เพชรบูรณ์ 
     นายชยพลกล่าวอีกว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก จำนวน 17 จังหวัด ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ 4 จังหวัด รวม 13 อำเภอ 31 ตำบล 73 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 807 ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำลดลงทุกจังหวัด ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย จำนวน 12 จังหวัด 42 อำเภอ 66 ตำบล 94 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 222 หลัง และพื้นที่ได้รับผลกระทบจากดินสไลด์ 1 จังหวัด ได้แก่ ระนอง อำเภอกระบุรี รวม 1 อำเภอ 1 ตำบล
     “ปภ.ได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น พร้อมจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ทั้งการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนเป็นวัสดุก่อสร้าง หรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสม โดยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป” นายชยพลกล่าว
     ด้าน พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก (ทบ.) กล่าวถึงการปฏิบัติการเข้าช่วยเหลือประชาชนและคลี่คลายอุทกภัยจากอิทธิพลพายุโซนร้อนโนอึลเป็นวันที่ 3 โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า ทบ.ได้ส่งกำลังพล ยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่และเครื่องมือทางด้านการช่าง เข้าช่วยเหลือประชาชนในการขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ ผู้ประสบอุทกภัยขึ้นที่สูง สร้างแนวกระสอบทรายเพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน การเคลื่อนย้ายสิ่งของ เศษซากวัสดุที่กีดขวางทางน้ำ เปิดเส้นทางและอำนวยความสะดวกด้านการสัญจร อพยพประชาชนสู่พื้นที่ปลอดภัย เพิ่มความแข็งแรงของแนวกั้นน้ำ หน่วยทหารได้ส่งชุดประเมินภัยพิบัติ เข้าติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงหรือน้ำท่วมซ้ำซาก ทั้งนี้ ทุกกองทัพภาคให้ความสำคัญกับการเข้าตรวจสอบและได้วางกำลังในพื้นที่เสี่ยง และการพักแรมอยู่เป็นเพื่อนประชาชนในชุมชน พร้อมให้การสนับสนุนทุกภาคส่วนเมื่อเกิดเหตุการณ์ ตามนโยบายของ พล.อ.อภิรัตช์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)
         สำหรับการช่วยเหลือประชาชนในแต่กองทัพภาคมีดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอันดับแรก กองทัพภาคที่ 2 ได้จัดกำลังพร้อมยุทโธปกรณ์เข้าช่วยการระบายน้ำ, ทำพนังกั้นน้ำ, นำเรือท้องแบนเข้าช่วยเหลือในเส้นทางสัญจร หรือถอนซากปรักหักพัง ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ตัดและย้ายต้นไม้ที่ล้มทับอาคารบ้านเรือนในหลายจังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ,อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, สกลนคร, สุรินทร์, ขอนแก่น และล่าสุดที่ บุรีรัมย์ ภาคเหนือ มีพื้นที่ประสบภัยใน จ.นครสวรรค์และตาก ซึ่งกองทัพภาคที่ 3 ได้นำกำลังพลและเครื่องมือ เข้าติดตั้งเครื่องสูบน้ำและขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ภาคใต้ มีพื้นที่ประสบภัยในจังหวัดตรัง, สตูล, พังงา, ระนอง ขณะนี้หน่วยทหารกองทัพภาคที่ 4 ได้เข้าช่วยบรรจุกระสอบทรายแจกจ่ายประชาชน รื้อถอนซากปรักหักพัง ซ่อมแซมหลังคาบ้านเรือน และขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ภาคกลาง กองทัพภาคที่ 1 ได้จัดกำลังเข้าอำนวยความสะดวกด้านการสัญจร บรรจุกระสอบทรายป้องกันน้ำท่วมแจกจ่ายประชาชนและขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ใน 5 จังหวัดคือ ปราจีนบุรี, นครนายก,สมุทรสาคร, ลพบุรี และ กทม.
    พ.อ.หญิงศิริจันทร์กล่าวว่า พล.อ.อภิรัชต์มีความห่วงใยต่อทหารใหม่และทหารกองประจำการที่ปฏิบัติหน้าที่ทั้งพื้นที่ชายแดนและภารกิจช่วยเหลือประชาชนอยู่ในขณะนี้ ได้สั่งให้ทุกหน่วยทหารตรวจสอบทหารกองประจำการโดยเฉพาะทหารใหม่ที่ครอบครัวอาจประสบภัยพิบัติในช่วงนี้ ให้ทหารใหม่ติดต่อกับครอบครัวเพื่อสอบถามสถานภาพความเป็นอยู่ หากมีครอบครัวทหารกองประจำการได้รับผลกระทบจากพายุโนอึล หน่วยทหารในจังหวัดนั้นๆ จะเข้าดูแลและประสานความช่วยเหลือกับครอบครัวทหารกองประจำการทันที เพื่อคลายความกังวลให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
     สำหรับสถานการณ์ในจังหวัดต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากพายุโนอึลนั้น ที่ จ.นครราสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าฯ นครราชสีมา พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพ ข้าวสารอาหารแห้ง น้ำดื่ม พี่น้องชาวบ้าน หมู่ 5 บ้านสำโรง ต.ท่าจะหลุ่งกว่า 50 ครอบครัว ซึ่งถูกน้ำท่วมรอบที่สอง 
     นายวิเชียรยังกล่าวว่า พายุโนอึลทำให้ฝนตกหนักในพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัดทั้ง 32 อำเภอ บางพื้นที่ฝนตกหนักมาก ระดับกว่า 100 มิลลิเมตรจนถึง 200 มม. ทำให้เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนลำตะคอง, เขื่อนลำพระเพลิง, เขื่อนลำมูลบน, เขื่อนลำแชะ และเขื่อนลำปลายมาศ มีน้ำไหลเข้าเขื่อนประมาณกว่า 200 ล้าน ลบ.ม. โดยเฉพาะเขื่อนลำตะคอง ส่วนผลกระทบที่พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อน บ้านเรือน ไร่นา ถูกน้ำท่วมก็มีหลายหมู่บ้าน ซึ่งได้สั่งให้หน่วยงานออกสำรวจตรวจสอบให้การช่วยเหลือให้ทันสถานการณ์
     ที่ จ.ตราด ยังมีหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ อาทิ บ้านเรือนในหมู่ 6 บ้านคลองขัด ต.ท่ากุ่ม อ.เมืองฯ จ.ตราด น้ำป่าจากเขาบรรทัดได้ไหลลงมายังคลองขัดและคลองท่ากุ่มตั้งแต่กลางดึกจนถึงช่วงเช้า ทำให้บ้านเรือน 10 หลังคาเรือนถูกน้ำท่วมเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ต่ำ ความสูงประมาณ 50-100 ซม. ชาวบ้านต้องใช้เรือในการเดินทางเข้าบ้าน ขณะที่ถนนและสะพานหลายแห่งถูกน้ำท่วมหลายแห่ง ส่วนพืชสวนและพื้นที่ทางการเกษตรกรรม โดยเฉพาะปาล์ม ได้รับความเสียหายเก็บผลไม่ได้ ทั้งนี้ระดับน้ำในคลองหลายแห่งมีระดับเพิ่มขึ้น
     ด้าน ต.หนองบอน อ.บ่อไร่ ที่มีฝนตกต่อเนื่องมา 2 วัน ระดับน้ำในคลองหนองบอนมีระดับสูงขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 ก.ย. และเมื่อมีฝนตกหนักลงมาในวันที่ 20 ก.ย. ทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นและไหลท่วมพื้นที่การเกษตรเสียหายจำนวนมาก 
     ส่วนที่ จ.สุรินทร์ ก็มีหลายพื้นที่ได้รับอิทธิพลจากพายุโนอึล โดยในเขตพื้นที่บ้านหนองโจงโลง ต.ตาวัง อ.บัวเชด ซึ่งเป็นพื้นที่ติดชายแดนไทย-กัมพูชา อยู่ติดกับเขาพนมดงรัก ยังมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีปริมาณท่วมขังตามลำคลองและพื้นที่การเกษตร ข้าวในแปลงนาที่เหี่ยวเฉาใกล้ยืนต้นตายกลับมาสดชื่นและเขียวชอุ่มอีกครั้ง หลังจากได้รับน้ำฝนตลอดวันที่ผ่านมา ทั้งนี้ ชาวบ้านบางคนได้อาศัยช่วงมีน้ำหลากออกหาปลาตามท้องทุ่งนามาประกอบอาหารเเละขายเพื่อสร้างรายได้เสริมอีกด้วย ซึ่งในช่วงน้ำหลากมาใหม่ๆ จะมีปลาจำนวนมากว่ายทวนน้ำ ชาวนาใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านดักปลาได้ครั้งละจำนวนมาก สร้างรายได้อีกทาง ถือเป็นโชคสองชั้น
     ส่วนที่หมู่บ้านห้วยเดื่อ หมู่ 8 ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย ประสบภาวะน้ำท่วมฉับพลันตั้งแต่เช้ามืดวันที่ 20 ก.ย. หลังเกิดฝนตกหนักตลอดคืนที่ผ่านมา ทำให้น้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติภูกระดึงไหลลงสู่ลำน้ำพองอย่างรวดเร็ว และเอ่อท่วมบ้านเรือน 15 หลังคาเรือน ชาวบ้านต้องเร่งขนย้ายสิ่งของและมาพักชั่วคราวอยู่ริมถนนภายในเต็นท์ที่ อบต.นำมาช่วยเหลือ พร้อมประสานกำนันผู้ใหญ่บ้านช่วยกันสำรวจความเสียหายเพื่อรายงานไปยังอำเภอและจังหวัด ล่าสุดระดับน้ำเริ่มลดลงอย่างช้าๆ คาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติหากไม่มีฝนตกซ้ำอีก แม้ขณะนี้พายุโนอึลจะอ่อนกำลังลงแล้ว แต่สภาพอากาศในจังหวัดเลยท้องฟ้ายังครึ้มฟ้าครึ้มฝน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"